ตั้งแต่ที่ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของ รัสเซีย ได้ประกาศสงครามกับประเทศ ยูเครน อย่างไร้เหตุผล ส่งผลให้นานาประเทศทั่วโลกออกมา ‘คว่ำบาตร’ รัสเซีย โดยผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาประเมินถึงผลกระทบดังกล่าวต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งอาจถดถอยไปถึง 30 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับเศรษฐกิจยุคสหภาพโซเวียตเลยทีเดียว
สร้างมา 40 ปี แต่พังในคืนเดียว
เป็นเวลากว่า 40 ปีที่ประเทศรัสเซียได้ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นประเทศที่มี GDP ใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก แต่เพียงชั่วข้ามคืนที่ความพยายามดังกล่าวกำลังสูญสลายไป เนื่องจากการประกาศสงครามกับประเทศยูเครนภายใต้การนำของ วลาดิมีร์ ปูติน ที่ส่งผลให้ประเทศ และแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ออกมาคว่ำบาตร รวมไปถึงสถาบันการเงิน ส่งผลให้ระบบการเงินและสกุลเงินกำลังพังทลายในหลายด้าน จนต้องปิดตลาดหุ้นและหนุนค่าเงินรูเบิลภายในประเทศ
การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้สหภาพโซเวียตได้ลิ้มลองผลิตภัณฑ์ของอเมริกาเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม หลายทศวรรษของการทำงานเพื่อบูรณาการเศรษฐกิจเข้ากับยุโรปได้สิ้นสุดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทบลูชิปออกจากตลาดรัสเซีย และสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปก็ยุติการค้าและการท่องเที่ยวกับรัสเซีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคว่ำบาตรธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียให้ออกจากเครือข่ายการชำระเงินทั่วโลกที่รู้จักกันในชื่อ SWIFT ทำให้ชาวรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมกับต่างประเทศได้เลย อีกทั้ง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลรัสเซียถูกแช่แข็ง และหากไม่มีเงินทุนสำรองเพื่อหนุนค่าเงินรูเบิล รัฐบาลก็แทบจะไม่สามารถป้องกันไม่ให้มูลค่าของเงินดิ่งลงไปอีกได้ โดยในเดือนที่ผ่านมา มูลค่าของสกุลเงินรูเบิลหายไป 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้ความน่าเชื่อถือทางการเงินของรัสเซียเป็น ‘อันดับขยะ’ ไม่น่าลงทุน ความน่าเชื่อถือติดลบ
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรก็กำลัง ระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ จากรัสเซีย โดยสหรัฐฯ ได้กำหนดการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ไฮเทคและสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มเติมด้วย ในขณะที่หลายประเทศเริ่มสกัดกั้นเรือจากรัสเซียไม่ให้เข้าจอดที่ท่าเพื่อเป็นการกดดันอีกด้วย
ส่อแววผิดนัดชำระหนี้
รัสเซียมีกำหนดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศมูลค่า 117 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศมองว่า รัสเซียจะ ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งทาง แอนตัน ไซลัวนอฟ (Anton Silounov) รัฐมนตรีคลังรัสเซีย ได้ออกมาโวยว่า ประเทศจะจ่ายหนี้เป็น รูเบิล ตราบใดที่การคว่ำบาตรจากตะวันตกทำให้ทุนสำรองของธนาคารกลางเกือบครึ่งหนึ่งถูกแช่แข็ง พร้อมทั้งกล่าวหาว่าชาติตะวันตกทั้งหลายจงใจบีบบังคับให้รัสเซียผิดนัดชำระหนี้
“รัสเซียทำลายความน่าเชื่อถือที่มีในฐานะผู้กู้ในอนาคตอันใกล้ และรัสเซียจะไม่สามารถกู้ได้อีก” แม็กซิมิลเลียน เฮสส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหนี้สาธารณะกล่าว
การคว่ำบาตรของแบรนด์ระดับโลก
นับตั้งแต่เริ่มการบุกยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกมากกว่า 300 แบรนด์ ได้ระงับหรือถอนตัวจากการทำธุรกิจในรัสเซีย อาทิ Pepsi , Levi Strauss และ Coca-Cola ที่เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพสำหรับคนหนุ่มสาวหลังสิ้นสุดยุคโซเวียต นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ที่เกี่ยวกับผู้บริโภคทั้งหมด เช่น Starbucks, McDonald, Ford, Toyota เป็นต้น
“บริษัทที่ถอนตัวออกจากรัสเซียไม่ได้ทำเพราะเหตุผลด้านชื่อเสียง แต่เป็นเพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถประมวลผลการชำระเงินและย้ายเงินเข้าและออกนอกประเทศได้เนื่องจากการคว่ำบาตร”
แต่บริษัทที่ถอนตัวแล้วส่งผลกระทบอย่างมากต่อรัสเซียก็คือ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ Shell, BP และ Exxon เนื่องจากเศรษฐกิจรัสเซียค่อนข้างพึ่งพาธุรกิจด้านปิโตรเลียม ขณะที่การถอนตัวของภาคการเงิน Visa , Mastercard , PayPal และ American Express ก็ทำให้ชาวรัสเซียไม่สามารถใช้บัตรเดบิตของตนได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารของรัสเซียต่างพยายามเปลี่ยนมาใช้ผู้ให้บริการจากจีนแทน
อย่างไรก็ตาม บริษัทหลายแห่งที่หยุดดำเนินการในรัสเซียยืนยันว่าจะกลับมาทันทีที่สงครามในยูเครนสิ้นสุดลง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนทั่วโลกมองว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐและค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงทำให้ยากมากที่บริษัทเหล่านี้ที่จะกลับมาในปีนี้หรือปีหน้า
“ไม่ใช่ปีหน้า ไม่ใช่ในอีก 5 ปี แต่อาจจะต้องใช้เวลานานกว่านี้ หากนักลงทุนจะกลับไปรัสเซีย” คริสโตเฟอร์ สมาร์ท หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกและหัวหน้าสถาบันการลงทุนแบริงส์ กล่าว
มาตรฐานการครองชีพลดลง
นักวิชาการมองว่า รัสเซียจะเริ่มเห็นผลกระทบจริงเร็ว ๆ นี้ หากไม่สามารถนำเข้ายาได้ ไม่นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับเครื่องบินของพวกเขา และไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนใด ๆ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมันที่มีได้ โดยภายใน 5 ปีจากนี้ หาก ปูติน ยังไม่หมดอำนาจ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ในระบอบการปกครอง ประชาชนจะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนในยุค 90 และอาจเลวร้ายกว่านั้นอีก
วลาดิมีร์ ปูติน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2000 เขาได้เป็นผู้นำของประเทศที่มีประชากร 38% อาศัยอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ภายในปี 2018 ตัวเลขดังกล่าวลดลงมากกว่า 90% เหลือเพียง 3.7% ของประชากรทั้งหมด ในช่วงเวลานั้น ชาวรัสเซียหลายล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ถ้าชาวรัสเซียโดยเฉลี่ยเริ่มเห็นว่ามาตรฐานการครองชีพของพวกเขาต่ำลงเนื่องจากการรุกรานยูเครน ความเชื่อมั่นในตัวปูตินอาจมีปัญหา
“ปูตินที่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้นานถึงสองทศวรรษ ก็เพราะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น หากปูตินไม่สามารถให้ความมั่นคงและการสนับสนุนทางเศรษฐกิจในระดับที่ดีแก่ชาวรัสเซียทั่วไปได้ เขาก็เสี่ยงที่จะถูกประชาชนต่อต้าน”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลกระทบโดยตรงที่การคว่ำบาตรมีต่อบรรยากาศทางธุรกิจในรัสเซีย การยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมดหรือบางส่วนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศรัสเซียกลับมา แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ากว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือยกเลิกการคว่ำบาตรอาจใช้เวลา อย่างน้อย 3 ปี
“จนกว่าคุณจะมีผู้นำคนใหม่ในรัสเซีย คนที่ขอโทษถึงการบุกรุกยูเครน และยอมชดใช้ค่าเสียหาย ไม่เช่นนั้นการคว่ำบาตรเหล่านี้จะยังคงอยู่”