TOSHIBA – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 08 Feb 2024 11:26:59 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ยักษ์หลับกลับมาแล้ว! ‘โตชิบา’ ทุ่มงบสร้างแบรนด์เพิ่ม 3 เท่า พร้อมใช้ ‘พรีเซ็นเตอร์’ ในรอบ 10 ปี หวังซื้อใจวัยรุ่น https://positioningmag.com/1461980 Thu, 08 Feb 2024 07:15:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461980 นับตั้งแต่ปี 2016 ที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Midea Group ทุ่มเงิน 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อหุ้น 80.1% ในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวของ โตชิบา ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โตชิบาเลยเหมือนอยู่ในช่วงจัดระเบียบใหม่ แต่เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี โตชิบาก็มองว่าถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาทำตลาดอย่างเต็มตัว

คนรุ่นใหม่ก็ต้องเข้าถึง ลูกค้าเก่าก็ต้องรักษา

“โตชิบานำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” สโลแกนที่คนไทยอายุ 30+ น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่สำหรับคนรุ่นใหม่นั้นอาจจะได้ยินมาผ่าน ๆ เพราะปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของ โตชิบา (Toshiba) ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีอายุโดยเฉพาะ Gen X (42-56 ปี) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต โตชิบาจึงมองว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ Gen Y (27-41 ปี), Gen Z (12-26 ปี) และ Alpha (อายุต่ำกว่า 11 ปี) เป็นกลุ่มที่โตชิบาต้องการขยายไป เพราะทั้ง 3 กลุ่มรวมกันคิดเป็น 53% ของประชากรไทย

สัดส่วนประชากรไทยที่เป็นกลุ่ม Gen X ขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 47% ของประชากรไทย 65 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นลูกค้าหลักของโตชิบา เราก็ต้องรักษาไว้ แต่กลุ่มที่โตชิบาต้องเข้าถึงให้ได้ก็คือ คนรุ่นใหม่” ธัญปภัสส์ อริยะวรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าว

ใช้พรีเซ็นเตอร์ในรอบ 10 ปี

ธัญปภัสส์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมโตชิบามีจุดอ่อนเรื่องโฆษณา ขณะที่คู่แข่งมีความแข็งแรงในการสร้างแบรนดิ้ง โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่มีสมาร์ทโฟน ทำให้เป็นที่จดจำได้ง่ายกว่า ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ซื้อ ทำให้จากการสำรวจพบว่าช่วงวัยที่รู้จักโตชิบาจะเป็นช่วง 30 ปลาย ๆ และกลุ่ม 40+ จะเป็นกลุ่มลูกค้า ส่วนเด็ก ๆ จะรู้จักในมุมเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองใช้

ดังนั้น ปีนี้โตชิบาได้เพิ่มงบการตลาดเป็น 15% ของยอดขาย สูงสุดในรอบ 10 ปี และใช้งบกับการสร้างแบรนด์เพิ่มขึ้น 3 เท่า ทำให้ปีนี้โตชิบาได้ดึง หมาก ปริญ สุภารัตน์ มาเป็น พรีเซ็นเตอร์คนใหม่ในรอบ 10 ปี เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ ความเชื่อมั่น และเข้าถึงผู้บริโภคทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

โดยโตชิบาจะใช้สื่อแบบ 360 องศา ทั้งสื่อทีวี, สื่อ, นอกบ้าน (Out of Home) ไม่ว่าจะเป็นป้าย Billboard ทั่วไทย และสื่อบนรถไฟฟ้า, สื่อสิ่งพิมพ์ ณ จุดขาย และสื่อออนไลน์ที่จะใช้ Influencers/KOLs มารีวิวสินค้าอีกด้วย นอกจากนี้ จะมีซีซันนอลแคมเปญ, การปรับโฉมหน้าร้านใหม่ 55 สาขา และสร้าง Experience Store สินค้าในหมวด IoTs อีก 10 แห่ง และสุดท้าย ส่งแคมเปญขอบคุณลูกค้ามูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท

“ที่ต้องมีพรีเซ็นเตอร์เพราะเรามองว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและ Remind แบรนด์ได้ง่ายขึ้น และที่เราเลือกคุณหมากก็เพราะต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิมและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งหมากอยู่ตรงกลางพอดี อีกทั้งบุคลิกก็ดูเป็นผู้ชายอบอุ่น ชอบเทคโนโลยีซึ่งสะท้อนความเป็นโตชิบาได้ดี” ธัญปภัสส์ อธิบาย

สินค้าใหม่ 52 รายการ เน้น Mid-High

อีกจุดที่จะทำให้เข้าหาผู้บริโภคที่เด็กลงก็คือ สินค้า โดยปีนี้โตชิบามีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ทั้งหมด 52 รายการ จากปีที่ผ่านมามีสินค้าใหม่ประมาณ 30-40 รายการ โดยปีนี้จะยังคงเน้นที่กลุ่ม Mid-High เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่โตชิบายังมีไม่เยอะ อีกทั้งมองว่าคนรุ่นใหม่ชอบเทคโนโลยี แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ดีไซน์ เพราะปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไม่ได้มองเรื่องความแข็งแรงทนทานเป็นหลัก แต่มองว่าดีไซน์สวยเข้ากับบ้านไหม

“คนสมัยก่อนจะเน้นซื้อที่ความทนทาน แต่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ชอบดีไซน์สวย ใช้งานหลากหลาย ดังนั้น สินค้ากลุ่ม Mid-High จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเรากับคนรุ่นใหม่ได้ เพราะเขาต้องการสินค้าที่ช่วยให้เขาสะดวกสบายมากขึ้น และตอนนี้เขามองเป็นเฟอร์นิเจอร์ ฟีเจอร์จะยังไงก็แล้วแต่ แต่ต้องสวย สวยก่อน อย่างอื่นค่อยตามมา” เอกดนัย ตันติภูมิอมร ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ กล่าว

ทั้งนี้ โตชิบาตั้งเป้าเพิ่มยอดขายในกลุ่ม Mid-High ขึ้น 2 เท่า โดยสินค้าที่จะใช้เปิดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ ตู้เย็น และสินค้าในหมวด Cooking โดยเฉพาะ ไมโครเวฟ เพราะในช่วง COVID-19 คนรุ่นใหม่หันมาเข้าครัวมากขึ้น และปัจจุบันผู้บริโภค ลงทุนในห้องครัวเป็นอันดับ 1 มากกว่าห้องรับแขก

ตั้งเป้าโต 20% เพราะมั่นใจในศักยภาพ

อเล็กซ์ มา รองประธานบริษัท กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่และเล็กของประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าราว 76,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10% ส่วนโตชิบาสามารถเติบโตสูงกว่าตลาดที่ 15% โดยแบ่งเป็นการเติบโต ดังนี้

  • ตู้เย็น +4.3%
  • เครื่องซักผ้า +16.1%
  • เตาอบไมโครเวฟ +37.5%
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก +18.1%
  • สินค้าเกี่ยวกับน้ำ เช่น เครื่องกรองน้ำ, เครื่องทำน้ำอุ่น +14.8%
  • กลุ่มเครื่องปรับอากาศ +127.6%

“เครื่องปรับอากาศเติบโตมากสุดเนื่องจากฐานเรายังเล็ก มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดขาย ส่วนตู้เย็นคิดเป็นรายได้ 45% ตามด้วยเครื่องซักผ้า 25% ที่เหลือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งในปีนี้เราคาดว่าตู้เย็นและเครื่องซักผ้าจะเป็น 2 กลุ่มหลักที่สร้างรายได้ให้กับโตชิบา”

สำหรับปีนี้คาดว่าตลาดจะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 2-3% ตามการเติบโตของ GDP ไทย อย่างไรก็ตาม โตชิบาตั้งเป้าเติบโต 20% เนื่องจากแบรนด์มีสินค้าครบ นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้น่าจะดีขึ้น เพราะเห็นสัญญาณบวกจากโครงการ Easy E-Receipt ที่ช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าโต 5-10% ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการกลับมาสร้างแบรนด์จะช่วยให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

“เราเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้ เพราะนับตั้งแต่โควิดเราโตได้เฉลี่ย 11% แปลว่าเรามีฐานที่ดี อีกทั้งเรามีซัพพลายเชนที่แข็งแรงเพราะมีโรงงานในไทย 4-5 โรงงาน ช่วยให้สินค้าสามารถทำราคาได้ดี เฮดควอเตอร์ก็ซัพพอร์ตเยอะ เพราะไทยถือเป็นประเทศที่สำคัญในภูมิภาค และด้วยสินค้าก็มีครบทุกกลุ่มรวมถึงมีพรีเซ็นเตอร์”

]]>
1461980
‘โตชิบา’ เติมสินค้า ‘Mid-High’ ลุยตลาดครึ่งปีหลังหวังโต 15% แง้มกำลังศึกษาตลาด ‘แอร์’ น่านน้ำใหม่ในอนาคต https://positioningmag.com/1442038 Wed, 23 Aug 2023 06:55:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1442038 “โตชิบานำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” สโลแกนที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะ โตชิบา (Toshiba) อยู่ในตลาดไทยมานานเกือบ 55 ปีแล้ว แม้ปัจจุบันในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะถูกขายให้กับ ไมเดีย กรุ๊ป (Midea Group) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีน อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยจะติดลบในช่วงครึ่งปีแรก แต่โตชิบายังเติบโตได้ และภายในครึ่งปีหลังนี้บริษัทก็ตั้งเป้าที่จะรักษาการเติบโต 15% นี้ให้ได้

เติมเต็มกลุ่ม Mid-High เพราะได้ Knowhow จาก Midea

ย้อนกลับไปปี 2016 ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติจีนอย่าง Midea Group ได้ทุ่มเงิน 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อหุ้นถึง 80.1% ในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวของ โตชิบา พร้อมได้สิทธิ์ในการใช้แบรนด์โตชิบาในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนเป็นเวลา 40 ปี

สำหรับ โตชิบา ไทยแลนด์ ที่ทำตลาดในไทยเป็นเวลา 55 ปีเต็ม ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นไทย 54% ไมเดีย กรุ๊ป 36.8% และโตชิบา คอร์ป ญี่ปุ่น 9.2% โดย กนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธาน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ อธิบายว่า ในอดีตจุดแข็งของโตชิบาในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอยู่ที่กลุ่ม Entry แต่สินค้าในกลุ่มพรีเมียมยังมีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้าต่ำ อย่างไรก็ตาม การที่มีไมเดียเป็นพาร์ทเนอร์จะยิ่งช่วยให้โตชิบาสามารถรุกกลุ่ม Mid-High ได้ดีมากขึ้น

“ในวันที่โตชิบาเป็นญี่ปุ่นจ๋า ด้วยความละเอียดอ่อนของ R&D ทำให้การออกสินค้าตัวหนึ่งใช้เวลา 2 ปี พอมีพาร์ตเนอร์ใหม่ทำให้มีความเร็วขึ้นมาก ออกสินค้าใหม่ได้ภายใน 6-8 เดือน ดังนั้น มันเป็นการเติมเต็มกลุ่มที่โตชิบาขาดหายไปในอดีต”

โดยโตชิบามองว่ากลุ่ม Mid-High จะเป็นทิศทางในการเติบโตในอนาคตของแบรนด์ เนื่องจากเทรนด์กำลังไปในทิศทางดังกล่าว นอกจากนี้ การแข่งขันก็น้อยกว่าในกลุ่ม Entry ที่มีแบรนด์หน้าใหม่เข้ามาทำตลาดเยอะ และเน้นที่ราคามากกว่าคุณภาพ อย่างไรก็ตาม การที่โตชิบาจะเติบโตในกลุ่ม Mid-High ได้ กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ

“ใคร ๆ ก็อยากมาทำตลาด Mid-High เพราะกำไรดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กำลังซื้อผู้บริโภคก็เป็นปัจจัยสำคัญ ส่วนตลาด Entry นอกจากแบรนด์ใหญ่ด้วยกันยังต้องเจอสินค้าจีนไม่มีแบรนด์ มันส่งผลกระทบกับตลาดแน่นอน เพราะมีบางคนที่อยากลองเพราะมันถูก แต่จะขายแค่ช่วงแรกเท่านั้น”

ครึ่งหลังส่งสินค้าอีก 39 รายการลงตลาด

อเล็กซ์ มา รองประธาน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกโตชิบามีได้ส่งสินค้าใหม่ทำตลาดจำนวน 31 รายการ ซึ่ง เครื่องซักผ้าและตู้เย็น ถือเป็น 2 กลุ่มสินค้าที่เติบโตมากที่สุด และทั้ง 2 กลุ่มสินค้าถือเป็นัดส่วนหลักที่ทำให้ยอดขายของโตชิบาเติบโต 15%

ในครึ่งปีหลัง บริษัทตั้งเป้าที่จะรักษาการเติบโต 15% โดยจะส่งสินค้าใหม่ลงตลาด 39 รายการ เน้นกลุ่ม Mid-High และมีฟังก์ชัน IOTs รวมทั้งปีมีสินค้าทั้งหมด 208 รายการ ที่ทำตลาดในปี 2023 โดยในครึ่งปีหลังนี้สินค้าที่จะเน้นยังเป็น ตู้เย็น ซึ่งปัจจุบันตู้เย็นคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัทและเป็นเบอร์ 1 ในตลาดไทย

นอกจากสินค้าแล้ว โตชิบายังคงเน้นหนักที่การตลาด โดยยังคงเน้นสร้างการรับรู้ของแบรนด์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การรีวิวสินค้าผ่าน KOLs ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ, การทำโรดโชว์ รวมถึงใช้สื่อ Out of Home นอกจากนี้ ในเทศกาล 11.11, 12.12 บริษัททุ่มงบการตลาดเพิ่ม 20% โดยตั้งเป้าเติบโต 30% ในช่องทางออนไลน์ ปัจจุบัน ออนไลน์คิดเป็น 5% ของยอดขายทั้งหมด

จะเริ่มลุยตลาดแอร์ในอนาคต

สำหรับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยในช่วงครึ่งปีแรกไม่นับทีวีมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท เติบโต 14% โดย Major Appliances เช่น เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า มีมูลค่า 34,000 ล้านบาท ส่วน Small Appliances หรือเครื่องไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น ไมโครเวฟ, หม้อหุงข้าว, ทำน้ำอุ่น มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เครื่องปรับอากาศ ถือเป็นส่วนที่เติบโตมากที่สุดถึง 36% ดังนั้น ถ้าตัดเครื่องปรับอากาศออกไป ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะติด ลบ -1% โดยโตชิบายอมรับว่า การที่แบรนด์ไม่ได้เน้นที่ตลาดเครื่องปรับอากาศเลย ทำให้ บริษัทเสียโอกาสที่จะเติบโต ไป

ดังนั้น โตชิบาจึงเริ่มวางแผนที่จะ เน้นที่เครื่องปรับอากาศมากขึ้นในอนาคต โดยล่าสุด บริษัทแม่ได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศมูลค่า 5,000 ล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โดยสามารถผลิตได้ 4 ล้านเครื่อง/ปี ปัจจุบันเน้นส่งออกในตลาดเอเชียและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เซกเมนต์เครื่องปรับอากาศนั้นไม่ง่าย เพราะมีผู้เล่นใหม่ ๆ มากขึ้น ดังนั้น ต้องวางวางกลยุทธ์ให้ดี

ไทยยังมีศักยภาพตั้งโรงงานได้อีก

สำหรับโรงงานที่นิคมปิ่นทองมีการจ้างงาน 2,000 คน ซึ่ง กนิษฐ์ ย้ำว่า บริษัทแม่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ดังนั้น บริษัทแม่มีแผนที่จะลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่บริษัทก็ไม่มีความกังวล ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไหนก็ตามที่เข้ามาจะทำเพื่อประเทศ

“กำลังซื้อครึ่งปีแรกอาจยังไม่ดีนัก หรือภาคส่งออกที่ดูเหมือนไม่ดี แต่ถือว่าไทยดีที่สุดเมื่อเทียบกับในภูมิภาค และการท่องเที่ยวก็ดีขึ้น รายได้ก็กระจายสู่ชุมชน ดังนั้น เรายังเชื่อมั่นในศักยภาพไทย เราผ่านมา 55 ปีแล้ว การตั้งรัฐบาลไม่ได้มีข้อกังวลเลย โดยเฮดควเตอร์ยังมองไทยเป็นจุดหลัก และมีศักยภาพในการลงทุนตั้งโรงงานได้อีก”

]]>
1442038
“ซาโตชิ สึนาคาวะ” อดีตซีอีโอ ผู้มอง “โตชิบา” เสี่ยงเกินไปที่จะปรับโครงสร้างเป็นเอกชน! https://positioningmag.com/1376861 Wed, 09 Mar 2022 14:00:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376861 หากยังจำกันได้ โตชิบา (Toshiba Corp.) เคยเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเมื่อ ก.ค. 2015 จากเหตุการณ์ประธานและผู้บริหารระดับสูงอีก 7 คนพร้อมใจยื่นใบลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีการแต่งบัญชีบริษัทให้กำไรเกินจริงมานานหลายปี

กรณีดังกล่าวสร้างผลกระทบสูงเนื่องจากในเวลานั้นประเทศญี่ปุ่นพยายามออกมาตรการมากมายเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนทั่วโลก จนทำให้ต้องมีการเฟ้นตัวซีอีโอมือดี ขึ้นมากู้วิกฤติศรัทธาจากทุกฝ่าย แม้ว่าจะถูกมองเป็นงานหินเพราะโตชิบามีโอกาสสูงที่จะล้มหายและไม่สามารถอยู่รอดต่อไปในโลกธุรกิจยุคหน้า

“ซาโตชิ สึนาคาวะ” เป็นเจ้าชายขี่ม้าขาวผู้ก้าวขึ้นมารักษาการณ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอตั้งแต่ ก.ย. 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียง 3 เดือนหลังจากมรสุมข่าวอื้อฉาวของโตชิบา ภายใต้การนำของสึนาคาวะ โตชิบายังคงมีข่าวชวนปวดหัวอยู่ตลอดเวลา เช่นข่าวปี 2017 ซึ่งบริษัทเปิดเผยยอดขาดทุน 532,000 ล้านเยน (ราว 4,800 ล้านดอลลาร์) สูงกว่าที่เคยประมาณกันไว้ก่อนหน้านี้

แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือการปรับโครงสร้างบริษัท ซึ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของสึนาคาวะที่ต้องการให้แยกธุรกิจโตชิบาออกเป็น 2 บริษัท และฝ่ายคัดค้านที่มองว่าควรแยกเป็น 3 บริษัท ปรากฏว่าความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นจนล่าสุด สึนาคาวะตัดสินใจลาออกเมื่อ 1 มีนาคม 2022

สึนาคาวะจะถูกแทนที่โดยทาโร ชิมาดะ เจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานอาวุโสของโตชิบา ผู้เป็นอดีตผู้บริหารของซีเมนส์ (Siemens) ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะร่วมงานกับโตชิบา ในปี 2018 โดยชิมาดะได้รับเลือกภายใต้การตัดสินใจในการประชุมคณะกรรมการของโตชิบาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 กลายเป็นผู้ที่มารับไม้ต่อ และเผชิญกับความท้าทายในการเดินแผนปรับโครงสร้างหนี้โตชิบาที่ผู้ถือหุ้นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เพราะรายงานชี้ว่าชิมาดะจะมาสนับสนุนแผนของสึนาคาวะเช่นเดิม

Photo : Shutterstock

ความสนุกของเรื่องนี้คือมุมมองที่ต่างกัน สึนาคาวะนั้นเป็นปู่ที่อยู่โยงกับโตชิบามาตั้งแต่ปี 1979 ชั่วโมงบินกว่า 42 ปีบอกสึนาคาวะว่าทางที่ดีที่สุดในการทำให้โตชิบาฟื้นตัวคือการแบ่งบริษัทออกเป็น 2 ไม่ใช่ 3 เพราะโตชิบาเสี่ยงเกินไปที่จะปรับโครงสร้างเป็นเอกชนเต็มตัว

โดยอาจทำให้โตชิบาสูญเสียฐานรายได้ในระบบสาธารณูปโภคและรัฐบาลท้องถิ่นด้วย โดยสึนาคาวะมองไกลถึงขั้นว่าการปรับโครงสร้างที่ไม่เหมาะสม อาจจะทำให้โตชิบาถูกบังคับให้ขายเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ รวมถึงเทคโนโลยีซีเคียวิรตี้เพื่อป้องกันประเทศและความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็ได้

หลายคนไม่สงสัยว่า ทำไมสึนาคาวะต้องตัดสินใจลาออก ทั้งที่วิสัยทัศน์ของเขาก็ฟังดูดี เหตุผลคือเพราะไอเดียของสึนาคาวะจะทำให้โตชิบาไม่คืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร ภาวะนี้ผู้ถือหุ้นรับไม่ได้ และมองว่าเป็นการขาดความรับผิดชอบในการจัดการแก้ปัญหาที่ผู้ถือหุ้นต้องเผชิญ

เมื่อรับไม่ได้ นักลงทุนจึงไม่เชื่อมั่นในการบริหารสึนาคาวะ ภาวะการขาดเสถียรภาพทำให้ต้องมีการหา “เลือดใหม่” ขึ้นมาเป็นกันชน แทนสึนาคาวะที่ถือหุ้นในโตชิบาราว 508 ล้านหุ้น

แบ่ง 2 ดีกว่าแบ่ง 3?

จุดแตกหักที่ทำให้สึนาคาวะไม่สามารถอดทนนั่งเก้าอี้ซีอีโอต่อไปได้ คือการประกาศผลโหวตของบอร์ดบริหารโตชิบาที่เลือกการปรับโครงสร้างเพื่อแบ่งบริษัทออกเป็น 2 ส่วน แทนที่จะเป็น 3 ส่วนเหมือนที่เคยแจ้งต่อผู้ถือหุ้น โดยบริษัทหนึ่งจะเน้นที่โครงสร้างพื้นฐาน และอีกบริษัทโฟกัสที่ธุรกิจอุปกรณ์ และวางแผนจะลดภาระธุรกิจเครื่องปรับอากาศในสหรัฐฯ ผ่านการขายให้บริษัทแคร์เรียร์ (Carrier Global Corporation) ของสหรัฐฯ ในราคาประมาณ 1 แสนล้านเยน (870 ล้านดอลลาร์) เพื่อชดเชยผู้ถือหุ้นต่างชาติที่คัดค้านแผนฟื้นฟูนี้

การเปลี่ยนจากแผนแยก 3 มาเป็นแผนแยก 2 ถือเป็นจุดพลิกผันล่าสุดในการต่อสู้ระหว่างโตชิบาและผู้ถือหุ้นต่างชาติ ซึ่งมีทั้งนักเคลื่อนไหวและกองทุนป้องกันความเสี่ยง ทุกผ่ายรู้ดีว่าการแยกบริษัทออกเป็น 2 ส่วนจะทำให้โตชิบาประหยัดเงินได้มากกว่าที่จะสามารถคืนให้ผู้ถือหุ้นได้ โดยแผนนี้จะต้องผ่านการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่จะมีการลงคะแนนเสียงตามแผนการปฏิรูปในวันที่ 24 มีนาคม 2022

ก่อนการประชุมนัดสำคัญจะเริ่ม สึนาคาวะตัดสินใจลงจากตำแหน่งเพื่อให้โตชิบามีภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดขึ้น ที่ผ่านมา โตชิบาเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดของญี่ปุ่น ตัวองค์กรก่อตั้งในปี 1875 เป็นบริษัทที่บุกเบิกการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากมายตั้งแต่หม้อหุงข้าวไฟฟ้าไปจนถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้ โตชิบายังเป็นแบรนด์ที่คิดค้นหน่วยความจำแฟลช แม้ว่าแผนกนี้จะถูกขายออกไปแล้วในช่วงการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการดิ้นรนให้อยู่รอดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในมีนาคม 2011 มหันตภัย สึนามิทำลายเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องจนแผ่รังสีไปทั่วพื้นที่ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นเขตห้ามเข้าบางส่วนด้วย

สำหรับการลาออกของสึนาคาวะ วัย 66 ปี และการรับช่วงต่อของชิมาดะ วัย 55 ปี จะเป็นการรักษาการณ์ชั่วคราว โดยคณะกรรมการบริษัทวางแผนจะติดตามผลการปฏิบัติงานของชิมาดะ และจะมีการเสนอชื่อแต่งตั้งผู้สมัครจากภายนอกแทน โดยสึนาคาวะจะยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทต่อไป

ในขณะที่ชิมาดะยืนยันว่าจะมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการพิจารณาแยกบริษัทออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นทางเลือกในการขายธุรกิจให้กับไพรเวทอิควิตี้ ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางเดียวกับสึนาคาวะ ผู้เป็นแกนนำของฝ่ายบริหารซึ่งไม่เต็มใจที่จะทำตามทางเลือกที่นักลงทุนเสนอ และมองความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่นมากกว่า

ดูเหมือนว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นจะรับรู้ได้ หลังจากที่สึนาคาวะกล่าวย้ำในการให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า การปรับโครงสร้างให้โตชิบาเป็นบริษัทเอกชนเต็มรูปแบบนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะ “อยู่ไม่รอด” คำให้สัมภาษณ์นี้ส่งให้มูลค่าหุ้นโตชิบาเพิ่มขึ้นมากถึง 5% ซึ่งเป็นมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปีที่แล้ว

ฮิเดกิ ยาสุดะ นักวิเคราะห์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเจแปนไทมส์ ว่าการผันผวนของหุ้นโตชิบา แสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโตชิบาไม่ชอบความคิดที่จะแยกบริษัทออกไป ไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 3 ส่วน คาดว่ามูลค่าหุ้นนี้เพิ่มขึ้นตามโอกาสที่โตชิบาจะหันไปทำธุรกิจแบบเฉพาะทางมากขึ้น

ถึงจุดนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าการคัดค้านการปรับโครงสร้างโตชิบาของสึนาคาวะจะออกผลหรือไม่ และอาจต้องยกให้เป็นผลงานของสึนาคาวะ ที่ช่วยให้โตชิบาไม่ต้องสูญเสียฐานตลาดในระบบสาธารณูปโภคและรัฐบาลท้องถิ่นไป รวมถึงในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือโตชิบาจะไม่ต้องถูกบังคับให้ขายเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน เพียงแต่ว่าสึนาคาวะจะต้องลงจากตำแหน่งไปพัก และหลีกทางให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมานำทางโตชิบาแทน

ที่มา :japantimes, hurriyetdailynews, bloomberg, 

]]>
1376861
‘โตชิบา’ ปักหมุดสู่ Top 3 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย ขยายออนไลน์จับ ‘คนรุ่นใหม่’ https://positioningmag.com/1374380 Fri, 18 Feb 2022 09:27:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374380 กางเเผน ‘โตชิบา ไทยแลนด์’ กับจุดมุ่งหมายสู่ Top 3 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย ท้าชิงตำเเหน่งเบอร์หนึ่งกลุ่มตู้เย็น รุกหนัก Digital Marketing ขยายฐานออนไลน์จับ Young Generation มองกำลังซื้อตลาดบน ‘พร้อมจ่าย’ หากสินค้าตอบโจทย์เเละมีคุณภาพ 

จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เติบโต กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง รวมไปถึงค่าครองชีพที่แพงขึ้น ทำให้ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเทศไทย ที่มีมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตคงที่

เมื่อเเยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่าสินค้าที่เป็น Major Appliance หรือกลุ่มสินค้าชิ้นใหญ่ อย่างครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มีการเติบโตเพียง 1% ขณะที่สินค้าชิ้นเล็ก หรือ Small Appliance มีอัตราการเติบโตติดลบ 4%

ส่วนช่องทางการขายสินค้าผ่าน Online มีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่ฝั่ง Offline ติดลบจากมาตรการล็อกดาวน์ที่จำกัดการเดินทาง

-ข้อมูลจาก บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด

เป้าหมายสู่ Top 3 ท้าชิงเเชมป์กลุ่มตู้เย็น 

ฮิโรยูกิ ทากาเสะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวถึงผลการดำเนินงานของโตชิบา ไทยแลนด์ว่าสามารถเติบโตกว่าตลาด โดยมีอัตราการเติบโตภาพรวมกว่า 17%

ถ้าแยกดูแต่ละหมวด จะพบว่าสินค้ากลุ่ม Major Appliance ของโตชิบาโตประมาณ 18% และกลุ่ม Small Appliance โตประมาณ 15%

ส่วนช่องทางการขาย Online กับ Offline เติบโตทั้งคู่ แต่การขายสินค้าผ่าน Online มีเปอร์เซ็นต์การเติบโตที่สูงกว่า Offline

เป้าหมายระยะยาวของเรา คือการเป็น Top 3 แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มียอดขายสูงสุดในไทย และเป็นเบอร์ 1 แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น

ส่วนเป้าหมายระยะสั้น ปีนี้โตชิบา ต้องการยอดขายเติบโตต่อเนื่อง ‘ดับเบิลดิจิตและต้องการขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในหมวดตู้เย็น (ปัจจุบันอยู่อันดับ 2)

ขณะที่ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเทศไทย ปีนี้น่าจะเติบโตราว 4-5% โดยโตชิบาครองส่วนเเบ่งการตลาดในทุกผลิตภัณฑ์ ปีที่เเล้วอยู่ที่ราว 5-6% เป็นเบอร์ 4-5 ในตลาด ส่วนปีนี้ตั้งเป้าจะขยับไปที่ 8-7% เป็นเบอร์ 4 ของตลาดให้ได้

ด้านปัจจัยเรื่องกำลังซื้อ ยังอิงสถานการณ์โควิดเป็นหลัก คาดว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง ผู้คนก็จะออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยผู้บริโภคกลุ่มบนยังมีกำลังซื้อ เเต่บางส่วนยังเก็บเงินไว้ก่อน เเต่หากมีเทคโนโลยีใหม่ตอบโจทย์ลูกค้าก็จะยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมลงทุนกับสินค้าที่เพิ่มความปลอดภัย อำนวยสะดวกในการทำงานที่บ้าน

รุก Digital Marketing ชูพรีเมียม ไม่ลงเเข่งด้านราคา 

นอกจากนี้ ยังจะมุ่งไปที่การสร้างแบรนด์ Brand Awareness เข้าถึงผู้คนทุกวัย เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยและน่าเชื่อถือ ให้ตอบรับกับผู้บริโภคกลุ่มเดิมและขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่

เเบรนด์ต่างๆ หันมาทำการตลาดแบบ Digital Marketing มากขึ้นจากกระเเสเทรนด์ทั่วโลก และในไทยมีการเติบโตที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาด้วยสถานการณ์โควิดที่เร่งให้มีการรับรู้ เข้าถึงสินค้า รวมถึงการสั่งซื้อผ่านช่องทางดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซที่มากขึ้น

ในปี 2565 นี้โตชิบา ไทยแลนด์วางเเผนจะทุ่มงบการทำตลาดดิจิทัลมากขึ้นจากเดิม 16% ให้เป็น 22% พร้อมเพิ่มจำนวนไลน์อัพสินค้าใหม่ให้มีความหลากหลาย

โดยจะมีการพัฒนาเว็บไซต์โตชิบาให้ทันสมัย ข้อมูลครบถ้วน และใช้งานง่ายยิ่งขึ้น การให้ความสำคัญกับการสร้าง Content ที่น่าสนใจรวมถึงรีวิว มุ่งสร้างฐานแฟนเพจ รวมถึงการทำกิจกรรมบนเเพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมต่างๆ

รวมไปถึงจะมีการย้ายคลังสินค้าไปที่แห่งใหม่ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าเดิม 2 เท่า มีพื้นที่การจัดเก็บเพิ่มขึ้นถึง 75% นำเทคโนโลยีใหม่จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ในการบริหารพื้นที่ ให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ามีผลิตภัณฑ์วางขาย เเม้สินค้านั้นจะขาดตลาด

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้รวมที่มาจากช่องทางออนไลน์ของโตชิบาอยู่ที่ราว 5% ของยอดขายทั้งหมด เเละปีนี้ตั้งเป้าขยับไปที่ 8-10% ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้ออฟไลน์เติบโตควบคู่กันไป

การเเข่งขันในตลาดจะขยับไปสู้กันบนสนามอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เเละมีความยากมากขึ้น หลายเเบรนด์ต้องพิจารณาต้นทุนสินค้า บาลานซ์ระหว่างราคาสินค้าเเละกำไร เราจะขอเเข่งในด้านคุณภาพเเละความพรีเมียม ไม่เเข่งขันกันเรื่องราคาเหมือนตลาดในช่วง 2-3 ปีก่อน

จับตลาด Mid to High สินค้าใหม่ 50 รุ่น 

สำหรับสินค้าใหม่ที่จะมาเป็นไฮไลต์เด็ดของปีนี้ โตชิบามีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ 50 รุ่น แบ่งเป็นตู้เย็น 13 รุ่น เครื่องซักผ้า 11 รุ่น และสินค้ากลุ่ม Small Appliance เช่น ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดฝุ่น ตู้กดน้ำ รวม 26 รุ่น ทั้งนี้ จะเน้นไปที่สินค้ากลุ่ม Middle to High และ IoT มากขึ้น

เราจะเน้นทำการทำตลาดในกลุ่มระดับ ‘Mid to High’ มากขึ้น ดีไซน์ที่สวยงามหรูหรา มีฟังก์ชันที่เเก้ Pain Point จากการใช้งานในชีวิตจริงไว้ทั้งหมดในเครื่องเดียว ที่สำคัญต้องประหยัด ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้กับลูกค้าได้ธัญปภัสส์ อริยะวรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัทโตชิบาไทยแลนด์ จำกัด กล่าว

โดยมีสินค้า 5 ประเภทที่เพิ่งเปิดตัว ประกอบด้วย ตู้เย็น 2 ประตูขนาดเล็กที่มีช่องกดน้ำดื่มที่ประตู, เครื่องดูดฝุ่นไร้สายที่มาพร้อมระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ, เครื่องกดน้ำร้อนน้ำเย็นชนิดที่มีระบบ UV ฆ่าเชื้อ, เครื่องซักผ้าฝาหน้าแบบ 2 ถังบนล่างที่แยกการทำงานกันชัดเจน และเครื่องฟอกอากาศขนาดกะทัดรัดที่มีระบบฟอกอากาศ และดักจับฝุ่นและเชื้อโรคได้เล็กถึงขนาด 0.3 ไมครอน.

มองปีนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว 

ด้านกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทำให้เกิดความไม่เเน่นอนในทุกๆ ด้าน ธุรกิจต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนเเปลง

โดยต้องมองเป็นวิกฤตให้เป็นโอกาส ชีวิตต้องเดินหน้า กลับมาคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรให้ธุรกิจดำเนินไปได้ โดยในปีที่ผ่านมา โตชิบาได้หันมามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ เเละใช้โอกาสนี้พัฒนาคู่ค้าพนักงาน เสริมสร้างกำลังใจ จัดสัมมนาออนไลน์ในองค์กร รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางค้าขายออนไลน์ปรับปรุงระบบหลังบ้านเเละเครือข่ายโลจิสติกส์

ส่วนในปี 2565 สถานการณ์ยังมีความไม่แน่ยอน แต่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น ปีนี้จึงต้องวางเเผนให้รัดกุมเเละมีการทำการตลาดใหม่ๆ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย เชื่อว่าโตชิบาจะก้าวขึ้นสู่ Top 3 ในตลาดได้ในไม่ช้า หลังมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี พร้อมคงคอนเซ็ปต์นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต

พระอาทิตย์ยังขึ้นใหม่ได้เสมอในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

]]>
1374380
สุดล้ำ! “โตชิบา” พัฒนาเครื่องตรวจหามะเร็งด้วยเลือดเพียงหยดเดียว แม่นยำ 99% https://positioningmag.com/1254924 Wed, 27 Nov 2019 04:06:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254924 บริษัทแดนปลาดิบ “โตชิบา” ระบุว่าพวกเขาได้พัฒนาเครื่องตรวจหามะเร็ง 13 ชนิด โดยใช้เพียงแค่เลือดหยดเดียว แถมยังมีความแม่นยำสูงถึง 99%

โตชิบาได้พัฒนาเครื่องวินิจฉัยโรคดังกล่าวร่วมกับสถาบันศูนย์วิจัยโรคมะเร็งแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว คาดหวังว่าจะสามารถจำหน่ายเครื่องตรวจนี้ในเชิงพาณิชย์ได้ในอีกไม่กี่ปี หลังจากเริ่มทดลองใช้ในปีหน้า

โตชิบาเชื่อว่าความสามารถในการตรวจหามะเร็งของเครื่องนี้จะช่วยยกระดับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้

เครื่องนี้ถูกออกแบบมาให้ตรวจสอบไมโครอาร์เอ็นเอ โมเลกุล ที่อยู่ในเลือดจากเซลส์มะเร็ง ซึ่งนอกจากโตชิบายังมีบริษัทอื่นๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีตรวจหามะเร็งด้วยการใช้ไมโครอาร์เอ็นเอ โมเลกุล จากตัวอย่างเลือดด้วยเช่นกัน

โคจิ ฮาชิโมโตะ หัวหน้าทีมนักวิจัยวิทยาศาสตร์ จากแล็บวิจัยของโตชิบา ระบุว่า หากเทียบกับของบริษัทอื่นแล้ว ของโตชิบามีความแม่นยำสูงกว่าในการตรวจหามะเร็ง รวมถึงใช้เวลาและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

จะมีการทดสอบใช้ตรวจหามะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ปอด ตับ ระบบทางเดินน้ำดี ตับอ่อน ลำไส้ รังไข่ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ ทรวงอก รวมถึงสามารถตรวจหามะเร็งมดลูกซาร์โคมาและเนื้องอกกลิโอมาในสมอง

โตชิบาได้พัฒนาชิปและอุปกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถดำเนินการตรวจหามะเร็งได้ในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง และมีค่าใช้จ่ายเพียง 20,000 เยนหรือต่ำกว่านั้น

ตามแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ 5 ปี ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายน 2019 โตชิบาได้กำหนดให้ธุรกิจการแพทย์ ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์จีโนมและตรวจวินิจฉัยเซลส์ ให้เป็นธุรกิจเสาหลักของบริษัท ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ , แบ็ตเตอร์รี , การแก้ไขปัญหาดิจิตอลด้วยปัญญาประดิษฐ์

Source

]]>
1254924
แอร์ยอดตก อากาศไม่ร้อนพอ Midea แบรนด์จีน หลังคว้าโตชิบาเสริมทัพ หวังดันยอดโต 74% https://positioningmag.com/1203424 Mon, 17 Dec 2018 08:30:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1203424 Thanatkit

เกือบ 10 ปีที่ ไมด้า Midea (ไมเดีย) แบรนด์เครื่องปรับอากาศจากแดนมังกร เข้ามาทำตลาดในไทย ผ่านการตั้งดิสทริบิวเตอร์ในการทำตลาด แม้ว่าปี 2014 บริษัทแม่เข้ามาลุยเอง แต่ Midea ครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 2.2% เท่านั้น

มีสาเหตุราคา Midea ทำได้ไม่ดีพอ เพราะถึงจะมีช่วงราคาวางขายเพียง 10,000 – 25,000 บาท แต่จากภาษีนำเข้าที่สูงถึง 30% เมื่อเทียบกับแบรนด์จีน 4 แบรนด์ ที่ทำตลาดเครื่องปรับอากาศอยู่ตอนนี้ ราคา Midea ถือว่าสูงกว่า

แต่จากการที่ปีนี้ภาษีได้ลดลงเหลือ 5% จะทำให้ Midea เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะมีแผนที่จะปรับราคาลง ขณะนี้ Midea ครองเบอร์ 2 ในกลุ่มแบรนด์จีน เป็นรองเพียงไฮเออร์

สถานการณ์ในเมืองไทยถือว่าแตกต่างจากประเทศบ้านเกิดเป็นอย่างมาก เพราะในจีน Midea มีส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องปรับอากาศกลุ่มใช้ภายในบ้าน 28% โดยเป็นเบอร์ 2 ของตลาด และส่งออก 24% เบอร์หนึ่ง และสำหรับเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ครองส่วนแบ่ง 11.5% และส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 20%

ไมด้า เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจเครื่องปรับอากาศ กลับไม่เติบโตตามเศรษฐกิจที่เติบโตประมาณ 4.1% โดยติดลบ 9.8% ปัจจัยหลัก คืออากาศไม่ร้อนตามที่คาดการณ์ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา และผู้บริโภคใช้จ่ายเงินไปกับปัจจัยที่จำเป็นด้านอื่นๆ ทำให้ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว

แทนที่ภาพรวมตลาดจะติดลบ แต่ Midea คาดว่าจะเติบโต 54% ส่วนหนึ่งเพราะปีนี้ “โตชิบา ไทยแลนด์” ได้เข้ามาดูแลแบรนด์ Midea อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในเรื่องทีมบริหาร การดูแลจัดการทีม รวมถึงบริการหลังการขายที่ใช้ศูนย์บริการเดียวกับโตชิบา รวมถึงให้การรับประกันเพิ่มเป็น 7 ปี ต่างจากแบรนด์อื่นๆ ให้ 5 ปี

การเข้ามาดูแลของ “โตชิบา” เกิดจากดีลที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน ปี 2016 โดย “ไมเดียกรุ๊ป” เข้าซื้อกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนจากบริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น โดยรับสิทธิ์การใช้เครื่องหมายการค้า “โตชิบา” เป็นเวลา 40 ปี

เมื่อปีนี้เป็นไปด้วยดี Midea จึงวางแผนบุกปีหน้าทันที โดยตั้งเป้าเติบโตถึง 74% มาจากกลยุทธ์ 2 ส่วนหลักได้แก่ ข้อแรกการออกสินค้าใหม่ที่เน้นเป็น อินเวอร์เตอร์” ทั้งหมดเพราะผู้บริโภคเริ่มสนใจซื้อมากขึ้น จากราคาที่ไม่ได้ต่างจากรุ่นธรรมดาเพียง 20-30% แต่ประหยัดไฟได้มากกว่า โดยจะส่งเข้าสู่ตลาด 20 รุ่น 5 ซีรีส์

ข้อสอง ทุ่มทุนด้านการตลาดโดยวางแผนจะใช้งบมากกว่า 12% ของรายได้ในการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ โดยเน้นที่จุดแสดงสินค้าที่ด้านหน้าและภายในร้าน กิจกรรมส่งเสริมการขาย การสร้างแบรนด์ผ่านสื่อ above the line การฝึกอบรมพนักงานขายและช่างเทคนิค รวมถึงแพลตฟอร์มการให้บริการซึ่งใช้ศูนย์บริการเดียวกับโตชิบา

ไบรอัน จ้าว (ขวา)

ไบรอัน จ้าว ประธาน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า

“Midea ตั้งเป้าเติบโตถึง 74% เพราะเชื่อว่าปีหน้าตลาดเครื่องปรับอากาศจะกลับมาเติบโต 1% หลังจากติดลบ 2 ปี ติดเพราะทิศทางของ GDP ประเทศเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตตามไปด้วย ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้ามาขับเคลื่อน เนื่องจากเห็นหลายรายเริ่มอัดโปรแถมเครื่องปรับอากาศเป็น 2 เครื่องจากปรกติให้เครื่องเดียวเท่านั้น”

ความฝันของ Midea ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ยังตั้งเป้าติด TOP 3 ภายใน 5 ปี ซึ่งจะเป็นการเข้ามาแทนที่ มิตซูบิชิ, ไดกิ้น และพานาโซนิค ที่รั้งตำแแหน่งอยู่ Midea วางแผนว่า ปีหน้าจะเน้นเรื่องผลิตภัณฑ์และการทำการตลาด ตั้งเป้ามีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มเป็น 4.5%

ปี 2020 เน้นการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีครอบคลุมเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 7%, ปี 2021 สร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นในแบรนด์ ส่วนแบ่ง 9% และ ปี 2022 วางแผนจัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริหารช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงการทำกิจกรรมการตลาด การส่งเสริมการขาย และการสร้างแบรนด์ ตั้งเป้ามีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มเป็น13%

สำหรับ “ไมเดีย กรุ๊ป” คือบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน ก่อตั้งมา 50 ปี ปัจจุบันมีโรงงานผลิต 18 แห่งในจีน และอีก 15 แห่งในต่างประเทศ มีพนักงานราว 1.3 แสนคนทั่วโลก โดยในปี 2017 สามารถสร้างรายได้ถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.2 ล้านล้านบาท.

]]>
1203424
“ชาร์ป” ทุ่มงบ 4 พันล้านเยน ซื้อกิจการพีซีจาก “โตชิบา” หวังหวนคืนตลาดคอมพิวเตอร์อีกครั้ง https://positioningmag.com/1173221 Wed, 06 Jun 2018 08:14:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1173221 บริษัทชาร์ป ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นประกาศว่าจะเข้าซื้อกิจการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ พีซีของโตชิบา โดยมุ่งเป้าจะกลับมาลุยตลาดนี้อีกครั้ง โดยปัจจุบันกิจการทั้งหมดของชาร์ปถูกบริหารโดย บ.หงไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี บริษัทจากไต้หวัน หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในนามฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้รับจ้างผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับดีลดังกล่าว ชาร์ปจะต้องควักกระเป๋าราว 4,000 ล้านเยน หรือราว 1,160 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นร้อยละ 80.1 ในบริษัท โตชิบา ไคลเอนต์ โซลูชันส์ บริษัทลูกของโตชิบาซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดแล็ปท็อปมากที่สุดในโลก แต่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับผู้ผลิตแล็ปท็อปรายอื่น ๆ ไป โดยตามแผนการโอนหุ้นจะมีขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกันชาร์ปยังประกาศด้วยว่าจะออกหุ้นใหม่มูลค่ากว่า 200,000 ล้านเยน หรือราว 58,000 ล้านบาท เพื่อจะซื้อหุ้นบริษัทกลับคืนจากธนาคาร โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้สถานทางการเงินของบริษัทกระเตื้องตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ตามแผนของชาร์ปในการซื้อกิจการพีซีจากโตชิบา ทางบริษัทต้องการจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแอลซีดี ผสานเข้ากับความสามารถในการผลิตของบริษัทแม่หงไห่ ผ่านแบรนด์ไดนาบุ๊ก (Dynabook) แบรนด์โน้ตบุ๊กเดิมที่สร้างชื่อเสียงให้กับโตชิบา

ทั้งนี้สถานะทางธุรกิจอันย่ำแย่ของโตชิบาในปัจจุบันนั้นเป็นผลกระทบมาจากการปรับโครงสร้างสินทรัพย์หลังจากการยื่นล้มละลายของเวสติงเฮาส์ ธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของโตชิบาในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว

“ชาร์ปจะใช้ความได้เปรียบจากความสามารถในการผลิตของหงไห่ ในการเพิ่มความเข้มแข็งของสินค้าฮาร์ดแวร์ และตั้งเป้าจะทำเงินจากธุรกิจนี้” ทาคาโอะ มัตสุซากะ นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ไดวะ ให้ความเห็น พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาธุรกิจโทรทัศน์และสมาร์ทโฟนของชาร์ปดีขึ้นเป็นลำดับหลังจากการประสานความร่วมมือกับบริษัทแม่อย่างหงไห่ ซึ่งเขาเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีแอลซีดีของชาร์ป กับความเชี่ยวชาญในการผลิตของหงไห่จะทำให้ชาร์ปสามารถผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่มีราคาพอฟัดพอเหวี่ยงกับคู่แข่งในตลาดได้

จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยโตชิบาชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์ของบริษัทประสบกับภาวะขาดทุนราว 8,200 ล้านเยน (ราว 2,400 ล้านบาท) ในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า ที่ธุรกิจพีซีของบริษัทประสบกับภาวะขาดทุนอยู่แล้ว 1,700 ล้านเยน (ราว 500 ล้านบาท)

ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล บริษัทวิจัยที่มีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บ่งชี้ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาโตชิบาครองอันดับที่ 8 ของตลาดแล็ปท็อปโลก หรือมีส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 1.92 นอกจากนี้พีซีแล้ว บ.โตชิบา ไคลเอนต์ โซลูชันส์ ยังมีการพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีแบบสวมใส่ที่เกี่ยวโยงกับยุคของอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (IoT) ด้วย

ในส่วนของ บ.ชาร์ปเอง หลังจากการขายกิจการให้ บ.หงไห่ ในปี 2559 ก็มีสถานทางการเงินที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมาซึ่งสุดสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2561 บ.ชาร์ปสามารถพลิกผลการดำเนินงานจากขาดทุนให้กลายมาเป็นมีกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

นักวิเคราะห์รายเดิมยังมองด้วยว่า แผนการอื่นของชาร์ปก็คือ การเพิ่มความเข้มแข็งให้กับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งในสินค้าต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุให้ชาร์ปแสดงความสนใจ และเข้าซื้อกิจการบริษัทลูกของโตชิบา

ปัจจุบันประธานเจ้าหน้าทีบริหารของชาร์ป คือ นายไต้ เจิ้งอู๋ (戴正吳; Jeng-wu Tai) อดีตรองประธานของฟ็อกซ์คอนน์ ที่ได้รับมอบหมายมาให้เข้าบริหารจัดการ บ.ชาร์ป หลังการเทกโอเวอร์ โดยเขาเคยแสดงความมุ่งหมายว่าจะนำบริษัทกลับเข้าสู่ธุรกิจฮาร์ดแวร์บางตลาดที่ชาร์ปเคยถอนตัวออกไป ซึ่งในส่วนของธุรกิจพีซี บ.ชาร์ปได้เลิกทำธุรกิจนี้ไปเมื่อปี 2553.

Source

]]>
1173221
ไปต่อไม่ไหว “โตชิบา” ขาดทุนหนัก ตัดทิ้งขายธุรกิจผลิตโทรทัศน์ให้บริษัทจีนแล้ว https://positioningmag.com/1146715 Wed, 15 Nov 2017 03:25:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1146715 บริษัทโตชิบา ซึ่งเผชิญกับการขาดทุนมหาศาลจากธุรกิจนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ ตัดสินใจขายธุรกิจผลิตโทรทัศน์ให้กับกลุ่มไฮเซนส์จากประเทศจีน

โตชิบาประกาศว่าจะขายหุ้นร้อยละ 95 ในธุรกิจผลิตโทรทัศน์และอุปกรณ์รับภาพให้กับกลุ่มไฮเซนส์ หรือ Hisense รัฐวิสาหกิจของเมืองชิงเต่าของประเทศจีน นับเป็นกรณีล่าสุดที่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าของแดนอาทิตย์อุทัยต้องยอมศิโรราบให้กับกลุ่มทุนจีน เพื่อกอบกู้กิจการของตนเอง

ข้อตกลงระหว่างโตชิบาและไฮเซนส์มีมูลค่าสูงถึง 12,900 ล้านเยน หรือราว 113 ล้านดอลลาร์ จะบรรลุผลในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 เนื่องจากต้องขออนุมัติจากหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น

โตชิบาเผชิญผลขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จนเข้าข่ายเกือบล้มละลาย และต้องขายธุรกิจในเครือเพื่อกอบกู้สถานะของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจผลิตชิปหน่วยความจำ ซึ่งโตชิบาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจาก “ซัมซุง” ของเกาหลีใต้

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงการขายธุรกิจชิปหน่วยความจำของโตชิบา โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้เทคโนโลยีตกไปอยู่ในมือต่างชาติ จนในที่สุดชาร์ปได้ปิดดีลขายธุรกิจชิปหน่วยความจำให้กับบริษัทร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่น, สหรัฐ และเกาหลีใต้

ไฮเซนส์ หรือชื่อในภาษาจีน คือ “ไห่ซิ่น” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 48 ปีก่อนจากโรงงานผลิตเครื่องรับวิทยุในเมืองชิงเต่า มณฑลซันตง โดยเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ไฮเซนส์ได้ขยายกิจการจนเป็นบริษัทข้ามชาติ ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า มีโรงงานในจีน 13 แห่ง และมีฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น แอฟริกาใต้, ฮังการี, ฝรั่งเศส, แอลจีเรีย, อียิปต์ และเม็กซิโก 

นอกจากผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง คือ Combine, Kelon และ Ronshe ยังรับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่นๆ ด้วย ในปี 2015 ไฮเซนส์ได้สิทธิ์ผลิตและจำหน่ายโทรทัศน์ของ “ชาร์ป” ในสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาได้เกิดการฟ้องร้องว่าไฮเซนส์ได้ทำให้แบรนด์ “ชาร์ป” เสียหาย ด้วยการผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและขายในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น.

ที่มา : mgronline.com/japan/detail/9600000115272

]]>
1146715
“โตชิบา” ผ่าทางตัน ขายธุรกิจชิปให้บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น-สหรัฐฯ-เกาหลี เมินจีน https://positioningmag.com/1130245 Thu, 22 Jun 2017 09:38:58 +0000 http://positioningmag.com/?p=1130245 โตชิบา บริษัทญี่ปุ่นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังประสบปัญหาผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างหนัก จากการขาดทุนยับเยินของธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐฯ จนต้องขายหุ้นในธุรกิจชิปหน่วยความจำ ที่เป็น “ห่านทองคำ” ออกไปเพื่อกอบกู้ธุรกิจให้อยู่รอด และได้ตัดสินใจเลือกกลุ่มบริษัทที่นำโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ให้เป็นผู้ได้ประมูลในการเจรจาเพื่อซื้อธุรกิจชิปหน่วยความจำของโตชิบา เพื่อปกป้องเทคโนโลยีไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ

โตชิบามีมติในการการประชุมกรรมการของบริษัทในวันพุธที่ 21 มิถุนายน ให้เจรจาเรื่องการซื้อหุ้นในธุรกิจชิปหน่วยความจำกับกลุ่มบริษัทร่วมทุน ซึ่งประกอบด้วยบริษัทจากหลายชาติ โดยมีแกนนำคือ องค์การความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมแห่งญี่ปุ่น (Innovation Network Corp) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีรัฐบาลเป็นหุ้นส่วน, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น, เบน แคปิตอล บริษัทลงทุนจากสหรัฐฯ และบริษัทเอสเค ไฮนิกซ์ ผู้ผลิตชิปของเกาหลี

โตชิบาออกแถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มบริษัทดังกล่าวยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดทั้งในด้านการประเมินมูลค่าธุรกิจ, การคงไว้ซึ่งพนักงานเดิมและการป้องกันเทคโนโลยีไม่ให้รั่วไหลออกนอกญี่ปุ่น

เงื่อนไขหลักที่ทางโตชิบาเสนอต่อผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้น คือ ฝ่ายญี่ปุ่นจะต้องถือหุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของหน่วยผลิตชิปหน่วยความจำ เพื่อให้บริษัทสามารถรักษาค่านิยมองค์กร, การจ้างงาน รวมทั้งการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีให้ยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ฝ่ายผู้ที่จะซื้อหุ้นต้องคิดหนักคือ มูลค่ากิจการที่ทางโตชิบาเสนอไว้ที่ 2 ล้านล้านเยน ซึ่งขณะนี้ยังตกลงกันไม่ได้ แต่ทางโตชิบาตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มบริษัทดังกล่าวที่การประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 มิถุนายน

หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ขายให้กลุ่มทุนจีน

ในการเจรจารอบแรก บริษัทที่เสนอราคาสูงที่สุด คือ หงไห่ พริซิชั่น ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน ผู้รับจ้างผลิตไอโฟนและมีฐานการผลิตใหญ่ในประเทศจีน หากแต่สมาคมธุรกิจและรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงอย่างเต็มที่ โดยอ้างว่าหากขายหุ้นให้กับหงไห่ พริซิชั่นจะทำให้สุดยอดเทคโนโลยีของญี่ปุ่นตกไปอยู่ในมือของจีน

รัฐบาลญี่ปุ่นกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะให้บริษัทญี่ปุ่นต่างๆ ลงขันกันซื้อหุ้นของโตชิบา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้กองทุนของรัฐบาลและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่นต้องจับมือกับกองทุนของสหรัฐฯ และบริษัทของเกาหลี เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ หงไห่ พริซิชั่น ซึ่งซื้อกิจการของบริษัทชาร์ปไปก่อนหน้านี้ ครอบครองกิจการของโตชิบาได้อีก

หากการเจรจาซื้อหุ้นบรรลุผล ทางโตชิบาจะต้องทำเรื่องขออนุมัติจากคณะกรรมการป้องกันการผูกขาดของรัฐบาล จากนั้นต้องนำเงินทุนที่ได้ไปฟื้นฟูกิจการของบริษัทเพื่อไม่ให้มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนติดลบ ซึ่งจะเป็นเหตุให้หุ้นของโตชิบาถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้

ทั้งนี้ โตชิบา เป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองจากบริษัทของเกาหลีเท่านั้น


ที่มา : https://www.manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000063518

]]>
1130245
เจ็บแต่จบ? “โตชิบา” เตรียมแยก 4 ธุรกิจหลัก ย้ายพนักงาน 30,000 คน https://positioningmag.com/1123573 Wed, 26 Apr 2017 03:32:03 +0000 http://positioningmag.com/?p=1123573 บริษัทโตชิบา ประกาศว่าจะปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุด โดยแยกออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ส่งผลให้พนักงาน 30,000 คนจะถูกโบกย้ายไปยังบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่

โตชิบาประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งประวัติศาสตร์ โดยจะแยกธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม คือ โครงสร้างพื้นฐาน, พลังงาน, ไอที (เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร) และเครื่องใช้ไฟฟ้า การปรับโครงสร้างนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ โดยพนักงานราว 24,000 ถึง 30,000 คนจะถูกปรับย้าย โดยมีเพียงพนักงานแผนกวิจัยและพัฒนา และงานบริหารจัดการที่จะยังคงอยู่กับบริษัทโตชิบา

โตชิบาเผชิญผลขาดทุนมหาศาลจาการลงทุนในธุรกิจพลังงานนิวเคีลยร์ในสหรัฐฯ ทำให้สัดส่วนหนี้สินมีมากกว่าสินทรัพย์ ส่งผลให้ไม่เพียงแต่มีความเสี่ยงที่หุ้นของโตชิบาจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์กรุงโตเกียว แต่ยังส่งผลต่อการเข้าร่วมประมูลงานต่างๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นมีกฎระเบียบว่า งานประมูลของรัฐจะถูกยกเลิกได้ หากบริษัทที่ชนะประมูลไม่สามารถรักษาสัดส่วนสินทรัพย์ที่มั่นคง หรือรักษาข้อกำหนดทางการเงินต่างๆ ได้ ดังนั้นโตชิบาจึงจำต้องแยกธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจพลังงานออกจากบริษัทแม่ เพื่อรักษางานประมูลต่างๆ ไว้

งานชิ้นใหญ่ที่ทางโตชิบาคาดหวัง คือ โครงการปลดระวางโครงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่เสียหายยับเยินจากคลื่นสึนามิถล่มเมื่อ 6 ปีก่อน ผู้บริหารโตชิบาจะขออนุมัติการปรับโครงสร้างใหญ่จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนมิถุนายนนี้ และจะเริ่มแยกธุรกิจทั้ง 4 ประเภทในเดือนกรกฎาคมจนเดือนตุลาคม

ก่อนหน้านี้โตชิบาได้ขายธุรกิจทางการแพทย์ออกไป และกำลังขายหุ้นในธุรกิจผลิตหน่วยความจำ โดยคาดว่าการประมูลซื้อหุ้นรอบที่ 2 จะแข่งขันกันดุเดือดระหว่างกลุ่มทุนสหรัฐฯ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การหนุนหลัง กับกลุ่มของบริษัทหงไห่ พริซิชั่น จากไต้หวัน ซึ่งร่วมมือกับบริษัทแอปเปิล และซอฟแบงค์ ผู้ให้บริการเครือข่ายการสื่อสารของญี่ปุ่น

โตชิบาประกาศว่าในปีงบประมาณที่แล้ว ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีผลขาดทุนถึง 1 ล้านล้านเยน สูงที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัทของญี่ปุ่นทั้งหมด และเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ ก็ยังขาดทุนมากกว่า 620,000 ล้านเยน.

ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000041787

]]>
1123573