บางกอกแอร์เวย์ส ชี้ธุรกิจการบินเห็นสัญญาณบวก มั่นใจปีหน้า โต 10 -12%

Bangkok Thailand / Feb 08 2020 / Bangkok Airways Airbus A319 landing at Suvarnabhumi Airport VTBS.

หลังจากถูกมรสุม ‘โควิด’ ซัดอย่างหนัก ตอนนี้ธุรกิจสายการบินเริ่มมีแนวโน้มไปในทิศทางบวก โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกทำให้ธุรกิจการบินของประเทศไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย

‘พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้อัปเดตภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกในปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเติบโตขึ้น และจากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่า การเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 19.7% และการเดินทางระหว่างประเทศจากยุโรปสู่ทวีปเอเชียมีอัตราการเติบโตสูงสุด 23.1%

ปัจจัยเหล่านี้ เป็นอานิสงส์ให้ธุรกิจการบินของประเทศไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยผลดำเนินงานของบางกอกแอร์เวย์สช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 เป็นไปในทิศทางที่ดี มีจำนวนผู้โดยสาร 3.31 ล้านคนเพิ่มขึ้น 10 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเป็นสัดส่วน 75 % ของช่วงก่อนโควิด

ส่วนอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 82 % ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 จุด สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ 68% และมีรายได้ผู้โดยสาร 14,006 ล้านบาท เติบโตขึ้น 26% หรือคิดเป็นสัดส่วน 96% ของช่วงก่อนโควิด-19

จากผลดำเนินการช่วง 9 เดือนของปีนี้ บวกกับสถานการณ์ของธุรกิจการบินที่มีแนวโน้มดี ทำให้มั่นใจว่า บางกอกแอร์เวย์สจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อช่วงต้นปี 2567 มีจำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน รายได้จากการขายตั๋ว 17,800 ล้านบาท มีราคาขายตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 3,900 บาท

เตรียมลดราคาตั๋ว 30%ช่วงสิ้นปี

ขณะที่ปัญหา ‘ราคาตั๋วแพง’ ในช่วงเทศกาลหรือไฮซีซั่น ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทางพุฒิพงศ์ บอกว่า ราคาตั๋วเป็นเรื่องที่ต้องบาลานช์ระหว่างความเหมาะสมกับความอยู่รอด เพราะถ้าตั้งราคาแพงไป ตั๋วจะขายไม่ได้ สายการบินก็อยู่ไม่ได้

ในทางกลับกัน หากราคาถูกไปก็จะกระทบต่อความอยู่รอดของสายการบิน เนื่องจากตอนนี้มีต้นทุนการดำเนินการหลายอย่างขึ้นไปแล้ว ทั้งอุปกรณ์ ค่าซ่อมบำรุง และค่าอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึง ทางบางกอกแอร์เวย์ส จะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมที่ได้ขอความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ ให้เพิ่มเที่ยวบินและดูแลเรื่องราคาตั๋วแพง โดยจะลดราคาตั๋วลง 30% เริ่มให้จองตั้งแต่วันที่ 5-7 ธันวาคม 2567 และสามารถเดินทางได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมไปจนถึง 5 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องดังกล่าว

ตั้งเป้าปีหน้าโต 10-12%

สำหรับปี 2568 ยังมองแนวโน้มทิศทางการท่องเที่ยวเป็นบวก จากยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าที่สะท้อนภาพรวมการท่องเที่ยวช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 นี้ ต่อเนื่องจนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 ที่มีอัตราการจองเติบโต 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการจองในเส้นทางสมุยเติบโตสูงสุดอยู่ที่ 25%

ในปีหน้าบางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้าการเติบโตของรายได้และจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10-12 % โดยจะมีการเช่าเครื่องบินแอร์บัสเอ 320 และเอ 319 อีก 2 ลำ เพื่อขยายความถี่ของเที่ยวบินเพิ่มขึ้นคาดว่าจะเริ่มนำเข้ามาในช่วงกลางปี 2568

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์มีเส้นทางการบิน 25 เส้นทาง แบ่งเป็นในประเทศ 17 เส้นทาง และต่างประเทศ 8 เส้นทาง ครอบคลุมจุดหมายปลายทางทั้งหมด 19 จุด แบ่งเป็นใน 11 จุด อีก 8 จุด เป็นต่างประเทศ ซึ่งมีแผนการเปิดเส้น ทางอื่นๆ ในอนาคต โดยได้มีการอยู่ศึกษาเส้นทางที่ศักยภาพและทยอยกลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางที่เคยบินในช่วงก่อนโควิด -19

อย่างในปีนี้ได้มีการเปิดเส้นทางที่กลับมาบินใหม่ ได้แก่ เส้นทางเชียงใหม่และกระบี่ ที่เริ่มกลับมาบินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ส่วนเส้นทางที่จะกลับมาบินใหม่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2568 คือ เส้นทาง ‘สมุย-กัวลาลัมเปอร์’

ขณะที่อุตสาหกรรมการบินอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า คาดการณ์การเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 17.2% ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และจากทิศทางดังกล่าว ในปี 2568 จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยคาดว่ามีการเติบโตสอดคล้องเป็นไปตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในระดับภูมิภาค