จีนอนุมัติแผนพัฒนา “ดินแดนไวน์” ในประเทศภายใน 15 ปี แข่งขันกับฝรั่งเศส

Ningxia-Hui Vineyard
(photo : wineningxia.com)
รัฐบาลกลางของจีนอนุมัติแผนการพัฒนา “เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย” เป็นแหล่งผลิตไวน์หลักของโลกภายใน 15 ปี มุ่งเป้าแข่งขันกับ “บอร์โด” ของฝรั่งเศส โดยปัจจุบัน จีนยังอยู่ในลำดับ 10 ผู้ส่งออกไวน์มากที่สุดในโลก แต่เป็นกำลังซื้อสำคัญ ชาวจีนบริโภคไวน์เป็นอันดับ 6 ของโลก

เป้าหมายปี 2035 ของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ต้องการที่จะผลิตไวน์ให้ได้ปีละ 600 ล้านขวด คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 9.76 หมื่นล้านบาท) ตามแผนของรัฐบาลกลางที่อนุมัติไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2021

หนิงเซี่ยหุยนั้นเป็นพื้นที่เขตเทือกเขาเหอหลานและมีแม่น้ำหวงเหอไหลผ่าน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงปักกิ่ง โดยใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินจากปักกิ่งประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น สภาพภูมิประเทศและอากาศของที่นี่ใกล้เคียงกับบอร์โด แหล่งไวน์ชั้นเลิศของฝรั่งเศส

โรงกลั่นไวน์ Ningxia Changyu Moser XV

“หากเป้าหมายนี้สำเร็จ พื้นที่ตีนเขาทางตะวันออกของเขาเหอหลานจะได้เป็นแหล่งผลิตสำคัญระดับสากล ด้วยขนาดพื้นที่ที่ใหญ่เทียบเท่ากับบอร์โด” สุ่ยเผิงเฟย ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงเกษตรแห่งประเทศจีนกล่าว รายงานโดยสำนักข่าว CNBC

หนิงเซี่ยเป็นเพียงหนึ่งในแหล่งผลิตไวน์ที่มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศจีน แต่พื้นที่ตีนเขาทางตะวันออกของเขาเหอหลานนั้นเป็นจุดสำคัญ เพราะมีพันธุ์องุ่นที่ปลูกได้หลากหลายเทียบเท่ากับบอร์โด ฝรั่งเศส หรือนาปา วัลเลย์ ในสหรัฐฯ จนได้เป็นแหล่งผลิตหลักของไวน์จากแดนมังกร

เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกของปักกิ่ง ทางใต้ของมองโกเลีย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่จะเทียบชั้นฝรั่งเศสก็ยังห่างไกลนัก เพราะเมื่อปี 2020 บอร์โดสามารถผลิตไวน์ได้ปีละ 522 ล้านขวด คิดเป็นมูลค่า 3,500 ล้านยูโร (ประมาณ 1.31 แสนล้านบาท) นั่นทำให้หนิงเซี่ยจะไล่ตามทันได้ ต้องผลิตไวน์เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัวภายในเวลาเพียง 15 ปี

 

จีนยังส่งออกไวน์ต่ำมาก

แผนการพัฒนาไวน์ของจีนนั้นยังไม่ลงรายละเอียดภาคปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ได้วางโครงร่างไว้คร่าวๆ ว่าจะมีการพัฒนาองค์ความรู้การทำไวน์ท้องถิ่น และจะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของจีนเพื่อคงพื้นที่ให้เหมาะกับการทำไวน์ไปสู่ระดับโลก

เมื่อปีก่อน เขตหนิงเซี่ยมีการส่งออกไวน์คิดเป็นมูลค่า 2.65 ล้านหยวนเท่านั้น (ประมาณ 13 ล้านบาท) แต่ถือเป็นการเติบโตที่สูง โดยปรับเพิ่มขึ้น 46.4% เทียบกับปีก่อนหน้า มีฐานรับซื้อหลักคือสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปีก่อนบริษัท Xige Estate ซึ่งเป็นบริษัทในหนิงเซี่ยระบุว่าเริ่มมีการส่งออกไปแคนาดาแล้ว

ขณะนี้การส่งออกไวน์ของหนิงเซี่ยยังไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ยังผลิตบริโภคภายในประเทศ แม้กระทั่งบริษัท Xige ยังตั้งเป้าว่าจะเจาะตลาดจีนเป็นหลักก่อน คาดว่าในอนาคตจะมีการส่งออกเพียง 10-20% ของที่ผลิตได้

ไวน์จีนจาก Chateau Mihope ในหนิงเซี่ย

ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดผู้บริโภคไวน์อันดับ 6 ของโลก แต่ยังไม่ติดในลิสต์ Top 10 ผู้ส่งออกไวน์ แม้ว่าจะมีการผลิตมากเป็นอันดับ 10 ของโลก อ้างอิงข้อมูลจาก องค์กรองุ่นและไวน์นานาชาติ ที่ออกรายงานมาเมื่อเดือนเมษายน 2021

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ทั้งการบริโภคและการผลิตไวน์ของจีนกำลังลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้การผลิตลดลง จนอุตสาหกรรมไวน์จีนแข่งขันได้ต่ำลงเมื่อเทียบกับไวน์นำเข้า และในแง่การบริโภคเกิดจากการล็อกดาวน์ในช่วง COVID-19 ระบาด ยิ่งทำให้การบริโภคต่ำ

 

ต้องสู้กับ “เหล้าไป่จิ๋ว” ที่นิยมสูง

ไวน์ที่จีนนำเข้ามากที่สุดเมื่อปี 2020 นั้นมาจาก ออสเตรเลีย โดยมากกว่าการนำเข้าไวน์ฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อย แต่หลังจากจีนตั้งกำแพงภาษีกับออสเตรเลียเมื่อเดือนมีนาคม 2021 คาดว่าจะทำให้ไวน์ออสเตรเลียเข้ามาในตลาดลดลง

ผลกระทบนี้จะตกกับผู้ส่งออกไวน์นับพันรายของออสเตรเลียที่มีตลาดหลักคือประเทศจีน พวกเขาต่างเบนเข็มไปหาผู้ซื้อรายใหม่ในอังกฤษ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่คาดว่าไม่ใช่ทุกรายที่จะพยุงตัวเองได้ไหวระหว่างปรับตัว ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นผู้ส่งออกไวน์ฝรั่งเศสและชิลีที่จะได้ตีตลาดจีนมากขึ้น

นอกจากไวน์นำเข้าแล้ว ผู้ผลิตไวน์จีนสำหรับตลาดในประเทศยังมีคู่แข่งสำคัญอีกรายคือ “เหล้าไป่จิ๋ว” เหล้าท้องถิ่นที่นิยมสูงมากในแดนมังกร ถึงขนาดถูกเรียกขานว่าเป็นเสมือนไวน์แห่งประเทศจีน เพราะเหล้าไป่จิ๋วจะถูกตั้งไว้ตามโต๊ะจัดเลี้ยงมื้อสำคัญ โดยผู้ผลิตไป่จิ๋วที่ดังที่สุดคือ “เหมาไถ”

สุ่ยเผิงเฟยแห่งกระทรวงเกษตรจีนมองว่า ไวน์จีนจะเป็นที่นิยมในประเทศมากกว่านี้ได้ ก็ต่อเมื่อสามารถทำราคาได้ถูกใกล้เคียงกับเหล้าไป่จิ๋วทั่วๆ ไปที่สามารถหาซื้อได้ในราคาขวดละ 40 หยวน (ประมาณ 195 บาท) จะทำให้ผู้บริโภคสนใจมากขึ้น

Source