Media Intelligence Group (หรือ MI GROUP) รุกสร้างผลงานต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา และยกระดับการสื่อสารการตลาด ภายใต้วิสัยทัศน์ “A Trusted Advisor” หรือ เพื่อนคู่คิด-ที่ปรึกษาที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ผ่านการเป็น “Solution Providers” ที่ให้บริการลูกค้าแบรนด์และองค์กรชั้นนำด้วยเครื่องมือสื่อสารทางการตลาดอย่างครบวงจร และทีมงานมืออาชีพ เพื่อช่วยยกระดับกลยุทธ์ Marketing พร้อมเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับลูกค้า
หนึ่งในแนวทางการสร้างการเติบโตของ MI GROUP คือการทำการตลาดต่างประเทศในเชิงรุก ซึ่งปัจจุบันมีสายธุรกิจ “MI BRIDGE” ทำหน้าที่ดังกล่าว โดยมุ่งสนับสนุนการดำเนินงานด้านสื่อสารการตลาดของภาคธุรกิจในระดับสากล มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบรนด์ไทยที่ต้องการทำการตลาดต่างประเทศ รวมถึงรองรับการขยายตลาดจากต่างประเทศ ทั้งกลุ่ม Local Brands และ International Brands ที่ต้องการขยายการตลาดเข้ามาในประเทศไทย และด้วยแนวคิดของการขับเคลื่อนกลยุทธ์นี้ จึงทำให้ MI BRIDGE ร่วมมือกับ “MI Learn Lab” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเสนอข้อมูลเชิง Marketing Insights ที่ซึ่งได้จากการประยุกต์ใช้ Marketing Tools ที่หลากหลายและทันสมัย นำมาสนับสนุนงานสื่อสารการตลาดของลูกค้า พันธมิตร และภาคธุรกิจต่างๆ ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ MI BRIDGE และ MI Learn Lab ได้นำเสนอวิจัยล่าสุดเจาะลึกข้อมูลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” ที่คาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานเมียนมามีจำนวนสูงถึง 6.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับ Gen Z ของประชากรไทย สะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาสินค้า-บริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานนี้ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาทต่อปี
คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP กล่าวว่า “ด้วย MI GROUP มุ่งมั่นที่จะเคียงข้างแบรนด์ลูกค้าให้ประสบความสำเร็จ
พร้อมสนับสนุนลูกค้าให้เติบโตในระดับสากล เรามองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และโอกาสธุรกิจต่างๆ ที่เป็นไปได้อยู่เสมอ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเติบโตและบรรลุเป้าหมาย โดยในโอกาสนี้ MI BRIDGE และ MI Learn Lab ได้นำเสนอข้อมูลของกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่มีจำนวนมากและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ซึ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่สินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการด้านการเงิน โดยข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาด หรือ การพัฒนาสินค้า-การให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เพื่อสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ได้มากยิ่งขึ้น”
ในการเจาะลึกข้อมูลครั้งนี้ MI Learn Lab ได้ทำวัจัยทั้งในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ เพื่อศึกษาข้อมูลของกลุ่มแรงงานเมียนมาในประเทศไทยอาจถูกมองข้ามและยังไม่ได้รับการสำรวจในตลาด ซึ่งผลักดันให้ได้วิจัยน่าสนใจฉบับนี้ขึ้นมา โดยวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง[1] เพื่อทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และแรงขับเคลื่อนในการย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานที่ประเทศไทย รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการบริโภค และการใช้เวลาว่างของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพบว่าแรงงานชาวเมียนมากว่า 88% ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งที่การหารายได้เป็นสำคัญ และการเข้ามาทำงานในประเทศไทยสามารถช่วยสร้างรายได้ถึง 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 3 – 15 เท่าของเงินเดือนตอนที่อยู่ประเทศเมียนมา
ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานที่วางเป้าหมายในการหารายได้ชัดเจนส่วนมากกำหนดระยะเวลาทำงานในประเทศไทย 3 – 5 ปี เพื่อนำเงินกลับไปตั้งตัวและกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศเมียนมาในขณะที่กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่มองที่เป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องการเก็บให้ครบเป็นสำคัญ และด้วยแรงผลักดันในการเก็บเงินนี้ แรงงานชาวเมียนมาจึงต้องทำงานล่วงเวลามากกว่ากว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้กลุ่มแรงงานดังกล่าวนี้มีเวลาน้อย ทำให้พฤติกรรมการใช้เวลาว่างของกลุ่มแรงงานไปที่กิจกรรม มี 2 ประเภทเมื่อพวกเขามีวันหยุด คือ ‘จับจ่ายซื้อของ’ และ ‘เล่นอินเทอร์เน็ต’
คุณวิชิต คุณคงคาพันธ์ Head of International Business Development, MI GROUP เผยข้อมูลรายงานฉบับนี้ว่า “แรงงานชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทย สามารถแบ่งช่วงชีวิตออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ภายใต้กรอบการวิจัย ได้แก่ช่วง ‘ช่วงตั้งหลัก’ ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย ‘ช่วงตั้งตัว’ ที่ทำงานและใช้ชีวิตได้ระยะหนึ่งแล้ว และกลุ่มสุดท้าย ‘ช่วงตั้งใจ’ ที่เน้นการติดต่อครอบครัวและเตรียมตัวกลับประเทศเมียนมา โดยในแต่ละกลุ่มนี้จะมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป ให้ความสนใจกับประเภทคอนเทนต์ที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีรายละเอียดของ Media Touchpoint ที่แบรนด์ต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม จากรายงานครั้งนี้ MI BRIDGE หวังว่าข้อมูลในงานวิจัยจะสนับสนุนให้นักการตลาด นักกลยุทธ์ รวมถึงแบรนด์ต่างๆ สามารถพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดด้วย Business Insights ที่ครอบคลุม”
จากรายงาน “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” พบว่า เพื่อเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย แรงงานชาวเมียนมาออมเงินได้ถึง 44% หรือ เกือบครึ่งของรายรับ โดยภายใต้สัดส่วนการออมเงินดังกล่าวนั้น เป็นเงินที่ส่งกลับบ้านประมาณ 2 ใน 3 เพื่อให้ครอบครัวที่เมียนมามีเงินใช้และมีเงินออม ซึ่งปัจจุบันนิยมให้นายหน้าผู้ดำเนินการโอนเงินให้ และเหลือเงินเก็บที่ตัวเองเพียง 1 ใน 3 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการเข้าถึง Mobile Banking ชี้ให้เห็นโอกาสทางภาคธุรกิจการเงินที่สามารถพัฒนาหรือต่อยอดการบริการเพื่อรองรับกลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้านี้ได้
เมื่อพิจารณาในด้านค่าใช้จ่าย แรงงานชาวเมียนมาควบคุมรายจ่ายราว 56% จากรายได้ทั้งหมด โดยมีค่าใช้จ่ายสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (37%) ค่าที่อยู่อาศัย (16%) ค่าโทรศัพท์ (3%) โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างเน้นติดต่อสื่อสารผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นเป็นหลัก
จากพฤติกรรมการใช้เงิน เมื่อเชื่อมโยงกับมิติการบริโภคสื่อของแรงงานชาวเมียนมาที่เน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ เพื่อติดตามละคร ภาพยนตร์ และรายการต่างๆ (97%) ดูข่าวและอ่านข่าวสารบ้านเมือง (87%) ฟังวิทยุและฟังเพลง (48%) ข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจพบว่า 74% ของกลุ่มตัวอย่างนี้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ในการซื้อของ โดย Lazada เป็นช่องทางอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับ คือ Facebook, Shopee และ TikTok
“ด้วยการวิเคราะห์สัดส่วนพฤติกรรมการเก็บออม การใช้จ่าย ตลอดจนพฤติกรรมการใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำงาน จะทำให้แบรนด์สามารถเลือกใช้กลยุทธ์การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ MI BRIDGE และ MI Learn Lab มุ่งหวังให้แบรนด์และองค์กรต่างๆ สามารถบรรลุผลได้ตามเป้าหมาย” คุณวิชิต คุณคงคาพันธ์ กล่าวเสริม
[1] กลุ่มตัวอย่าง 212 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก 50 คน