ETDA – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 20 May 2022 04:42:56 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คุยเรื่อง “ไบโอเมตริก” กับ ETDA เทคโนโลยี “ยืนยันตัวตน” ที่ช่วยพัฒนาประเทศให้สะดวกปลอดภัย https://positioningmag.com/1386067 Fri, 20 May 2022 04:00:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1386067

การใช้งาน “ไบโอเมตริก” เพื่อพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลกำลังแพร่หลายมากขึ้นด้วยอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ทันสมัยในราคาที่ถูกลง หน่วยราชการไทยเองมีการนำมาใช้แล้วในหลายกิจกรรม เช่น การทำพาสปอร์ต การยืนยันตัวตนแรงงานประมง และยังกำหนดเป็นการดำเนินงานในแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564-2565 เกี่ยวกับการผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ “Digital ID” ทำให้ ETDA เข้ามาสนับสนุนจัดทำมาตรฐานอุปกรณ์-ซอฟต์แวร์ไบโอเมตริก และร่วมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้ด้วยตนเอง

เทคโนโลยีชีวมิติ หรือ “ไบโอเมตริก” (Biometrics Technology) อาจจะฟังดูเป็นคำใหม่ที่ไม่คุ้นชิน แต่จริงๆ เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของคนไทยมานานนับตั้งแต่ไทยมีการเก็บข้อมูล “ลายนิ้วมือ” ของประชาชนด้วยหมึกพิมพ์ลงบนกระดาษ หรือเอกสารยืนยันต่างๆ ใช้วิธีลง “ลายเซ็น” เป็นหลักฐาน เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีชีวมิติ เพราะใช้ “ข้อมูลชีวภาพ” ที่คนคนหนึ่งจะมีไม่ซ้ำกับผู้อื่นเพื่อพิสูจน์ตัวตนของบุคคลนั้น

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยที่เทคโนโลยีพัฒนาดีขึ้น ทำให้การยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกสามารถใช้อุปกรณ์และซอฟต์แวร์มาแทนที่ดุลยพินิจของมนุษย์ การยืนยันตัวตนบุคคลแม่นยำและรวดเร็วกว่าเดิมมากด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ ปลดล็อกความเป็นไปได้ที่จะนำไบโอเมตริกไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย

เราจึงไปพูดคุยกับ “ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อให้เห็นภาพการใช้งานไบโอเมตริกในไทย และโอกาสการพัฒนาในอนาคต รวมถึงบทบาทของ ETDA ในการเข้ามาวางมาตรฐานการใช้งาน และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้านเทคโนโลยีไบโอเมตริก


“ไบโอเมตริก” คืออะไร?

ดร.ศักดิ์อธิบายโดยสังเขปว่า เทคโนโลยีชีวมิติ หรือ ไบโอเมตริก คือการพิสูจน์ตัวตนบุคคลด้วย “ข้อมูลชีวภาพ” ของบุคคลนั้น ซึ่งข้อมูลชีวภาพคือสิ่งที่แต่ละบุคคลมีไม่ซ้ำกันหรือซ้ำกันได้ยาก เช่น ใบหน้า ลายนิ้วมือ ม่านตา เสียง ลายเซ็น ท่าเดิน ดีเอ็นเอ

เมื่อสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ ก็นำมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมได้หลายอย่างที่ต้องการรู้ว่า ‘คนคนนั้นคือใคร’ เช่น การผ่านเข้าออกอาคารหรือพื้นที่เฉพาะ การทำเอกสารสำคัญ การพิสูจน์ตัวตนคนร้าย การติดตามตัวบุคคลในที่สาธารณะ

การจะนำไปใช้ทำกิจกรรมอะไร คือ โจทย์ที่กำหนดว่า การใช้ข้อมูลชีวภาพส่วนใดของมนุษย์มาพิสูจน์ตัวตนจึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะการพิสูจน์ข้อมูลชีวภาพแต่ละส่วนใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่ต่างกัน ค่าใช้จ่ายต่างกัน และให้ความแม่นยำในระดับที่แตกต่างกันด้วย

ดร.ศักดิ์อธิบายว่า ปัจจุบันข้อมูลชีวภาพที่นิยมใช้มากที่สุดคือ “ใบหน้า” รองลงมาคือ “ลายนิ้วมือ” ตามด้วย “ม่านตา” ซึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ในการสแกนใบหน้ามีราคาถูกที่สุด แม้แต่ในสมาร์ทโฟนปัจจุบันก็สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ใบหน้าเป็นระบบที่ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้พิสูจน์ตัวตนคลาดเคลื่อนได้ เช่น ฝาแฝดที่ใบหน้าคล้ายกัน บุคคลที่ทำศัลยกรรมหลายจุดจนอัตราส่วนใบหน้าเปลี่ยนไป หรือกระทั่งสภาพแวดล้อมการใช้งานก็ต้องการแสงที่เพียงพอ ทำให้ระบบที่ถูกที่สุดอย่างใบหน้าไม่ใช่คำตอบของทุกกิจกรรม บางกิจกรรมที่ไม่ต้องการความแม่นยำสูงสุด เช่น การเข้าออกสำนักงาน อาจจะใช้การสแกนใบหน้าได้ แต่ถ้าหากเป็นการยืนยันตัวคนร้ายของตำรวจ อาจจะต้องใช้ทั้งใบหน้าและลายนิ้วมือ เพราะลายนิ้วมือเป็นสิ่งที่มีโอกาสซ้ำกับผู้อื่นครบทั้งสิบนิ้วยากมาก


เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยให้กับประชาชน

เทคโนโลยีชีวมิติที่ใช้อุปกรณ์สมัยใหม่และใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการนั้น เริ่มนำมาใช้แล้วในบางกิจกรรมของไทย เช่น หนังสือเดินทาง มีการถ่ายภาพและพิมพ์นิ้วมือไว้ เมื่อเราเดินทางเข้าออกประเทศจึงสามารถใช้เครื่องสแกนอัตโนมัติตรวจสอบได้ หรือล่าสุดเมื่อไทยต้อง ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงถูกกฎหมาย ก็มีการนำระบบสแกนม่านตามาใช้งาน ซึ่งเหตุที่ต้องใช้ม่านตาเพราะแรงงานประมงมักไม่เหลือลายนิ้วมือเนื่องจากการทำงานหนัก เป็นอีกกรณีที่ทำให้เห็นว่าบริบทของการนำไปใช้มีความสำคัญต่อการเลือกข้อมูลชีวภาพที่จะใช้งาน

อีกโครงการที่ประเทศไทยโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กำลังเป็นแม่งานจัดทำคือ ระบบ “Digital ID” เป้าหมายของโครงการนี้คือ ให้ประชาชนพิสูจน์ตัวตนด้วยระบบไบโอเมตริกในสมาร์ทโฟนของตนเอง ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปสถานที่ราชการเพื่อติดต่อธุรกรรมต่างๆ เช่น ย้ายทะเบียนบ้าน โอนบ้าน-ที่ดิน เพราะระบบสามารถตรวจสอบตัวตนจริงของผู้ยื่นคำร้องได้ผ่านการสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือบนมือถือแล้ว

ดร.ศักดิ์ ยังกล่าวถึงอนาคตด้วยว่า หากระบบ Digital ID ทำสำเร็จและใช้กันอย่างแพร่หลาย จะทำให้บริการอื่นๆ สามารถใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการทำงานได้ เช่น ระบบ Telemedicine (พบแพทย์ทางไกล) จะยืนยันตัวตนได้ว่าเป็นคนไข้ตัวจริง และเป็นแพทย์ตัวจริง สร้างความอุ่นใจให้ผู้ใช้บริการ

ขณะที่ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในต่างประเทศ ดร.ศักดิ์ยกตัวอย่าง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งมีระบบรู้จำใบหน้า (Facial Recognition) ร่วมกับเครือข่ายกล้อง CCTV ที่แข็งแกร่ง จากประชากรที่มีถึงกว่า 1,400 ล้านคน แต่ระบบซอฟต์แวร์ของจีนสามารถสแกนใบหน้าประชาชนและตรวจสอบจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่นี้ได้ภายใน 15 นาทีเพื่อหาว่าคนผู้นั้นเป็นใคร ซึ่งทำให้การติดตามคนร้ายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับประเทศ


ช่องโหว่ของ “ไบโอเมตริก”

โดยหลักการแล้ว ดร.ศักดิ์ มองว่าการใช้เทคโนโลยีไบโอเมตริกแทนการตรวจสอบโดยมนุษย์ จะมีความแม่นยำมากกว่าและรวดเร็วกว่า เพราะเลี่ยงการใช้อคติส่วนตัวของมนุษย์ที่อาจก่อให้เกิดความผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์เบื้องหลังของเทคโนโลยีนี้ต้องใช้ระบบ AI และ แมชชีน เลิร์นนิ่ง และผู้ที่ป้อนข้อมูลตั้งต้นให้ AI ก็คือมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิด ‘ช่องโหว่’ มาตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกามีซอฟต์แวร์สแกนใบหน้าหลายบริษัทที่เผชิญปัญหา “อคติเหยียดสีผิว” ซอฟต์แวร์ไม่สามารถแยกความต่างของใบหน้าคนแอฟริกันอเมริกันได้ เพราะข้อมูลตั้งต้นที่ AI ได้รับมาใช้เป็นพื้นฐานนั้นส่วนใหญ่เป็นภาพคนอเมริกันผิวขาว

อีกกรณีที่คล้ายกันในออสเตรเลีย พบว่าซอฟต์แวร์สแกนใบหน้าไม่รู้จักใบหน้าตาชั้นเดียวแบบคนเอเชีย และออกคำสั่งให้คนเอเชีย ‘ลืมตาเพื่อถ่ายภาพ’ กลายเป็นการเหยียดเชื้อชาติโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากผู้ดูแลระบบ AI ลืมคิดถึงความหลากหลายด้านเชื้อชาติ

เหล่านี้คือสิ่งที่ ดร.ศักดิ์ มองว่าวงการไบโอเมตริกจะต้องใช้ความระมัดระวังในการพัฒนาเครื่องมือและซอฟต์แวร์ ขณะที่ผู้นำไบโอเมตริกไปใช้ต้องระวังเรื่องการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล และการนำไปใช้ในทางที่ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย


มาตรฐานไบโอเมตริกที่แนะนำจาก ETDA

สำหรับความเกี่ยวข้องของ ETDA ต่อเทคโนโลยีไบโอเมตริก ดร.ศักดิ์ระบุว่า ล่าสุด ETDA ร่วมกับ      ม.เกษตรศาสตร์ ได้ริเริ่มจัดทำ “(ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน” ข้อเสนอชิ้นนี้จะครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีชีวมิติ การจัดเก็บข้อมูลอย่างเหมาะสม จนถึงข้อแนะนำการประยุกต์ใช้

แต่ส่วนที่เป็นไฮไลต์ของร่างข้อเสนอแนะนี้คือ การเสนอมาตรฐานอุปกรณ์และซอฟต์แวร์เทคโนโลยีไบโอเมตริกว่าควรจะแม่นยำแค่ไหน จึงจะถือว่านำมาใช้งานได้จริง

โดยเรื่องนี้ ETDA จะร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบไบโอเมตริก” ขึ้น เพื่อใช้เป็นหน่วยงานกลางในการทดสอบเทคโนโลยีว่ามีความแม่นยำกับข้อมูลชีวภาพของคนไทยหรือไม่ เริ่มต้นจากการพิสูจน์ตัวตนด้วย “ใบหน้า” ก่อนเป็นส่วนแรก ซึ่ง ดร.ศักดิ์ คาดว่าจะเริ่มการทดสอบได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565

นอกจากการจัดทำมาตรฐานแล้ว ดร.ศักดิ์กล่าวว่า ETDA มีหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้คิดค้นวิจัยเทคโนโลยีไบโอเมตริกของตนเองด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีนี้นับว่าเกี่ยวพันกับข้อมูลอ่อนไหวของประชากร ถ้าหากว่าประเทศไทยต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น อาจจะสะเทือนต่อความมั่นคงของชาติได้!

]]>
1386067
ผิดคาด! อีคอมเมิร์ซปี 63 หดตัวกว่า 6% เหลือ 3.78 ล้านล้าน เหตุยอดจองที่พักหายกว่าครึ่ง https://positioningmag.com/1356727 Fri, 15 Oct 2021 06:54:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356727 ในปี 2020 ที่การระบาดของ COVID-19 เริ่มระบาดใหม่ ๆ ทำให้ผู้คนต้องอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น กิจกรรมต่าง ๆ จึงเทมาทางออนไลน์โดยเฉพาะการซื้อของต่าง ๆ ทำให้หลายคนคาดว่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตกว่าปี 2019 แต่จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า)​ พบว่าตลาดกลับหดตัว

ค้าปลีกโต แต่ที่พักหายเกือบครึ่ง

ปี 2020 มูลค่าอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลง -6.68% จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท เพราะถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่เพราะการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงมาตรการ Work from Home ได้สร้างผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก

สำหรับมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่มีสัดส่วนรายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่

  • อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,434,663.54 ล้านบาท (47.70%) +8.70%
  • อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า 463,784.88 ล้านบาท (15.42%) -51.41%
  • อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 460,36 ล้านบาท (15.30%) -5.02%

B2B ลด เพราะ ขายตรง ผู้บริโภค

มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2563 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท (57.39%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 0.84 ล้านล้านบาท (22.14%) และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท (20.47%) โดยสาเหตุที่ยอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการกลุ่ม B2B ลดลงเป็นอย่างมากในปีนี้ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการปรับตัวโดย ขายสินค้าและบริการกับผู้บริโภคโดยตรง (Direct to Customer)

ในส่วนของช่องทางการขายที่มีสุดส่วนมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ e-Tailer (39.5%) หรือการสร้างหน้าร้านบนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอป ตามด้วย Social Commerce (21.79%), ระบบ EDI (ระบบการแลกเปลี่ยนเอกสารทางธุรกิจระหว่างบริษัทคู่ค้า) (15.49%), e-Marketplace (13.24%), แพลตฟอร์ม OTA (online travel agent) (5.54%) และ อื่น ๆ (4.40%)

“ในช่วงโควิดการไป B2B มันยากมาก ผู้ประกอบการเลยต้องปรับตัวขายตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น จะเห็นว่าส่วนที่เติบโตสูงคือ e-Tailer โดยกลายเป็นสัดส่วนการขายมากที่สุด ส่วนโซเชียลคอมเมิร์ซก็สะท้อนภาพการเติบโตของ C2C”

64 ฟื้นไม่เท่า 62

มูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ หลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาด โดยมีมูลค่า 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.11% จากปี 2563 อย่างไรก็ตาม จะยังไม่สามารถแตะถึงระดับเดียวกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมปี 2560 ถึง 2564 อยู่ที่ 9.79%

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยยังคงครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกัน 6 ปีซ้อน โดยมีมูลค่า 55.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาเป็น มาเลเซีย 46.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อินโดนีเซีย 17.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนาม 10.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิงคโปร์ 2.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Facebook ใช้ทำการตลาดเยอะสุด

อันดับแรกของสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ Facebook ครองตำแหน่งแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานมากที่สุดจากทั้ง SME และ องค์กรขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญอันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

  • การเติบโตของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing โดยเฉพาะการส่งอาหารและการสินค้าอุปโภคบริโภค
  • การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น
  • กลยุทธ์การส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของแพลตฟอร์ม e-Marketplace ทั้งแคมเปญโปรโมชัน ส่วนลด จัดส่งฟรี รวมทั้งการใช้ข้อมูลลูกค้าบนแพลตฟอร์มให้เป็นประโยชน์
  • การขยายบริการใหม่ ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้า (Logistics) แบบครบวงจร รวมถึงบริการเกี่ยวกับคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfilment)

]]>
1356727
วาเลนไทน์ Gen X จ่ายหนักสุด! 51% ซื้อของออนไลน์ให้คนรัก “เสื้อผ้า” มาแรงกว่าดอกไม้ https://positioningmag.com/1264310 Thu, 13 Feb 2020 10:06:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264310 ETDA สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายออนไลน์ของคนไทยช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2563 พบประชาชน 51% เลือกซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเป็นของขวัญยอดฮิต ส่วนกลุ่มที่จ่ายหนักมากที่สุดคือ “ผู้หญิง” และ “Gen X” วัย 39-54 ปี

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ของคนไทยในช่วง Valentine’s Day ปี 2563” ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามทั้งหมด 573 คน

จากการวิเคราะห์ผลสำรวจ พบไฮไลต์ที่น่าสนใจคือ ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง หรือ 51% ระบุว่า จะซื้อของขวัญหรือใช้บริการออนไลน์ ในช่วงวันวาเลนไทน์ปีนี้

โดยกลุ่มสินค้าที่จะเลือกซื้อมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ เครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รองลงมาคือ ดอกไม้ และสุดท้ายคือเครื่องประดับ ขณะที่บริการออนไลน์ 3 อันดับแรก ที่คู่รักระบุจะเลือกใช้มากสุด ได้แก่ รับ-ส่งสินค้าหรือพัสดุ รองลงมาคือ บริการสั่งอาหาร และสุดท้ายคือจองที่พัก โรงแรม

นอกจากนี้ ETDA ยังพบว่า ช่วงวันวาเลนไทน์นี้ คนมีคู่จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าคนโสดถึง 45% โดยคนมีคู่จะมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,199 บาท ขณะที่คนโสดมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 828 บาท

ส่วนคนรัก Gen ไหนสายเปย์…ตัวจริงนั้น จากผลการสำรวจพบว่า

  • คนรักในกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี) ใช้จ่ายหนักสุด มียอดการใช้จ่ายออนไลน์ เฉลี่ย 1,585 บาท โดยของขวัญที่นิยมเลือกซื้อมากที่สุดคือ เสื้อผ้า กระเป๋า
  • คนรักในกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55-73 ปี) มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 1,156 บาท ของขวัญที่นิยมเลือกซื้อมากที่สุดคือ ดอกไม้
  • คนรัก Gen Y (อายุ 19-38 ปี) มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 1,225 บาท ของขวัญที่นิยมเลือกซื้อมากที่สุด คือ เสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้า
  • คนรักในกลุ่ม Gen Z (อายุต่ำกว่า 19 ปี) มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 387 บาท และของขวัญที่นิยมเลือกซื้อมากที่สุด คือ เสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้า

ส่วนเพศไหนใช้จ่ายมากที่สุด พบว่าคือ เพศหญิง ใช้จ่ายผ่านออนไลน์เพื่อวันแห่งความรัก เฉลี่ย 1,343 บาท รองลงมาคือ เพศชาย ใช้จ่ายเฉลี่ย 916 บาท และท้ายที่สุดคือ เพศทางเลือก ใช้จ่ายเฉลี่ย 700 บาท ตามลำดับ

]]>
1264310
อีคอมเมิร์ซยุคนี้ต้อง ‘บิ๊กดาต้า-เอไอ’ ถึงเอาอยู่ https://positioningmag.com/1211934 Sun, 03 Feb 2019 13:12:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1211934 ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยเพิ่มขึ้น “4 เท่า” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 9.3 ล้านคน ในปี 2551 พุ่งมาขึ้นมาที่ 45 ล้านคนในสิ้นปี 2561 ด้วยตัวเลขนี้ได้เปลี่ยน “สนามการแข่งขัน” รวมทั้งเทคโนโลยีและเครื่องมือการทำตลาด เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่

ข้อมูลสรุปสถิติธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ปี 2561 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA รายงานมูลค่าอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 14% ปีนี้ประเมินยังไปได้ต่อด้วยการเติบโต 20% สร้าง “นิวไฮ” ต่อเนื่อง

ปัจจัยการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุค รวมทั้งการพัฒนาของเครื่องมือสื่อสารการทำตลาด และจำนวนคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยราคาการใช้งานที่ถูกลง ล้วนส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีโอกาสเติบโต ทั้งจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่อีคอมเมิร์ซ B2C (Business to Consumer) เติบโตเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปัจจัยจำนวนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และอีมาร์เก็ตเพลสเพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีระบบอีเพย์เมนต์ที่สะดวก การขนส่งรวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

ปี 2561 พบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทย กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ (ธุรกิจที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท) มีมูลค่า 1.97 ล้านล้านบาท เติบโต 8.70% ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอี (รายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท) มีมูลค่า 6.07 แสนล้านบาท เติบโต 20.39%

กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ มีการใช้เครื่องมือสื่อสารการตลาดสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยมูลค่าที่แตกต่างกัน

  • น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท 46.15%
  • น้อยกว่า 6 ล้านบาท 23.07%
  • น้อยกว่า 12 ล้านบาท 7.69%
  • น้อยกว่า 120 ล้านบาท 15.38%
  • มากกว่า 120 ล้านบาท 7.69%

ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโฟกัสทำการตลาดผ่านช่องทาง ออนไลน์ 69.92% และ ออฟไลน์ 30.08% แพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยม คือ เฟซบุ๊ก 93.94% จากการ Boost Post และ Boost Ads เพื่อเข้าถึงลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ชูบิ๊กดาต้านำเสนอสินค้าใหม่

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ด้วยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซขนาด 3.2 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และปี 2562 ยังเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% หรือมูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท ทั้งจำนวนผู้ค้าออนไลน์ และนักช้อปออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น จากผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไทยกว่า 45 ล้านคน

เทรนด์การทำตลาดอีคอมเมิร์ซหลังจากนี้ จะเห็นการนำข้อมูล หรือ Big Data มาพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่พบว่าใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ 100% , ใช้เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอย่างแม่นยำและการวางแผนด้านการตลาด 92.85% และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม กำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้า 85.71%

กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ใช้งบประมาณสำหรับการทำบิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์ดาต้า (Data Analytics) ด้วยงบประมาณ 10-50 ล้านบาทต่อปี มีสัดส่วนถึง 30.76%

ได้เวลา AI ลุยอีคอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์มีการใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาช่วยดำเนินธุรกิจด้านการบริหารและจัดการบริหารลูกค้าแล้ว 76.93% และกลุ่มที่ยังไม่มีการพัฒนาด้าน AI 23.07%

ในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้งาน ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนา AI ต่อปีมีสัดส่วนต่างกัน โดยกลุ่มที่ใช้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท อยู่ที่ 38.46% งบประมาณ 1-5 ล้านบาท 23.07% งบประมาณ 5-10 ล้านบาท 7.69% และงบประมาณ 10-50 ล้านบาท 7.69%

วัตถุประสงค์การใช้งาน AI ในการพัฒนาสินค้าและบริการของกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ 

  • ช่วยให้บริการ เช่น Chatbot, CRM เพื่อให้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว 69.23%
  • ใช้ในด้านอื่นๆ เช่น Claim Analytics, Underwriting, Notification 23.07%
  • วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อตัดสินใจซื้อ 15.38%
  • ช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร 15.38%
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์ 7.69%

อีคอมเมิร์ซไทยไปนอก

ไม่เพียงแต่ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเท่านั้นที่ผู้ประกอบการสามารถหาโอกาสทำเงินได้ เพราะสินค้าไทยเป็นที่ต้องการให้ตลาดต่างประเทศเช่นกัน เพราะวันนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ “อีมาร์เก็ตเพลส” สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วโลก   

เมื่อวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลก และสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

• เวียดนาม

ชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก ที่ผ่านมาการค้าไทยไปเวียดนามเติบโตเพิ่มขึ้น 12% ทุกปี การส่งออกสินค้าไทยไปเวียดนามวางเป้าหมายปี 2563 มูลค่าการค้า 2 หมื่นล้านดอลลาร์

• อินโดนีเซีย 

นิยมสินค้าไทยหลายประเภท ยอดสั่งซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซ อันดับต้นๆ เช่น ผัดไทยสำเร็จรูป, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ปลาหมึกอบ, สแน็กถั่วลิสง, นมอัดเม็ด

• อินเดีย

สินค้าที่นิยมสั่งซื้อจากไทยอันดับต้นๆ คือ สินค้าที่เกี่ยวกับการปรุงอาหารไทย, เครื่องสำอาง, สินค้าสปา และน้ำมันเหลือง หรือน้ำมันทาแก้ปวดเมื่อย

• จีน

ชอบเครื่องสำอาง สมุนไพร เสื้อผ้าและกระเป๋า และอาหารสด

ปัจจุบัน ETDA ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์และเอสเอ็มอี ทำตลาดอีคอมเมิร์ซในตลาดต่างประเทศ ด้วยการใช้แพลตฟอร์มท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เช่น ในจีน ใช้ TMall , Alibaba, VIP.com , JD.com รวมทั้งการใช้ระบบขนส่งสินค้า B2C ผ่าน โกลบอล แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อช่วงชิงโอกาสจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวทั่วโลก.


ข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1211934