ถอดบทเรียนการชุบชีวิต “โครงสร้างร้าง” ในเมือง ปี’64 เนรมิต “สะพานเขียว-ใต้ทางด่วน”

จากผลสำเร็จของโครงการ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ที่นำ “สะพานด้วน” ซึ่งถูกทิ้งร้างมา 30 ปีกลับมาใช้ประโยชน์ได้สำเร็จ ทำให้ UddC ถอดบทเรียนสำคัญออกมาได้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อฝ่าฟันระบบราชการให้โครงการเป็นไปได้จริง แย้มโครงการปี 2564 จะได้เห็นการพลิกโฉม “สะพานเขียว” เชื่อมสวนลุมพินี-สวนเบญจกิตติ และการเนรมิต “ใต้ทางด่วน” ให้เป็นพื้นที่สีเขียว

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ในที่สุดโครงการ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ก็สำเร็จพร้อมเปิดใช้บริการ โดยใช้เวลาถึง 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มไอเดียกว่าที่จะเสร็จสิ้นและได้ใช้จริง โดยไม่ได้เกิดจากความยากเชิงวิศวกรรม แต่มาจากระบบราชการที่ซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยแรงส่งจากภาคประชาชนจึงจะทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อน!

เท้าความที่มาที่ไปก่อนว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจาก กทม. ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) สร้างยุทธศาสตร์ “กรุงเทพฯ 250” ขึ้น เป็นการจัดทำผังแม่บทฟื้นฟูเมืองให้สำเร็จภายในปี 2575 ซึ่งจะเป็นวาระครบรอบ 250 ปี กรุงเทพมหานคร จุดประสงค์การฟื้นฟูคือทำให้เมืองเป็นเมืองที่ “สัญจรสะดวก” + “เพิ่มพื้นที่สีเขียว” ในเมือง

ภาพจำลอง perspective โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

เริ่มพื้นที่แรกระยะที่ 1 คือ ย่านกะดีจีน-คลองสาน ฝั่งธนบุรี และจะศึกษาย่านอื่นๆ ต่อ ได้แก่ ย่านท่าพระจันทร์-ท่าช้าง-ท่าเตียน ย่านโยธี-ราชวิถี และย่านทองหล่อ-เอกมัย

ในที่สุด การฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานก็เสร็จสิ้น โดยมีแลนด์มาร์กสำคัญที่เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงคือสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่กล่าวข้างต้น เพราะเป็นสะพานคนเดิน/จักรยานที่เชื่อมฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร และเป็นสวนสีเขียวไปในตัว ตอบทั้งสองจุดประสงค์โครงการ

 

ต้องอาศัยสาธารณะสร้างความตื่นตัวให้รัฐ

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC กล่าวถึงเบื้องหลังโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา บนเวที ACT Forum’20 Design+Built ว่า ทั้งที่เป็นสะพานที่มีความยาวเพียง 280 เมตร กว้าง 8 เมตร และถือเป็นโมเดลแบบ ‘Quick Win’ แล้ว เพราะไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินหรือรื้อชุมชนใดๆ เลย แต่ก็ยังต้องใช้เวลานานในการเจรจา เพราะมีทั้งหน่วยงานราชการและชุมชนที่เกี่ยวข้องรวม 12 กลุ่ม เฉพาะราชการนั้นมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รวมถึงกรมเจ้าท่าด้วย

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นรูปแบบเฉพาะของ กทม. และประเทศไทยว่า การพัฒนาเมืองจะทำได้ยากกว่าสิงคโปร์หรือโตเกียว เพราะการทำงานของภาครัฐมีความซับซ้อน และต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานจึงจะสำเร็จ

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC

ผศ.ดร.นิรมลเปิดเผยว่า จากโครงการแรกที่ได้ร่วมกับ กทม. ทำให้ได้รับบทเรียนสำคัญคือ โครงการจะได้รับความร่วมมือเมื่อสาธารณชนให้ความสนใจ แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้ทุกหน่วยงานต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ

“เราพบว่าหากโครงการออกสู่สาธารณะและได้รับการสนับสนุน จะทำให้ทุกหน่วยงานอยากเข้าร่วม ยกตัวอย่าง โครงการกรุงเทพฯ 250 เพจของโครงการมีคนกดไลก์เกือบ 4 หมื่นคน ในวันที่มีงานนำเสนอสาธารณะที่โรงละครสยามพิฆเนศ ก็มีคนเข้ามาชมมากกว่าที่คาด” ผศ.ดร.นิรมลกล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสารโครงการเพื่อให้หน่วยงานรัฐ ‘ตื่นตัว’

เธอถึงกับกล่าวว่าโครงการนี้เป็น “ปาฏิหาริย์” ที่สามารถทำได้สำเร็จ หลังจากโครงสร้างสะพานด้วนถูกทิ้งร้างมานาน 30 ปีเต็ม

 

ปี 2564 ลุยต่อที่ “สะพานเขียว”

มีโครงการแรกแล้วย่อมต้องมีโครงการต่อไป โดยโครงการที่เริ่มต้นออกแบบแล้วและมีการอนุมัติงบประมาณแล้วคือการฟื้นฟู “สะพานเขียว” ซึ่งเป็นทางเดิน/จักรยานลอยฟ้า ความยาว 1.3 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างสวนลุมพินี (บริเวณหัวมุมแยกวิทยุ-สารสิน) กับสวนเบญจกิตติ (บริเวณหัวมุมติดกับซอยสุขุมวิท 10) เป็นทางเดินลอยฟ้าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2543 แต่มีคนรู้จักหรือใช้งานน้อยกว่าที่ควร

สะพานเขียว สกายวอล์กที่ถูกทิ้งร้าง (Photo : Google Maps ถ่ายเมื่อเดือน ก.พ. 2561)

“โครงการนี้เรียกได้ว่าเป็นสกายวอล์กแรกของกรุงเทพฯ แต่ไม่ค่อยมีคนใช้งานจนเรียกได้ว่าเกือบจะถูกทิ้งร้าง เพราะปัญหา 3 อย่างคือ หนึ่ง ความยาว 1.3 กิโลเมตรแต่มีทางขึ้นลงเพียง 3 จุด สอง กลางวันร้อนมากเพราะไม่ค่อยมีต้นไม้ สาม กลางคืนเปลี่ยวมากเพราะไฟส่องสว่างไม่เพียงพอและไม่ค่อยมีคนใช้งาน” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

เมื่อปีนี้เอง สำนักการโยธา กทม. ได้รับอนุมัติจัดสรรงบปี 2562 เป็นเงิน 39 ล้านบาทเพื่อมาปรับปรุงสะพานเขียวให้ร่มรื่น น่าเดิน สวยงาม และสะดวกขึ้น คาดว่าจะเร่งให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี 2564

งานออกแบบใหม่สะพานเขียว (Photo : UddC)

ขณะนี้ Uddc มีการหารือกับชุมชนโปโล ชุมชนร่วมฤดี และศาสนสถานที่สะพานนี้ตัดผ่านเรียบร้อยแล้ว เพื่อหาความต้องการใช้งานของชุมชน จากนั้นออกแบบร่วมกับ บริษัท ใต้หล้าสตูดิโอ จำกัด กับ บริษัท สุขตา จำกัด เพื่อจะปรับดีไซน์ให้เป็นสกายวอล์กที่ร่มรื่น กลางคืนมีไฟสว่างเพียงพอและมี CCTV ติดตั้งสร้างความปลอดภัย นอกจากนี้จะเพิ่มบางจุดของสะพานให้มี Lighting Art เป็นแลนด์มาร์กที่มองเห็นได้จากถนนเบื้องล่าง สร้างความงามให้เมือง

เพราะแทนที่จะเป็นสกายวอล์กร้าง พื้นที่นี้ควรกลับมามีชีวิต ได้ใช้งานจริง สร้างคุณภาพการอยู่อาศัยให้คนในชุมชน

งานออกแบบสะพานเขียวส่วนที่จะเป็นแลนด์มาร์กในเบื้องต้น โดย UddC ร่วมกับ ATOM Design

 

เปลี่ยน “ใต้ทางด่วน” เป็นพื้นที่สีเขียว

โครงการถัดไปที่ UddC กำลังจะเริ่มผลักดันควบคู่กันคือการพลิกฟื้นพื้นที่ร้าง “ใต้ทางด่วน” UddC ศึกษาดาต้าพบว่า พื้นที่ใต้ทางด่วนของกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 1,577 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่ยังไม่พัฒนา 666 ไร่ หรือคิดเป็น 42.26%

พื้นที่เหล่านี้สามารถนำมาทำประโยชน์อื่นให้เมืองได้ โดยเฉพาะถ้าปรับเป็นพื้นที่สีเขียวได้ทั้งหมด จะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากขณะนี้ 6.8 ตร.ม.ต่อคน เป็น 9.01 ตร.ม.ต่อคน เท่ากับอัตราส่วนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าเหมาะสม

ผศ.ดร.นิรมลกล่าวว่า เร็วๆ นี้ UddC จะจัดงาน Hackathon สำหรับตีโจทย์การชุบชีวิตใต้ทางด่วน โดยคอนเซ็ปต์คือ ต้องการให้มีการรวมทีมออกแบบ ไม่เฉพาะสถาปนิก แต่ควรเป็นทีมที่มีบุคคลหลากหลายอาชีพ เพื่อนำเสนอโครงการที่ยั่งยืนในตัวเองและทำได้จริง เช่น มีนักรัฐกิจสัมพันธ์เพื่อแจกแจงว่าต้องติดต่อกับหน่วยงานรัฐใดบ้าง นักเศรษฐศาสตร์เพื่อออกแบบการหารายได้ใต้ทางด่วนสำหรับบำรุงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

UddC คัดเลือกพื้นที่นำร่องแห่งแรกที่ใต้ทางด่วนศรีรัชช่วงถนนเพชรบุรี-ถนนสาทร แต่วิธีคิดจาก Hackathon ครั้งนี้ต้องการให้มองแบบรอบด้าน เป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เห็นภาพใหญ่ว่าใต้ทางด่วนควรจะปรับอย่างไร เพื่อให้ไม่เป็นพื้นที่เปลี่ยวร้าง แหล่งอาชญากรรม เสื่อมโทรม และชุมชนได้ใช้ประโยชน์ทุกตารางนิ้ว