วิจัยกรุงศรีคาด GDP ไทยปี 67 โต 2.7% และยังมีความไม่แน่นอนสูง สวนทางกลุ่มประเทศในอาเซียน

ภาพจาก Shutterstock
วิจัยกรุงศรีคาด GDP ไทยปี 67 โต 2.7% และยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ตัวเลขดังกล่าวของไทยถือว่าสวนทางกลุ่มประเทศในอาเซียนซึ่งคาดว่าจะเติบโตที่ 4.7% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้นถือว่าเติบโตชะลอตัวลงตามวัฎจักร 

พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่สภาวะชะลอตัวตามวัฎจักร หลังจากหลายประเทศได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนคลาย แล้วมีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายการคลังของรัฐบาลการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเบาลง

นอกจากนี้ยังมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในยุโรป ภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมถึงการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกนั้นสร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลก

เศรษฐกิจสหรัฐฯ วิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP จะเติบโต 2.1% โดยมองว่าเศรษฐกิจเติบโตไม่ร้อนแรงเหมือนเดิม แต่การจ้างงาน ค่าแรง ยังดูโอเค และหลังจากนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเติบโตกลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ยังคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะลดดอกเบี้ยช่วงกลางปีเป็นต้นไป

สำหรับเศรษฐกิจจีน วิจัยกรุงศรีมองว่าความเสี่ยงสำคัญคือภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง นอกจากนี้จีนยังต้องหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ๆ แทนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจีนโตได้ 4.6%

ในส่วนของเศรษฐกิจในยูโรโซน วิจัยกรุงศรี มองว่ายังทรงๆ แม้ว่าจะรอดจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ยังมองว่าการเติบโตยังอ่อนแอ ขณะที่ญี่ปุ่นเศรษฐกิจได้รับแรงบวกจากการเปิดประเทศแทบจะ 100% แล้ว แต่มองว่าการเพิ่มค่าแรง อาจทำให้ BoJ ปรับดอกขึ้นได้ แม้ว่าไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะถดถอยก็ตาม

ปัจจัยดังกล่าวทำให้หัวหน้าทีมวิจัยกรุงศรีมองว่าสำหรับเศรษฐกิจโลกนั้นน่าจะเติบโตได้ 3.1% ถือว่าเติบโตต่ำใกล้เคียงกับปีก่อน

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ – หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) / ภาพจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เศรษฐกิจอาเซียน

วิจัยกรุงศรีคาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศรวมกัน (ASEAN 5) จะอยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวประมาณ 4.2%โดยอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ รวมถึงการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยตามการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน กำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้นจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง และแรงกดดันจากสภาวะทางการเงินตึงตัวที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

อย่างไรก็ตามความท้าทายต่อเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคผ่านช่องทางทั้งภาคการเงินและการค้า

นอกจากนี้ นโยบายการคลังจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับความท้าทายด้านอุปทานที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น สำหรับนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน อาจทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนถึงกลางปีนี้

เศรษฐกิจไทย

หัวหน้าทีมของวิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้ 2.7% เติบโตมากกว่า GDP ของไทยในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 1.9% สาเหตุสำคัญคือการใช้จ่ายภาครัฐที่กลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี ขณะเดียวกันภาคการส่งออกก็กลับมาฟื้นตัว รวมถึงคาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมาไทยมากถึง 35.6 ล้านคน ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน หรือแม้แต่การจ้างงาน

อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนอาจกระทบจากหนี้ครัวเรือน เนื่องจากภาระครัวเรือนที่ต้องจ่ายยังสูง นอกจากนี้ยังรวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่ยังเติบโตไม่มากนัก แม้ว่าราคาพืชผลจะสูงจากสภาวะเอลนีโญก็ตาม

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมทยอยฟื้นตัว แต่วิจัยกรุงศรีมองว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับ 3% ต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 1.1% ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง