Carlsberg – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 27 Jun 2021 12:50:26 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Carlsberg เมืองจีน ยอดขาย “เบียร์” โตสวนกระแส กำไรพุ่ง 21% จากการเปิด “เดลิเวอรี่” https://positioningmag.com/1339194 Sun, 27 Jun 2021 09:37:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1339194 Carlsberg รายงานยอดขายเบียร์ในประเทศจีนโต 3% คิดจากปริมาณ และกำไรเติบโต 21% สวนกระแสตลาดเบียร์ปี 2020 ที่ตกลงทั้งหมดเนื่องจาก COVID-19 ลดการสังสรรค์นอกบ้าน ทั้งนี้ เบียร์ Carlsberg เป็นหนึ่งในเบียร์นอกเพียง 2 บริษัทที่สามารถขึ้นสู่ Top 5 ของตลาดจีนได้

สำนักข่าว South China Morning Post รายงานข้อมูลจากบริษัท Carlsberg China พบว่า ยอดขายเบียร์ปี 2020 เติบโตขึ้น 3% วัดจากปริมาณการขาย และทำกำไรจากการดำเนินการสูงขึ้น 21% สวนทางกับตลาดรวมของเบียร์แดนมังกรปีก่อนที่ตกลงเนื่องจาก COVID-19 ลดการรวมตัวสังสรรค์ของคน โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก

เหตุที่ Carlsberg ยังโตสวนตลาดได้ เป็นเพราะกลยุทธ์จับมือใกล้ชิดกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ เช่น Meituan และ Ele.me โดยกลยุทธ์การส่งเบียร์เดลิเวอรี่นี้ “Lee Chee Kong” ประธาน Carlsberg China ระบุว่า จะยังเป็นกลยุทธ์หลักในยุค “ดิจิทัล” แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม

“เรามองเห็นการทำให้เป็นดิจิทัลเป็นกลยุทธ์หลักที่เราให้ความสำคัญ หลังยุค COVID-19 เราจะเพิ่มการลงทุนในการสร้างความหลากหลายของช่องทางจำหน่าย โดยเฉพาะอี-คอมเมิร์ซ” ประธาน Lee กล่าว

โฆษณาเบียร์ Carlsberg ช่วงปีใหม่ 2020 (Photo : Branding in Asia)

จีนเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย สมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจีน เปิดเผยว่า เมื่อปี 2019 จีนบริโภคเบียร์ 38 ล้านกิโลลิตร มากที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 1.58 แสนล้านหยวนต่อปี (ประมาณ 7.79 แสนล้านบาท) ประเทศจีนเองยังเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของเบียร์เช่นกัน โดยผลิตเบียร์ปีละ 37.7 ล้านกิโลลิตร คิดเป็น 1 ใน 5 ของการผลิตเบียร์ทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม หากคิดเป็นอัตราการบริโภคต่อประชากร 1 คน ยังถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก โดยคนจีนบริโภคเบียร์เฉลี่ยคนละ 27.1 ลิตรต่อปี ขณะที่หลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ เม็กซิโก บราซิล บริโภคเบียร์เฉลี่ยมากกว่า 60 ลิตรต่อคนต่อปี (ข้อมูลจาก GlobalData)

สำหรับ Carlsberg China ถือเป็นแหล่งรายได้หลักที่ใหญ่ที่สุดในตลาดต่างประเทศของบริษัทสัญชาติเดนมาร์กแห่งนี้ บริษัทเข้ามาก่อตั้งโรงเบียร์แห่งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 1995 และปัจจุบันเป็นหนึ่งในสองบริษัท ‘เบียร์นอก’ ที่สามารถยืนหยัดใน Top 5 บริษัทเบียร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในแดนมังกรสำเร็จ

โรงเบียร์แห่งแรกของ Carlsberg China อยู่ในฮุ่ยโจว มณฑลกวางตุ้ง (ก่อนหน้านั้นมีการตั้งโรงเบียร์ที่ฮ่องกงเมื่อปี 1981 แต่ยุบสายผลิตมารวมที่ฮุ่ยโจวเมื่อปี 1999) หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2000 บริษัทเริ่มรุกการตั้งโรงเบียร์ในเขตตะวันตกของจีนมากขึ้น ผ่านการควบรวมกิจการโรงเบียร์ต่างๆ

Top 5 บริษัทเบียร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดในจีนสูงที่สุด ข้อมูลจาก marketingtochina.com ปี 2017 ได้แก่

1) China Resources 26% (เบียร์ที่ขายดีที่สุดคือยี่ห้อ ‘Snow’)
2) Tsingtao Brewery 17% (เบียร์ Tsingtao)
3) AB InBev 16% (เบียร์หลายยี่ห้อ เช่น Budweiser, Stella Artois, Corona Extra)
4) Beijing Yanjing Brewery 10% (เบียร์ Yanjing)
5) Carlsberg 5% (เบียร์ Carlsberg)

Source

]]>
1339194
Carlsberg เผยโฉมขวดเบียร์รักษ์โลกที่ทำมาจากกระดาษ! https://positioningmag.com/1249774 Mon, 14 Oct 2019 16:48:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1249774 Carlsberg พัฒนาขวดเบียร์ที่ทำจากกระดาษขวดแรกของโลก ซึ่งจะเป็นแพ็กเกจจิ้งที่สร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ได้ โดยได้เริ่มเผยโฉมแนวคิด และแบบขึ้นมาก่อนผลิตจริง

ขวดเบียร์รักษ์โลกที่ว่านี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน โดยที่ขวดจะเรียกว่า Green Fibre Bottle ทำมาจากเส้นใยจากไม้ ส่วนภายในจะมีคุณสมบัติพิเศษที่จะสามารถบรรจุของเหลวได้ โดยที่แบบที่ 1 จะถูกเคลือบด้วยฟิล์มที่ทำมาจากพลาสติก PET รีไซเคิล ส่วนอีกรุ่นหนึ่งจะใช้ฟิล์มที่ทำมาจากไบโอพลาสติก 100% ซึ่ง Carlsberg จะต้องทำการทดสอบทั้ง 2 รูปแบบดูก่อนว่าแบบไหนดีที่สุด

ซึ่งจริงๆ แล้วโปรเจกต์นี้ Carlsberg ได้เริ่มออกแบบขวดกระดาษมาตั้งแต่ปี 2558 ทำงานร่วมกับ ecoXpac และ BillerudKorsnäs เป็นบริษัทด้านแพ็กเกจจิ้งชื่อดัง รวมถึงนักวิจัยจาก Danish Technical University

จุดประสงค์ของการออกขวดเบียร์รักษ์โลกนี้ Carlsberg ต้องการผลิตขวดที่ทำจากวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ 100% โดยไม่มีส่วนประกอบของโพลิเมอร์ เป็นนโยบายด้านความยั่งยืน ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์สำหรับโรงานผลิต

ขวดไฟเบอร์นี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากระป๋องอะลูมิเนียมหรือว่าขวดแก้ว เพราะว่ามีแหล่งที่มาของวัสดุที่การันตีความยั่งยืนได้

เพียงแต่ว่าตอนนี้ขวดไฟเบอร์ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา คาดว่าขั้นตอนสุดท้ายก่อนเสร็จสมบูรณ์จะมาถึงภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้

Source

]]>
1249774
สมรภูมิอาเซียน-ความท้าทายบนฟองเบียร์ https://positioningmag.com/1151592 Mon, 25 Dec 2017 03:56:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1151592 ข่าวการเข้าซื้อหุ้นของโรงงานเบียร์ในเวียดนามด้วยเงินลงทุนขนาดมหึมากว่า 1.6 แสนล้านบาทโดยกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ นอกจากจะเป็นการตอกย้ำความมุ่งหมายตามยุทธศาสตร์แห่งวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟเวอเรจแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนข้อเท็จจริงของตลาดเบียร์ในอาเซียนในฐานะที่เป็นสมรภูมิทางธุรกิจที่มีความหอมหวาน และเย้ายวนผู้ประกอบการแต่ละรายให้เข้ามาร่วมช่วงชิงแบ่งปันผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหน้าอย่างชัดเจน

ความพยายามของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มุ่งหมายจะขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตลาดประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในฐานะที่เป็นประหนึ่งสนามหลังบ้าน ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้แรงเสียดทาน หากแต่ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการรุกเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสถานะไม่แตกต่างมหาอำนาจที่พรั่งพร้อมด้วยเงินทุน และความหลากหลายของแบรนด์สินค้าที่เป็นสรรพกำลังในการดูดซับอุปสงค์ของการบริโภคในตลาดแห่งนี้

การเติบโตขึ้นด้วยอัตราเร่งของการบริโภคเบียร์ในอาเซียน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะภูมิอากาศที่ร้อนชื้นหรือรสชาติอาหารที่เผ็ดร้อนจนต้องดื่มเบียร์เย็น ๆ ระงับอาการหรือดับกระหาย หากแต่เป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่า อาเซียน ยังอุดมด้วยประชากรในวัยหนุ่มสาว และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับเปลี่ยนไปจากการเป็นเพียงเครื่องดื่ม มาสู่การเป็น สัญญะ ทางสังคมอีกด้วย

นอกจากนี้ความจำเริญเติบโตของอาเซียนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ภูมิภาคแห่งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในธุรกิจหลากหลาย ในฐานะที่เป็นทั้งแหล่งลงทุนเพื่อการผลิตและเป็นตลาดที่มีศักยภาพและการเติบโตในอัตราเร่งทดแทนความอิ่มตัวที่เกิดขึ้นในระดับสากล

ตัวเลขจากการสำรวจตลาดเบียร์ใน 6 ประเทศอาเซียนที่ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมา พบว่าตลาดที่มีการบริโภคเบียร์มากถึง 7.66 ล้านกิโลลิตรแห่งนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดสามารถครอบครองตลาดระดับภูมิภาคนี้ได้อย่างมั่นคงชัดเจน

ส่วนหนึ่งเนื่องเพราะผู้ประกอบการแต่ละรายต่างมีความโดดเด่นจำกัดอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่ของประเทศตัวเองเป็นสำคัญ ดังกรณีที่เกิดขึ้นในบริบทของ San Miguel ซึ่งแม้จะครองส่วนแบ่งในระดับร้อยละ 20.5 แต่ตัวเลขดังกล่าวก็เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า San Miguel มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึงร้อยละ 91-95 ในฟิลิปปินส์โดยลำพัง

เช่นเดียวกับกรณีของผู้ประกอบการสัญชาติไทย ทั้งบุญรอด บริวเวอรี่ ที่ครองส่วนแบ่งในระดับ 14.5 และไทยเบฟเวอเรจ ที่อยู่ในระดับร้อยละ 8 จากการสำรวจครั้งนั้น ก็ดำเนินไปภายใต้บริบทของการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ครองพื้นที่ตลาดภายในประเทศมากกว่าที่จะสามารถฉายภาพการเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและมีแบรนด์เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค

กรณีว่าด้วยการสร้างสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการภายใต้แบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค หรือเป็น Regional Brand แห่งอาเซียนเป็นประเด็นที่เคยได้รับการกล่าวถึงมานานกว่าทศวรรษ โดยสินค้าและบริการบางชนิดสามารถยกระดับและปรากฏภาพลักษณ์เป็นตัวแทนของภูมิภาคนี้ไปบ้างแล้ว

หากแต่ในกรณีของเบียร์ ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดข้ามพ้นการเป็นตัวแทนของท้องถิ่นนิยม (localization) ไปสู่ภูมิภาคนิยม (regionalization) ในบริบทที่กว้างขวางออกไปได้มากนัก

อย่างไรก็ดี ตลาดเบียร์อาเซียนมิได้ดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดของผู้ประกอบการที่มีสถานะเป็นทุนชาติเท่านั้น หากยังมีผู้ประกอบการระดับนานาชาติที่เข้ามาลงหลักปักฐานและแสดงบทบาทนำในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย

บทบาทของ Heineken ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์อาเซียนในระดับร้อยละ 13 และ Carlsberg ที่ครองส่วนแบ่งในระดับร้อยละ 6.2 จากการประเมินเมื่อปี 2015 ล้วนแต่เป็นผลจากการลงทุนและร่วมสร้างตลาดเบียร์ในอาเซียน ขณะที่ตลาดเบียร์อาเซียนอีกมากกว่าร้อยละ 37.7 ถูกครอบครองด้วยผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

โดย Carlsberg ลงทุนทั้งในเวียดนามผ่าน Hue Brewery และ Hanoi Brewery (HABECO) และการลงทุนในมาเลเซีย ผ่าน Carlsberg Brewery Malaysia Berhad (Carlsberg Malaysia) รวมถึงการร่วมทุนกับ Myanmar Golden Star (MGS) ในเมียนมา และเป็นพันธมิตรกับบุญรอด บริวเวอรี่ในประเทศไทยด้วย

หากแต่บทบาทที่น่าสนใจติดตามและถือว่ามีความโดดเด่นในการผลักดันตลาดเบียร์อาเซียนให้เติบโตในอนาคตอยู่ที่จังหวะก้าวของผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกในนาม Heineken ที่ให้ความสำคัญกับตลาดเบียร์อาเซียนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ Heineken จะรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนมานานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

การรุกสู่ตลาดอาเซียนด้วยอัตราเร่งและอย่างจริงจังของ Heineken เริ่มปรากฏภาพชัดเจนขึ้นในปี 2012 เมื่อ Heineken ดำเนินการเพื่อครอบครอง Asia-Pacific Brewery ในมหากาพย์การช่วงชิงแข่งขันทางธุรกิจที่มีไทยเบฟเวอเรจซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อ Fraser and Neave (F&N) ปรากฏตัวเป็นคู่ต่อสู้ในครั้งนั้นด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของกรณีดังกล่าวก็คือ ในเดือนกรกฎาคม 2012 ไทยเบฟเวอเรจเข้าครอบครองหุ้นใน F&N จำนวน 22% จาก Oversea-Chinese Banking Corporation ซึ่งทำให้ไทยเบฟเวอเรจมีหุ้นใน F&N รวมร้อยละ 24.1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่จะก้าวไปสู่การเป็นบรรษัทเครื่องดื่มระดับอาเซียนของไทยเบฟเวอเรจ

ขณะเดียวกัน F&N ยังมีสถานะเป็นหุ้นส่วนกับ Heineken International ในการก่อตั้ง Malayan Breweries ที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 1931 ในฐานะผู้ผลิตเบียร์ Tiger และต่อมาได้ครอบงำกิจการของ Archipelago Brewery ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ Anchor Beer ด้วย ก่อนที่ Malayan Breweries จะเปลี่ยนชื่อเป็น Asia Pacific Breweries ในปี 1990

ความเป็นไปของ Asia Pacific Brewery ในช่วง 1996-2004 ให้ภาพที่น่าสนใจไม่น้อยเมื่อการแข่งขันฟุตบอลของสมาพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (ASEAN Football Federation: AFF Championship) เริ่มขึ้นในปี 1996 ปรากฏชื่อการแข่งขันว่า “Tiger Cup” จากผลของการที่ Asia Pacific Brewery ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ Tiger อยู่ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งบทบาทดังกล่าวในด้านหนึ่งช่วยให้เกิดภาพจำและสร้างสถานะให้เบียร์ Tiger กลายเป็นเบียร์ของภูมิภาคหรือเป็น ASEAN Branding ได้ไม่น้อยเลย ก่อนที่จะยุติการสนับสนุนนี้ไปในปี 2004

การขยายตัวของไทยเบฟเวอเรจในการเข้าครอบกิจการของ F&N ซึ่งมีส่วนอยู่ใน Asia Pacific Brewery ในด้านหนึ่งอาจเป็นแรงกระตุ้นให้ Heineken ต้องปรับยุทธศาสตร์ในการประกอบธุรกิจในอาเซียน

หากแต่ภาพที่กว้างกว่านั้นก็คือ Heineken ต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันและอยู่รอดในเวทีระดับนานาชาติ ที่มีคู่แข่งขันหมายเลขหนึ่งในนาม Anheuser-Busch InBev (AB InBev) กำลังทิ้งห่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการควบรวมกิจการระหว่าง AB InBev และ SABMiller ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเบียร์อีกรายในเวลาต่อมา

Heineken บรรลุข้อตกลงที่มูลค่ารวมกว่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในการซื้อคืนหุ้นใน Asia Pacific Brewery ที่ถือครองอยู่โดย F&N ในเดือนสิงหาคม 2012 ซึ่งถือเป็นการปิดฉากความพยายามก้าวเดินบนหนทางลัดของไทยเบฟเวอเรจ ในการสถาปนาสถานภาพการเป็นผู้ผลิตเบียร์ระดับภูมิภาคผ่าน Asia Pacific Brewery ไปโดยปริยาย ก่อนที่ Heineken Asia Pacific จะเข้ามาแทนที่และสะท้อนบทบาทของ Heineken ในตลาดแห่งนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีก

นอกเหนือจากแบรนด์ Heineken ซึ่งถือเป็นต้นทางและธงนำในการทำตลาดควบคู่กับ Tiger Beer แล้ว Heineken Asia Pacific ยังมี Bintang Beer เบียร์ยอดนิยมในประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซีย และมีประวัติการณ์ผูกพันกับการเป็นอาณานิคมดัตช์ของอินโดนีเซีย รวมถึง Anchor Beer อีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของ Heineken ที่ดำเนินผ่านตลาดเบียร์ทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 ในขณะที่อเมริกาและยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ขณะที่จีนแม้ว่าจะมีสถานะเป็นตลาดขนาดใหญ่ หากแต่การเบียดแทรกเข้าไปแข่งขันกับเจ้าตลาดรายเดิมแบบ Tsingtao Brewery ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย การโฟกัสที่อาเซียน จึงเป็นทางเลือกที่พร้อมให้ Heineken ฝากอนาคตไว้ได้

แม้ว่า Heineken จะมีภาพลักษณ์เป็นเบียร์ในตลาดระดับบน และได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์สินค้าระดับนำในตลาดเบียร์หลักทั้ง 6 ประเทศของอาเซียน แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนการจำเริญเติบโตที่ Heineken ประสงค์จะมีและได้จากภูมิภาคนี้ โดยที่ผ่านมา Heineken พยายามขยายแนวรุกทางธุรกิจเข้าสู่ทั้งฟิลิปปินส์และเมียนมา เพื่อเบียดแทรกและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการประจำถิ่น ที่สะท้อนภาพความเป็นไปและความคาดหวังของ Heineken ที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้และวางอนาคตข้างหน้าไว้กับการเติบโตของอาเซียน

การแข่งขันช่วงชิงพื้นที่และบทบาทนำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยเฉพาะเบียร์ ในภูมิภาคอาเซียนในห้วงเวลานี้จึงเป็นประหนึ่ง ปฐมบท แห่งมหากาพย์ครั้งใหม่ ที่นอกจากจะมีผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นที่ครอบครองสภาพตลาดหลัก ๆ ในแต่ละประเทศไว้ได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังปรากฏการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับสากลที่ต่างนำเสนอผลิตภัณฑ์และวางตำแหน่งสินค้าเข้าประลองกำลังช่วงชิงส่วนแบ่งจากรสนิยมของนักดื่มที่ชื่นชอบความละเมียดละไมผ่านฟองเบียร์ อย่างต่อเนื่องและและหนักหน่วง

เป็นการเดิมพันและการแข่งขันที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดีกรีความเข้มข้นทางธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังต้องประกอบส่วนด้วยความละเมียดละไม และจังหวะก้าวที่เหมาะควรในการจัดวางสรรพกำลัง

ประเด็นปัญหานับจากนี้จึงอยู่ที่การประเมินว่า ผู้ประกอบการอย่างไทยเบฟเวอเรจจะสามารถจัดวางกรอบโครงความคิดในการแข่งขันในสมรภูมิระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายแห่งวิสัยทัศน์ 2020 นี้ได้อย่างสำเร็จผลมากน้อยเพียงใด.

ที่มา : gotomanager.com/content/สมรภูมิอาเซียน-ความท้าทายบนฟองเบียร์

]]>
1151592