หุ้นจีน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 09 May 2024 03:38:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Jitta Wealth ชูโมเดล AI วิเคราะห์ข้อมูลประเทศไหนน่าลงทุน มองหุ้นจีน-ฮ่องกงราคาถูกน่าสนใจ https://positioningmag.com/1472692 Wed, 08 May 2024 17:28:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472692 จิตตะ เวลธ์ (Jitta Wealth) มองถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้สร้างแรงกระเพื่อมในหลายมิติ ซึ่งรวมถึงด้านการลงทุนด้วย ล่าสุดบริษัทได้มีการนำข้อมูลในหลายมิติมาเพื่อวิเคราะห์ถึงการลงทุนว่าประเทศไหนเหมาะสมในการลงทุน เพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทน หรือแม้แต่ลดความเสี่ยงให้กับลูกค้า

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ได้กล่าวถึงว่าบริษัทได้พัฒนา Jitta Intel อัลกอริทึม AI เพื่อการลงทุนของจิตตะมาตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลกว่า 1,000 ล้านชุดข้อมูลต่อวัน วิเคราะห์หุ้นกว่า 48,000 หุ้น ครอบคลุมหุ้น 90% ทั่วโลก เพื่อหาหุ้นที่น่าลงทุนที่สุดของแต่ละตลาด (Jitta Ranking) ตามหลักการลงทุนเน้นคุณค่า (VI)

เขาได้กล่าวเสริมในเรื่องดังกล่าวว่า การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ในส่วนของธุรกิจการเงินการลงทุน ได้เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์การลงทุนทั่วโลก เพิ่มศักยภาพและโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุน ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ฉลาดยิ่งขึ้น ในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์หลายเท่า

นอกจากนี้เขายังมองว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลงทุนยังช่วยไม่ให้เกิดความอคติในการลงทุน หรือแม้แต่ความกลัวเวลาตลาดเกิดผันผวนขึ้นมา เนื่องจากเทคโนโลยีจะช่วยในเรื่องดังกล่าวแทน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Jitta Wealth ได้กล่าวว่าล่าสุด ได้มีการนำโมเดล AI ที่สามารถจะทำนาย (Jitta Market Prediction) ในตลาดหุ้นที่มีพื้นฐานดี และโมเดลดังกล่าวยังมองว่าตลาดไหนจะทำผลตอบแทนได้ดี ช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และสร้างผลตอบแทนได้ดีมากขึ้น

เขายังกล่าวว่า ถ้านำโมเดลดังกล่าวมาใช้จะให้ผลตอบแทนดีมาก ถ้าหากเจอตลาดหุ้นดีๆ ซึ่งในอนาคต ตราวุทธิ์ กล่าวว่าตัวโมเดล AI ดังกล่าวสามารถทายได้ว่าปีไหนไม่ต้องลงทุนเลยก็ได้ เพื่อเน้นความปลอดภัยของพอร์ตลงทุน หรือแม้แต่จะหาสินทรัพย์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้อีกทาง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Jitta Wealth ยังได้กล่าวว่า ถ้าหากนำข้อมูลด้านการลงทุนมาวิเคราะห์แล้วจะพบว่าหุ้นจีน กับหุ้นฮ่องกง ยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากหุ้นที่มีมูลค่าถูกนั้นยังมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ อย่างเช่น ไทย เป็นต้น

ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการของ Jitta Wealth ในส่วนกองทุนส่วนบุคคลนั้นมีมากกว่า 68,000 พอร์ต มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทนของ Jitta Ranking สามารถเอาชนะผลตอบแทนของกองทุนส่วนมากในไทย โดย Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม สร้างผลตอบแทน 140.27% เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนาม Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ ก็สร้างผลตอบแทนได้ถึง 77.47% เป็นอันดับ 3 จากกองทุนหุ้นสหรัฐฯ 28 กองทุน เป็นต้น

ลูกค้าที่ต้องการที่จะลงทุนกับ Jitta Wealth นั้นมีเงินเริ่มลงทุนเพียงแค่ 10,000 บาทก็สามารถใช้บริการได้ ตราวุทธิ์ยังมองว่าการทำธุรกิจนั้นเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ถ้าหากผลิตภัณฑ์นั้นดีคนก็จะสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้พัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

]]>
1472692
ดัชนีหุ้นจีน CSI 300 ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปี นักวิเคราะห์หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมาเร็วๆ นี้ https://positioningmag.com/1457979 Mon, 08 Jan 2024 17:39:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457979 ดัชนีหุ้นจีนอย่าง CSI 300 ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปี สาเหตุสำคัญนั้นมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และยังรวมถึงเม็ดเงินจากนักลงทุนชาวต่างชาติลดน้อยลง โดยนักวิเคราะห์หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนจะออกมาเร็วๆ นี้ เพื่อที่จะสร้างปัจจัยบวกให้กับตลาดหุ้นจีน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าวว่า ดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวมหุ้นที่ซื้อขายในจีนแผ่นดินใหญ่ 300 บริษัท ได้ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิดก็ตาม

ดัชนีดังกล่าวปิดการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ 3,286.06 จุด ได้ทำสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 เป็นต้นมา นอกจากนี้ผลตอบแทนในปี 2023 ที่ผ่านมายังมีผลตอบแทนติดลบติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ด้วย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีหุ้นจีนทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปีก็คือปัจจัยของความเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนที่แม้ว่าจะมี GDP เติบโตถึง 4.9% ในไตรมาส 3 ของปี 2023 ผ่านมา ซึ่งถือฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ดีตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อในจีนเองนั้นได้เข้าสู่สภาวะเงินฝืดหลายครั้งเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้ในปี 2023 ที่ผ่านมา นักลงทุนที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศได้ลดการลงทุนในประเทศจีนลง สาเหตุสำคัญมาจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้จากเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจีนลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงหลายปี

นอกจากนี้ยังมีวิกฤตธนาคารเงาในประเทศจีนรายใหญ่อย่าง Zhongzhi ประกาศล้มละลาย ยิ่งทำให้สถานการณ์ของตลาดหุ้นจีนย่ำแย่ลงไปอีก

อย่างไรก็ดี Valuation ของหุ้นจีนนั้นถือว่าถูกแล้วถูกอีก โดยดัชนี CSI 300 นั้นมีสัดส่วนราคาต่อกำไร (P/E) อยู่ที่ราวๆ 10-11 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี นอกจากนี้หุ้นจีนยังถือว่าถูกกว่าดัชนี MSCI Asia ex Japan ซึ่งมี P/E อยู่ราวๆ 13 เท่าอีกด้วย

Jason Lui หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตราสารอนุพันธ์ของ BNP Paribas ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจีนไม่ได้มีการประกาศมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง ขณะเดียวกัน Valuation ของหุ้นจีนถือว่าไม่ค่อยดีนัก และหุ้นจีนเองไม่ได้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดให้เม็ดเงินไหลกลับมาด้วย

ในบทวิเคราะห์หุ้นจีนจากหลายสถาบันการเงินต่างชาติได้มองสอดคล้องกันว่าในปีนี้ถือเป็นปีที่อาจลุ้นหุ้นจีนกลับมาได้ ถ้าหากจีนมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

Meng Lei นักกลยุทธ์ของ UBS ได้กล่าวกับ Bloomberg ว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดจบลงแล้วและเราค่อนข้างจะมองโลกในแง่ดี โดยมองถึงกำไรของบริษัทจีนที่จะเพิ่มมากขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ดึงเศรษฐกิจของจีนมากเกินไป หรือแม้แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

]]>
1457979
ชั่งน้ำหนัก ‘หุ้นจีน’ วิกฤตหรือโอกาสอยู่ตรงไหนให้ลงทุน https://positioningmag.com/1410950 Fri, 02 Dec 2022 07:30:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1410950 โดยตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
‘จีน’ พี่ใหญ่แดนมังกรของเราได้สร้าง Big Surprise ด้วยการประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ลง ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวจีนท้องถิ่นเท่านั้นที่จะดีใจไปกับการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ครั้งนี้ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการใช้ชีวิตประจำวันลงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจีนก็พลอยยินดีไปด้วย

หลังการประกาศข่าวดีนี้ตลาดหุ้นจีนรวมถึงตลาดในภูมิภาคต่างก็เด้งรับปัจจัยบวกกันยกใหญ่ อานิสงส์นี้ยังส่งผลไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งของจีนและสกุลภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทของไทยก็ตามน้ำแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน

Big Surprise ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ตลาดพากันคาดเดาว่า จีนจะเดินหน้าไปสู่การ เปิดประเทศเป็นสเต็ปต่อไป โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจีนมีโอกาสเปิดประเทศในช่วงเดือนมีนาคมเมษายนปี 2566 และจะค่อยๆ ฟื้นเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจจีนต้องหยุดชะงักไปพักใหญ่กับนโยบายโควิดเป็นศูนย์หรือ Zero Covid วันนี้ผมจึงมาชวนคุยกันครับว่า มังกรจีนจะนำพาเศรษฐกิจเดินต่อไปในทิศทางใด

ผ่อนคลายเกณฑ์โควิด

นอกจากทางการจีนจะผ่อนคลายมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศลงแล้ว จีนยังลดวันกักตัวของคนที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ (Secondary Contact) ลงจาก 7 วันเหลือ 5 วันในสถานที่กักตัวของรัฐและอนุญาตให้กักตัวที่บ้านได้ 3 วันนอกจากนี้ ทางการยังได้ยกเลิกมาตรการบันทึกประวัติของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ นั่นหมายความว่าหลายคนอาจไม่ต้องกักตัว นอกจากนี้ทางการจีนยังยกเลิกมาตรการลงโทษสายการบินที่ขนส่งผู้โดยสารติดเชื้อเข้าประเทศอีกด้วย

หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน China’s National Health Commission (NHC) ทางการจีนก็ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดดังกล่าวในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแม้ก่อนหน้านั้นจีนต้องเจอกับการระบาดระลอกใหม่ในเมืองปักกิ่ง กว่างโจวและเจิ้งโจวหลังจากที่กลับมาเปิดเมืองโดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 28,883 รายแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่การระบาดในช่วงเดือนเมษายน 2565

covid china
Photo : Shutterstock

โดยเมืองกว่างโจวพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดที่ 8,459 ราย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่แต่เป็นการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เสี่ยงแตกต่างกับช่วงกลางปีที่มีการล็อกดาวน์ทั้งเมือง

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดลงมาทำให้ตลาดหุ้นจีนเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงตอบรับสัญญาณบวกนี้ทันทีโดยผลตอบแทนตั้งแต่วันที่ 1 – 22 พฤศจิกายน 2022 ดัชนีหุ้นบลูชิพของจีน CSI 300 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.43%, ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเพิ่มขึ้น 6.76%, ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงพุ่งขึ้น 18.67% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 เดือนนับจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาขณะที่ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีดีดตัวขึ้นถึง 23.24%

ตลาดมองว่าทางการจีนจะค่อยๆ ผ่อนคลายเกณฑ์ลงอีก โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจีนอาจยกเลิกมาตรการ Zero Covid และเปิดประเทศได้ในช่วงกลางปีหน้า ถ้าเป็นเช่นนั้นดัชนีตลาดหุ้นจีนมีโอกาสดีดตัวได้ถึง 20%

นอกจากปัจจัยภายในประเทศแล้วตลาดหุ้นจีนก็ยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดตลาดหุ้นจีนจึงได้รับแรงหนุนถึง 2 เด้งเลยนะครับ

ปีหน้าเศรษฐกิจจีนฟื้น

สำนักวิจัยของโกลด์แมนแซคส์กรุ๊ปได้ออกรายงานมุมมองเศรษฐกิจจีนฉบับล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนหลังทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดโดยสมมติฐานเบื้องต้นโกลด์แมนแซ็คส์ประเมินว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศได้อีกครั้งในเดือนเมษายน 2566 แต่การเปิดประเทศของจีนอาจยังไม่ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มากนัก

โดยมองว่า GDP ในไตรมาส 2 น่าจะโตได้เพียง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในระยะแรกของการเปิดประเทศอาจทำให้จำนวนผู้ติดชื้อในจีนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จีนยังต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอยู่และจีนยังต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นหลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะทยอยลดลงได้ในครึ่งปีหลัง

ดังนั้นในครึ่งหลังของปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 จึงเป็นจังหวะที่รัฐบาลจะเร่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกครั้งในขณะที่ชาวจีนก็เรียนรู้และปรับตัวกับสถานการณ์โรคระบาดได้ดีขึ้นและจะทำให้เศรษฐกิจจีนค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ตามลำดับ

โดยคาดว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีโอกาสโตได้ถึง 10% หลังจากนั้นจีนจะค่อยๆ กลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายแบบปกติทำให้ตัวเลข GDP หย่อนลงเหลือ 6% ในไตรมาส 4 และตัวเลขการเติบโตทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยูที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3% เมื่อมองข้ามช็อตไปถึงปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วยอัตราการเติบโต 5.3%

ภาพจาก Shutterstock

แม้ในปี 2565 นี้สำนักวิจัยส่วนใหญ่ฟันธงว่าจีนคงไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันด้วยตัวเลข GDP ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5.5% โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาตัวเลข GDP ของจีนโตได้เพียง 3.9% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากนโยบาย Zero Covid นั่นเอง ที่กดทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กันและก่อนที่ทางการจะประกาศการผ่อนคลายเกณฑ์​ควบคุมโควิดจำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มสูงขึ้นมาอีกระลอกดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจแดนมังกรในไตรมาสที่ 4 ปีนี้จะทรุดตัวลงมาเหลือเพียง 1.2%

ในขณะที่ซีกโลกตะวันตกกำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาสร้างสถิติใหม่ในรอบหลายสิบปีด้วยเครื่องมือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างร้อนแรงไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษหรือกลุ่มยูโรโซนแต่ปัญหาเหล่านี้ห่างไกลเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างจีน โดยคาดว่า Core CPI ของจีนจะขยับขึ้นมาเพียงเล็กน้อยจากระดับ 0.7% ในปีนี้มาอยู่ที่ 1.2% ในปีหน้าและจีนจะยังสามารถใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายได้ต่อไปซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2% ได้ในปีหน้า

ถ้าวัดจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศแล้วละก็จีนยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมากโดยไม่ต้องสงสัยเลยนะครับแต่ในระยะหลังภาครัฐหันมาให้น้ำหนักกับความมั่นคงมากกว่าการเติบโต เพราะจีนสามารถสั่งสมการเติบโตและสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจมาได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกันการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจก็ได้สร้างความไม่สมดุลย์ในบางจุด ทำให้ทางการต้องชะลอการเติบโตไว้ก่อน และเน้นเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับจุดเปราะบางเหล่านั้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลเท่าเทียมมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ปัจจัยลบยังปกคลุม

แม้การเปิดประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน แต่ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักเช่นกัน เพราะการเปิดประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงมีเพียงการคาดเดาจากตลาดเท่านั้น แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ จากทางการจีนไม่ว่าการออกจากนโยบาย Zero Covid หรือนโยบายเปิดประเทศขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 70% จึงยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการเปิดประเทศของจีนและทางการจีนยังต้องชั่งน้ำหนักในประเด็นดังกล่าว

การบริโภคภายในประเทศนับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ด้วยขนาดประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกกว่า 1,400 คน เมื่อจีนเปิดประเทศคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยจากคนท้องถิ่นเองจะเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเข้าไปช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยด้วย ในขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้คนในประเทศก็อาจถูกกดดันจากปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเปราะบางอยู่

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของจีนก็จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปีหน้าเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกขณะที่ภาวะถดถอยในเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งสหรัฐฯอังกฤษและยุโรปก็ส่งสัญญาณเข้มขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญจีนน่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ไปเต็มๆ จากปัญหา Trade War ระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งล่าสุดก็นำไปสู่ Chip War แพ็กเกจกีดกันทางการค้าชุดใหม่ของสหรัฐฯ ที่ห้ามส่งออกชิป และอุปกรณ์การผลิตชิปไปยังประเทศจีน และหากสหรัฐฯ เอาจริงในเรื่องนี้แล้วละก็หนีไม่พ้นที่ภาคการผลิตของจีนจะถูกกระทบจากสงครามการค้าระลอกใหม่

อย่างที่เราทราบกันดีนะครับว่าความขัดแข้งของ 2 พี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มมาจาก Trade War ขยายไปสู่ Tech War และกำลังอัพเลเวลขึ้นมาสู่การแบ่งขั้วมหาอำนาจของโลกอย่างชัดเจนจนกระทบมาถึงประเทศเล็กๆ อย่างเราๆ ที่ต้องเลือกข้างกันละครับ

ฝันให้ไกล-เล่นให้ใหญ่

อีกเรื่องระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งกำลังเป็นที่จับจ้องของคนทั่วโลก เรากำลังลุ้นกันว่าตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกอาจจะย้ายฝั่งจากสหรัฐฯ มาเป็นจีนได้ในอนาคตอันไม่ไกลนี้ และด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีนระหว่างปี 2564 – 2568

สะท้อนให้เห็นถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ความมุ่งมั่นอันแรงกล้านี้ยังสนับสนุนด้วยนโยบาย Made in China 2025 ที่จีนวาดหวังจะเปลี่ยนสถานะจาก โรงงานของโลกมาเป็น ผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก

Photo : Shutterstock

ด้วยฝันที่ (ไม่) ไกลนี้ จีนเล่นใหญ่ด้วยการเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเป็นสัดส่วน 7% ของ GDP ต่อปีซึ่งจีนใช้งบประมาณในด้านนี้มากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ขณะที่ในปี 2564 จีนมีรายจ่ายด้านวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีคิดเป็น 76% ของรายจ่ายด้านวิจัยและพัฒนาทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 50% ในปี 2555

การทุ่มเทสรรพกำลังต่างๆ ทั้งกำลังเงินกำลังคนและการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีจีนอย่างจริงจัง ทำให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนเติบโตโดดเด่นจนก้าวขึ้นมาเทียบชั้นยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปีแต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ จีนต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางของการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาอย่างสาหัส

มาตรการไล่เช็กบิลอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนที่กวาดต้อนบริษัทเทคฯ น้อยใหญ่เข้าสู่การดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทางการที่จะพัฒนาธุรกิจเทคฯ จีนให้ทะยานขึ้นสู่ผู้นำระดับโลกได้อย่างแข็งแกร่ง และสามารถรักษาการเติบโตให้ทอดยาวไปได้อีกไกลในอนาคต

มาดูความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีของคนจีนกันบ้าง ถึงจีนจะมีประชากรจำนวนมากที่สุดในโลกแต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีถือว่าต่ำทีเดียวโดยประชากรจีนกว่า 1,032 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ขณะที่จีนก็มีผู้ใช้สมาร์ตโฟนกว่า 953 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ล้ำหน้าไปกว่านั้นคือจีนมีโครงข่ายเสาสัญญาณ 5G มากที่สุดในโลกทำให้จีนมีฐานการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้เปรียบประเทศอื่น

ยิ่งไปกว่านั้นจีนยังเป็นผู้นำสินค้าเทคโนโลยีระดับโลกในหลายหมวดหลายแบรนด์ที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น Huawei ZTE Xiaomi DJI Lenovo และ Oppo รวมถึงธุรกิจเทคฯจีนที่เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลกเช่น Alibaba Tencent และ Bytedance เจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok นอกจากนี้จีนยังมีบริษัทสตาร์ตอัประดับ Unicorn ที่มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมากถึง 312 บริษัท

ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งขนาดนี้คงไม่ยากที่จีนจะก้าวขึ้นมาสู่มหาอำนาจด้านเทคโนโลยีระดับโลกหากคุณต้องการข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นเทคฯจีนหรือการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ https://jitta.co/3hzgEYA

ผมขอเตือนเบาๆ ว่าอย่าศึกษานานไปนะครับตลาดหุ้นจีนปีนี้ได้รับแรงกดดันจนปรับตัวลงมาค่อนข้างมากแล้วหากเราใช้โอกาสนี้เริ่มทยอยสะสมก็จะช่วยให้ต้นทุนการลงทุนของเราอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปเพื่อรับโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตแบบก้าวกระโดดเชียวครับ

]]>
1410950
สะเทือนซ้ำซ้อน! “หุ้นจีน” ในตลาดสหรัฐฯ ดิ่งยกแผง นักลงทุนกังวลสายสัมพันธ์จีน-รัสเซีย https://positioningmag.com/1377796 Wed, 16 Mar 2022 06:16:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377796 ก่อนหน้านี้ “หุ้นจีน” ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนจากนโยบายรัฐบาลจีนที่กำลังกดดันให้บริษัทจีนถอนหุ้นออกจากตลาดต่างชาติอยู่แล้ว งานนี้หุ้นจีนยังสะเทือนซ้ำซ้อนอีก เพราะนักลงทุนมีความกังวลว่า ประเทศจีนอาจดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับรัสเซีย และทำให้บริษัทจีนถูกหางเลขการคว่ำบาตรไปด้วย

บริษัทจีนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสหรัฐอเมริกา 10 อันดับแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ถูกเทขายหุ้นและทำให้มูลค่าดิ่งลงรวมกันมากกว่า 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมูลค่าดังกล่าวเทียบกับมูลค่าสูงสุดของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ที่เคยทำได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ก่อนโรคระบาด COVID-19 จะแพร่ไปทั่วโลก

เหตุที่นักลงทุนเทขายหุ้นจีน Ed Moya นักวิเคราะห์จากบริษัท Oanda คาดว่าเกิดจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนว่า บริษัทจีนอาจจะถูกบังคับถอนหุ้นออกจากตลาดได้ เนื่องจากมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน และขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังตกเป็นข่าวว่าอาจจะให้การสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน หลังจากมีรายงานข่าวออกจากฝั่งตะวันตกว่ารัสเซียร้องขอกำลังเสริมด้านการทหารจากจีน (ทั้งนี้ ฝั่งจีนเคยให้ข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้มีการร้องขอทางการทหารจากรัสเซียแต่อย่างใด)

ถือว่าสถานการณ์นี้เป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังเมื่อปีก่อนก็เผชิญปัจจัยลบจากนโยบายประเทศแม่มาแล้ว เพราะทางรัฐบาลจีนต้องการกดดันให้บริษัทจีนถอนหุ้นกลับจากต่างประเทศ และไปจดทะเบียนในตลาดจีนแทน

ถ้าวัดเฉพาะการร่วงลงของราคาหุ้นเมื่อวันจันทร์ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยราคาหุ้นร่วง 10% ในวันเดียว ลงมาอยู่ในราคาต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ขณะที่บริษัทเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซอย่าง JD.com และ Pinduoduo ก็ร่วงหนักไม่แพ้กัน โดยราคาหุ้นตกลงมา 11% และ 21% ตามลำดับ

ส่วนบริษัทจีน 5 แห่งที่มีประเด็นกับคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ อยู่แล้ว เพราะยังคงใช้สำนักงานตรวจสอบบัญชีต่างชาติ ไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้สำนักงานตรวจสอบบัญชีอเมริกันตามกฎ ทำให้ถูกคณะกรรมการเตือนว่า บริษัทจะต้องส่งหลักฐานการตรวจบัญชีมาให้สอบ มิฉะนั้นจะถูกถอนหุ้นออกจากตลาด กลุ่มบริษัทเหล่านี้ราคาหุ้นตกลงไปถึงกว่า 30% เช่น บริษัท Yum China ที่ทำธุรกิจฟาสต์ฟู้ด หรือบริษัท BeiGene ซึ่งทำธุรกิจด้านไบโอเทค

บริษัทอื่นๆ ที่เผชิญราคาหุ้นตก เช่น Baidu หุ้นตก 8%, บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า NIO ร่วงลง 12% และบริษัทเกม NetEase ร่วงลง 10%

โดยรวมแล้วถ้าดูจากดัชนี Nasdaq Golden Dragon China Index ซึ่งรวมเฉพาะบริษัทจีนในตลาดสหรัฐฯ พบว่าราคาลงไป 12% เมื่อวันจันทร์ และถ้าเทียบกับราคาสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ราคาตกลงไปแล้วถึง 75% อยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 9 ปี

“ใช่ครับ บริษัทเหล่านี้มีศักยภาพเติบโตสูงและมีตลาดใหญ่รองรับ แต่ความเสี่ยงจากการกำกับดูแลของผู้ควบคุมนโยบายรัฐ ก็ดูเหมือนจะยิ่งสูงขึ้นๆ ทุกเดือนเช่นกัน” Tom Essaye นักวิเคราะห์ในบริษัทวิจัย Sevens Report ระบุ สะท้อนภาพความกังวลว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีหลายเหตุปัจจัยขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อบริษัทจีนได้

Source

]]>
1377796
จับกระเเสเศรษฐกิจโลก เปิด 5 ธีมการลงทุน รับปี 2022 หุ้นจีนเเละกลุ่ม ESG มาเเรง https://positioningmag.com/1369095 Wed, 29 Dec 2021 07:11:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369095 เตรียมตัวสู่ปี 2022 ประเมินเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ยังมีความผันผวน ต้องจับตานโยบายการเงินการคลัง หุ้นกลุ่ม ESG เเละจีนแผ่นดินใหญ่มาแรง

วันนี้เราจะมานำเสนอ 5 ธีมการลงทุนโลกที่น่าสนในช่วงปีหน้า จากความเห็นของ ทีมกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Eastspring มาให้อ่านกัน

ธีมที่หนึ่ง : รับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

หลังจากการระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ส่งผลสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าหลายประเทศสามารถประคองให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ แต่เชื่อว่าในปี 2022 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับมาชะลอตัวลง จากฐานการเติบโตที่สูงในปีนี้ และความต้องการที่เริ่มชะลอตัวหลังจากการเปิดประเทศในปีหน้า

ดังนั้นการลงทุนในช่วงปี 2022 มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระจายสินทรัพย์ลงทุนตามระดับ “ความเสี่ยงที่รับได้ และไม่ควรเก็งกำไรในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งหรือภูมิภาค/กลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง” 

ธีมที่สอง : รับการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน

จากการที่ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้ในปี 2022 ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ ทั้งลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ

หลังจากการประชุมในเดือนธันวาคม จาก Dot plot มีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้งในปี 2022 ซึ่งอาจเริ่มส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นได้

ดังนั้นในช่วงจังหวะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น อาจต้องกระจายลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นบ้าง แทนที่จะเน้นลงทุนกลุ่มเติบโตหรือกลุ่มเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

โดยมองว่ากลุ่มหุ้นวัฏจักร เช่น ธนาคาร พลังงาน มีความน่าสนใจเหมาะเอาไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงและได้ประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น ในส่วนของตราสารหนี้อาจจะต้องเลือกตราสารที่มีอายุไม่ยาว และเน้นไปยังตราสารประเภท Investment Grade เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น

Photo : Shutterstock

ธีมที่สาม : นโยบายการคลังที่ลดขนาดลง และการขึ้นภาษี

จากที่กล่าวข้างต้นว่า หลายประเทศมีการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่สูงมาก อย่างในสหรัฐฯ ปีนี้มีการใช้วงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 16% ของ GDP แต่กลับพบว่าในปี 2022 วงเงินในด้านการคลังคาดว่าจะมีการใช้งบประมาณไม่ถึง 10% ของ GDP ทำให้เชื่อว่าสหรัฐฯ อาจเริ่มเก็บภาษี ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีนิติบุคคล และภาษีจากการลงทุน ในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริโภค กำไรบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการลงทุนที่อาจผันผวนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น สำหรับการลงทุนอาจจะต้องเลือกบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่ดี เพื่อรองรับการเติบโตที่อาจจะชะลอตัวลง รวมถึงความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และอาจเพิ่มการลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มียอดขายเติบโตน่าสนใจติดพอร์ตไว้บ้าง ซึ่งมองว่าจะได้รับผลบวกในกรณีเกิดการขึ้นภาษีนิติบุคคล

ธีมที่สี่ : ESG

โดยเชื่อว่าในปีหน้าหลายบริษัทจะนำเอา ESG เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น และในแง่ของการลงทุน ทางผู้จัดการกองทุนทั่วโลกได้มีการตระหนักถึงประเด็น ESG และมีการนำเรื่อง ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่เข้าลงทุน

Bloomberg  มีการคาดการณ์ว่าขนาดของกองทุน ESG ที่เป็น ETF อาจเติบโตขึ้นได้ 3-5 เท่าในช่วง 2020-2025 ซึ่งในปี 2020 กองทุน ESG  ประเภท ETF มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2020 และอาจโตได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2025

Photo : Shutterstock

ธีมที่ห้า : นโยบายรุ่งเรืองร่วมกันของ สี จิ้น ผิง จะยังดำเนินต่อไป

จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ ในปีนี้หลังจากที่ทางการจีนได้มีการประกาศนโยบาย รุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity เพื่อจัดการความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงด้านการผูกขาดตลาด และในปี 2022 นโยบายนี้จะยังคงอยู่แต่ผลกระทบอาจเริ่มจำกัด

และที่สำคัญในปี 2022 จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงการเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะยังเป็น สี จิ้น ผิง ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 3 และหากไปดูนโยบายต่างๆ จะพบว่าจีนมีการดำเนินนโยบายที่ยังคงเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

“ในด้านการลงทุน ตลาดหุ้นจีนอาจฟื้นตัวไม่เท่ากันระหว่าง ตลาดหุ้นฝั่งที่เป็น H Shares และ China ADR ที่อยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมองว่าจีนแผ่นดินใหญ่มีความน่าสนใจ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เน้นการบริโภคในประเทศ รวมถึง Valuation ยังไม่แพงมาก และมีโอกาสเกิด Country Rotation ได้เนื่องจากในปี 2022 การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในจีน สามารถเติบโตได้ประมาณ 15%-16% และจากอดีตพบว่าปีใดที่ตลาดหุ้นจีน Underperform มาก ในปีถัดมามีโอกาสที่นักลงทุนจะหมุนการลงทุนไปยังตลาดหุ้นจีน”

 

]]>
1369095