พาชม “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” เปลี่ยนโครงสร้างรกร้างของรถไฟฟ้าลาวาลินเป็นพื้นที่สีเขียว

“สะพานด้วน” ซึ่งเป็นโครงสร้างเก่าของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินถูกทิ้งร้างมานาน 30 ปีในสภาพตอม่อสร้างไม่เสร็จระหว่างเลนถนนไปและกลับของสะพานพระปกเกล้า แต่บัดนี้ UddC และ กทม. ได้ร่วมกันพลิกฟื้นต่อเติมจนสะพานแห่งนี้เป็นทางเดินคนข้ามและเป็น “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” โครงการต้นแบบของการนำพื้นที่และโครงสร้างทิ้งร้างกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่โดยไม่ต้องทุบทำลาย

โครงการ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 หลังจากเริ่มต้นวางแผนมานาน 5 ปี ได้รับงบประมาณก่อสร้างเมื่อปี 2560 และต่อเติมโครงสร้าง ปลูกต้นไม้ตกแต่งจนเสร็จเรียบร้อยในปีนี้ ครบรอบ 30 ปีนับจากปีที่โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินเริ่มดำเนินการก่อสร้างพอดี

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเป็นการรีโนเวตโครงสร้างเก่าของรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างไม่เสร็จดังกล่าว สภาพดั้งเดิมของพื้นที่มีเพียงตอม่อปักอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเลนถนนไปและกลับของสะพานพระปกเกล้า ไม่มีทางขึ้นหรือลงสะพาน ทำให้ชาวบ้านในชุมชนย่านนั้นเรียกขานกันว่า “สะพานด้วน” และแน่นอนว่าสะพานที่ไม่มีทางขึ้นลงย่อมใช้ประโยชน์ใดไม่ได้

ภาพสะพานด้วนในอดีต (photo : UddC)

โครงการพัฒนาพื้นที่สะพานด้วนนั้นเกิดขึ้นมาในช่วงที่ กทม. และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) นำโดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC เป็นหัวหน้าทีมวางผังแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานเมื่อ 5 ปีก่อน ระหว่างนั้น “ประดิษฐ์ ห้วยหงษ์ทอง” ประธานชุมชนบุปผารามย่านกะดีจีน ทักขึ้นมาว่าสะพานด้วนที่ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ควรที่จะนำมาใช้ประโยชน์บ้าง

ทาง UddC จึงปิ๊งไอเดียชวน กทม. เป็นมือประสานสิบทิศเพื่อปรับปรุงสะพานด้วนเป็นทางเดินเท้า จักรยาน และสวนสีเขียวให้สำเร็จ

ภาพจำลอง perspective โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

สาเหตุที่ กทม. ต้องประสานงานเนื่องจากพื้นที่นี้อยู่ในความดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แต่ กทม.ต้องการจัดงบลงทุนปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นิรมล ก็ให้ความเห็นไว้ด้วยว่า ยังถือเป็นโครงการที่ซับซ้อนน้อย เพราะการก่อสร้างไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินของใคร ทั้งยังใช้งบประมาณไม่มาก ทำให้ไม่ติดปัญหาในเชิงราชการมากเท่าโครงการอื่นๆ

หลังจากวางแผนงาน ทำประชาพิจารณ์ และ กทม.ได้รับอนุมัติงบประมาณ 129 ล้านบาท โครงการก็เริ่มก่อสร้างเพื่อต่อขาให้สะพาน

 

ทางเดินที่ร่มรื่น เชื่อมพระนคร-ธนบุรี

การออกแบบสวนลอยฟ้าบนสะพานแห่งนี้ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดหลายอย่าง ได้แก่ สะพานมีความยาว 280 เมตร แต่กว้างเพียง 8 เมตร, สะพานอยู่ระหว่างสะพานพระปกเกล้าที่มีรถสัญจรไปมา คนในสวนต้องปลอดภัยจากรถ และรถต้องปลอดภัยจากต้นไม้ในสวน, โครงสร้างสะพานที่อยู่มานาน 30 ปีต้องระมัดระวังการรับน้ำหนัก นอกจากนี้ สวนยังต้องมีลักษณะที่เป็น “แลนด์มาร์ก” ใหม่ ตามความตั้งใจให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว

ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ทีมออกแบบจาก LANDPROCESS และ N7A ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ดีไซน์ให้สะพานมีการยกระดับบางส่วนเป็น “อัฒจรรย์” เพื่อให้เป็นจุดชมวิว เนื่องจากสะพานนี้อยู่ในจุดที่สวยงามของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกเป็นวิวสะพานพุทธ และวิวตะวันออกเป็นแลนด์สเคปเมืองตั้งแต่ช่วงสามย่านจนถึงสาทร

ทางเดินยกระดับสองชั้นบางส่วน ทำให้ชั้นบนเป็นอัฒจรรย์ชมวิว
บริเวณอัฒจรรย์จะยกสูงเหนือถนนบนสะพานพระปกเกล้า ทำให้เป็นจุดชมวิว

ลักษณะ “สวน” นี้จะไม่เหมือนสวนขนาดใหญ่ต้นไม้ครึ้มอย่างสวนลุมพินีหรือสวนรถไฟ เพราะโครงสร้างอาจรับหน้าดินหนักๆ ไม่ได้มาก และมีไม้ดอกไม่มากเนื่องจากกลางสะพานจะมีลมแรง รวมถึงไม่ต้องการให้พื้นที่มืดทึบเกินไป ป้องกันการกลายเป็นแหล่งซ่องสุมในยามกลางคืน แม้ว่าจะมีรั้วกั้นทางเข้าออกทั้งสองด้านและติดตั้งกล้องวงจรปิด อีกทั้งต้องระวังไม่เลือกต้นไม้ที่จะแผ่กิ่งก้านออกไปร่วงหล่นใส่ถนนบนสะพานพระปกเกล้า

ดังนั้น โครงการจึงเลือกปลูก ต้นมะกอกน้ำ เป็นหลัก (เพื่อให้พ้องกับคำว่า “บางกอก”) พืชพรรณที่จะได้เห็นจึงเป็น ต้นรัก ใบต่างเหรียญ หญ้าหนวดแมว ชงโค ต้อยติ่ง เป็นต้น ดังนั้น สวนลอยฟ้าแห่งแรกของกรุงเทพฯ จึงเหมือนทางเดิน-ทางจักรยานที่มีต้นไม้ดอกไม้บ้างพอให้ดูร่มรื่น

ทางเดินกว้าง 8 เมตร มีบันไดที่นั่งข้างทางเป็นระยะๆ
ส่วนหนึ่งของพืชพรรณบนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

บรรยากาศดี เปิดมุมมองใหม่ของกรุงเทพฯ

ขณะนี้ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ เพิ่งลงปลูก ทำให้บรรยากาศอาจจะดูโล่งกว่าในภาพ perspective ของโครงการ แต่ก็ถือว่าทำให้การเดินข้ามสะพานในเวลา 4 โมงเย็นของเราไม่ร้อนโหดร้ายเกินไป นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้ออกแบบที่ทำให้พื้นที่กลายเป็นจุดที่น่าเดินออกกำลังกาย

ไฮไลต์สำคัญอย่างหนึ่งของสะพานคือการปรับบริเวณ 2 จุดของสะพานเป็น “อัฒจรรย์” ยกสูงขึ้นไปเหนือสะพานพระปกเกล้า โดยอัฒจรรย์ฝั่งหนึ่งจะเห็นวิวตะวันตกคือฝั่งสะพานพุทธ และอีกฝั่งหนึ่งเป็นวิวเมืองช่วงสามย่าน-สาทร-เจริญนคร ที่เราจะได้เห็นตึกที่เป็นไอคอนของกรุงเทพฯ อย่างไอคอนสยาม โรงแรมเลอบัว ตึกมหานคร และไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่านที่คนเรียกกันเล่นๆ ว่า “ตึกยานแม่”

วิวฝั่งสะพานพุทธ
วิวฝั่งเมือง สามย่าน-สาทร-เจริญนคร

บรรยากาศช่วงหลัง 5 โมงเย็นนั้นมีประชาชนเดินทางมาชมพระอาทิตย์ตกดินกันอย่างคึกคัก นั่งกันเต็มแน่นเกือบทั้งอัฒจรรย์ สะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งความเป็น “แลนด์มาร์ก” สำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจตามที่ทีมงานตั้งใจเช่นกัน

ทางขึ้นลงมีลิฟต์บริการสำหรับวีลแชร์ คนชรา รถเข็นเด็ก และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ

สำหรับผู้ที่สนใจไปเยือน ทางขึ้นลง “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ฝั่งคลองสานจะอยู่ในสวนป่า กทม. เฉลิมพระเกียรติเชิงสะพานพระปกเกล้า ส่วนฝั่งพระนครจะอยู่ในสวนพระปกเกล้าฯ เปิดปิดเวลา 05.00-20.00 น. ทุกวัน ระยะนี้ผู้ที่ต้องการเข้าชมสวนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการระบาดของโรค COVID-19

วันหยุดนี้หากยังไม่มีจุดหมายการเดินทาง การไปนั่งมองพระอาทิตย์ขึ้นและลงบนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาก็น่าสนใจไม่น้อย