โครงการคลองช่องนนทรี – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 28 Oct 2021 12:03:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คำถามเพียบ! ผอ. UddC กังขาโครงการ “คลองช่องนนทรี” ลงทุนเกือบพันล้าน ตอบโจทย์อย่างไร? https://positioningmag.com/1359042 Thu, 28 Oct 2021 10:40:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1359042
“อาจารย์แดง-นิรมล” ผอ. UddC เจ้าของผลงานออกแบบสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ตั้งคำถามยาวเหยียดถึงโครงการ “คลองช่องนนทรี” ของ กทม. ที่ต้องการจะเป็นคลองชองเกชอนแห่งกรุงเทพฯ ลงทุน 980 ล้านแต่การออกแบบตอบโจทย์การพัฒนาเมืองจริงหรือ? โดยพบว่าไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ ไม่เปิดเผยข้อมูลระบบจัดการน้ำในคลอง และไม่ทราบว่าจะข้ามถนนไปใช้ได้อย่างไร

“ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล” ผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ UddC โพสต์บทความวิพากษ์โครงการ “คลองช่องนนทรี” ของกทม. มูลค่าโครงการ 980 ล้านบาท ใน Facebook ส่วนตัว “Daeng Niramon” แบบยาวเหยียดจัดเต็ม โดย Positioning ขอย่อความมาไว้ที่นี้ (สำหรับบทความเต็มสามารถอ่านได้ในโพสต์นี้)

สำหรับโครงการคลองช่องนนทรีของ กทม. ข้อมูลเบื้องต้นคือต้องการจะปรับคลองช่องนนทรีให้เป็น “สวนสาธารณะริมคลองแห่งแรกของประเทศไทย” มีทั้งการปรับภูมิทัศน์คลองและปรับปรุงระบบระบายน้ำ โดยเปรียบเทียบกับการปรับปรุง คลองชองเกชอน กรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งทำหน้าที่ได้ทั้งการระบายน้ำ รับมือน้ำท่วม และกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมือง

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC

บริเวณการดำเนินโครงการ ตลอดแนวคลองช่องนนทรี นับตั้งแต่แยกถนนนราธิวาสฯ ตัดถนนสุรวงศ์ จนถึงแยกถนนนราธิวาสฯ ตัดถนนพระราม 3 ความยาว 4.5 กิโลเมตร โครงการเริ่มเปิดตัวเดือนพฤศจิกายนปี 2563 และขณะนี้เริ่มงานก่อสร้างแล้ว โดยเริ่มจากช่วงแยกตัดถนนสุรวงศ์จนถึงแยกตัดถนนสาทรระยะทาง 800 เมตรก่อน คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการ 25 ธันวาคมนี้

ข้อกังขาของ ผศ.ดร.นิรมล มีหลายประเด็น เช่น

“โครงการไม่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนโดยรอบ”

จากการสำรวจพื้นที่ 2 กิโลเมตรรอบโครงการ มีร้านค้า 214 ร้าน อาคารสำนักงาน 457 แห่ง มียานพาหนะผ่าน 293,000 คันต่อวัน ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนสัญจรกว่า 350,000 คน แต่ผศ.ดร.นิรมลลงพื้นที่สอบถามร้านค้าและคนทำงานในย่าน (เนื่องจากบ้านของอาจารย์แดงอยู่ในย่านนี้เช่นกัน) ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะมีโครงการ และท่านที่ทราบก็ทราบจากโซเชียลมีเดีย

“ข้อมูลรายละเอียดน้อย”

ข้อมูลที่สื่อสารกับประชาชนมีเพียงงานแถลงข่าววันที่ 11 พ.ย. 2563 การอัปเดตผ่าน Facebook Page และการแถลงเปิดตัวโครงการวันที่ 16 ต.ค. 64 โดยไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการที่ประชาชนเข้าถึงได้ รวมถึงภาพที่ใช้ประชาสัมพันธ์โครงการยังคงเป็นภาพที่ระบุว่า “เป็นภาพจำลองเพื่อใช้ในนิทรรศการเท่านั้น ยังไม่ได้ออกแบบจริง”

ภาพการก่อสร้างโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี (ภาพจาก: Facebook Page เอิร์ท พงศกร ขวัญเมือง)
“ทำอย่างไรกับหน้าที่ระบายน้ำของคลองช่องนนทรี”

ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า คลองช่องนนทรีที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2542 มีหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำของโซนกรุงเทพใต้ โดยหน้าแล้งจะพร่องน้ำออกจนแห้งเพื่อรอรับน้ำหน้าฝน แต่จากการนำเสนอแบบของโครงการเห็นว่าจะรักษาระดับน้ำให้ปริ่มตลิ่งเสมอเพื่อให้เกิดความสวยงาม รวมถึงมีการออกแบบทางเดินบางช่วงให้พาดกลางคลอง หรือยื่นไปริมคลอง ซึ่งจะต้องมีเสาเป็นตัวรับน้ำหนัก

ดังนั้น คำถามคือ ตัวคลองจะยังใช้รับน้ำและระบายน้ำได้อยู่หรือไม่ หรือจะใช้ระบบใดทดแทนเพื่อไม่ทำให้น้ำท่วม และจะจัดการขยะที่มาติดตามเสารับน้ำหนักอย่างไร

ทั้งนี้ ผศ.ดร.นิรมล ยกตัวอย่างคลองชองเกชอนที่ กทม. ยกเป็นต้นแบบว่า คลองมีการขุดลงไปให้ลึกถึง 7 เมตร (เทียบเท่าตึก 2 ชั้น) เพื่อรับมือน้ำท่วม การขุดลึกขนาดนี้คำนวณจากสถิติน้ำท่วมย้อนหลัง 200 ปี

 

“การบำบัดคุณภาพน้ำยังไม่มีวิธีที่ดีพอและไม่ระบุงบประมาณ”

จากเป้าหมายโครงการต้องการให้เป็นสวนริมคลองที่สวยงาม น้ำใส น่าสัมผัสใกล้ชิด แต่อาจารย์แดงมองว่าโครงการยังไม่มีแนวทางบำบัดน้ำที่ดีพอ ปัจจุบันน้ำในคลองช่องนนทรีเน่าเสียอย่างมาก ค่า DO (Dissolved Oxygen) อยู่ที่ 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร เท่านั้น เพราะว่าเป็นคลองรับน้ำเสียจากย่าน CBD จึงไม่เหมาะกับการให้คนไปสัมผัสใกล้น้ำ

แนวทางที่โครงการเสนอเพื่อบำบัดน้ำจะใช้วิธี “ขังน้ำและใช้พืชบำบัด” ซึ่งมองว่าเป็นการใช้ “ยาหม่องทามะเร็ง” เพราะปกติวิธีนี้ต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้ขังน้ำ และต้องเป็นน้ำที่ไม่ได้เสียอย่างรุนแรง และอีกสองวิธีบำบัดน้ำคือทำ “กำแพงน้ำตก” รวมถึงชวนประชาชน “ปั่นจักรยานบำบัดน้ำ” ขอเสนอให้เลี่ยงเพราะละอองฝอยจากการตีน้ำเสียขึ้นมานั้นอาจเป็นอันตรายกับสุขภาพ

ในแบบจะมีการติดตั้งจักรยานปั่นเพื่อบำบัดน้ำเสีย

ส่วนการเสนอดีไซน์ Aerated ใช้ท่อแทนคลองในการระบายน้ำเสีย มองว่ายังต้องการรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นถึงระบบที่จะทำ

เมื่อเปรียบเทียบกับ คลองชองเกชอน มีระบบบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนประชาชนก่อนจะปล่อยลงคลอง และต้องสูบน้ำจากแม่น้ำฮันเข้ามาเพิ่ม จึงทำให้น้ำใสได้ แต่ข้อเสียคือ ระบบนี้ต้องใช้งบบำรุงต่อปีสูงมาก ทั้งค่าไฟฟ้า ค่ารักษาปั๊มน้ำ ค่าเก็บเศษใบไม้สาหร่ายออก ฯลฯ ค่าใช้จ่ายตกปีละ 260 ล้านบาททำให้ถูกวิจารณ์มาตลอดว่าโครงการไม่ยั่งยืนทางการเงิน ส่วนโครงการคลองช่องนนทรียังไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจะใช้งบบำรุงรักษาการบำบัดน้ำต่อปีเท่าใด

 

“จะข้ามไปใช้สวนที่อยู่เกาะกลางถนนอย่างไร”

สวนคลองช่องนนทรีนี้ยังไม่มีการระบุว่าประชาชนจะข้ามถนนไปใช้ได้อย่างไร เนื่องจากตั้งอยู่เกาะกลางของถนน 8 เลน (ฝั่งละ 4 เลน รวมเลน BRT) และเป็นหนึ่งในถนนที่การจราจรคับคั่งมาก

ผศ.ดร.นิรมลยกตัวอย่างทางปลายถนนนราธิวาสฯ ใกล้กับจุดตัดถนนพระราม 3 จะมีลานตรงกลางถนนเรียกว่า ลานเรือยานนาวา ซึ่งจากการสอบถามรปภ.คอนโดมิเนียมใกล้เคียง ทราบว่ามีคนข้ามไปใช้วันละ 1-2 คนเท่านั้น เพราะถนนใหญ่ รถวิ่งเร็ว ข้ามยาก

ส่วนถ้าเทียบกับ คลองชองเกชอน จะมีการ “ถักคลอง” ให้เป็นเนื้อเดียวกับการเดินของคนในเมือง เพราะเป็นการฟื้นฟูเมืองที่ไปด้วยกันทั้งระบบ ถนนข้างคลองชองเกชอนถูกลดขนาดเหลือฝั่งละ 2 เลน และมีสะพานข้ามเฉลี่ยทุกๆ 300 เมตร ส่วนรถที่เคยสัญจรผ่านทางนี้ การออกแบบเมืองได้เปลี่ยนทิศทางไปขยายถนนที่ออกรอบพื้นที่ CBD เก่าตรงนี้แทน เพื่อให้รถเข้ามาในเมืองน้อยลง และเพิ่มระบบขนส่งมวลชนให้การเดินทางเข้ามาไม่ต้องใช้รถส่วนตัว

 

“ใครมีหน้าที่รับผิดชอบ?”

จากการค้นข้อมูล ผศ.ดร.นิรมลพบว่าโครงการมีเฉพาะชื่อและโลโก้หน่วยงานที่ติดบนป้ายประกาศและเว็บประชาสัมพันธ์ แต่ไม่มีชื่อของผู้รับผิดชอบโครงการหรือคณะกรรมการโครงการอย่างเป็นทางการ มีเฉพาะชื่อภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบที่อาจอนุมานได้ว่าเป็นหัวหน้าโครงการ ส่วนเบอร์ติดต่อมีติดไว้ที่ป้ายหน้าไซต์ก่อสร้าง แต่โทรฯ ไปแล้วมักไม่มีผู้รับสาย มีการรับสาย 1 ครั้งและปลายสายแจ้งว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้

(ทั้งนี้ ผู้ออกแบบโครงการนี้คือ กชกร วรอาคม ซึ่งเป็นสถาปนิกที่ออกแบบโครงการอุทยานจุฬา 100 ปี)

(ภาพจาก: Facebook Page “Daeng Niramon)

สรุปจากอาจารย์แดง ผอ. UddC มองว่าโครงการนี้มีการเร่งรัดก่อสร้างอย่างมาก และกังวลว่าโครงการนี้จะกลายเป็นโครงการฟอกเขียว เข้าทำนอง Green Disney / Green Wash ลงทุนไปมากแต่ไม่ได้ผลกลับมาตามที่คิด จึงออกมาตั้งคำถามดังๆ ถึงผู้ที่รับผิดชอบโครงการ

ความคิดเห็นทั่วไปของประชาชนที่รับทราบโครงการ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการคลองช่องนนทรี หลายคนมองด้วยความกังวลเช่นเดียวกับผศ.ดร.นิรมล คือเกรงว่าคลองจะไม่สามารถบำบัดน้ำเน่าได้ และไม่มีทางข้ามไปใช้งาน ทำให้กลายเป็นสวนร้าง ผลาญงบประมาณภาษี หลายคนเห็นว่างบ 980 ล้านบาทน่าจะนำมาใช้ปรับปรุงสิ่งที่คนย่านนี้ต้องการ เช่น ปรับปรุงทางเท้า ไฟส่องทาง นำสายไฟลงดิน จะมีประโยชน์กว่า

อ่านต่อเรื่องรายละเอียดงบประมาณโครงการคลองช่องนนทรีได้ที่โพสต์ผศ.ดร.นิรมล

]]>
1359042