กลาโหมญี่ปุ่น เตือนการตอบสนองต่อ ‘รัฐประหารเมียนมา’ ต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มอิทธิพลของจีนในอาเซียน โดยรัฐบาลโตเกียวกำลังจับตาความเคลื่อนไหวในเมียนมาอย่างใกล้ชิด
Yasuhide Nakayama รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับ Reuters ว่า ท่าทีของประเทศประชาธิปไตยเสี่ยงที่จะผลักให้เมียนมาตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน หากตอบสนองการทำรัฐประหาร จนกระทบต่อช่องทางสื่อสารกับเหล่านายพลผู้ทรงอิทธิพล
“หากเราไม่จัดการเรื่องนี้ให้ดี เมียนมาจะยิ่งห่างเหินกับชาติประชาธิปไตยไปมากกว่าเดิม และจะหันไปเข้าร่วมกับจีนแทน” พร้อมเสริมว่า ญี่ปุ่นควรหารือยุทธศาสตร์นี้ร่วมกันกับชาติพันธมิตร
กองทัพเมียนมา เข้ายึดอำนาจเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ก.พ.) พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี และควบคุมตัวนาง ‘อองซาน ซูจี’ ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำประเทศคนอื่นๆ โดยอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารครั้งนี้ว่า เกิดจากการ ‘ทุจริตเลือกตั้ง’ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย
รัฐบาลโตเกียว ระบุว่า ยังคงจับตาความเคลื่อนไหวในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เเละวิเคราะห์สถานการณ์อย่างถี่ถ้วน
ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับเมียนมามายาวนาน ทั้งด้านการเมืองเเละการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การลงทุน ตอบโต้การัฐประหารครั้งนี้ ด้วยการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจีและสมาชิกรัฐบาลพลเรือน พร้อมขอให้ฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย
Nakayama กล่าวอีกว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะระงับโครงการความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับกองทัพ
เมียนมา อาจส่งผลให้จีนมี ‘อิทธิพล’ มากขึ้น เเละอาจทำลายความมั่นคงในภูมิภาค
โดยตั้งเเต่ปี 2014 กองกำลังป้องกันประเทศของญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา ผ่านการจัดสัมมนาและโครงการฝึกอบรมทางทหารอื่น ๆ ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ การบรรเทาภัยพิบัติและสอนภาษาญี่ปุ่น รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ
“ถ้าเราหยุดความสัมพันธ์นี้ กองทัพเมียนมากับกองทัพจีนก็จะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น พวกเขาจะยิ่งออกห่างจากประเทศเสรี อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เเละญี่ปุ่น…ผมคิดว่านั่นจะเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในภูมิภาคได้”