บริษัทเครื่องดื่มญี่ปุ่น Kirin Holdings เตรียมถอนการลงทุนใน “เมียนมา” หลังจากบริษัทสรุปได้ว่า “ไม่มีความหวัง” ในการเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหากับหุ้นส่วนธุรกิจซึ่งมีกองทัพเป็นเจ้าของ การตัดสินใจของบริษัทเกิดขึ้นหลังผ่านไปกว่า 1 ปีที่กลุ่มเผด็จการเข้ายึดการปกครอง
Nikkei Asia รายงานว่า Kirin กำลังเริ่มกระบวนการเพื่อปิดกิจการในประเทศเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุนกับ Myanma Economic Holdings (MEHL) บริษัทนี้มีกลุ่มกองทัพทหารเมียนมาเป็นเจ้าของ
ที่ผ่านมาบริษัทเข้าจอยต์เวนเจอร์กับบริษัทกองทัพเมียนมา 2 แห่ง คือ Myanmar Brewery บริษัทนี้ Kirin เข้าถือหุ้นเมื่อปี 2015 และเป็นผู้ผลิตเบียร์ Myanmar Beer เบียร์ที่ขายดีที่สุดของประเทศ ครองตลาด 80% และอีกแห่งหนึ่งคือ Mandalay Brewery เมื่อปี 2017 ทั้งสองบริษัทนี้ Kirin ถือหุ้นข้างมาก 51% ส่วนที่เหลือ 49% บริษัท MEHL เป็นผู้ถือหุ้น
ขณะนี้ Kirin กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ โดยบริษัทเริ่มกระบวนการปิดบริษัทร่วมทุนทั้งสองแห่งแล้ว แต่ก็ยังเปิดโอกาสที่จะขายหุ้นในส่วนของตนให้กับบริษัทอื่น ซึ่งต้องเป็นการขายหุ้นให้กับบริษัทอื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มกองทัพทหารเมียนมา เพราะหากบริษัทยังขายให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็จะตามกดดันบริษัทต่อไป
ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีใครสนใจซื้อหรือไม่ และบริษัทจะหาผู้ซื้อได้ตรงคุณสมบัติที่ต้องการหรือไม่ แต่บริษัทตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะจบกระบวนการในเมียนมาให้ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
พยายามเจรจา ‘หย่าขาด’ แต่ไม่เป็นผล
Kirin พยายามจะยุติความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนทหาร MEHL มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เผด็จการทหารเข้ายึดอำนาจในเมียนมา เนื่องจากเผด็จการทหารเมียนมามีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ แม้ Kirin จะมีความหวังว่า เมื่อตนตัดสัมพันธ์กับหุ้นส่วนทหารได้แล้ว บริษัทจะได้ทำธุรกิจเบียร์ในเมียนมาต่อ แต่สุดท้ายความพยายามของบริษัทไม่เป็นผล
บริษัทพยายามเจรจากับ MEHL แล้ว และมีการนำคดีไปขึ้นศูนย์กลางอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่สิงคโปร์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 แต่สุดท้ายบริษัทตัดสินใจถอนการลงทุนของตัวเองออกแทน เพราะไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้นตามที่หวัง
ก่อนที่จะเกิดการยึดอำนาจ กำไรจากบริษัทร่วมทุนในเมียนมาคิดเป็นสัดส่วน 9% ในมูลค่ากำไรโดยรวมของบริษัท Kirin แน่นอนว่าการเจรจาของบริษัทญี่ปุ่นที่จะตัดสัมพันธ์กับหุ้นส่วนทหารย่อมยากลำบาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต้องการผลประโยชน์จากบริษัทเบียร์ที่ทำกำไร
บริษัทต่างชาติทยอยถอนการลงทุน
ตั้งแต่เมียนมาเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นเมื่อปี 2011 บริษัทต่างชาติมากมายซึ่งรวมถึง Kirin ด้วย ต่างพุ่งการลงทุนเข้าสู่ตลาด เพราะเห็นโอกาสการเติบโตที่แข็งแรง
แต่เมื่อเผด็จการทหารกลับยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อปีก่อน บริษัทต่างชาติต่างทยอยถอนการลงทุนไปทีละราย โดยการประกาศถอนตัวของ Kirin ถือได้ว่าเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่รายแรกที่ประกาศเช่นนี้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทอื่นๆ
บริษัทต่างชาติอื่นที่ประกาศถอนการลงทุนแล้ว เช่น TotalEnergies บริษัทด้านพลังงานฝรั่งเศสประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2022, POSCO บริษัทค้าเหล็กยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ ก็พยายามจะแยกทางกับ MEHL ที่เป็นหุ้นส่วนเช่นกัน
แต่ก็ยังมีบริษัทต่างชาติที่ยังไม่ตัดสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง เช่น Fujita, Tokyo Tatemono, Yokogawa Bridge Holdings เป็นต้น