โบ๊เบ๊ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 25 Oct 2022 05:18:11 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “โบ๊เบ๊ สเตชั่น” ขอปลุกชีพย่านค้าส่งเสื้อผ้าเก่าแก่ จากแผงริมถนนสู่ตลาดในร่มที่สะดวกกว่า https://positioningmag.com/1405350 Tue, 25 Oct 2022 04:43:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1405350 พูดถึง “โบ๊เบ๊” ใครๆ ก็รู้จักในฐานะย่านค้าส่งเสื้อผ้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ แต่ระยะหลังความคึกคักอาจลดลงบ้างทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจและการมาถึงของอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม แลนด์ลอร์ดรายหนึ่งยังเชื่อในศักยภาพของโบ๊เบ๊และต้องการจะปลุกชีวิตชีวาของย่านกลับมาอีกครั้ง ด้วยการพัฒนาที่ดินเดิมของตระกูลเป็นตลาดในร่มที่ทันสมัยมากขึ้นในชื่อ “โบ๊เบ๊ สเตชั่น”

“โบ๊เบ๊” เป็นตลาดค้าส่งเสื้อผ้าที่มีมาตั้งแต่ปี 2470 หรือนับถึงวันนี้ก็ร่วมร้อยปีแล้ว สินค้าที่ขายในแต่ละยุคก็เปลี่ยนไปตามกาลสมัย แต่ในยุคนี้สิ่งที่โบ๊เบ๊ขายส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าประเภทเน้น ‘ฟังก์ชัน’ เช่น เสื้อยืด เสื้อกีฬา กางเกงยีนส์ มากกว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นซึ่งนิยมไปช้อปกันที่ประตูน้ำ

“คนที่มาซื้อของขายส่งที่โบ๊เบ๊มักจะขับรถกระบะเข้ามา บางครั้งจอดยาวไปจนถึงยศเส โบ๊เบ๊จะคึกคักมากช่วงกลางคืนเพราะพ่อค้าแม่ค้าจะมาซื้อของช่วงตี 1 – ตี 5 และรีบกลับก่อนจราจรติดขัดในช่วงเช้า” ธีรวุฒิ กาญจนเวชกุล กรรมการ บริษัท แผ่นดินอำพัน จำกัด อธิบายถึงวิถีชีวิตคนโบ๊เบ๊ให้ Positioning ฟังระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษ

ธีรวุฒินั้นเป็นลูกหลานเจ้าของที่ดินขนาด 3 ไร่ บริเวณโบ๊เบ๊สะพาน 3 ซึ่งแต่เดิมเคยมี “ตลาดกลาง” ตั้งอยู่ ธุรกิจให้เช่าล็อกขายของในตลาดนี้ทางบ้านก่อตั้งเมื่อ 60-70 ปีก่อน ก่อนจะหยุดไปในช่วงปี 2549

โบ๊เบ๊ สเตชั่น
ภาพเรนเดอร์โบ๊เบ๊ สเตชั่น ช่วงกลางคืน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดธีรวุฒิมีโครงการรื้อฟื้นตลาดขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ใช่รูปแบบเดิม โครงการใหม่นี้จะเป็นตลาดในร่มที่ทันสมัยมากขึ้นในชื่อ “โบ๊เบ๊ สเตชั่น” โดยเขาร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ ลงทุนมูลค่า 120 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าที่ดิน) เพื่อพัฒนาโครงการที่ต้องการจะปั้นให้เป็น ‘แลนด์มาร์ก’ แห่งใหม่ของย่าน

 

โบ๊เบ๊ ย่านค้าส่งผ่านแผงลอย

ด้วยความที่โตมากับครอบครัวที่ทำธุรกิจในย่าน ทำให้เข้าใจธรรมชาติของทำเล ธีรวุฒิอธิบายถึงย่านโบ๊เบ๊ก่อนว่า จุดขายของจะเริ่มตั้งแต่โบ๊เบ๊สะพาน 1 สะพาน 2 สะพาน 3 สะพาน 4 จนถึงโบ๊เบ๊ทาวเวอร์

โบ๊เบ๊เป็นตลาดที่มีทั้งกลางวันกลางคืน ส่วนใหญ่ช่วงกลางวันร้านที่เปิดจะเป็นร้านถาวรในตึกแถวริมถนน และร้านในโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ ส่วนร้านแผงลอยบนทางเท้าจะเปิดกันสายๆ จนถึงบ่ายๆ ก็เก็บ

แต่ที่คึกคักที่สุดคือช่วงกลางคืนซึ่งร้านแผงลอยจะมาตั้งร้านกันช่วงหัวค่ำจนถึงเช้ามืด และมีช่วงที่เป็นนาทีทองของโบ๊เบ๊คือ ตี 3 – ตี 5

โบ๊เบ๊
แผนที่ย่านโบ๊เบ๊

การช้อปปิ้งที่นี่ผู้ซื้อจะต้องหาที่จอดรถเองตามริมถนนและมาเดินเลือกซื้อของ เข็นของฝ่าการจราจรและผู้คนกลับไปที่รถ โดยไม่มีห้องน้ำสาธารณะ และหาร้านขายอาหาร-เครื่องดื่มยาก ซึ่งทำให้ธีรวุฒิเห็นโอกาสว่าโบ๊เบ๊มี ‘pain point’ ที่โครงการของเขาสามารถแก้ไขได้

ห้องน้ำ-ที่จอดรถ แม่เหล็กดึงคนเข้า “โบ๊เบ๊ สเตชั่น”

โบ๊เบ๊ สเตชั่น ที่กำลังสร้างขึ้น จะเป็นตึก 3 ชั้น ลักษณะเป็นตลาดในร่มแบบไม่ติดแอร์ ตกแต่งด้วยโทนสีแดงและศิลปะแบบสตรีทอาร์ต เปิดบริการ 24 ชั่วโมงเพื่อตอบโจทย์การค้าย่านนี้ที่มีทั้งกลางวันกลางคืน เตรียมเปิดตัวช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยพื้นที่เช่าและสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่

  • ชั้น 1 – ล็อกขายสินค้าขนาด 5 ตารางเมตรต่อล็อก จำนวนมากกว่า 200 ล็อก
  • ชั้น 1 – ร้านค้าเช่าสำหรับเชนร้านอาหาร/เครื่องดื่ม บริเวณด้านหน้าโครงการ
  • ชั้น 2 – ฟู้ดคอร์ทราคาประหยัด 8 ร้าน
  • ชั้น 2 – ห้องน้ำขนาดใหญ่
  • ชั้น 2 – โกดังเก็บสินค้า ขนาด 5 ตารางเมตรต่อล็อก
  • ชั้น 3 – ที่จอดรถ 140-150 คัน
  • ขยายสะพาน 3 เพิ่มเป็น 2 เลน ให้รถสวนทางเข้าออกได้สะดวก
ออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นที่จอดรถ

ล็อกเช่าในตลาดจะมีทั้งระบบเซ้ง 3 ปี หรือ 9 ปี และระบบเช่าระยะสั้น 15-30 วัน ซึ่งส่วนเช่าสั้นจะเน้นร้านค้าแฟชั่นเข้ามาผสมผสาน เพื่อดึงผู้ซื้อกลุ่มซื้อปลีกเข้ามาเดินเล่นในโครงการด้วย

ธีรวุฒิมองว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ซื้อ เพราะการเดินในตลาดที่จัดเป็นระเบียบจะปลอดภัยกว่า มีร้านอาหารและที่จอดรถบริการ ที่สำคัญคือเชื่อว่า “ห้องน้ำ” จะเป็นจุดสำคัญที่ดึงคนให้เดินข้ามสะพาน 3 เข้ามา ขณะที่ฝั่งผู้ขายเองก็ไม่ต้องห่วงเรื่องดินฟ้าอากาศเพราะพื้นที่ขายมีหลังคา ต่างจากเดิมที่เป็นแผงลอย หากวันไหนฝนตกก็ขายลำบาก

โบ๊เบ๊ สเตชั่น
บริเวณล็อกขายสินค้าชั้นล่าง

 

โบ๊เบ๊ยังไม่ตายเพราะลูกค้ายังต้องการ “ต่อราคา”

แม้ว่าวันนี้โลกอีคอมเมิร์ซจะทำให้สั่งซื้อทุกอย่างได้ด้วยปลายนิ้ว แต่ธีรวุฒิประเมินว่า ผู้ซื้อวันนี้ 60-70% จะเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อส่ง และ 30-40% เป็นลูกค้าซื้อปลีก

โดยรวมแล้วกว่าครึ่งหนึ่งที่ยังมาโบ๊เบ๊เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าแบบดั้งเดิมที่ต้องการมา “ต่อราคา” และมาดูสินค้าจริงก่อน ซึ่งการต่อราคาทำได้ยากทางอินเทอร์เน็ต

โบ๊เบ๊
ลักษณะตลาดแผงลอยในโบ๊เบ๊ บริเวณในรูปคือสะพาน 3 เมื่อโครงการโบ๊เบ๊ สเตชั่นเปิดทำการ จะขอคืนพื้นที่แผงลอยบนสะพานเพื่อเปิดเป็นทางสัญจร

นั่นทำให้ผู้ขายมีความสนใจที่จะมาเปิดหน้าร้านเพิ่มหรือย้ายร้านเข้ามาในโบ๊เบ๊สเตชั่น โดยผู้ขายส่วนใหญ่ที่ต้องการเช่าขณะนี้มักจะเป็นรุ่นลูกหลานของโรงงานเสื้อผ้าที่เห็นข้อดีการมีร้านในสถานที่ที่ทันสมัยขึ้น

ทางโครงการยังมองถึงการช่วยพ่อค้าแม่ค้าปรับตัวไปสู่โลกออนไลน์เช่นกัน โดยจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสตูดิโอ “Live ขายสินค้า” ที่จะให้ผู้เช่าของโครงการใช้ได้ฟรี พร้อมกับทำกิจกรรมดึงอินฟลูเอนเซอร์ที่เชี่ยวชาญการ Live ขายของมาสอนผู้เช่าในอนาคต

การกลับมาของตลาดกลางในชื่อใหม่รูปแบบใหม่คือ “โบ๊เบ๊ สเตชั่น” อาจจะมาในจังหวะที่ถูกต้องก็เป็นได้ เพราะที่จริงแล้ว กทม. ได้ยกเลิกจุดผ่อนผันขายของบนทางเท้าในย่านนี้ไปตั้งแต่ปี 2549 และ Positioning พูดคุยกับผู้ค้าในย่านทราบว่า ภาครัฐมีแนวคิดที่จะลดพื้นที่ขายของบนทางเท้าให้เล็กลงมาตลอด และเป็นไปได้ว่าอาจจะให้ยกเลิกขายบนทางเท้าเพื่อปรับภูมิทัศน์ริมคลองผดุงกรุงเกษม นั่นทำให้อนาคตผู้ค้าอาจจะต้องหาที่ขายใหม่เป็นกิจจะลักษณะ

“เรามองย่านเก่าๆ อย่างถนนบรรทัดทองก็กลับมาคึกคักได้ เราเชื่อว่าโบ๊เบ๊ก็ทำแบบนั้นได้เหมือนกัน” ธีรวุฒิกล่าว

]]>
1405350