โอลิมปิก 2024 – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 15 Aug 2024 15:14:06 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “โอลิมปิก ปารีส 2024” ดึงเม็ดเงินโฆษณาทะลุเป้าเกินคาด https://positioningmag.com/1486584 Thu, 15 Aug 2024 15:13:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1486584 ข้อมูลจาก บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด (MI GROUP) รายงานเม็ดเงินโฆษณาช่วง “โอลิมปิก ปารีส 2024” พบว่า มีเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงแข่งขันมากกว่าที่คาด เพราะเรตติ้งผู้ชมที่ดี คนไทยสนใจชมกีฬาสูง ทำให้เม็ดเงินโฆษณาเข้ามารวมกว่า 500 ล้านบาท สูงกว่าที่เคยประมาณไว้ว่าน่าจะมีราวๆ 300 ล้านบาท
สำหรับ Top 5 อุตสาหกรรมลงโฆษณาช่วงโอลิมปิกสูงที่สุด ได้แก่
  • อันดับ 1 หน่วยงานรัฐ เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  • อันดับ 2 ยานยนต์ เช่น TOYOTA
  • อันดับ 3 ผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ตพร้อมดื่ม YOYIC, นมโอ๊ต Goodmate
  • อันดับ 4 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น สิงห์ เลมอนโซดา, เครื่องดื่มเกลือแร่ สปอนเซอร์, น้ำแร่ตราช้าง
  • อันดับ 5 เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แอร์ Daikin, พัดลม Hatari

ถือเป็นช่วงเซอร์ไพรส์วงการโฆษณาซึ่งปี 2567 นี้ตลาดไม่ได้เติบโตมากนัก และอยู่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซาทำให้แบรนด์มีการประหยัดงบลงโฆษณา แต่ช่วงโอลิมปิกสามารถดึงเม็ดเงินมาได้เกินคาด

]]>
1486584
อยากเป็นสปอนเซอร์ “โอลิมปิก” ต้องจ่ายเท่าไหร่? https://positioningmag.com/1485182 Mon, 05 Aug 2024 13:25:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1485182 ด้วยจำนวนผู้ชมกว่า 3,000 ล้านคนในแต่ละปีและเรื่องราวการแข่งขันที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น และน่าประทับใจของนักกีฬา ทำให้หลายแบรนด์ตัดสินใจเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์มหกรรมกีฬา “โอลิมปิก” แต่การจะเป็นผู้สนับสนุนกีฬาระดับนี้ต้องจ่ายเท่าไหร่?

การแข่งขัน “โอลิมปิก” มีผู้ดูแลหลักคือ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล” หรือ IOC หน่วยงานนี้มีการกำหนดแบ่งระดับ (tier) ของสปอนเซอร์ในการแข่งขันออกเป็น 4 ระดับ คือ Worldwide Partners, Premium Partners, Official Partners และ Official Supporters

เฉพาะผู้สนับสนุนในระดับสูงสุดคือ “Worldwide Partners” โอลิมปิก 2024 มีทั้งหมด 14 รายเท่านั้น ได้แก่ Airbnb, Alibaba, Allianz, Atos, Bridgestone, Coca-Cola ร่วมกับ Mengniu, Deloitte, Intel, Omega, Panasonic, P&G, Samsung, Toyota และ Visa

สปอนเซอร์ โอลิมปิก
สปอนเซอร์ระดับ Worldwide Partners ในโอลิมปิก 2024

การเป็นพันธมิตรในระดับสูงสุดแบบนี้ ทาง IOC จะสงวนสิทธิ์ให้ ‘1 แบรนด์ต่อ 1 อุตสาหกรรม’ เช่น Omega จะเป็นแบรนด์นาฬิกา ‘ผู้จับเวลาการแข่งขันอย่างเป็นทางการ’ เพียงหนึ่งเดียว

ส่วนผู้สนับสนุนในระดับอื่นๆ รวมกันแล้วมีถึง 70 ราย เช่น ระดับ ‘Premium’ ก็จะมีแบรนด์อย่าง “Accor” หรือ “LVMH” เป็นต้น

 

จ่ายเท่าไหร่?

แล้วแบรนด์แบรนด์หนึ่งต้องจ่ายเท่าไหร่ถึงจะได้เป็นสปอนเซอร์โอลิมปิก?

ขอไฮไลต์เฉพาะกลุ่ม Worldwide Partners ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนระดับโลก ข้อมูลจาก ISPO บริษัทผู้จัดงานเทรดแฟร์เครื่องกีฬาระดับโลก ระบุว่า แบรนด์ที่จะมาเป็นสปอนเซอร์ระดับนี้ได้ต้องจ่าย ‘หลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ’ เท่านั้น โดยแต่ละแบรนด์ก็จะเซ็นสัญญาสั้นยาวต่างกัน แต่เฉลี่ยแล้วจะอยู่ในช่วงราคานี้ต่อการจัดโอลิมปิกในรอบ 4 ปีซึ่งเกิดขึ้น 2 ครั้งรวมทั้งการแข่งฤดูร้อนและฤดูหนาว

มีข้อมูลที่คาดการณ์ไว้ เช่น “Coca-Cola” ร่วมกับ “Mengniu” (บริษัทผลิตภัณฑ์นมจากจีน) ซึ่งจับมือกันมา สปอนเซอร์โอลิมปิกยาวตั้งแต่ปี 1986 ทั้งสองบริษัทร่วมเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์รอบใหม่ยาวถึง 12 ปี (2021-2032) ด้วยมูลค่าดีลที่คาดว่าแตะ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!

ขณะที่ “Toyota” ย้อนไปในอดีตมีรายงานว่าการทำสัญญาสปอนเซอร์ 10 ปี (2015-2024) จ่ายดีลไปในราคา 637-835 ล้านเหรียญสหรัฐ (*แต่ละสื่อมีการคาดการณ์ไม่ตรงกัน)

Toyota สนับสนุนรถยนต์รุ่น Mirai เพื่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 500 คัน เพื่อใช้ในงานโอลิมปิก 2024

ที่สั้นลงมาหน่อย เช่น “Airbnb” เลือกทำสัญญาสนับสนุน 8 ปี (2021-2028) คาดว่ามีการใช้เม็ดเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนในกลุ่มที่ทำสัญญากันครั้งต่อครั้งในการจัดโอลิมปิก เช่น “Panasonic” และ “Bridgestone” คาดว่าทำสัญญาสนับสนุน 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ​ สำหรับเป็นสปอนเซอร์ 4 ปี

นับได้ว่านี่เป็นมหกรรมกีฬาที่ต้องจ่ายสูงมาก หากอยากส่งแบรนด์ไปสู่ระดับโลก

 

คุ้มไหม?

“Zak Stambor” นักวิเคราะห์อาวุโสธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซจากบริษัทวิจัย eMarketer ให้สัมภาษณ์กับ Digiday ว่า ในยุคนี้ผู้บริโภครับสื่อหลากหลายมาก ถ้าจับคน 2 คนมาเปรียบเทียบว่าดูคอนเทนต์อะไรบ้างในแต่ละวันก็อาจจะไม่เหมือนกันเลยก็ได้ แต่การแข่ง “โอลิมปิก” เป็นหนึ่งในห้วงเวลาที่หาได้ยากยิ่งที่คนจำนวนมากจะรับชมคอนเทนต์เหมือนกันในเวลาเดียวกัน

ด้านนักโฆษณา “Peter Wilson” ผู้อำนวยการบริหารด้านกลยุทธ์จากเอเจนซี Iris ให้ตัวอย่างว่า “Samsung” ซึ่งเป็นสปอนเซอร์โอลิมปิกมาเกือบ 30 ปี ได้ใช้พื้นที่นี้เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่เพื่อทำให้คนเปลี่ยนใจหันมาใช้ Samsung กันมากขึ้น

แคมเปญหลายๆ อย่างของ Samsung เองมีการคิดให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ด้วย เช่น เน้นการสนับสนุนกีฬาใหม่ในโอลิมปิกอย่าง “สเก็ตบอร์ด” เป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์วัยรุ่น และสเก็ตบอร์ดยังมีท่าเล่นที่ล้อไปกับชื่อ  สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของแบรนด์อย่าง Galaxy ‘Flip’

ทางด้านสปอนเซอร์ยางรถยนต์หวังผลในระยะยาวเช่นกัน “Caitlin Ranson” ผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาดพันธมิตรที่ Brigdestone สหรัฐอเมริกา มองว่า การเป็นผู้สนับสนุนโอลิมปิกจะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการพิจารณาใช้ Bridgestone เมื่อถึงคราวที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนยางรถยนต์ เป็นการมองถึงอนาคตว่าการมีชื่อในโอลิมปิกทำให้ผู้บริโภครู้จักและจำได้ว่าแบรนด์นี้คือใคร

สปอนเซอร์ โอลิมปิก
ภาพโปรโมตสปอนเซอร์โอลิมปิกของ Bridgestone

นอกจากการตลาดแล้ว บางแบรนด์ก็ได้โอกาสการขายในอีเวนต์ขนาดใหญ่นี้ด้วย เช่น “Coca-Cola” ที่ได้สิทธิขายสินค้าในทุกๆ สนามแข่งขัน และมีรายงานว่าในโอลิมปิก 2024 แบรนด์นี้ดันราคาน้ำอัดลมขึ้นไปได้ถึงแก้วละ 4 ยูโร (ประมาณ 155 บาท) แบบว่าโกยกลับให้คุ้มค่าสปอนเซอร์!

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่รู้สึกว่าได้กลับมาคุ้มค่าจากโอลิมปิก มีรายงานตั้งแต่ปี 2023 ว่า Toyota จะไม่ต่อสัญญาสปอนเซอร์รอบใหม่แล้ว โดยคาดการณ์ว่าเป็นเพราะบริษัทไม่พึงพอใจวิธีบริหารเงินสปอนเซอร์ของ IOC และเงินไม่ถูกนำไปใช้สนับสนุนนักกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงคาดกันว่าหมวดรถยนต์น่าจะมีสปอนเซอร์เจ้าใหม่เข้ามาแทนที่ ส่วนทาง Toyota บอกว่าจะหันไปสนับสนุนนักกีฬาในแบบของตัวเองต่อไป

ทั้งนี้ เงินสนับสนุนไม่ใช่แหล่งรายได้เดียวของโอลิมปิก ISPO รายงานจากแผนงบลงทุนของ IOC ระบุว่า รายได้ของการจัดโอลิมปิกมาจากหลายส่วนด้วยกัน แต่ส่วนหลักจะมาจาก 1)สปอนเซอร์ผู้สนับสนุน 2)การขายสิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขัน 3)การขายบัตรเข้าชมในสนามแข่งขัน และ 4)การขายลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าเมอชานไดซ์

ด้านบริษัทวิจัย Ampere Analysis ประเมินว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ครั้งนี้ IOC ได้รับเม็ดเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์รวมถึง 1,340 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 47,200 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าการจัดโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวถึง 60% รวมถึงกลายเป็นแหล่งรายได้หลักในการจัดโอลิมปิกแทนที่การขายสิทธิถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

ที่มา: ISPO, Digiday, The Conversation

]]>
1485182
4 เรื่องที่น่าจับตามองในพิธีเปิด “โอลิมปิก 2024” กลางกรุงปารีส https://positioningmag.com/1483486 Mon, 22 Jul 2024 11:11:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1483486 มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก 2024” ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพในปีนี้กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2024 (*ตรงกับเวลาประมาณ 00:30 น. ตามเวลาประเทศไทย) งานครั้งนี้มีความพิเศษแปลกใหม่ที่น่าจับตามองกันตั้งแต่ช่วง “พิธีเปิด” การแข่งขัน โดยเรารวบรวม 4 เรื่องที่น่าสนใจมาไว้ที่นี่

1.ครั้งแรกที่ “พิธีเปิด” ไม่จัดในสนามกีฬา

โอลิมปิก 2024 จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีเปิดกลางแจ้งแทนที่จะจัดในสนามกีฬาตามธรรมเนียมที่คุ้นเคยกันมา โดยคอนเซ็ปต์ของผู้จัดงานพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ต้องการจะให้สอดคล้องกับสโลแกนการแข่งขันครั้งนี้นั่นคือ “Games Wide Open” (การแข่งขันที่เปิดกว้าง) ทำให้เลือกย้ายออกมาจัดนอกสนาม

นักกีฬามากกว่า 6,000 คนจะเข้าสู่พิธีเปิด “ทางน้ำ” พวกเขาจะล่องเรือไปในแม่น้ำแซนเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ผ่านสถานที่สำคัญกลางกรุงปารีสเป็นฉากหลังในพิธีเปิด เช่น มหาวิหารนอเทรอดาม พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หอไอเฟล พร้อมกับมีกล้องจับทุกมุมเพื่อถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

2.รับผู้เข้าชมได้ถึง 5 แสนคน กับราคาบัตรสูงสุด 1 แสนบาท!

งานครั้งนี้ฝ่ายจัดจะสร้างสแตนด์ที่นั่งสำหรับผู้ชมริมแม่น้ำแซนซึ่งสามารถจุได้ถึง 5 แสนที่นั่ง และมีการขายบัตรเข้าชมถูกสุดเป็นบัตรยืนราคา 90 ยูโร หรือประมาณ 3,500 บาท (ราคานี้เต็มหมดแล้ว) ส่วนบัตรราคาสูงสุดอยู่ที่ 2,700 ยูโรต่อที่นั่ง หรือประมาณ 1.07 แสนบาท!

อย่างไรก็ตาม ริมแม่น้ำแซนเองก็เต็มไปด้วยอาคารเอกชนเรียงราย ซึ่งถ้าใครบังเอิญมีอะพาร์ตเมนต์อยู่ริมแม่น้ำแซนก็จะได้ชมพิธีเปิดนี้แบบฟรีๆ

3.การแสดงจากแดนเซอร์ 3,000 ชีวิต

ดีไซเนอร์ของโชว์พิธีเปิดครั้งนี้ถูกมอบหมายให้ “Thomas Jolly” เป็นผู้กำกับละครเวทีชื่อดังวัย 42 ปี ข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยได้คือ โชว์ทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็น 12 โชว์ย่อย ความยาว 3-4 ชั่วโมง รวมนักแสดง/แดนเซอร์ถึง 3,000 คน ที่จะโชว์การแสดงอยู่บนตลิ่งริมน้ำ บนสะพาน และบนอนุสาวรีย์สำคัญต่างๆ ที่เรือในพิธีจะแล่นผ่าน

มีการคาดการณ์ด้วยว่าน่าจะมีการแสดงโชว์บนมหาวิหารนอเทอดราม เพราะวิหารใกล้จะรีโนเวตซ่อมแซมเสร็จแล้วหลังถูกไฟไหม้ใหญ่ในปี 2019

4.ระบบรักษาความปลอดภัยเข้มจัด

เนื่องจากงานนี้จะจัดในที่เปิดโล่ง จึงเป็นงานหนักของตำรวจฝรั่งเศสที่จะต้องวางแผนรักษาความปลอดภัย โดยมีการรายงานว่าฝรั่งเศสจะจัดตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลในพิธีเปิดครั้งนี้ถึง 45,000 คน

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตำรวจฝรั่งเศสเริ่มกั้นโซนพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากแม่น้ำแซน หากต้องการจะเข้าไปในโซนดังกล่าวจะต้องลงทะเบียนเพื่อรับ “QR CODE” มาก่อนล่วงหน้าเพื่อยืนยันตัวตนบุคคลที่จะเข้าไปในโซนการจัดงาน ทำให้ประชาชนฝรั่งเศสและนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ติดตามข่าวมาก่อนค่อนข้างปั่นป่วนเพราะเข้าไปใจกลางกรุงปารีสไม่ได้

เหตุที่ฝรั่งเศสต้องเข้มงวดขนาดนี้เพราะประเด็น “การก่อการร้าย” เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังสูงสุด หลังจากปารีสเคยถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีครั้งใหญ่เมื่อปี 2015 ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 129 คน (รวมผู้ก่อเหตุ)

 

สำหรับทัพนักกีฬาไทยที่ได้ไปร่วมแข่งขัน “โอลิมปิก 2024” ในปีนี้มีทั้งหมด 51 คน จากทั้งหมด 17 ชนิดกีฬา แฟนกีฬาชาวไทยติดตามให้กำลังใจกันได้ผ่านฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ T Sports 7, 9 MCOT HD, 7HD และ PPTV HD 36 พร้อมรับชมย้อนหลังได้ทาง TrueVisions และ AIS PLAY

ที่มา: France24, AP

]]>
1483486