รัฐบาลเผด็จการ “เมียนมา” กวาดล้างกลุ่มพ่อค้าแลกเงิน–ซื้อขายทองในตลาดมืด และกลุ่มเอเยนต์ขายคอนโดฯ ในประเทศไทย เป็นความเคลื่อนไหวรอบล่าสุดเพื่อสกัดไม่ให้ “เงินจ๊าต” อ่อนค่าลงอีก
สื่อของรัฐในเมียนมารายงานการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาด้านการเงินรวม 35 รายในรอบ 2 วันที่ผ่านมา โดยในจำนวนนี้เป็นการจับกุมผู้ต้องหาในข้อหาสั่นคลอนเสถียรภาพในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 14 ราย และข้อหาขายห้องชุดคอนโดมิเนียมในไทยซึ่งถือว่าผิดกฎหมายเมียนมา 5 ราย
ปัญหา “เงินจ๊าต” อ่อนค่านั้นเป็นปัญหาเรื้อรังที่เริ่มต้นตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2021 ทำให้ความต้องการ “เงินดอลลาร์” ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเพราะประชาชนต้องการสะสมเงินในสกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากกว่า เผื่ออาจจะใช้ในการลี้ภัยออกนอกประเทศในภายหลัง ปัจจุบันค่าเงินจ๊าตจึงอ่อนแอลงถึง 70% เทียบกับก่อนเกิดรัฐประหาร และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศ สินค้าต่างๆ ราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากการสะสมในสกุลเงินดอลลาร์แล้ว ประชาชนบางส่วนยังนิยมซื้อสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ ไว้เพื่อเก็บออมแทนเงินจ๊าตที่ผันผวนสูง และหากเป็นคนมีฐานะก็อาจจะลงทุนใน “อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ” โดยมี “กรุงเทพฯ” เป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุน ซึ่งทำให้รัฐบาลเมียนมาต้องการสกัดกั้นไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) พบว่า ผู้ซื้อจากเมียนมากลายเป็นกลุ่มผู้ซื้อมาแรงในตลาดคอนโดฯ ไทยมาตั้งแต่ปี 2565 โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ไทยรวมมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาทในปี 2565 และเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็นกว่า 3,700 ล้านบาทเมื่อปี 2566 จนกลายเป็นสัญชาติผู้ซื้อต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯ ไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจากจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ
เมื่อค่าเงินจ๊าตผันผวนจากเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ธนาคารกลางของเมียนมาเริ่มแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงิน โดยกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดียวตามที่ธนาคารกลางกำหนดคือ 2,100 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ Reuters รายงานจากร้านรับแลกเงินตราต่างประเทศพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดไม่เป็นทางการ (ตลาดมืด) ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงนั้นพุ่งขึ้นไปถึง 4,500 จ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว
“รัฐบาลกำลังทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศและการบังคับใช้กฎหมาย” หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงาน “องค์กรด้านความปลอดภัยจึงมีการตอบโต้กลุ่มนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไร ซึ่งขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ”
- เจาะขุมทรัพย์กำลังซื้อ “แรงงานเมียนมา” 6.8 ล้านคนในไทย ช่องว่างที่รอแบรนด์ทำการตลาด
- H&M เตรียมยุติการจ้างโรงงานที่พม่าผลิตสินค้าให้ หลังมีกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้น
สภาวะความผันผวนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เมียนมาซึ่งมีประชากรกว่า 55 ล้านคน มีอัตราส่วนประชากรที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเส้นความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมมีอัตราส่วน 24.8% ในปี 2017 พุ่งขึ้นมาเป็นอัตราส่วน 49.7% ในปี 2023 จากข้อมูลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
ฟากรัฐบาลเงา “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ NUG ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ระบุว่ารัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีการพิมพ์เงินจ๊าตออกมาอีกมหาศาลตั้งแต่เข้าสู่อำนาจเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายโดยกองทัพ ซึ่งทำให้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงอีก