H&M เตรียมยุติการจ้างโรงงานที่พม่าผลิตสินค้าให้ หลังมีกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้น

ภาพจาก Unsplash
H&M แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอีกราย เตรียมยุติการจ้างโรงงานที่พม่าผลิตสินค้าให้ หลังมีการละเมิดสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวของบริษัท ตามหลังแบรนด์เสื้อผ้ารายอื่น ที่ใช้พม่าเป็นฐานการผลิต

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า H&M แบรนด์ Fast Fashion รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกประกาศว่าเตรียมยุติในการจ้างโรงงานในประเทศพม่าผลิตสินค้าให้กับบริษัท หลังจากที่มีการรายงานถึงการละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศเพิ่มขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Fast Fashion ต้องยุติการจ้างผลิตสินค้าในพม่า เนื่องจากกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนในอังกฤษได้ติดตามกรณีซึ่งกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิคนงานในในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของพม่ามาตั้งแต่เดือนก.พ. ปี 2022 ถึงปี 2023 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 156 กรณี

จำนวนของกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้น 56 กรณีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานั้นบ่งชี้ถึงการเสื่อมถอยของสิทธิแรงงานพม่านับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2021 เป็นต้นมา โดยกรณีที่ถูกรายงานมากที่สุดคือการลดค่าจ้างรวมถึงการโกงค่าจ้าง ขณะที่กรณีอื่นๆ รองลงมา ไม่ว่าจะเป็น การเลิกจ้างงานจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่ไร้มนุษยธรรม และการบังคับทำงานล่วงเวลา

แถลงการณ์ของบริษัทได้กล่าวว่า “หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว บริษัทได้ตัดสินใจที่จะค่อยๆ ยุติการดำเนินงานในพม่า” โดย H&M เป็นแบรนด์ล่าสุดที่เตรียมยุติการใช้โรงงานในพม่าผลิตสินค้าให้ ตามหลังแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Zara หรือแม้แต่ Marks & Spencer เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการประกาศของ H&M ที่ออกมานั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับการเผยแพร่รายงาน แต่เป็นผลจากการประเมินสถานการณ์ของตนเอง

โดยผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ มักจะใช้แรงงานจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำ เพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าที่มีราคาถูกออกมาได้ และประเทศพม่าถือเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยม ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในละแวกนี้เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าที่สำคัญคือ บังกลาเทศ หรือแม้แต่ กัมพูชา

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทต่างชาติได้ทยอยถอนการลงทุนในประเทศพม่าหลังจากการรัฐประหารในปี 2021 เป็นต้นมา เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากทั้งข้อระเบียบต่างๆ ข้อระเบียบด้าน ESG ไปจนถึงแรงกดดันจากนักลงทุน หรือแม้แต่แรงกดดันจากสถาบันการเงินต่างๆ เอง

ที่มา – Reuters [1], [2]