Mattel – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 31 Jul 2023 03:37:45 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Greta Gerwig ผู้กำกับหนัง Barbie ที่ชำแหละ Mattel ในภาพยนตร์ของ Mattel เอง https://positioningmag.com/1439315 Sun, 30 Jul 2023 13:11:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439315 ภาพยนตร์เรื่อง “บาร์บี้” (Barbie) ที่กำกับโดย “เกรตา เกอร์วิก” (Greta Gerwig) นั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยการทำลายสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศในกลุ่มหนังจากผู้กำกับหญิงในช่วงสุดสัปดาห์ที่เปิดตัวตลอดครึ่งแรกปี 2023 ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้น่าประทับใจถึง 162 ล้านเหรียญสหรัฐจากการขายตั๋วในอเมริกาเหนือ ซึ่งแซงหน้าสถิติเปิดตัวในช่วงสุดสัปดาห์ของ “Captain Marvel” และ “Wonder Woman”

สิ่งที่ทำให้ความสำเร็จของ “Barbie” โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีกก็คือผู้ชมเป็นผู้หญิงถึง 65% ซึ่งท้าทายความเชื่อทั่วไปที่ว่าภาพยนตร์ที่มีการเปิดตัวมากกว่า 100 ล้านเหรียญมักมีผู้ชมส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นก้าวไปสู่การจดจำ และส่งเสริมภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์ที่ตอบสนองผู้ชมที่เป็นผู้หญิง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์เปิดตัวในเดือนกรกฎาคมที่ใหญ่เป็นอันดับสามรองจาก “The Lion King” และ “Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 2” นอกจากนี้ “Barbie” ยังแซงหน้ารายได้ในประเทศ ของภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าของ Greta Gerwig อย่าง “Little Women” และ “Lady Bird” ได้ภายในสุดสัปดาห์เดียว คาดว่า Barbie อาจทำรายได้แซงหน้าภาพยนตร์ชั้นนำเรื่องอื่นที่กำกับโดยผู้หญิง เช่น “Frozen II” และ “Captain Marvel” ด้วย

barbie

ในมุมของแบรนด์ นักการตลาดมองว่าเกอร์วิกสร้างภาพยนตร์เรื่อง Barbie โดยใช้แนวทางใหม่ในการแยกโครงสร้างหรือ deconstruct สินค้าที่เป็นตุ๊กตาของเล่นอันโด่งดังระดับโลก และยังสำรวจปัญหาที่ซับซ้อนของ Barbie ด้วยการผสมผสานโลกความจริงและวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การแยกส่วนชำแหละรอบนี้ไม่เหมือนภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าของเกอร์วิกที่เน้นความเป็นจริงอันโหดร้ายของการเป็นผู้หญิงในโลกสมัยใหม่และตั้งคำถามต่อแบบแผนทางสังคมเท่านั้น เพราะ Barbie เปิดโอกาสให้เกอร์วิกได้เจาะลึกเข้าไปในความขัดแย้งและความซับซ้อนของชีวิต

ที่สำคัญ เกอร์วิกยังสามารถวิจารณ์ “แมทเทล” (Mattel) บริษัทของเล่นต้นสังกัดของ Barbie ในภาพยนตร์ของ Mattel เอง เนื้อหาหลายประเด็นถูกนำมาเล่นอย่างลงตัวจนกลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากสำหรับแบรนด์ที่ต้องการเสริมภาพความเท่าเทียมในปัจจุบัน

(เนื้อหาในช่วงต่อไปนี้อาจมีสปอยล์ (spoiler) ซึ่งเป็นข้อความที่มีการอธิบายเนื้อหาของภาพยนตร์)

แยกส่วนโลก Barbie

จินตนาการของภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงความเป็นไปในบาร์บี้แลนด์ สาว Barbie (รับบทโดย มาร์โกต์ ร็อบบี้) เป็นบาร์บี้รุ่นยอดนิยมที่โดดเด่นและสวยที่สุดในบาร์บี้แลนด์ บาร์บี้มีแฟนหนุ่มอย่างเคน (รับบทโดย ไรอัน กอสลิ่ง) ติดตามไปทุกที่ และชีวิตของบาร์บี้ในบาร์แลนด์ก็วนซ้ำแบบเดิมไปเรื่อยจนกระทั่งวันที่ Barbie นึกถึงความตาย ส่งผลให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปเมื่อไม่ได้เห็นว่าตัวเองเพอร์เฟกต์เหมือนเคย

ทางเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมได้คือ Barbie ต้องออกเดินทางไปยังโลกแห่งความจริง เพื่อตามหาเด็กสาวที่เล่นกับตุ๊กตา Barbie เส้นเรื่องนี้เชื่อมโยงองค์ประกอบมากมายในระบบนิเวศของสินค้า Barbie ตั้งแต่เด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่เล่นตุ๊กตา ไปจนถึงคุณพ่อวัยกลางคนที่ทำให้เกิดเป็นซีนที่เสียดสีวัฒนธรรมป๊อป ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กระตุ้นอารมณ์ สร้างเสียงหัวเราะและความเพลิดเพลินโดยที่ท้าทายความคาดหวังของสังคมได้ด้วย

กระบวนการแยกส่วน Barbie ของเกอร์วิก เริ่มจากการนำเสนอภาพจำว่าตุ๊กตา Barbie เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบ จากนั้นจึงเติมส่วนผสมเรื่องทุกคนควรได้รับอนุญาตให้ยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง

barbie

ถึงตรงนี้ ข้อมูลมากมายระบุว่าในระหว่างการผลิตภาพยนตร์ Mattel เจ้าของแบรนด์ตุ๊กตาบาร์บี้ได้แสดงความกังวลและข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิธีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดการกับคำวิจารณ์ที่แบรนด์เผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม เกอร์วิกได้รับไฟเขียวให้ทำตามการตัดสินใจของเธอ

ในอีกด้าน เกอร์วิกหันไปเจาะลึกถึงตัวละครอย่างเคน แฟนหนุ่มของบาร์บี้ที่เปิดตัวในปี 1961 ซึ่งถูกมองว่าเป็นความคิดยุคหลังโลกแห่งความจริง ด้วยบทบาทที่น่าสนใจของเคนในภาพยนตร์ เมื่อรวมกับการใช้เพลงและการเต้นตามสไตล์เวทีดนตรีในยุค 1950 ไปจนถึงช่วงเวลาที่จริงจังผ่านการปราศรัยอันเร่าร้อน เกี่ยวกับความคาดหวังที่ไม่เป็นจริงที่มีต่อผู้หญิงในแง่ของรูปร่างหน้าตา อาชีพการงาน และความรับผิดชอบในบ้าน ทั้งหมดนี้ถูกนำมาแยกส่วนโครงสร้าง แล้วสะท้อนกลับมาให้ผู้ชมได้เข้าใจระบบนิเวศที่หลอมรวมเป็นโลกของ “ตุ๊กตาบาร์บี้” ที่ทุกคนคุ้นเคยมานานหลายสิบปีได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

Mattel ถูกวิจารณ์ว่าอะไรบ้าง

ในภาพยนตร์เรื่อง Barbie เกอร์วิกวิจารณ์ Mattel ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Barbie อย่างแนบเนียน และกล่าวถึงประเด็นปัญหาที่ฝังแน่นอยู่ในผลกระทบทางวัฒนธรรมของ Barbie ได้ตรงไปตรงมา

เกอร์วิกตั้งใจให้ภาพยนตร์นี้เปิดเรื่องด้วยเสียงพากย์ที่เน้น ว่าเด็กหญิงตัวเล็กจิ๋วนั้นถูกสอนให้ประพฤติตัวเหมือนเป็น “คุณแม่ตัวน้อย” ผ่านความหลงใหลในตุ๊กตา ซึ่งเผยให้เห็นบทบาทของ Mattel ในการสร้างพฤติกรรมของคนในสังคม นอกจากนี้ อีกหนึ่งในแง่มุมที่น่าสนุกแต่น่าขนลุกไปด้วย คือการกล่าวถึงตุ๊กตาบาร์บี้ที่เลิกผลิตแล้ว และยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่

barbie

การวิจารณ์ Mattel ของเกอร์วิกนั้นเกิดขึ้นจากการรวบรวมกรณีตัวอย่างในชีวิตจริงอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการตัดสินใจ “ทำการตลาดของเล่น” ของ Mattel ซึ่งตีความเรื่องเพศในของเล่นเด็ก จนสะท้อนความเจ้าเล่ห์ของ Mattel ได้ชัด

ขณะเดียวกัน เกอร์วิกยังขยี้ประเด็นเรื่องการไม่มีผู้หญิงมาร่วมนั่งเก้าอี้บริหารที่ Mattel ทั้งที่ Mattel เป็นบริษัทที่ทำการตลาดของเล่นให้กับเด็กผู้หญิงเป็นหลัก คำวิจารณ์นี้โจ่งแจ้งในภาพยนตร์ของ Mattel เอง ผ่านพล็อตเรื่องและสัญลักษณ์ของภาพยนตร์ที่เน้นย้ำถึงความไม่สมดุลในการนำเสนอเรื่องเพศของ Mattel เห็นได้ชัดเมื่อ Barbie รู้สึกสับสนเมื่อเธอเห็นว่าไซต์ก่อสร้างในโลกความจริงนั้นมีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่

บทพูดของ “กลอเรีย” (Gloria รับบทโดย America Ferrera) ผู้ทำงานที่บริษัท Mattel ยังสะท้อนว่าผู้หญิงต้องเผชิญกับมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การตอบรับพฤติกรรมของผู้ชาย การต้องสวยแต่ต้องไม่สวยเกินไป และการ “ดูเด็ก” อยู่เสมอ

ทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนผลกระทบทางวัฒนธรรมที่เกิดจากฝีมือของ Mattel ผ่านภาพยนตร์ของ Mattel เอง ด้วยอารมณ์ขัน การเสียดสี และการวิจารณ์ที่ลึกซึ้งของ Greta Gerwig

ที่มา: Apnews, Movieweb, Wbur

]]>
1439315
หนังฉายช้าไปหน่อย! กำไร ‘Mattel’ บริษัทผู้ผลิต ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ ใน Q2 ลดลง 59% https://positioningmag.com/1439338 Sun, 30 Jul 2023 10:57:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439338 ตุ๊กตา บาร์บี้ (Barbie) ถือเป็นหนึ่งในของเล่นที่ครองใจสาว ๆ ทั่วโลกมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงปี 1950 จวบจนมาถึงปัจจุบัน โดยผู้ให้กำเนิดตุ๊กตาบาร์บี้ก็คือ แมทเทล (Mattel) และในปีนี้ ภาพยนตร์เรื่องบาร์บี้ที่ฉายไปตั้งเเต่วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ทำรายได้ถล่มทลาย กลับกัน ยอดขายของบาร์บี้ใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมากลับไม่ปังเท่าที่ควร

Mattel ผู้ผลิตของเล่นชาวอเมริกันรายงานว่าผลประกอบการช่วง Q2/2023 ว่า รายได้ลดลง 12% ปิดที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.75 หมื่นล้านบาท) ส่วนกำไรลดถึง 59% อยู่ที่ 27.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 927 ล้านบาท) และเมื่อย้อนไป Q1/2023 บริษัทขาดทุนสุทธิ 106 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.6 ล้านบาท) โดยนักวิเคราะห์คาดว่า Mattel จะขาดทุน 11 ล้านดอลลาร์ (375 ล้านบาท) ในไตรมาสนี้

โดยยอดขายของ ตุ๊กตาบาร์บี้ ทั่วโลก ลดลง 6% เป็น 282.7 ล้านดอลลาร์ ซึ่งภาพยนตร์ Barbie นั้นฉายช่วงปลาย Q2 กระแสดังกล่าวจึงช่วยไม่ได้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะช่วยกระตุ้นยอดในช่วงครึ่งปีหลังให้กับบริษัท ปัจจุบัน (29 ก.ค.) Barbie ทำรายได้ทั่วโลกกว่า 500 ล้านดอลลาร์ (1.7 หมื่นล้านบาท) จากทุนสร้างราว 145 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 พันล้านบาท)

ทั้งนี้ หมวดหมู่ของเล่นกลุ่มแอคชั่นฟิกเกอร์, ชุดอาคาร และเกม ลดลง แต่ที่ยังทำได้ดีคือ Hot Wheels หรือ หมวดหมู่ยานพาหนะที่มียอดขายดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

Anthony DiSilvestro ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กล่าวว่า ธุรกิจได้รับผลกระทบในทางลบจากผู้ค้าปลีกที่ลดระดับสินค้าคงคลัง แต่เชื่อว่าความต้องการของผู้บริโภคสําหรับผลิตภัณฑ์จะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุด

Source

]]>
1439338
ทำไม “Barbie” ถึงเป็นของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลก? บทเรียน “การตลาด” จากตุ๊กตาที่ปฏิวัติวงการ https://positioningmag.com/1438455 Thu, 20 Jul 2023 10:29:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438455 “Barbie” ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาหน้าสวยตัวหนึ่ง แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่คืออุดมคติที่สะท้อนวิธีคิดทางสังคมต่อการเป็น “ผู้หญิง” นั่นคือแก่นแกนของแบรนด์ที่ทำให้ตุ๊กตาตัวนี้ถือกำเนิด และยังอยู่ยืนยงมามากกว่า 6 ทศวรรษ

ตุ๊กตา Barbie อยู่คู่กับเด็กผู้หญิงทั่วโลกมาอย่างยาวนาน แม้การละเล่นของเด็กจะเริ่มเปลี่ยนไปสู่ของเล่นที่มี ‘หน้าจอ’ กันมากขึ้น แต่ Barbie ภายใต้บริษัท Mattel ก็ยังทำรายได้ปี 2022 ไปได้ถึง 1,490 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 50,700 ล้านบาท) และแบรนด์นี้ก็ยังนับเป็นแบรนด์ของเล่นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก มีการปล่อยลิขสิทธิ์ให้บริษัทเสื้อผ้านำไปสร้างคอลเลกชันพิเศษ หรือล่าสุด Barbie จะมีภาพยนตร์ประเภทคนแสดงออกฉายในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้

ทำไม Barbie ถึงครองใจเด็กผู้หญิงได้สำเร็จ? ต้องย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกา

 

สินค้าที่จับกระแส “ความต้องการที่เปลี่ยนไป” ของผู้บริโภค

ในปี 1945 บริษัทผลิตของเล่น Mattel ก่อตั้งขึ้นร่วมกันโดยกลุ่มคน 3 คน คือ Ruth Handler, Elliot Handler และ Harold Matson โดย Elliot กับ Harold นั้นมีหน้าที่ดีไซน์ของเล่นและดูแลการผลิต ขณะที่ Ruth ซึ่งเป็นภรรยาของ Elliot ทำหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด

Mattel เติบโตเรื่อยมาจนเข้าทศวรรษ 1950s ช่วงนั้นเอง Ruth สังเกตว่า Ken ลูกชายของเธอมีของเล่นที่ทำให้เขาจินตนาการตัวตนและอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักดับเพลิง แพทย์ผ่าตัด หรือคาวบอย เด็กผู้ชายจะมีของเล่นที่เติมเต็มความฝันเสมอ

ก่อนจะมี Barbie เด็กผู้หญิงมีแต่ตุ๊กตาเด็กทารกไว้เล่นเป็นแม่ (ภาพจากภาพยนตร์ Barbie 2023)

ขณะที่ Barbara ลูกสาวของเธอจะมีของเล่นก็แต่ “ตุ๊กตาเด็กทารก” ซึ่งใช้เล่นได้อย่างเดียวคือเด็กผู้หญิงจะต้องเล่นเป็น “แม่” หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องหันไปเล่นตุ๊กตากระดาษ และตัดรูปจากนิตยสารมาแปะเพื่อเปลี่ยนชุดให้ตุ๊กตา เธอยังสังเกตเห็นด้วยว่า ทั้งลูกสาวของเธอและกลุ่มเพื่อนของลูกสาวไม่มีใครอยากจะเล่นเลี้ยงเด็กทารกกันเท่าไหร่นัก

ช่วงเดียวกันนั้นเอง ในทศวรรษ 1950s เป็นช่วงที่สังคมอเมริกันเปลี่ยนแปลง เพราะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงต้องออกจากบ้านไปทำงานแทนผู้ชายที่ไปรบในสงคราม ทำให้ผู้หญิงค้นพบว่าตัวเองสามารถทำอาชีพอื่นได้ที่ไม่ใช่แค่แม่บ้านเลี้ยงลูก

เช่นนั้นแล้ว Ruth จึงเกิดไอเดียว่า “เด็กผู้หญิง” ควรจะมีของเล่นที่เปิดจินตนาการเหมือนกับเด็กผู้ชาย สามารถเปลี่ยนชุดได้อิสระ และเป็นอาชีพอะไรก็ตามที่เธอใฝ่ฝัน

 

ของใหม่แหวกกระแสต้องจับจุดทางการตลาดให้โดนเส้น

Ruth มีไอเดียสำหรับตุ๊กตาแบบใหม่นี้ว่า จะเป็นตุ๊กตา 3 มิติที่เลียนแบบรูปร่างหน้าตาของ “ผู้หญิง” สาวสะพรั่ง และสามารถเปลี่ยนชุดได้หลากหลายตามต้องการ

แต่การขายไอเดียของ Ruth ก็ไม่ง่าย เพราะแค่บอกสามีและ Harold ผู้ร่วมก่อตั้งว่าเธอสนใจจะทำตุ๊กตาผู้หญิงที่มี ‘หน้าอก’ ทั้งสองคนต่างก็ส่ายศีรษะว่าขายไม่ได้จริง

หลังจากนั้นเธอได้นำโปรโตไทป์ของตุ๊กตา ‘Barbie’ (ตั้งชื่อตามลูกสาวของเธอ) ไปออกงานนิทรรศการที่ New York Toy Fair ปี 1959 แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะคนในวงการธุรกิจของเล่นส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและมองว่าตุ๊กตาที่มีรูปร่างเหมือนหญิงสาวจริงๆ ไม่เหมาะที่จะให้เด็กเล่น และคิดว่าเด็กผู้หญิงอยากจะเล่นบทบาทเป็น “แม่” เท่านั้น ไม่อยากเป็นอย่างอื่น

Barbie
ตุ๊กตาที่มีหน้าอก รูปร่างเป็นผู้ใหญ่ ไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริหารชายในวงการของเล่นปี 1959 (Photo: Mattel)

อย่างไรก็ตาม Ruth ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เธอยังมีความเชื่อมั่นอยู่ว่าถ้าตุ๊กตาตัวนี้ไปถึงมือเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นผู้บริโภคตัวจริง เด็กจะต้องชอบ เธอจึงลุยดึงตัวนักวิเคราะห์ทางจิตวิทยาชื่อ Dr.Ernest Dichter มาทำการวิจัยทางการตลาดว่าจะสื่อสารอย่างไรให้ผู้บริโภคยอมรับ ด้วยการให้ตุ๊กตา Barbie แก่กลุ่มตัวอย่างไปลองเล่นดู

สุดท้ายแล้วผลการศึกษาทางจิตวิทยาการตลาดบอกเส้นทางเดินต่อให้กับ Ruth สองทาง คือ

1.การตลาดถึง “คุณแม่” ว่าตุ๊กตา Barbie จะช่วยให้เด็กผู้หญิงรู้จักแต่งเนื้อแต่งตัวให้สวยงาม

ประโยคนี้เมื่อมาอ่านในยุค 2020s อาจจะฟังดูน่าขมวดคิ้ว แต่ในทศวรรษ 1950s เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถึงแม้ว่าผู้หญิงจะเริ่มมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น ทำอาชีพได้หลากหลายขึ้น แต่ความสำเร็จในชีวิตผู้หญิงอเมริกันยังถูกตัดสินจาก “การแต่งงาน” กับสามีดีๆ สักคน ทำให้บรรดาแม่ๆ ต้องการให้ลูกสาวของตน “สวย” ดึงดูดใจเพศตรงข้าม

เมื่อยังจำเป็นต้องสื่อสารกับแม่ซึ่งเป็นคนออกเงินซื้ออยู่ Barbie ที่ออกขายจริงครั้งแรกจึงมาใน “ชุดแต่งงาน” เพื่อดึงดูดคุณแม่ก่อน

2.การตลาดถึง “เด็กผู้หญิง” ว่า Barbie คือตัวแทนของผู้หญิงที่ ‘เป็นอะไรก็ได้’

ขณะที่วิสัยทัศน์ที่แท้จริงของ Barbie ถูกสื่อสารถึงเด็กผู้หญิงผ่านโฆษณา ในสมัยนั้นการตลาดของของเล่นมักจะมุ่งเป้าไปที่พ่อแม่ซึ่งเป็นคนออกเงิน แต่ Barbie เปลี่ยนมาสื่อสารโดยตรงกับเด็กๆ ผ่านโฆษณาที่ออกฉายในช่วงการ์ตูนยอดฮิต หรือนำไปติดไว้ในร้านของเล่น

โฆษณาที่ฉายภาพ Barbie เป็นได้ทุกอย่างที่อยากเป็น ไม่ว่าจะนางแบบ ดีไซเนอร์ นักบัลเลต์ นักธุรกิจ คุณครู ไปจนถึงนักบินอวกาศ ทำให้ตุ๊กตา Barbie ฮิตสุดขีดในหมู่เด็กผู้หญิง และพ่อแม่จำเป็นต้องซื้อให้ตามแรงรบเร้า

Barbie เป็นได้ทุกอย่าง รวมถึงนักกีฬาอาชีพ (Photo: Mattel)

ภายในปีแรกที่ออกขาย ตุ๊กตา Barbie ทำยอดขายไปได้ถึง 350,000 ตัว กลายเป็นจุดเปลี่ยนโลกของเล่นเด็กผู้หญิง เพราะความคิดนำกระแสของนักธุรกิจหญิงคนหนึ่งที่เห็นว่า “ผู้หญิงเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ” Barbie จึงเป็นการขายอุดมคติที่แฝงอยู่ในตุ๊กตา คือการให้ความหมายใหม่กับการเกิดมาเป็น “ผู้หญิง”

 

ในเชิงธุรกิจ แหล่งรายได้ที่แท้จริงของ “Barbie” มาจากชุดตุ๊กตา

เมื่อ Barbie เป็นอะไรก็ได้ เธอจึงมีอาชีพมากกว่า 200 อาชีพ และมี “ชุด” ให้เปลี่ยนแบบนับไม่ถ้วน!

กลยุทธ์การขายของ Barbie เป็นกลยุทธ์เดียวกับขาย “มีดโกนหนวด” นั่นคือ ตัวที่โกนหนวดมีอันเดียวก็ได้ แต่ใบมีดต้องเปลี่ยนใหม่เรื่อยๆ

ตุ๊กตา Barbie ก็เช่นกัน ในยุคแรกบริษัท Mattel ขายตัวตุ๊กตาในราคาเพียง 3 เหรียญเพื่อให้เข้าถึงง่ายสำหรับผู้บริโภค จากนั้นออกโปรโมชันซื้อชุดเสื้อผ้าไว้เปลี่ยนให้ Barbie เพิ่มเพียง 1 เหรียญ

แหล่งรายได้เก็บเกี่ยวได้ยาวคือการขาย “ชุด” และสิ่งของส่วนประกอบของตุ๊กตา

แน่นอนว่าชุดตุ๊กตาก็เหมือนชุดของคน เมื่อมีชุดเสื้อผ้าใหม่ออกมาเด็กก็จะเกิดความต้องการ Barbie จึงหล่อเลี้ยงดีมานด์ได้เรื่อยๆ จากการสร้างสรรค์ “อาชีพ” ใหม่ หรือคอลเลกชันชุดแบบใหม่ๆ ไปจนถึงมีสัตว์เลี้ยงหรือรถยนต์ของตัวเองด้วย

 

เกิดจากกระแสหัวก้าวหน้า ก็ต้องก้าวให้ทันกระแส

หลัง Barbie ถือกำเนิด สังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง Barbie เองก็ถูกสังคม ‘ท้าทาย’ มานับครั้งไม่ถ้วน ในฐานะที่เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ในอุดมคติของผู้หญิง และหาก Barbie ไม่ปรับตัว อาจไม่อยู่รอดมาถึงวันนี้

ช่วงแรกที่ Barbie ออกจำหน่าย ตุ๊กตาตัวนี้มีแต่ผู้หญิงผิวขาว ผมบลอนด์หรือน้ำตาลเท่านั้น แต่เมื่อสังคมเริ่มมีประเด็นความไม่เท่าเทียมทางสีผิวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในที่สุด Barbie เลือกที่จะอยู่ข้างกระแสเรียกร้องด้วยการออก Barbie เวอร์ชันหญิงแอฟริกันอเมริกันเป็นครั้งแรกในปี 1980

Barbie หญิงแอฟริกันอเมริกัน เป็นด่านแรกที่บริษัทต้องพิสูจน์ความหัวก้าวหน้า

ยิ่งในช่วงสองทศวรรษหลัง Barbie มีคอลเลกชันใหม่ที่ออกมาเพื่อตอบรับสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ปี 2000 ที่ออกเซ็ตตุ๊กตาสอน “ภาษามือ” ต่อมาในปี 2012 มี Barbie เวอร์ชัน “หัวล้าน” เพื่อให้กำลังใจเด็กๆ ที่เป็นโรคมะเร็งและต้องให้คีโมต่อสู้กับโรค

ปี 2016 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Barbie อีกเหมือนกัน จากการออกคอลเลกชันรวม Barbie ที่แตกต่างกันในหลายด้าน ทั้งส่วนสูง สีผิว สีผม และ “รูปร่าง” มีตุ๊กตาสาวอวบเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งทาง Mattel ออกคอลเลกชันนี้มาหลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มานานว่า Barbie สร้างค่านิยมผิดๆ เรื่องรูปร่างของผู้หญิงสวยจะต้องมีหุ่นผอมเพรียวเท่านั้น

Barbie
ในยุคนี้ Barbie จะมีตุ๊กตาหลายรูปร่างให้เลือก เช่น ตัวนี้เป็นรูปร่างอวบ มีสะโพก

เห็นได้ว่า “คุณค่า” หลักของ Barbie ถ้ายังคงคุณค่านั้นไว้ตามสมัยนิยมสำเร็จ ก็จะยังนั่งอยู่ในใจผู้บริโภคได้ตลอดกาล!

ที่มา: Medium, DW, Statista, NY Daily News

อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1438455
บาร์บี้เก่าก็ช่วยโลกได้นะ! บริษัทของเล่นเปิดให้นำ ‘ของเล่นเก่า’ มารีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติก https://positioningmag.com/1331298 Mon, 10 May 2021 07:24:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331298 ข่าวดีสำหรับเด็กยุค 90 ที่มีใจอยากช่วยโลกและมีของเล่นพัง ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่มี ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ เพราะบริษัท ‘Mattel’ (แมทเทล) บริษัทของเล่นอายุ 76 ปีที่เป็นผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ จะรับซากของเล่นเพื่อนำไปรีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติกให้กับโลกนี้

การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เกิดความต้องการของเล่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็ก ๆ ใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทของเล่นขนาดใหญ่หลายแห่งพยายามที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังจากหลายทศวรรษที่ต้องพึ่งพาพลาสติกในการผลิตสินค้า ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น บริษัท Mattel จึงริเริ่มทำโครงการ ‘Mattel PlayBack’ ที่ออกแบบมาเพื่อนำวัสดุในของเล่นเก่า กลับมาใช้ใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Mattel ในอนาคต โดยผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมโปรแกรมได้โดยไปที่เว็บไซต์ของ Mattel เพื่อพิมพ์ฉลากการจัดส่งฟรี และรับบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งของเล่นของพวกเขากลับไปที่บริษัท

จากนั้นของเล่นจะถูกจัดเรียงและแยกตามประเภทวัสดุและแปรรูปและรีไซเคิลตามที่บริษัทกำหนด สำหรับวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตของเล่นใหม่ จะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ หรือเปลี่ยนจากขยะเป็นพลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัท สู่อนาคตที่มุ่งเน้นความยั่งยืน เพื่อจะใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิล 100% สำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2573

“เราต้องเก็บวัสดุที่มีค่าเหล่านี้ออกจากหลุมฝังกลบ” Pamela Gill-Alabaster หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของ Mattel กล่าว

ภาพจาก shutterstock

เบื้องต้น บริษัทจะเปิดรับของเล่นจาก 3 แบรนด์ ได้แก่ ตุ๊กตาบาร์บี้, ของเล่น Matchbox และ MEGA และมีแผนจะเพิ่มแบรนด์อื่น ๆ ในอนาคต ขณะที่โครงการดังกล่าวจะเริ่มในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร โดยที่ผ่านมา Mattel ได้ทดลองใช้โปรแกรมที่คล้ายกันในแคนาดาโดยรับของเล่นเก่าจาดแบรนด์ MEGA ในปี 2020 โดยร่วมมือกับ TerraCycle ซึ่งเป็นบริษัทรีไซเคิลที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์

ไม่ใช่แค่ฝั่งยุโรป แต่ในฝั่งเอเชียก็มีโคงการที่คล้าย ๆ กัน อย่าง ‘Bandai’ (บันได) บริษัทของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นและของโลกได้เปิดตัวโครงการ ‘Gunpla Recycling Project’ ซึ่งให้ลูกค้านำแผง Runner ที่เหลือจากการต่อ ‘Gundam’ มาบริจาคเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ โดยตอนนี้บริษัทกำลังติดตั้ง drop boxes ในร้านค้าทั่วประเทศญี่ปุ่น

การหาทางเลือกอื่นแทนพลาสติกมีความสำคัญต่อการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้การตลาดที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทต่าง ๆ เช่นกันในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ซื้อเริ่มใส่ใจมากขึ้นว่าการเลือกของพวกเขามีผลต่อโลกใบนี้อย่างไร เพราะทั้งการผลิตและการทิ้งพลาสติกมีผลกระทบร้ายแรงต่อโลก ตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงอุดตันทางน้ำและพลาสติกที่สะสมในมหาสมุทร

Source

]]>
1331298
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์! UNO คลอดเวอร์ชันอักษรเบรลล์ คนตาบอดก็เล่นไพ่เรียงสีได้ https://positioningmag.com/1248583 Fri, 04 Oct 2019 13:25:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1248583 เป็นกรณีศึกษาเรื่องการสร้างดีมานด์ใหม่ให้สินค้าเดิมได้ชัดเจนมากสำหรับ UNO แบรนด์ไพ่เรียงสีเรียงเลขแสนสนุกจากผู้ผลิตของเล่นอย่าง Mattel วันนี้ UNO ถูกพัฒนาเป็นหลายเวอร์ชันเพราะต้นสังกัด Mattel ต้องการลุยเปิดตลาดใหม่เพื่อกู้วิกฤติยอดขายหดตัว ล่าสุดคือเวอร์ชันอักษรเบรลล์ที่จะมาเสริมกับรุ่น UNO BTS ซึ่งถูกเปิดตัวเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำภารกิจว่า Mattel ต้องการทำให้ UNO แบรนด์ที่มีอายุเกิน 50 ปีดูทันสมัยและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น

ไพ่ UNO เวอร์ชันอักษรเบรลล์มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า UNO Braille ความน่าสนใจคือ UNO จะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้พิการและบกพร่องทางสายตาที่มีมากกว่า 7 ล้านคนในสหรัฐฯและอีกหลายล้านคนทั่วโลก โดย Mattel ยกความดีให้การร่วมมือกับมูลนิธิคนตาบอดแห่งสหรัฐฯ หรือ National Federation of the Blind ในการพัฒนาเกมการ์ดแบรนด์เก่าแก่ที่คนตาบอดจะสามารถเพลิดเพลินได้จริง

UNO Braille เป็นเพียง 1 ในหลายสิบเวอร์ชันที่ UNO ใช้เป็นเครื่องมือขยายตลาดใหม่ เพราะช่วงกลางปีนี้ Mattel ออก UNO BTS ซึ่งมีการพิมพ์ภาพของเหล่าหนุ่มบอยแบนด์เกาหลีสุดฮอต BTS โดยจำหน่ายพร้อมตุ๊กตา Mattel Barbies BTS ซึ่งย้ำว่า Mattel ต้องการปรับภาพแบรนด์ตุ๊กตา Barbies ให้มีฐานตลาดใหม่เช่นกัน

นอกจาก UNO ต้นสังกัดอย่าง Mattel เพิ่งคลอดสินค้าใหม่ตระกูลไพ่ชื่อ Dos ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ชี้ว่า Mattel หวังให้ Dos เป็นตัวตายตัวแทนแบรนด์เก่าแก่อย่าง UNO อีกทาง โดย Dos มีกฏการเล่นไม่ต่างจาก UNO แต่เน้นเพิ่มความยืดหยุ่นมากกว่าเช่นการเปิดกว้างให้ลงไพ่ได้ทีละ 2 ใบแทนที่จะลงได้ทีละใบเหมือน UNO คาดว่า Mattel จะใช้กลยุทธ์การขยายตลาดและสร้างแบรนด์เกม Dos ในลักษณะเดียวกับ UNO

UNO ฮีโร่ช่วย Mattel

การคิดใหม่ทำใหม่ของ Mattel เกิดขึ้นบนภาวะที่บริษัทต้องดิ้นรนให้แบรนด์คลาสิกในเครืออยู่รอดปลอดภัย ทั้งแบรนด์ตุ๊กตา Barbie และของเล่นอื่นที่ยอดขายหดตัว โดยช่วงปี 2017 ผู้ผลิตของเล่นระดับโลกอย่าง Mattel มีรายได้ลดลง 11% ผลจากการล้มละลายของ Toys R Us และพฤติกรรมการเล่นของเด็กที่เปลี่ยนมาเล่นแท็บเล็ต มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม UNO อยู่ในจุดที่ดีเกินคาด โดยทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น 12% ในปี 2017 (เทียบกับปี 2016) ผลจากการวางจำหน่ายไพ่ UNO ในร้านค้ารูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น การวางขายในร้านวิดีโอเกม และร้านหนังสือ

UNO ยังถูกพัฒนาตามเทรนด์โลก จนเกิดเป็น UNO Emoji ที่ใช้รูปการ์ตูนอิโมจิมาเป็นสีสัน ยังมี UNO Minecraft ที่อิงกับเกมฮิตของเด็กทั่วโลก, Uno Harry Potter เวอร์ชันพ่อมดในโลกมักเกิลส์, UNO Captain Marvel สำหรับสาวกยอดมนุษย์, Disney Frozen UNO ที่สาวเอลซ่าและอันน่าก็มาร่วมแจม รวมถึง UNOcorns เพื่อเจาะตลาดเด็กรักยูนิคอร์น ทั้งหมดถูกปรับกติกาเล็กน้อยโดยยังอิงกับการเรียงเลขเรียงสีแบบดั้งเดิมของ UNO

ทั้งหมดนี้ Mattel ไม่ลืมที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน UNO สำหรับการเล่นบนสมาร์ทโฟน โดยเปิดให้ทุกคนเล่น UNO ผ่านบริการ Facebook Messenger ได้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ UNO ColorADD สำหรับคนตาบอดสีถูกแจ้งเกิดด้วย

จาก UNO BTS ถึงตุ๊กตา 2 เพศ

ครึ่งหลังของปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ Mattel ลุยเปิดตัวสินค้าใหม่เพื่อขยายตลาดอย่างจริงจัง เช่นเมื่อกรกฏาคม 2019 ที่ตุ๊กตา BTS Mattel Dolls และ UNO BTS พร้อมเปิดให้สั่งจองทั่วโลก และเมื่อปลายกันยายนที่ผ่านมา Mattel เลือกเปิดตัวตุ๊กตา 2 เพศชื่อ Creatable World

รายงานระบุว่า Creatable World เป็นแบรนด์ตุ๊กตาแนวใหม่ของ Mattel ที่ออกแบบให้ทรงผม เสื้อผ้า และเครื่องประดับไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นเพศหญิงหรือชาย ซึ่งชัดเจนว่า Mattel จะสามารถสร้างตลาดใหม่ได้อีกไม่รู้จบ

ประเด็นนี้เป็นไปตามแนวทางเดียวกับที่ Ray Adler ประธานฝ่ายธุรกิจเกมของ Mattel มองว่า UNO Braille จะช่วยให้เกม UNO เข้าถึงครอบครัวได้หลากหลายมากขึ้นแถมยังเข้าถึงใจติ่งเกาหลีทั่วโลกได้ด้วย.

ที่มา

]]>
1248583
เจาะวิกฤติ Toys ‘R’ Us ใครเจ็บสุด Mattel, Hasbro หรือ Lego? https://positioningmag.com/1162051 Sun, 18 Mar 2018 05:01:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1162051 ช็อกไปทั้งโลกเมื่อมีข่าวว่า Toys ‘R’ Us ไม่สามารถหาผู้ซื้อกิจการ และไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายเจ้า เพราะข่าวทั้งหมดสะท้อนจุดจบของร้านค้าปลีกของเล่นรายใหญ่อายุกว่า 70 ปี และสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อ Toys ‘R’ Us ประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ผ่านมา คือบริษัทแจ้งพนักงานเรียบร้อยว่าจะปิดร้านค้าที่เหลืออยู่ในสหรัฐฯ                  ทั้งหมด 735 สาขา

การปิดสาขาของ Toys ‘R’ Us (ซึ่งครองส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมของเล่นอเมริกันถึง 15%) จะมีผลกระทบอย่างมากต่อทุกบริษัทในอุตสาหกรรม ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดมีโอกาสเป็นทั้งแบรนด์ดังอย่าง Mattel, Hasbro หรือ Lego รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างพนักงาน

*** พนักงาน

หน่วยธุรกิจ Toys ‘R’ Us ในสหรัฐอเมริกามีพนักงานประมาณ 33,000 คน แน่นอนว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากการปิดร้าน แม้ว่าบางสาขาจะยังคงเปิดให้บริการต่อไประยะหนึ่ง โดยกระบวนการ liquidation หรือการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อชำระบัญชีจะเริ่มขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้

อย่างไรก็ตาม พนักงาน Toys ‘R’ Us บางคนอาจได้ทำงานต่อหาก Toys’R ‘Us สามารถขายธุรกิจในแคนาดา ซึ่งยังมีรายได้และทิศทางที่ดี รวมทั้งร้านสาขาที่ยังทำยอดขายได้ดี 200 แห่งในสหรัฐฯ คาดว่าจะมีผู้ซื้อเป็นบริษัทรายใหม่สัญชาติแคนาดา

*** Mattel

Mattel คือผู้ผลิตตุ๊กตาและของเล่นแบรนด์ Barbie, Fisher Price, และ Monster High รายงานระบุว่า Mattel ได้รับผลกระทบจากการประกาศ Toys ‘R’ Us ล้มละลายแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ โดย Mattel อยู่ในภาวะยอดขายทั่วโลกลดลงนับตั้งแต่ Toys ‘R’ Us อยู่ในกระบวนการศาลล้มละลาย 

ปัจจุบัน Toys ‘R’ Us คือลูกค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของ Mattel ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 15 ถึง 20% ของยอดขายในสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบัน Toys ‘R’ Us ยังคงค้างชำระ Mattel มากกว่า 135 ล้านเหรียญ 

นอกจากนี้ การปิด Toys ‘R’ Us จะทำให้ Mattel ต้องเผชิญกับความกดดันมากขึ้นเรื่องช่องทางจำหน่าย เนื่องจาก Mattel ต้องเริ่มมองหาสถานที่จำหน่ายตุ๊กตาและเกมต่าง ๆ เพื่อทดแทนจากที่เคยวางขายใน Toys ‘R’ Us

*** Lego

การล้มละลายของ Toys ‘R’ Us ผลักให้หุ้นบริษัทเช่น Hasbro และ Mattel ดำดิ่งลง แต่ Lego ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

Lego ผู้ผลิตของเล่นตัวต่อพลาสติกถูกตั้งข้อสังเกตว่ามียอดขายลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม Lego คือบริษัทของเล่นที่ถูกมองว่ามีความพร้อมรับมือกับการล่มสลายของ Toys ‘R’ Us มากกว่าผู้ผลิตของเล่นรายอื่น ส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จของสินค้ากลุ่ม Lego Movie และ Star Wars ที่ขายได้ตลอดกาลเพราะกระแสความนิยมในภาพยนตร์

*** Jakk

Jakk เป็นบริษัท licensee ผู้ได้รับอนุญาตเครื่องหมายการค้าหลายร้อยฉบับทั้ง Disney, Star Wars และ Nintendo นอกจากนี้ บริษัท ยังทำเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก ของเล่นก่อสร้าง และชุดของเล่นกลางแจ้ง รวมถึงชุดแต่งกายและของเล่นประเภทหุ่นฟิกเกอร์แอคชั่น (action figure) 

ผลกระทบที่ Jakk จะได้รับนั้นไม่ต่างจาก Mattel ซึ่งจะต้องรอเก็บเงินและหาช่องทางจำหน่ายทดแทนให้ได้ในอนาคต

*** Hasbro

Hasbro คือผู้ผลิตของเล่นที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังเช่น My Little Pony, Play-Doh และเกมกระดานเช่น Monopoly, Yahtzee, Cranium และ Candy Land รวมถึง action figure ตระกูล GI Joe

เรื่องนี้ Stephanie Wissink นักวิเคราะห์ Jefferies มองว่าผู้ผลิตอย่าง Mattel และ Hasbro จะถูกมัดมือให้ต้องจัดการกับยอดขายในอุตสาหกรรมที่ลดลงระหว่าง 2.5 ถึง 5.5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการปิดทำการของ Toys ‘R’ Us ที่ยังเป็นหนี้ค้างชำระ Hasbro ประมาณ 59 ล้านดอลลาร์

*** The Next Shopkins

Toys ‘R’ Us ไม่เพียงเป็นกำลังหลักในการหนุนผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น แต่ก็มักเป็นบริษัทที่ช่วยให้ผู้ผลิตรายใหม่ลืมตาอ้าปากและเริ่มต้นธุรกิจได้ The Next Shopkins เป็นหนึ่งในผู้ผลิตหน้าใหม่ที่อาจต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อเปิดตลาดของเล่นในวันที่ไม่มี Toys ‘R’ Us ในสหรัฐฯ แล้ว

Spinmaster

Spinmaster คือหนึ่งในบริษัทที่สามารถทำธุรกิจได้ดีตามที่นักวิเคราะห์จาก Jefferies ประเมินไว้ โดยการเติบโตของบริษัทได้รับแรงหนุนจากยอดขายของเล่นในไข่ Hatchimal ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่วนของเกมที่เติบโตชัดเจน

อย่างไรก็ตาม SpinMaster ไม่ได้ขึ้นอยู่กับร้านค้าปลีกของเล่นเช่นเดียวกับ Hasbro และ Mattel เพราะ Spinmaster มีช่องทางการขายหลากหลาย ทั้งในร้านหนังสือ ร้านแฟชั่น ร้านยา และร้านขายของชำ จุดนี้ Jefferies เคยคาดการณ์ด้วยว่าการล้มละลายของ Toys ‘R’ Us ในสหรัฐฯ จะทำให้ SpinMaster มีโอกาสซื้อแบรนด์ของเล่นบางแบรนด์ เนื่องจาก SpinMaster มีความพร้อมหลายด้านมากกว่าใคร.

ที่มา : fortune.com/2018/03/16/toys-r-us-closings-mattel-hasbro-lego-affected/

]]>
1162051