TDRI – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 13 Jun 2023 05:06:35 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 TDRI ชี้ GDP ไทยปีนี้โตได้ถึง 3.5% ได้ปัจจัยจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในครัวเรือนที่ดีขึ้น https://positioningmag.com/1433826 Tue, 13 Jun 2023 04:05:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1433826 TDRI Economic Intelligence Service คาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโตได้มากถึง 3.5% ได้ปัจจัยสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว ส่งผลต่อภาคครัวเรือนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังกังวลถึงปัจจัยที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อาจส่งผลต่อการลงทุนในไทยของบริษัทจากต่างประเทศ

กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) ได้กล่าวในงานเสวนา KTC FIT Talks ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “จับเข่าคุยเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคครึ่งหลังปี 2566” โดยมองเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แม้ว่าหลายคนจะมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกมีความคลุมเครือทางเศรษฐกิจปกคลุมอยู่ก็ตาม

โดยคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) ล่าสุดนั้นได้ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโต แต่โตช้าลง ถ้าดูประมาณการรอบนี้นั้นดูดีขึ้น เมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

พระเอกสำคัญที่ กิริฎา ได้ชี้คือเศรษฐกิจจีนซึ่งรายงานของ World Bank คาดการณ์ในตอนแรกว่า GDP จีนเติบโตแค่ 4.3% ล่าสุดคาดการณ์ใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% เธอเปรียบเศรษฐกิจจีนเหมือนเป็นความหวังหมู่บ้าน เนื่องจากไทยเป็นคู่ค้าสำคัญ และคาดว่านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาได้ 5-6 ล้านคน

ทางฝั่งของสหรัฐอเมริกา วิกฤตธนาคารในประเทศได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง สาเหตุสำคัญคือธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงยังส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

ขณะเดียวกันตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกนั้นลดลง แต่ก็ยังถือว่าสูง เธอได้ชี้ว่าราคาสินค้าอาจไม่กลับลงมาเท่ากับก่อนช่วงโควิดแล้ว โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างก๊าซธรรมชาติ ส่งผลทำให้หลายประเทศยังเจอของแพงอยู่

ภาพจาก Shutterstock

แนวโน้มของเศรษฐกิจไทย

ผู้อำนวยการโครงการ TDRI EIS มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะโตได้ 3.5% จากปีที่ผ่านมาโตได้ 2.6% ได้ปัจจัยสำคัญคือภาคการบริโภคในครัวเรือน ซึ่งส่งต่อมาจากผลดีของภาคการท่องเที่ยว หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ครัวเรือนมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แล้วก็ตัวเลขส่งออกของไทยที่ดี

เธอได้กล่าวถึงข้อจำกัดด้านอุปทานในภาคการท่องเที่ยวนั้นส่งผลทำให้การเติบโตอาจจำกัด และรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด รวมถึงจำนวนเที่ยวบินที่จำกัดในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันเธอได้ชี้ว่าการบริโภคของไทยตอนนี้มากกว่าก่อนโควิดแล้ว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่ามั่นใจมากแค่ไหน ล่าสุดผลสำรวจเห็นว่าเริ่มมีกำลังซื้อที่ดีมากขึ้น การจ้างงานก็เพิ่มมากขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ส่งผลในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดีเธอชี้ว่ามีปัจจัยกดดันคืออัตราเงินเฟ้อของไทยที่สูง แม้ว่าเงินเฟ้อของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 2.5% และตอนนี้ผู้ผลิตได้ส่งผ่านต้นทุนในราคาสินค้าบ้างแล้ว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

นโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญหลังจากนี้

กิริฎา ยังได้กล่าวถึง การลงทุนของไทยเติบโตมากกว่าช่วงโควิดแล้วนับตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว จากผลดีของการย้ายฐานการผลิตมาในอาเซียน ซึ่งไทยก็เป็นประเทศที่ได้รับผลดีดังกล่าว ทำให้การนำเข้าสินค้าเข้ามาลงทุนเยอะด้วยเช่นกัน ส่งผลทำให้ดุลการค้าของไทยติดลบ แต่ตอนนี้คือดุลการค้าเราบวก เนื่องจากตัวเลขนำเข้าสินค้าในการลงทุนดังกล่าวลดลง

แต่ความเสี่ยงด้านหนึ่งที่เธอกังวลคือคือนโยบายของภาครัฐจะเป็นเช่นไร ยิ่งมีการตั้งรัฐบาลช้ามากเท่าไหร่ก็อาจทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจกับไทยได้ และถ้าไม่มีรัฐบาลใหม่ก็ยังใช้งบเท่ากับปีงบประมาณเดิม ซึ่งจะส่งผลทำให้ไม่มีการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น TDRI คาดว่าอาจอยู่ที่ 2.5% และในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งต่อไปอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ

ทางด้านของค่าเงินบาทนั้น ดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเนื่องจากเงินไหลกลับไปยังสหรัฐฯ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า แต่ตลาดคาดว่า Fed อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ TDRI มองว่าค่าเงินบาทน่าจะทรงตัวแถวๆ ค่าเงินบาทเฉลี่ยในช่วงสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเงินไหลเข้าไทยจากการท่องเที่ยว อาจทำให้ค่าเงินแข็งค่าได้มากกว่านี้

]]>
1433826
3 ปีกำลังซื้ออสังหาฯ หด 9 แสนล้าน! คนไทย 75% ชะลอซื้อบ้าน ความสามารถในการซื้อต่ำลง https://positioningmag.com/1309568 Tue, 08 Dec 2020 12:53:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309568
  • TDRI ประเมินช่วง 3 ปี (2563-2565) กำลังซื้อในตลาดอสังหาฯ หดตัวรวมถึง 9 แสนล้านบาท จากพิษ COVID-19 ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง คาดการณ์ปี 2565 ตลาดอสังหาฯ จะกลับมามีมูลค่าเท่ากับปี 2562 หรือโตกว่าเล็กน้อย
  • ระยะยาวแนะนำเปิดโควตาให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯ ไทยได้มากขึ้น เพื่อเสริมกำลังซื้อที่หายไป เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ดีมานด์ที่อยู่อาศัยของคนไทยจะเริ่มลดลง
  • DDproperty พบข้อมูลสอดคล้องกัน ผู้บริโภค 75% ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย จากปกติมักจะตัดสินใจภายในเวลา 1 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 1-2 ปี และประเมินตนเองมีความสามารถซื้อบ้านต่ำลงจาก 67% เหลือ 57%
  • Positioning รายงานจากเวทีเสวนา “ตีโจทย์ตลาดบ้าน 2020 และ DDproperty Thailand Market Outlook 2021” ฟังข้อมูลจาก ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมให้ข้อมูลบนเวทีในแง่ภาพรวมคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย และข้อแนะนำต่อภาครัฐ

    TDRI คาดการณ์กำลังซื้อในตลาดอสังหาฯ รวม 3 ปีคือปี 2563-2565 จะหายไปจากตลาดรวมถึง 9 แสนล้านบาท โดยปี 2563 คือปีที่สาหัสที่สุดก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จนถึงปี 2565 น่าจะกลับไปเท่ากับหรือมากกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 หรือถ้าหากคิดเป็นจำนวนยูนิตที่ซื้อขายในตลาด คาดการณ์จำนวนยูนิตขาย ดังนี้

    • ปี 2562 : 3.93 แสนยูนิต
    • ปี 2563 : 3.35 แสนยูนิต
    • ปี 2564 : 3.73 แสนยูนิต
    • ปี 2565 : 4.03 แสนยูนิต

    โดยปี 2563 นั้นตลาดอสังหาฯ ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือน 78.9% เมื่อปี 2562 เพิ่มเป็น 86% ในปีนี้ และทำให้คนตกงานเพิ่มจาก 6.3 แสนคนเมื่อเดือนเมษายน 2563 เป็น 8.1 แสนคนเมื่อเดือนตุลาคม 2563 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ซึ่งจะหางานทำได้ยาก

    อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่บวกพบว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดธุรกิจส่งออกหรือตลาดทุน แม้จะติดลบเมื่อเทียบกับปี 2562 แต่ดีขึ้นจากช่วงเดือนเมษายน 2563

    แต่มีเพียงธุรกิจเดียวที่ยังไม่สามารถฟื้นได้เลยคือ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว ต้องรอจนกว่าวัคซีนป้องกัน COVID-19 จะฉีดให้กับประชาชนทั่วโลกอย่างแพร่หลายในปีหน้า และทำให้การเดินทางกลับมาเป็นปกติ ซึ่งสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ (best case scenario) คือช่วงครึ่งปีหลัง 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะกลับเข้ามาประเทศไทยได้ราว 50% ของปกติ

    ดร.นณริฏกล่าวว่า กำลังซื้อสำคัญสำหรับอสังหาฯ ในช่วงนี้จึงเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานของรัฐ และกลุ่มคนระดับบนซึ่งไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือรับผลกระทบน้อย รองลงมาคือกลุ่มคนทำงานในอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวกำลังทยอยฟื้นคืนกลับมา ส่วนผู้ที่ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยว การบิน อาจจะต้องรอกำลังซื้อฟื้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2564

     

    แนะนำดึงกำลังซื้อต่างชาติเข้าช่วย

    นอกจาก COVID-19 ที่เป็นปัญหาทุบเศรษฐกิจไทยเกือบทุกธุรกิจ ดร.นณริฏกล่าวว่า ภาคอสังหาฯ มีปัญหาพื้นฐานที่จะส่งผลอย่างชัดเจนในอีกสิบปีข้างหน้าคือ “การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย” โดยเริ่มที่ปี 2563 เป็นปีแรก เมื่อไทยเป็นสังคมสูงวัย เท่ากับว่ามีคนอยู่ในวัยทำงานน้อยลง ทำให้มีดีมานด์ซื้อที่อยู่อาศัยน้อยลง และจะทำให้ตลาดหดตัว

    ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย กำลังซื้ออสังหาฯ จะต่ำลง TDRI แนะดึงดีมานด์ชาวต่างชาติเข้ามาเสริม

    เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดร.นณริฏแนะนำว่า ภาครัฐควรพิจารณาการเพิ่มโควตาและส่งเสริมให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯ ในไทยได้มากขึ้น แต่ต้องวางนโยบายอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบกับการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนไทย เช่น เปิดโควตาให้ต่างชาติเป็นเจ้าของคอนโดฯ ได้ 60-70% ของโครงการ เฉพาะคอนโดฯ ราคามากกว่า 5 ล้านบาท ในเขตพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมให้มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างเขต EEC หรือเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ

    ดร.นณริฏเห็นว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มกำลังซื้อ และแนะนำว่าภาครัฐไม่ควรลดความเข้มงวดของเกณฑ์ LTV (Loan-to-Value) ในการพิจารณาสินเชื่อบ้าน เพราะเสี่ยงต่อการเพิ่มหนี้เสียในระบบ รวมถึงไม่ควรอุดหนุนภาคอสังหาฯ ด้วยงบประมาณจากภาษี เพราะสถานะการคลังปัจจุบันอยู่ในโซน “สีแดง” แล้วจากนโยบายรัฐอื่นๆ ที่เคยอนุมัติ

     

    DDproperty พบผู้บริโภคดีเลย์ซื้อบ้าน ไม่มั่นใจศักยภาพ

    ด้านผลสำรวจจาก DDproperty ในหัวข้อผลกระทบจาก COVID-19 ต่อพฤติกรรมการซื้ออสังหาฯ พบว่า ผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถาม 75% เลือกที่จะชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ออกไปก่อน โดยเหตุผลหลักที่ตอบมากที่สุดคือ “ไม่มั่นใจในราคาอสังหาฯ ซึ่งมีความผันผวนมากขึ้น” และ “เชื่อว่าการกู้สินเชื่อบ้านจะยากขึ้น”

    เมื่อถามว่าผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ปรากฏว่ามีผู้ตอบว่าจะซื้อภายใน 1 ปีเพียง 20% และกลายเป็นว่าผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุด 36% ตอบว่าจะตัดสินใจซื้อบ้านภายใน 1-2 ปี ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนการ “ดีเลย์” การซื้อบ้าน เพราะเมื่อปี 2562 คนส่วนใหญ่จะตัดสินใจภายใน 1 ปี

    ผู้บริโภคประเมินตนเองว่ามีความสามารถที่จะซื้อบ้านต่ำลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2563

    นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังประเมินความสามารถในการซื้อบ้านของตนเองต่ำลง จากครึ่งปีแรก 2563 มีผู้ตอบว่าตนเองน่าจะซื้อบ้านได้/ซื้อบ้านได้อย่างแน่นอน รวมกันถึง 67% แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือ 57% จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มที่ตอบว่าไม่แน่ใจ/ไม่น่าจะซื้อบ้านได้/ซื้อบ้านไม่ได้อย่างแน่นอน รวมกันมากขึ้นกว่าเดิม

     

    บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์เขตชานเมืองมาแรง

    ส่วนความสนใจซื้อของผู้บริโภค ประเมินจากการค้นหาที่อยู่อาศัยบนแพลตฟอร์มของ DDproperty ตลอดปี 2563 พบว่าปีนี้เป็นปีทองของ “บ้านเดี่ยวชานเมือง” เพราะพบว่าบ้านเดี่ยวได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นถึง 30% รองลงมาคือทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น 10% ในทางกลับกัน คอนโดมิเนียมได้รับความสนใจลดลง -2%

    ความสนใจซื้อบ้านเพิ่มขึ้นในเขตชานเมือง

    ทำเลชานเมืองมีการหาซื้อบ้านเพิ่มขึ้นสูงมาก ภาพรวมเขตรอบนอกกรุงเทพฯ มีการค้นหาเพิ่มขึ้น 46% หากแบ่งตามเขตที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่

    • เขตมีนบุรี เพิ่มขึ้น 74%
    • เขตภาษีเจริญ เพิ่มขึ้น 61%
    • เขตสายไหม เพิ่มขึ้น 58%
    • เขตบางแค เพิ่มขึ้น 58%
    • เขตจตุจักร เพิ่มขึ้น 38%

    ในแง่ราคา กลุ่มที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือราคา 1-3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% รองลงมาคือกลุ่ม 3-5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และกลุ่ม 5-10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังกลุ่ม 1-3 ล้านบาท เพราะถึงแม้จะมีผู้สนใจซื้อมาก แต่ซัพพลายในตลาดนั้นเพิ่มขึ้นมากยิ่งกว่า!

    ]]>
    1309568
    ปี 2562 ติดเบรกอสังหาฯ ธุรกิจนี้จะจอดยาวหรือไม่? อ่านบทวิเคราะห์จาก DDproperty และ TDRI https://positioningmag.com/1255376 Fri, 29 Nov 2019 10:12:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255376
  • สำรวจ 5 ปีย้อนหลัง ราคาบ้าน-คอนโดโตแซงดัชนีค่าจ้างแรงงาน
  • ปี 2562 ราคาสะดุด เติบโต 4% เหลือเพียงกลุ่มไฮเอนด์ที่ไม่ได้รับผลกระทบ
  • 10 ปีข้างหน้า TDRI ชี้ภาคอสังหาฯ อาจโตต่ำกว่าจีดีพีประเทศ เมื่อประชากรวัยทำงานลดลง
  • ปี 2563 นโยบายกระตุ้นจากภาครัฐอาจช่วยให้ภาคอสังหาฯ กลับมาโตได้ 5-7%
  • DDproperty จัดงานสัมมนาประจำปีวิเคราะห์ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ไทย ชวน TDRI ร่วมสำรวจการเติบโตย้อนหลัง 10 ปีของภาคอสังหาฯ และมองแนวโน้ม 10 ปีข้างหน้า วิเคราะห์อนาคตธุรกิจที่เคยเป็นดาวรุ่งจะกลับมารุ่งได้อีกหรือไม่ หลังจากปี 2562 ออกอาการสะดุด บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโชว์ผลกำไรสุทธิติดลบกันยกแผง

    10 ปีย้อนหลัง ราคาบ้าน-คอนโด-ที่ดินโตเร็วกว่าค่าจ้างแรงงาน

    DDproperty สำรวจพบว่า ผู้บริโภค 79% มองว่าราคาอสังหาฯ ทุกวันนี้แพงเกินไป ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะการเติบโตของภาคอสังหาฯ และราคาบ้าน-คอนโด-ที่ดินต่างเติบโตล้ำหน้าจีดีพีประเทศและค่าจ้างแรงงานในช่วงที่ผ่านมา

    ข้อมูลจาก “นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่าในรอบปี 2553-2561 ภาคอสังหาฯ มีการเติบโตเฉลี่ย 3.8% ต่อปี เมื่อเทียบกับจีดีพีประเทศซึ่งเติบโตเฉลี่ย 3.7% ต่อปี จะเห็นได้ว่าเติบโตสูงกว่าเล็กน้อย

    เป็นผลมาจากในช่วงเวลาดังกล่าว ประชากรวัยทำงาน (อายุ 20-60 ปี) เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 0.14% ต่อปี และยังเป็นช่วงที่มีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดเพิ่ม ได้แก่ ARL พญาไท-สุวรรณภูมิ, สายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่, ส่วนต่อขยายสายสีเขียวฝั่งใต้

    เทียบจีดีพีแล้วอสังหาฯ เติบโตได้ดีกว่า ยิ่งถ้าเทียบราคาอสังหาฯ กับค่าจ้างแรงงานยิ่งเติบโตแบบอู้ฟู่!!

    โดย “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty รายงานการวัดผลช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2557-2561) พบว่า ดัชนีค่าจ้างแรงงานโตเฉลี่ยเพียง 2.2% ต่อปี แต่ราคาบ้านเดี่ยวโตเฉลี่ย 3.1% ราคาทาวน์เฮาส์โตเฉลี่ย 4.9% ที่แพงที่สุดคืออาคารชุดราคาโตเฉลี่ย 6.5% มากกว่าดัชนีค่าจ้างถึง 2 เท่าตัว นอกจากนี้ ราคาที่ดินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังโตเฉลี่ย 8% ต่อปี เป็นการเติบโตที่สูงมาก

    ปี 2562 ราคาอสังหาฯ แตะเบรก สต็อกบวม

    ย้อนหลังช่วง 5-10 ปีดังกล่าวคือยุคทองของทั้งดีเวลอปเปอร์และผู้ซื้อกลุ่มนักลงทุนที่สามารถหมุนขายใบจองทำกำไรกันเป็นว่าเล่น แต่ปี 2562 กลับเห็นการสะดุดผ่อนคันเร่งของธุรกิจนี้

    อาการสะดุดเห็นได้ชัดจากเรื่อง ราคาบ้าน-คอนโดปรับเพิ่มขึ้นได้น้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา และภาวะ ‘สต็อกบวม’ เพราะซัพพลายในตลาดที่สูงขึ้น DDproperty พบว่า ณ ไตรมาส 3/62 ราคาอสังหาฯ ปรับขึ้นเฉลี่ย 4% YoY เทียบกับในรอบ 3 ปีราคาอสังหาฯ โตสะสม 26%

    โดยไส้ในการเติบโตของอสังหาฯ รอบปีนี้ มีเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ ไฮเอนด์ราคา 8.5 ล้านบาทขึ้นไปที่ยังปรับราคาสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย คืออยู่ที่ 8-10% YoY ส่วนราคาต่ำกว่า 8.5 ล้านบาทลงมาปรับราคาขึ้นได้ 4-5% YoY เท่านั้น

    ฝั่งซัพพลายเหลือขายนั้นเห็นได้ชัดว่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ไตรมาส 4/61 โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 3.5 ล้านบาทซึ่งมีซัพพลายเพิ่มขึ้นสูงสุด 6% QoQ

    สาเหตุนั้นมาจากสภาพเศรษฐกิจซึ่งชะลอตัวลง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าปีนี้จีดีพีน่าจะโตราว 2.8% และช่วงไตรมาส 2/62 ธปท.ยังออกมาตรการคุมเข้มการให้ LTV สินเชื่อบ้านด้วย ซึ่งทำให้ลูกค้าต้องวางเงินดาวน์บ้านสูงขึ้น มีโอกาสกู้สินเชื่อไม่ผ่านสูงขึ้น นำมาสู่ยอดขายที่ตกต่ำลง

    อีก 10 ปีข้างหน้าจะกลับมาสดใสได้หรือไม่?

    การสะดุดครั้งนี้จะเป็นเรื่องชั่วคราว หรืออสังหาฯ จะเข้าสู่ช่วงการเติบโตช้าลงต่อเนื่อง? TDRI ได้ประเมินตลาดอสังหาฯ ในช่วงปี 2562-2570 คาดว่าตลาดอสังหาฯ จะโตในกรอบ 1.5-3.0% ในขณะที่จีดีพีประเทศเชื่อว่าจะโต 2.1-3.7% เห็นได้ว่า กรอบการเติบโตภาคอสังหาฯ น่าจะต่ำกว่าจีดีพีประเทศ

    เนื่องจาก TDRI ประเมินว่า ประชากรวัยทำงานในอนาคตจะหดตัวลงเฉลี่ย 0.57% ต่อปี ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง และจีดีพีประเทศที่อาจเติบโตลดลงจากปัจจุบัน ยิ่งทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านของประชาชนลดลงไปด้วย

    อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยความหวังที่อาจช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ ได้คือ กำลังซื้อของชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถถือครองกรรมสิทธิ์อาคารชุดได้ โดยพบว่า เมื่อปี 2560 มีต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯ คิดเป็น 27% ของอสังหาฯ รวมทั้งประเทศ มูลค่าเม็ดเงินสูงถึง 71,000 ล้านบาท โดย Top 3 สัญชาติที่โอนคอนโดฯ มากที่สุดคือ จีนฮ่องกง อเมริกัน และสิงคโปร์ ขณะที่ผู้ซื้อจีนแผ่นดินใหญ่มีการเติบโตขึ้นรวดเร็วและขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 แทนที่ชาวอังกฤษ

    แต่ทั้งนี้ ต้องจับตามองอนาคตเศรษฐกิจโลกด้วยว่าจะเอื้อให้ชาวต่างชาติมีกำลังทรัพย์เข้ามาลงทุนอสังหาฯ หรือไม่ และในอีกมุมหนึ่ง หากมีกำลังซื้อชาวต่างชาติเข้ามาเสริมก็จะทำให้ราคาอสังหาฯ แพงขึ้นจนคนไทยซึ่งเป็นตลาดหลักเอื้อมถึงยากเช่นกัน

    จะเกิดอะไรขึ้นในปี 2563

    มองภาพระยะยาวไปแล้ว สำหรับปีหน้านั้น DDproperty ยังมองบวกเมื่อเทียบกับปีนี้ โดย เชื่อว่าอสังหาฯ จะกลับมาเติบโตได้ 5-7% เนื่องจากรัฐบาลมีการออกนโยบายกระตุ้นมา 2 ระลอก ทั้งการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือรายการละ 0.01% ยาวจนถึงสิ้นปี 2563 และมีมาตรการบ้านดีมีดาวน์ช่วยคืนเงินค่าดาวน์บ้านให้ 50,000 บาท ที่ให้จนถึง 31 มี.ค. 63 รวมถึงเลื่อนการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายฉบับใหม่ไปบังคับใช้ 1 ม.ค. 64 แทน

    แต่ก็ต้องจับตาท่าทีของภาครัฐเรื่องนโยบายการเงินด้วย เพราะ ธปท. เคยแย้มว่ามีแผนจะปรับลดสัดส่วน DSR ในการกู้สินเชื่อบ้านลงมา หากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับสูง (ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 78.7% ของจีดีพี)

    ในแง่การพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการ DDproperty ประเมินว่า ผู้ประกอบการจะยังระมัดระวังการเปิดโครงการใหม่ โดยจะเน้นเปิดตัวโครงการกลุ่มกลาง-บนเป็นหลักเพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่า ดังนั้นซัพพลายใหม่ๆ ในปีหน้าน่าจะอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) และตามแนวรถไฟฟ้าเปิดใหม่ต่างๆ.

     

    ]]>
    1255376