“เสิ่นเจิ้น” ผุด “เขตปลอดรถยนต์” ต้นแบบผังเมืองอากาศบริสุทธิ์ ที่ตั้งสำนักงานใหม่ Tencent

Net City พื้นที่ย่านชานเมือง “เสิ่นเจิ้น” ถูกออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์รักษ์สิ่งแวดล้อม ผังเมืองเน้นระบบขนส่งมวลชน ทางเท้า และทางจักรยาน มากกว่าการใช้รถยนต์ที่คุ้นเคย ภายในเมืองนี้จะมีแกนหลักเป็นที่ตั้งสำนักงานใหม่ของบริษัท Tencent พร้อมที่พักพนักงาน โรงเรียน ฯลฯ ครบในเขตเดียว

เขตเมืองใหม่ Net City ที่จะก่อสร้างย่านชานเมือง เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ถูกออกแบบผังเมืองให้เน้นการใช้ชีวิตของ “คน” มากกว่า “การจราจร” บนท้องถนน โดยจะอนุญาตให้รถยนต์เข้ามาในเมืองได้เท่าที่จำเป็น และจะเป็นที่ตั้งของแคมปัสสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Tencent บริษัทด้านอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดของจีน พร้อมกับก่อสร้างที่อยู่อาศัย โรงเรียน ศูนย์การค้ารีเทล สวนสาธารณะ ฯลฯ ครบในเขตเดียว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปีนี้หรือภายในปี 2021

เสิ่นเจิ้นเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชากรมาก รถยนต์บนถนนก็มากตาม นำไปสู่มลพิษทางอากาศ ทั้งยังทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองน้อยลงด้วย ขณะที่เมืองออกแบบใหม่หลายแห่งในโลกจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ให้พื้นที่ส่วนใหญ่กับสวนสาธารณะ ทางเท้า และทางจักรยาน โดยเฉพาะ “พื้นที่สีเขียว” ที่มีความสำคัญ เพราะทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติและยังช่วยซับน้ำ ป้องกันน้ำท่วมด้วย

เมืองใหม่ Net City ชานเมืองเสิ่นเจิ้น

NBBJ เป็นบริษัทที่ชนะการออกแบบมาสเตอร์แพลนให้กับเมือง Net City นี้ โดยต้นแบบของเมืองจะคล้ายกับการออกแบบโมเดลเมือง “ซูเปอร์บล็อก” ของบาร์เซโลนา ที่ออกแบบเมืองเป็นระบบ grid 9 ช่อง ทำให้สามารถปิดถนนรองระหว่างช่องเล็กๆ ไม่ให้รถเข้า อาศัยการเดินเท้าก็เพียงพอ

โจนาธาน วาร์ด พาร์ตเนอร์ผู้ออกแบบจาก NBBJ อธิบายว่าเมืองนี้จะเป็นระบบ grid 6 บล็อกเหมือนกับเสิ่นเจิ้น แต่แทนที่จะมีถนนใหญ่ล้อมรอบทุกบล็อก จะเหลือถนนใหญ่ล้อมรอบบล็อกทั้ง 6 ช่อง ส่วนถนนอื่นๆ ที่เชื่อมภายในบล็อก 6 ช่องจะกลายเป็นทางเท้า ส่วนที่จอดรถจะอยู่ใต้ดิน ทำให้ไม่จำเป็นต้องขับรถเข้ามา

ตัวอย่างการทำโมเดลเมืองแบบ “ซูเปอร์บล็อก” กันพื้นที่ภายในให้เป็นเขตลดการใช้รถยนต์ของบาร์เซโลนา (photo by Will Andrews Design)

ส่วนบริษัท Tencent ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงคนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงาน บริษัทต้องการให้พื้นที่นี้เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรม และสร้างพื้นที่การทำงานและการอยู่อาศัยที่มีความสุขกว่าเดิม

“สิ่งเดียวที่เป็นข้อจำกัดความเป็นไปได้คือ รถยนต์” วาร์ดกล่าว “เมืองของเรามักจะออกแบบมาเพื่อรถยนต์ ถ้าคุณย้อนเวลากลับไป 3 เจนเนอเรชั่นก่อนหน้า การออกแบบเมืองเป็นไปเพื่อคนขับรถมาตลอด เราคิดว่า เราคงยังดึงการใช้รถออกไปหมดไม่ได้ ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าหากเราสามารถลดการใช้รถยนต์อย่างมีนัยสำคัญได้ละ? และถ้าเราสามารถลดในจุดที่คุณเคยคิดว่าคุณจำเป็นต้องใช้รถ ทั้งที่จริงไม่จำเป็นล่ะ?”

พื้นที่เขต Net City สามารถไปถึงได้ทั้งทางรถไฟฟ้าใต้ดิน เรือ ทางจักรยาน และรถยนต์ แต่รถยนต์จะต้องจอดอยู่รอบนอก

การออกแบบเขตนี้ให้เป็นแคมปัสหลักของ Tencent ก็ช่วยลดการใช้รถด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเป็นทั้งที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย มีร้านค้าให้ช้อปปิ้ง คนที่อาศัยทำงานในนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้รถ เพราะสถานที่ที่จะไปส่วนใหญ่อยู่ในละแวกที่เดินได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่มาจากนอกเขตก็สามารถนำรถมาจอดในบริเวณที่กำหนดได้ หรือใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน รถประจำทาง ทางจักรยาน และเรือ

นอกจากนี้ เขต Net City ยังเป็นเขตสร้างใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (ซึ่งสามารถสั่งการได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์) จึงทำการออกแบบได้เต็มที่ “เราสามารถออกแบบถนนได้ใหม่หมด และเป็นอิสระจากระบบผังเมืองเดิม” วาร์ดกล่าว เนื่องจากทีม NBBJ จะทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น

บรรยากาศจำลอง Net City

ไม่ใช่แค่เขต Net City เท่านั้นที่นำคอนเซ็ปต์ลดการใช้รถมาเป็นแนวคิดหลัก หลายเมืองรอบโลกกำลังสร้าง “เขตปลอดรถยนต์” หรือ Car-Free Zone ไม่ว่าจะเป็น “ลอสแอนเจลิส” ที่มีเป้าหมายให้ประชากรลดการใช้รถส่วนตัวให้ได้หลักแสนคนภายใน 1 ทศวรรษข้างหน้า รวมถึงเมืองในยุโรปจำนวนมากกำลังลดการใช้รถยนต์ ผ่านการบีบบังคับทางอ้อม เช่น ยกเลิกจุดอนุญาตจอดรถข้างถนน

วาร์ดกล่าวว่า ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แม้แต่ลูกค้าที่หัวก้าวหน้าที่สุดยังแทบไม่พิจารณาการออกแบบเมืองใหม่ไร้รถยนต์ที่เปลี่ยนไปแรงขนาดนี้ แต่ขณะนี้แนวคิดของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว “ผมคิดว่าคนตระหนักรู้มากขึ้นว่า วัฒนธรรมการใช้รถและโครงข่ายรถยนต์คือความท้าทายสำคัญต่อปัญหาโลกร้อน คนรุ่นใหม่เห็นว่า การใช้รถคือข้อจำกัดต่อการเพิ่มสีสันความหลากหลายให้กับเมือง ตอนนี้มีความตระหนักรู้และตื่นรู้มากขึ้นแล้ว จนเกิดแรงกดดันต่อองค์กรกำกับควบคุมให้สร้างความเปลี่ยนแปลง”

“สิ่งเหล่านี้เกิดจากการรับรู้มากขึ้นเรื่องโลกร้อนและการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เราต้องต่อสู้เพื่อทำให้โลกเราร้อนขึ้นช้าลงกว่านี้” วาร์ดกล่าวทิ้งท้าย

Source