ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินมองว่า ปัญหา Supply Chain ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะคลี่คลาย เนื่องจากหลากหลายปัจจัย ปัญหาดังกล่าวยังทำให้สายการบินได้เครื่องบินล่าช้าลง ส่งผลทำให้ตั๋วยังมีราคาแพงอยู่
สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า ผู้ผลิตเครื่องบินหลายราย กล่าวในงาน Singapore Airshow ซึ่งเป็นงานแสดงด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ว่าปัญหา Supply Chain ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินในช่วงเวลานี้ อาจต้องใช้เวลา 2 ปี สถานการณ์ดังกล่าวถึงจะคลี่คลายลงไปได้
Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินจากทวีปยุโรป ได้กล่าวว่าบริษัทต้องส่งวิศวกรระดับหลายสิบคนเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหา Supply Chain เกิดปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น ขณะที่ Boeing เองก็ต้องเร่งการผลิตเนื่องจากการส่งมอบล่าช้าไปถึง 9 เดือนนับจากเวลาในสัญญาส่งมอบ
บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินหลายแห่ง ได้บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า ระยะเวลาในการจัดหาชิ้นส่วนต่างๆ เช่น โลหะบางชนิดและกระจกบังลมอาจนานขึ้น 2 ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากการผลิตวัสดุการบินและอวกาศลดลง การสูญเสียกำลังคนที่มีทักษะในช่วงโควิด รวมถึงแหล่งผลิตชิ้นส่วนที่ลดลงจากการบุกยูเครนโดยรัสเซีย
ปัญหา Supply Chain ยังกระทบกับบริษัทซ่อมเครื่องบินยักษ์ใหญ่อย่าง Lufthansa Technik ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสายการบิน Lufthansa จากเยอรมัน ที่ต้องกักตุนอะไหล่ซ่อมเครื่องบินมากขึ้น เพื่อที่จะลดปัญหาการรออะไหล่ยาวนาน
Roberto Tonna ผู้บริหารจาก ALA บริษัทบริหารห่วงโซ่อุปทานด้านการบินกล่าวว่า โลหะไทเทเนียมเกรดการบินนั้นประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนักหลังการบุกยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งปกติชิ้นส่วนไว้ผลิตเครื่องบินนั้นบริษัทจะได้รับชิ้นส่วนไม่เกิน 40 สัปดาห์ แต่ตัวเลขล่าสุดนั้นยาวนานถึง 72 สัปดาห์
ผู้บริหารจาก ALA ยังมองว่ากว่าที่ Supply Chain จะกลับไปเป็นปกตินั้นอาจใช้เวลา 18-24 เดือนเป็นอย่างน้อย
ความต้องการการเดินทางหลังการแพร่ระบาดโควิดนั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ต้องสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อขยายเครือข่ายและลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งปกติแล้วเครื่องบินรุ่นใหม่จะมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากกว่ารุ่นเก่า
ความล่าช้ายังทำให้หลายสายการบินต้องจำใจหันกลับไปเช่าเครื่องบินรุ่นเก่ากว่า เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง Cirium บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการบินคาดว่าสถานการณ์เครื่องบินไม่เพียงพอจะคลี่คลายไปได้ต้องรออย่างน้อยถึงปี 2027
ผลที่เกิดขึ้นคือปริมาณเครื่องบินที่ผลิตไม่ทัน ขณะที่สายการบินแม้จะมีความต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ ก็ไม่สามารถได้เครื่องบินที่เร็วตามความต้องการ ตรงข้ามกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องการเดินทาง แน่นอนว่าราคาตั๋วของสายการบินนั้นราคาอาจยังคงสูงต่อไป