สหภาพแรงงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 20 Jun 2022 09:56:59 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 พนักงาน Apple Store ลงมติก่อตั้ง “สหภาพแรงงาน” สำเร็จเป็นสาขาแรกในสหรัฐฯ https://positioningmag.com/1389322 Mon, 20 Jun 2022 08:07:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389322 พนักงาน Apple Store ในสหรัฐฯ ลงมติก่อตั้ง “สหภาพแรงงาน” สำเร็จเป็นสาขาแรก เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกิดกระแสก่อตั้งสหภาพต่อจาก Alphabet, Amazon และ Starbucks

Apple Store สาขาเมืองโทว์สัน รัฐแมริแลนด์ มีการลงมติเพื่อก่อตั้ง “สหภาพแรงงาน” เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลปรากฏว่า จากพนักงาน 110 คน มีผู้โหวตรับมติ 65 คน และไม่รับ 33 คน การนับคะแนนมีการถ่ายทอดสดโดยหน่วยงานจากรัฐบาลกลางเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบความโปร่งใส

ก่อนหน้าที่จะถึงการโหวตนี้ พนักงานของ Apple Store มีการรวมกลุ่มกันในชื่อ AppleCORE (ย่อมาจาก Coalition of Organized Retail Employees) และเริ่มรณรงค์เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น

“เราทำได้แล้วโทว์สัน! เราชนะการโหวตตั้งสหภาพ! ขอบคุณทุกคนที่ทำงานอย่างหนักและทุกคนที่คอยสนับสนุน! ตอนนี้เราจะฉลองกัน…พรุ่งนี้เราจะบริหารจัดการกันต่อ” AppleCORE ระบุในทวีต

การตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน Apple Store เป็นไปเพื่อรวมกลุ่มกันเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าแรง ชั่วโมงทำงาน และมาตรฐานความปลอดภัยร่วมกับบริษัท

Photo : รอยเตอร์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พนักงาน Apple Store มีความพยายามที่จะสร้างสหภาพแรงงานขึ้นมา แต่เป็นครั้งแรกที่มาจนถึงขั้นตอนการโหวตได้สำเร็จ

ก่อนหน้าจะมีการโหวตเกิดขึ้น เดรเดรอ โอไบรอัน ผู้อำนวยการด้านทรัพยากรบุคคลของ Apple เคยไปเยี่ยมสาขาโทว์สันมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม และมีบันทึกเสียงการพูดคุยบางส่วนหลุดออกมาตีพิมพ์บนสื่อสำนักข่าว Vice คำพูดที่โอไบรอันกล่าวกับพนักงานคือ

“ฉันอยากจะเริ่มต้นด้วยการบอกว่า คุณมีสิทธิที่จะร่วมเป็นสมาชิกสหภาพ แต่คุณก็มีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันที่จะไม่เป็นสมาชิกสหภาพ” โอไบรอันกล่าว “ถ้าคุณกำลังเผชิญกับการตัดสินใจเลือก ฉันอยากขอแนะนำให้คุณปรึกษากับคนให้หลากหลายที่สุด และศึกษาข้อมูลเพื่อให้เข้าใจว่าการทำงานที่ Apple โดยอยู่ภายใต้สัญญาการต่อรองผลประโยชน์ร่วมกันนั้นน่าจะเป็นอย่างไร”

เธอกล่าวด้วยว่า การมีคนกลางในเรื่องนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Apple กับพนักงานมีความซับซ้อนมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Apple ยัง “ขอไม่แสดงความเห็น” อย่างเป็นทางการต่อข่าวการตั้งสหภาพ จากการสอบถามโดย AFP

 

ข้อดีข้อเสียของการมี “สหภาพแรงงาน”

หน้าที่ของการมีสหภาพแรงงาน คือ การมีตัวแทนโดยชอบธรรมในการเข้าไปเจรจาต่อรองค่าจ้างและสภาวะการทำงานกับนายจ้าง หลายครั้งการประท้วงที่นำโดยสหภาพแรงงานจะมีการนัดหยุดงานเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมถึงสหภาพยังดูแลกรณีพนักงานต้องการฟ้องร้องนายจ้าง ไปจนถึงการเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงต่อรองกับนักการเมืองในการออกนโยบายด้านแรงงาน

การประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงาน (Photo: Shutterstock)

อย่างไรก็ตาม การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ กลับอยู่ในช่วงขาลงมาหลายทศวรรษ โดยอัตราส่วนผู้เข้าเป็นสมาชิกเคยอยู่ที่ 20% เมื่อปี 1983 แต่ในปี 2020 ลดลงเหลือ 10.8% เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานของภาครัฐ เช่น ครู ตำรวจ ที่ยังคงเป็นสมาชิกสหภาพอย่างเหนียวแน่น

สาเหตุที่สหภาพแรงงานเป็นเทรนด์ขาลงในช่วงก่อนหน้านี้ เกิดจากหลายเหตุผล ส่วนใหญ่จะถูกวิเคราะห์ว่าเมื่ออยู่ในสหภาพแรงงาน แรงงานจะต้องเคารพมติที่โหวตแล้วของสหภาพ ทำให้การแสดงออกความเห็นรายบุคคลที่อาจจะแตกต่างไปทำได้ยาก ในขณะที่สังคมอเมริกันนั้นมีความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม ทำให้ความเห็นในสหภาพมักจะไม่ค่อยตรงกัน อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การเป็นสมาชิกแปลว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 1-2% ของรายได้

สหภาพแรงงาน มาได้รับความนิยมอีกครั้งในไม่กี่ปีมานี้ โดยมีพนักงานบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งที่รวมตัวกันลงมติ เช่น ปี 2021 Alphabet มีการรวมตัวพนักงานกว่า 200 คนทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดา เพื่อตอบโต้เรื่องการรับมือคำร้องเรื่องการคุกคามทางเพศที่ไม่เป็นธรรมของบริษัท

(Photo : Shutterstock)

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2021 สาขา Starbucks สองแห่งในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์กก็ทำสำเร็จเช่นกัน และเปิดทางให้พนักงานมากกว่า 160 คนในสาขาอื่นๆ เริ่มโหวตเพื่อตั้งสหภาพ โดยระหว่างเส้นทางการต่อสู้ มีพนักงาน Starbucks ที่ถูกให้ออกเพราะความพยายามจะตั้งสหภาพ

ถัดมาคือเดือนเมษายน 2022 พนักงาน Amazon ในคลังสินค้าเมืองนิวยอร์ก มีการโหวตที่ลงมติท่วมท้นให้จัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นครั้งแรก แต่บริษัทได้ร้องขอให้มีการโหวตใหม่

การจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทอเมริกันกังวลใจและไม่ต้องการให้มีขึ้น แน่นอนว่าเพราะการมีตัวแทนมาต่อรอง จะทำให้บริษัทเสียสิทธิเด็ดขาดในการกำหนดค่าจ้างและสวัสดิการ และมีแนวโน้มว่าบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างแพงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น จึงไม่มีบริษัทไหนต้องการให้มีสหภาพแรงงาน

Source: Economic Times, TRT World

]]>
1389322
สหภาพคนกอง “ฮอลลีวู้ด” ลงมติสไตรค์! ประท้วง “สตรีมมิ่ง” ขูดรีดแรงงานกองถ่าย https://positioningmag.com/1355242 Wed, 06 Oct 2021 10:17:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355242 หลังยุคสตรีมมิ่งบูมสุดขีด หลังฉากคือการทำงานหนักของบรรดา “คนกอง” เพื่อป้อนคอนเทนต์ให้ทันความต้องการ จนในที่สุดสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของ “ฮอลลีวู้ด” หมดความอดทน มีมติให้ “สไตรค์” เพื่อตอบโต้นายจ้าง เรียกร้องเวลาทำงานที่เหมาะสม จากปัจจุบันต้องทำงานกันถึง 70-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

International Alliance of Theatrical and Stage Employees (IATSE) สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวู้ด มีเครือข่ายสมาชิกกว่า 50,000 คน ทำงานในตำแหน่งต่างๆ เช่น ช่างกล้อง ช่างทำพร็อพประกอบฉาก ช่างทำผม ฯลฯ ลงมติโหวตคะแนนเสียงท่วมท้น 98% ว่าพวกเขาจะ “สไตรค์” เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง โดยต้องการชั่วโมงทำงานที่น้อยลง และค่าจ้างที่เป็นธรรม

ก่อนหน้านี้ IATSE มีการพูดคุยกับ Alliance of Motion Picture and Television Producers (AMPTP) แต่สุดท้ายแล้วตกลงกันไม่ได้ โดยทาง IATSE เป็นฝ่ายคว่ำโต๊ะเจรจา แม้ว่า AMPTP จะยินยอมขยับค่าจ้างขึ้น ลดชั่วโมงทำงาน และมีแผนให้สิทธิประกันสุขภาพกับเงินบำนาญหลังเกษียณมูลค่าเกือบ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 13,600 ล้านบาท) แล้ว แต่ดีลที่ได้ยังไม่น่าพึงพอใจ

“แมทธิว โลบ” ประธานสหภาพ IATSE กล่าวว่า ผลโหวตได้ “ประกาศอย่างชัดเจนและกึกก้อง” แล้วสำหรับจุดยืนของคนกอง “การโหวตครั้งนี้หมายถึงการเรียกร้องคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความปลอดภัยของคนทำงานในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์” โลบกล่าวในแถลงการณ์ “สำหรับคนที่ได้ค่าแรงต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม พวกเขาสมควรได้ค่าแรงที่ไม่น้อยไปกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ครองชีพได้จริง”

 

ทำงาน 70 ชม.ต่อสัปดาห์ อันตรายต่อสุขภาพ

หลายเดือนระหว่างการล็อกดาวน์เมื่อปี 2020 ทำให้กองถ่ายหนังและซีรีส์บูมสุดขีดในช่วงที่ผ่านมา และพนักงานกองถ่ายต่างกล่าวกันว่าดีมานด์ความต้องการตัวพวกเขาเริ่มแย่ยิ่งกว่าที่เคยเป็น

กิจกรรมเพ้นท์สีรถเพื่อแสดงออกถึงการเรียกร้องของ IATSE

การประท้องบนท้องถนนของลอสแอนเจลิสและบนโซเชียลมีเดีย พนักงานกองถ่ายฮอลลีวู้ดต่างแบ่งปันเรื่องราวทรมานใจของการทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมง รวมแล้วต้องทำงาน 70-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

บางคนถึงกับต้องรับการผ่าตัด “จากการทำงาน” เพื่อฟื้นฟูสภาพหลังและเข่าของตัวเอง หลายคนได้รับผลกระทบต่อชีวิตสมรส และหลายคนพลาดไม่ได้ไปร่วมงานแต่งงานหรืองานศพของคนสำคัญในชีวิต

ในอุตสาหกรรมบันเทิง คำว่า “Fraturdays” เป็นศัพท์เฉพาะของคนกอง หมายถึง สภาพการทำงานที่คนกองต้องไปถึงกองถ่ายตั้งแต่ 6 โมงเช้าวันจันทร์ และมีคิวออกกองวันศุกร์ที่เริ่มเอาตอนบ่ายแก่ๆ จากนั้นก็ทำงานยาวไปจนถึงวันเสาร์เช้า ซึ่งทำให้วันหยุดไม่สามารถไปทำอะไรได้เลยนอกจากนอนพัก

กิจกรรมประท้วงในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ (ที่มา : IATSE)

โธมัส พีซโกลอน ช่างมิกซ์เสียงรายหนึ่งที่ออกมาประท้วง ระบุว่าเขากำลังทำงานกับรายการมูลค่า 300 ล้านเหรียญรายการหนึ่งของสตรีมมิ่งแห่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เขาต้องทำงาน 9 ชั่วโมงติดต่อกันก่อนที่จะได้พักกินข้าวเที่ยง และมีครั้งหนึ่งที่เขาต้องทำงาน 18 ชั่วโมงในวันเดียว

ขณะที่เพื่อนร่วมงานชื่อ เจด ธอมป์สัน ซึ่งเป็นแผนกเครื่องแต่งกายของรายการเดียวกัน ถึงกับหลับในระหว่างขับรถกลับบ้าน โชคดีที่เธอไม่ได้รับอันตราย ปัญหาหลับในหลังชั่วโมงทำงานอันทรหดเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในหมู่คนกอง

 

“สตรีมมิ่ง” ขูดรีดคนกอง

อย่างไรก็ตาม การลงมติให้สไตรค์ ไม่จำเป็นต้องมีการสไตรค์จริงๆ ทันที คนกองหลายคนกล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า พวกเขายังหวังว่าสหภาพแรงงานจะนำการโหวตนี้ไปใช้เจรจาต่อรองเพื่อรับดีลที่ดีกว่าได้สำเร็จ

ครั้งสุดท้ายที่ฮอลลีวู้ดเคยปั่นป่วนเพราะปัญหาการประท้วงของแรงงานคือเมื่อช่วงปี 2007-2008 โดยกลุ่มมือเขียนบทรวมตัวกันสไตรค์ AMPTP และด้วยเหตุใกล้เคียงกันคือต้องการขึ้นค่าแรง ครั้งนั้นกลุ่มนักเขียนสไตรค์หยุดงานกันมากกว่า 100 วัน และทำให้หนัง ซีรีส์ หลายๆ เจ้าต้องเลื่อนวันฉายออกไปเพราะเหตุนี้

กองถ่ายต้องใช้พนักงานเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก (Photo : Shutterstock)

ดูเหมือนว่าครั้งนี้เป้าหมายความขุ่นเคืองจะอยู่ที่สตรีมมิ่งยักษ์ทั้ง Amazon และ Netflix ซึ่งสหภาพแรงงานมองว่ากำลังเอาเปรียบการทำงานของพวกเขา

“บริษัทสตรีมมิ่งเหมือนได้ส่วนลดจากการใช้แรงงานพวกเรา” ลิซ่า คลาร์ก ฝ่ายตกแต่งฉาก กล่าว “เราสมควรได้ส่วนแบ่งที่ยุติธรรมจากกำไรของบริษัท เราควรจะได้รับค่าจ้างอย่างน้อยเท่าๆ กับที่เราเคยได้เมื่อครั้งทำงานให้กับเครือข่ายโทรทัศน์”

บริการสตรีมมิ่งกำลังบีบให้คนทำงานทุ่มเวลาให้งานเสร็จในระยะสั้นๆ คลาร์กกล่าวเปรียบเทียบว่า เธอมีเวลาแค่ 10 สัปดาห์ในการเตรียมฉากถ่ายทำเป็นร้อยๆ ฉาก จากปกติปริมาณงานขนาดนี้ต้องใช้เวลาเตรียมตั้ง 6 เดือน “เป็นคำขอที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย” คลาร์กกล่าว

Source

]]>
1355242