Viu – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 04 Aug 2023 11:54:22 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Viu ยังครองเบอร์ 2 แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งในอาเซียน มีสมาชิกจ่ายเงินตามหลัง Disney+ Hotstar แต่ชนะ Netflix ได้ https://positioningmag.com/1439858 Fri, 04 Aug 2023 09:41:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439858 ศึก Video Streaming ในอาเซียนยังคงดุเดือด เมื่อ Viu ยังครองเบอร์ 2 แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งในอาเซียน มีสมาชิกจ่ายเงินตามหลัง Disney+ Hotstar แต่ชนะ Netflix ได้ และล่าสุดบริษัทได้รับเงินลงทุนจากบริษัทบันเทิงจากฝรั่งเศส ซึ่งจะเตรียมขยายธุรกิจออกนอกเอเชียด้วย

รายงานจากสำนักข่าว Bloomberg ได้อ้างอิงข้อมูลจาก Media Partners Asia บริษัทวิจัยด้านสื่อบันเทิง ได้ชี้ว่า Viu แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอจากฮ่องกง ล่าสุดยังครองอันดับ 2 แซงหน้า Netflix เมื่อเทียบจำนวนสมาชิกที่จ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์มทั้งหมด

ข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Viu มีสมาชิกแบบจ่ายเงินทั้งสิ้น 8.6 ล้านราย ขณะที่ Netflix มี 8.1 ล้านราย ขณะที่ Disney+ Hotstar นั้นมีสมาชิกแบบจ่ายเงินมากที่สุดในอาเซียนมากถึง 9.1 ล้านรายด้วยกัน

ถ้าหากเทียบสัดส่วนเวลารับชมแล้ว Netflix ยังครองตำแหน่งส่วนแบ่งอันดับ 1 ในอาเซียนที่ 44% ขณะที่อันดับ 2 คือ Viu ที่ 13% ขณะที่อันดับ 3 คือ True ID ครองส่วนแบ่ง 8% ขณะที่ Disney+ Hotstar กลับครองส่วนแบ่งอันดับ 4 ที่ 7%

ในปี 2021 ที่ผ่านมา Viu มีสมาชิกแบบจ่ายเงินมากกว่า 5 ล้านรายแล้ว และมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มมากถึง 49 ล้านคน ก่อนที่ตัวเลขล่าสุดจะมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเมื่อเดือนมิถุนายนมากถึง 66 ล้านคน

ในรายงานเดียวกันของ Bloomberg นั้นยังได้สัมภาษณ์ Janice Lee ซึ่งเป็น CEO ของ Viu หลังจากที่บริษัทได้รับเงินลงทุนเริ่มต้น 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (และเพิ่มได้ถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ) จาก Canal+ Group เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แลกกับการถือหุ้น 26.1% ซึ่งเธอได้กล่าวว่าได้เตรียมที่จะผลิตคอนเทนท์พรีเมี่ยม รวมถึงการขยายหาลูกค้าเพิ่มเติมในเอเชีย

ขณะที่ Jacques du Puy ผู้บริหารสูงสุดของ Canal+ International ได้กล่าวว่า การลงทุนของบริษัทนั้นต้องการที่จะขยายตลาดนอกจากเวียดนามและพม่า ซึ่งบริษัทได้ลงทุนไว้ ปัจจุบัน Canal+ ได้นำคอนเทนต์ของ Viu มาออกอากาศในเคเบิลทีวีในเวียดนามด้วย และเป้าหมายคือต้องการเป็นผู้เล่นรายสำคัญในเอเชีย

ไม่เพียงเท่านี้ CEO ของ Viu ยังได้กล่าวว่าเตรียมที่จะนำความเชี่ยวชาญของ Canal+ ที่จะขยายแพลตฟอร์มไปยังประเทศอื่นนอกทวีปเอเชียด้วย แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดแต่อย่างใด

ปัจจุบัน Viu มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดคือ PCCW บริษัทด้านโทรคมนาคมในฮ่องกง ซึ่งมีเจ้าของคือ Richard Li บุตรชายของ Li Ka-shing มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ปัจจุบันบริษัทได้ให้บริการ 16 ประเทศทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศแอฟริกาใต้

]]>
1439858
ย้อนรอย 2 ปีมี ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ กี่รายต้องโบกมือลาไป และใครที่ยังอยู่รอด https://positioningmag.com/1364461 Mon, 29 Nov 2021 12:57:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364461 แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะทำให้ตลาด ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่ใช่กับทุกแพลตฟอร์ม เนื่องจากการมาของผู้เล่น ‘หน้าใหม่’ แถมเป็น ‘ขาใหญ่ทุนหนา’ จนกลายเป็นตลาดที่แข่งขันสูง ผู้เล่นในระดับภูมิภาคอาจจะไม่มีกำลังต่อสู้มากพอที่จะผลิตคอนเทนต์มาดึงผู้ใช้ ดังนั้น มาย้อนดูกันว่าตลอด 2 ปีมีใครหายไป และใครที่ยังอยู่บ้าง

HOOQ

สำหรับ ‘HOOQ’ (ฮุค) เกิดจากการก่อตั้งโดย Singtel จากสิงคโปร์ ร่วมด้วย Sony Pictures และ Warner Bros. นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับ Hotstar ของ Disney และ Grab กับ VideoMax ของอินโดนีเซีย โดยได้เริ่มดำเนินกิจการในปี 2015

โดย HOOQ ให้บริการความบันเทิงหลายรูปแบบ มีทั้งหนัง และซีรีส์จากฮอลลีวูด รวมถึงรายการทิ้งถิ่นเพื่อหวังดึงดูดลูกค้าท้องถิ่น นอกจากนั้นก็ยังมีการผลิตเนื้อหาของตัวเองด้วย ซึ่งในช่วงนั้น Netflix เจ้าตลาดในฝั่งตะวันตกยังไม่ได้บุกตลาดเอเชียมากนัก จึงเป็นโอกาสของ HOOQ ที่จะทำตลาด และขายฐานลูกค้า ทำให้ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมาสามารถหารายได้ถึง 80 ล้านเหรียญฯ

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ของ HOOQ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงมากก็ทำให้ HOOQ ขาดทุนมาตลอด โดยคาดว่าในปี 2019 ขาดทุนสะสมสูงถึง 220 ล้านเหรียญฯ ทำให้ในเดือนเมษายน 2563 HOOQ ก็ได้ประกาศผ่าน Facebook Official ว่าจะปิดให้บริการในวันที่ 30 เมษายน 2020 ปิดตำนานแพลตฟอร์มที่ให้บริการมาตลอด 5 ปี

Photo : Shutterstock

iflix

เป็นแพลตฟอร์มจากสตาร์ทอัพสัญชาติมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 348 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถขยายบริการในกว่า 24 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบตะวันออกกลาง แม้ว่าจะมีการขยายบริการไปในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ใช้กลับมีไม่ถึง 25 ล้านราย

จนมีข่าวว่าในปี 2018 iflix (ไอฟลิกซ์) มีเงินสดในบัญชีเพียงแค่ 12.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ iFlix ต้องการระดมทุนและเตรียม IPO จนมาช่วงต้นปี 2020 ได้มีข่าวว่าบริษัทที่อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ลดพนักงานประมาณ 50 คนออก ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลพวงมาจากปัญหาทางการเงินที่กระท่อนกระเเท่นมากว่า 2 ปี

ในที่สุด iflix ก็ได้โดนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนอย่าง Tencent ซื้อกิจการไป พร้อมให้เหตุผลว่าเพื่อขยายการเข้าถึง WeTV แพลตฟอร์มสตรีมของตัวเองในภูมิภาค อีกทั้ง Tencent จะได้รับเนื้อหาเทคโนโลยีและทรัพยากรของ iFlix และขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่สำคัญของการเติบโต

LINE TV

รายล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ LINE TV (ไลน์ทีวี) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก LINE แพลตฟอร์มแชทอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเปิดตัวให้บริการตั้งแต่ปี 2014 โดยเปิดให้ผู้ใช้ดูฟรี ไม่มีค่าสมาชิก ในช่วงปี 2020 LINE TV มียอดรับชมรวม 1 แสนล้านนาที มีผู้บริโภคกว่า 40 ล้านรายที่เข้าถึงแพลตฟอร์ม

โดยจุดเด่นของ LINE TV อยู่ที่คอนเทนต์ไทย โดยเฉพาะละครรีรัน และซีรีส์วาย ที่มีกว่า 40 เรื่อง อาทิ เพราะเราคู่กัน, Why R U The Series และ En of Love นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนและอนิเมะกว่า 100 เรื่อง

อีกจุดแตกต่างของ LINE TV ในการหารายได้นั้นจะแตกต่างออกไปจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะเก็บค่าสมาชิก (subscription) หรือทั้ง ดูฟรีและสมัครเป็น VIP แต่รายได้ของ LINE TV มาจาก ค่าโฆษณา เป็นหลัก ดังนั้น ผู้ชมจะได้รับชมคอนเทนต์ฟรี แต่ต้องดูโฆษณาจนจบ และไม่สามารถกดข้ามได้เลย

แม้ปี 2020 LINE TV จะถือเป็นปีทองที่มีการเติบโต แต่ล่าสุด LINE TV ก็ได้ประกาศผ่านเพจ Official ว่าจะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้เท่านั้น โดยอธิบายเพียงว่า ต้องปิดบริการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การดำเนินการทางธุรกิจของ LINE ประเทศไทย

มีหลายคนมองว่า เนื่องจาก LINE TV ต้องซื้อคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ และราคาของคอนเทนต์ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ LINE TV มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่สูงมากขึ้นจากการมาของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ

คู่แข่งระดับโลก

หากพูดถึงผู้เล่นระดับโลกที่อยู่ในไทย แน่นอนก็มี Netflix (เน็ตฟลิกซ์) ที่ยังคงรุกตลาดไทยต่อเนื่อง มีการออกออริจินอลคอนเทนต์ของไทยอย่างน้อยปีละ 2-3 เรื่อง และอีกค่ายที่เพิ่งมาปีนี้ก็คือ Disney+ Hotstar (ดีสนีย์พลัส ฮอทสตาร์) ที่มีแฟรนไชส์คอนเทนต์สุดแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น Marvel, Star Wars, Pixar ฯลฯ และที่สำคัญคือ คอนเทนต์ส่วนใหญ่มี พากย์ไทย อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี HBO Go แพลตฟอร์มจาก WarnerMedia โดยภาพยนตร์และซีรีส์เด่น ๆ ก็คือ DC Comics อย่าง Justice League หรือซีรีส์ชื่อดังอย่าง Games of Thrones หรือ Westworld ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย แม้จะยังไม่เห็นการทำตลาดอย่างจริงจัง แต่ก็ถือว่าเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชอบดูหนังดูซีรีส์

ทั้งนี้ 3 แพลตฟอร์มดังกล่าวให้บริการแบบ subscription หรือสมัครสมาชิกรายเดือน ไม่มีดูฟรี

คู่แข่งจากเอเชีย

ด้านแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์จากเอเชียเป็นหลักจะมี 3 แพลตฟอร์ม โดย 2 รายมาจากจีน ได้แก่ WeTv (วีทีวี) ที่มีบริษัทแม่อย่าง Tencent โดยจะเน้นที่ซีรีส์จีนเป็นหลัก ต่อมา Iqiyi (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ในเครือ Baidu ส่วนอีกรายคือ Viu (วิว) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากฮ่องกง โดยมีจุดแข็งที่ซีรีส์เกาหลี ปัจจุบันขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของภูมิภาค เป็นรองแค่ Disney+

โดยทั้ง 3 แพลตฟอร์มนอกจากจะเน้นคอนเทนต์เอเชียเหมือนกันแล้ว โมเดลรายได้ก็เหมือนกันคือ สามารถดูฟรีมีโฆษณาและสมัครเป็น VIP

คู่แข่งโอเปอเรเตอร์

สำหรับโอเปอเรเตอร์ของไทยมีอยู่ 2 ค่ายที่โดดเข้ามาทำแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง โดย เอไอเอส (AIS) ก็มี (เอไอเอส เพลย์) ดูฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ นอกจากนี้ เอไอเอสยังเป็นพันธมิตรกับ Disney+ Hotstar อีกด้วย

เช่นเดียวกับ True ID (ทรู ไอดี) เป็นแพลตฟอร์มจาก ทรู ที่สามารถดูได้ไม่จำกัด แต่จะมีจุดเด่นที่คอนเทนต์กีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ นอกจากนี้ ยังมีระบบ เช่าหนังใหม่ อีกด้วย

คู่แข่งสัญชาติไทย

สำหรับแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของไทยมีอยู่ 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Mono Max (โมโน แม็กซ์) และ Doonee (ดูนี่) โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะมีคอนเทนต์ที่โดดเด่นคล้าย ๆ กัน อาทิ ภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

คู่แข่งการ์ตูน

ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์การ์ตูนในไทยกำลังมาแรงมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกระแสของ ดาบพิฆาตอสูร แม้ว่าแพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะมีคอนเทนต์การ์ตูนให้ชม แต่ก็มีแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูนโดยเฉพาะเช่นกัน ได้แก่ Bilibil (บิลิบิลิ), Flixer (ฟลิกเซอร์) และ POPS (พ็อพส์)

 

จะเห็นว่าแค่ช่วงเวลาไม่กี่ปีตลาดสตรีมมิ่งก็มีผู้เล่นจำนวนมากตบเท้ามาให้บริการ และแต่ละแพลตฟอร์มก็มี ทุนหนากันทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่หลายแพลตฟอร์มจะแบกต้นทุนไม่ไหว และสุดท้ายก็ถอยทัพกลับ ก่อนที่จะเจ็บตัวไปมากกว่านี้ จากนี้ไม่รู้ว่าจะมีใครที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน และจะมีใครกล้าลงมาเล่นในตลาดนี้อีกหรือไม่

]]>
1364461
‘Viu’ ผงาดแซง ‘Netflix’ ขึ้นแท่นสตรีมมิ่งเบอร์ 2 อาเซียน รอง ‘Disney’ https://positioningmag.com/1352270 Fri, 17 Sep 2021 06:15:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352270 บริการวิดีโอสตรีมมิ่งในปัจจุบันมีความดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการมาของค่ายหนังยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาทำตลาดเอง อย่างไรก็ตาม ตลาด ‘อาเซียน’ ถือเป็นอีกตลาดใหญ่ที่ผู้เล่นให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน ‘Viu’ (วิว) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจากฮ่องกงก็ผงาดขึ้นเบอร์ 2 แซง ‘Netflix’ เรียบร้อยแล้ว

Viu เป็นแพลตฟอร์มการสตรีมวิดีโอของ PCCW ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมของฮ่องกง นำโดย Richard Li ลูกชายของเศรษฐี Li Ka-shing โดยปัจจุบัน Viu ให้บริการในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้แล้ว อย่างไรก็ตาม Viu ระบุว่าจะเน้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเป็นพิเศษ เพื่อจะพยายามตาม Disney ให้ทัน

Janice Lee ซีอีโอของ Viu กล่าวว่า ในอาเซียน Viu มีผู้ใช้งานรายเดือนมากกว่า 49 ล้านคนภาย ในสิ้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 37% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตดังกล่าวทำให้ปัจจุบัน Viu ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 2 รองจาก Disney แซงหน้า Netflix ซึ่งตกลงมาอยู่อันดับ 3 ตามรายงานของ Media Partners Asia บริษัทวิจัยอุตสาหกรรม

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 Viu มีสมาชิกทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 29.6 ล้านคน โดยมีสมาชิกใหม่มากกว่า 10 ล้านคน โดยมีจำนวนสมาชิกแบบเสียค่าบริการรายเดือนเพิ่ม 1.9 ล้านคน รวมเป็น 5.2 ล้านคนทั่วภูมิภาค ตามรายงานของ Media Partners Asia

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ Viu สามารถขยายฐานสมาชิกได้เร็วมาจาก นำเสนอบริการภายใต้การผสมผสานระหว่างรูปแบบที่เรียกว่า freemium และรูปแบบการสมัครสมาชิก ซึ่งผู้ใช้สามารถรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีโฆษณาในช่วงแรก และหวังว่าจะแปลงเป็นผู้ติดตามแบบชำระเงินรายเดือนในภายหลัง

โดยตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดที่ราคามีผลต่อการตัดสินใจ ในขณะที่สมาชิกในฝั่งตะวันตกมักจะไม่มีโมเดลดูฟรี นอกจากนี้ Viu ยังเน้นที่ คอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งในสหรัฐฯ โดยบริษัทได้ลงทุนสร้างเนื้อหาท้องถิ่นที่เป็นต้นฉบับในตลาดต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและไทย โดยตามรายงานของ Media Partners Asia พบว่า 20% ของการบริโภคคอนเทนต์ในประเทศอินโดนีเซียและไทย เป็นคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศ

“ผู้คนในเอเชียต้องการบริโภคคอนเทนต์ทุกวัน และนอกเหนือจากภาพยนตร์ดังที่สร้างในสหรัฐอเมริกาแล้ว พวกเขายังต้องการเห็นใบหน้าและเรื่องราวที่คุ้นเคยที่สะท้อนถึงสิ่งต่าง ๆ ในภาษาของพวกเขาเอง”

ทั้งนี้ ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์มากขึ้น อันเนื่องมาจากคำสั่งให้อยู่บ้านซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ตลาดความบันเทิงออนไลน์เฟื่องฟู โดยมากกว่า 45% ของผู้ใช้ในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนามสมัครใช้บริการแบบออนดีมานด์เนื่องจากการล็อกดาวน์ โดยในปี 2019 มูลค่าสินค้ารวมของสื่อออนไลน์ของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเกม วิดีโอ และเพลงเติบโตมากกว่า 20% เป็น 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แน่นอนว่ามีผู้เล่นจำนวนมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำคัญของภูมิภาค แม้ตลาดเปลี่ยนไปมาก แต่เรายังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำได้ และเราเป็นบริการที่สร้างขึ้นในเอเชีย สำหรับเอเชีย”

Source

]]>
1352270
อัปเดต 13 แพลตฟอร์ม ‘ดูหนัง-ซีรีส์’ สตรีมมิ่งแบบถูกลิขสิทธิ์! https://positioningmag.com/1331833 Wed, 12 May 2021 13:45:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331833 ประเทศไทยต้องมาเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งรุนแรงกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า ดังนั้น หลายคนก็หลีกเลี่ยงที่จะออกนอกบ้านเพื่อป้องกันตัวเอง ดังนั้น Positioning จะมาอัปเดตเหล่าแพลตฟอร์ม ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ กันอีกครั้ง เผื่อใครอยากลองหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพราะแพลตฟอร์มเดิมอาจจะไม่มีคอนเทนต์อะไรที่น่าดูแล้ว ดังนั้น ไปดูกันว่ามีแพลตฟอร์มไหนบ้าง

Netflix (เน็ตฟลิกซ์)

ชื่อแรกที่ใคร ๆ นึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘Netflix’ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมีซีรีส์หรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ มาปลุกกระแสให้พูดถึงในไทยได้ตลอด ก่อนหน้านี้ก็มีซีรีส์เกาหลีอย่าง ‘Vincenzo’ และล่าสุดที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลฯ ก็คือ ‘เด็กใหม่ ซีซั่น 2’ ซึ่งเป็นการกลับมาของ ‘แนนโน๊ะ’ ซึ่งปัจจุบันได้ก้าวขึ้นสู่ Top 10 คอนเทนต์ยอดนิยมใน 7 ประเทศแถบเอเชียเลยทีเดียว

ปัจจุบัน แพ็กเกจของ Netflix มี 4 แบบ ได้แก่ แพ็กเกจมือถือ 99 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจพื้นฐาน 279 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจมาตรฐาน 349 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจพรีเมียม 419 บาทต่อเดือน ผู้สมัครใหม่ดูฟรี 30 วันแรก

HBO Go (เอชบีโอ โก)

แพลตฟอร์มจากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ‘AT&T’ ประกาศควบรวมกิจการ Warner Media โดยเพิ่งให้บริการในไทยไปหมาย ๆ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมีคอนเทนต์เด่น ๆ อย่าง ‘Justice league snyder cut’ ที่ลงฉายในแพลตฟอร์มวันแรกก็ทำเอาแพลตฟอร์มล่มเลยทีเดียว ซึ่งใครที่เป็นแฟนหนังของค่าย Warner Bros และแฟน DC Coomic ก็เตรียมตัวสมัครได้เลย เพราะมีหนังและซีรีส์ใหม่ ๆ จากทางค่ายให้ดูเพียบ โดยมีค่าบริการที่ 149 บาท/เดือน และสำหรับใครที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน 3BB ก็จ่ายเพิ่มแค่ 39 บาท โดยดูฟรีได้ 7 วันหลังสมัคร

Viu (วิว)

แพลตฟอร์มที่เน้นด้านคอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก ไม่ว่าจะจากเกาหลี, ญี่ปุ่น รวมถึงละครย้อนหลังของไทย อาทิ ช่อง One31 และ GMM25 โดยจุดเด่นของ Viu อีกสิ่งที่ถูกอกถูกใจชาวไทยก็คือ ภาคเสียง ‘ภาษาถิ่น’ หากสังเกตจะเห็นว่าหลายแพลตฟอร์มจะเริ่มมีคอนเทนต์พากย์ไทย แต่สำหรับ Viu และมี ‘เสียงภาษาอีสาน’ หรือ ‘เสียงภาษาเหนือ’ เรียกได้ว่าเอาใจคนท้องถิ่นไปเลย

สำหรับใครที่เป็นสาย ‘ดูฟรี’ Viu ก็จัดให้ แต่ต้องดูโฆษณาและได้แค่ความคมชัดภาพแบบ SD แต่ถ้าอยากดูแบบ Full HD ไม่มีโฆษณาก็มีค่าสมาชิกที่ 119 บาท/เดือน 3 เดือน 315 บาท และรายปี 1,199 บาท

WeTV (วีทีวี)

แพลตฟอร์ม ‘WeTV’ ซึ่งมีเจ้าของคือ ‘เทนเซ็นต์’ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน โดย WeTV มีจุดเด่นด้านซีรีส์จากจีนและเอเชีย โดยเฉพาะภาพยนตร์กำลังภายใน นอกจากนี้ยังร่วมกับผู้ผลิตไทยผลิต ‘ซีรีส์วาย’ ภายใต้โปรเจกต์ “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’”

โดยรูปแบบการใช้บริการมีทั้งดูฟรี (มีโฆษณา) และพรีเมียม (WeTV VIP) โดยราคาสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติ รายเดือน ชำระครั้งแรกที่ 59 บาท, สมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติ ราย 3 เดือน ชำระครั้งแรกที่ 159 บาท และสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติราย 1 ปี ชำระครั้งแรกที่ 599 บาท

‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้)

‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ในเครือ Baidu ที่ได้ฉายาว่า ‘Netflix เมืองจีน’ ที่เพิ่งเหยียบเท้าเข้ามาในไทยอีกราย โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งคู่มี Position เดียวกันกับ WeTV คือ เน้นคอนเทนต์ ‘เอเชียน’ โดย iQIYI เป็นเบอร์ 1 ในตลาดจีน มีผู้ชมต่อเดือนสูงกว่า 600 ล้านคน มีผู้ใช้งานแบบสมาชิกหรือ VIP ทะลุ 100 ล้านคน โดยคอนเทนต์แม่เหล็กของ iQIYI นอกจากซีรีส์จีนแล้วก็มีรายการวาไรตี้อย่าง Youth With You ที่ได้ ‘ลิซ่า’ วง Blackpink มาทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ และอีกส่วนที่เป็นที่พูดถึงมากก็คือ ‘การ์ตูนญี่ปุ่น’

หน้าแรกเว็บไซต์ iq.com อีกหนึ่งช่องทางรับชมของ iQIYI

LINE TV (ไลน์ทีวี)

แพลตฟอร์มที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดี โดย LINE TV ได้นิยามตัวเองว่า ‘King of Thai Content’ เพราะปัจจุบันมีทั้งละคร ซีรีส์ ซิทคอม ภาพยนตร์ การ์ตูน รายการวาไรตี้ รวมถึง Original Content รวมมากกว่า 1,000 รายการ จากพันธมิตรกว่า 250 ราย ขณะที่ในกลุ่ม ‘ซีรีส์วาย’ ที่กำลังได้รับความนิยม LINE TV ก็ถือว่ามีจำนวนคอนเทนต์มากสุดในไทยถึง 33 เรื่อง อีกจุดเด่นก็คือ ดูฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

AIS Play (เอไอเอส เพลย์)

แพลตฟอร์มคอนเทนต์จากโอเปอเรเตอร์ของไทยที่ให้ดูฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ แต่สำหรับใครที่ไม่จุใจก็สามารถสมัครบริการแบบพรีเมียม โดยจะสามารถดู 31 ช่องรายการ พร้อมหนังและการ์ตูนออนดีมานด์ รวมถึงดูคอนเทนต์ของ ‘Viu’ และ ‘bein sport’ ได้ด้วย

True ID (ทรู ไอดี)

เป็นแพลตฟอร์มจากโอเปอเรเตอร์และสามารถดูได้ไม่จำกัดค่ายเช่นกัน แต่ True ID จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจาก AIS Play ตรงที่ มีกีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ ให้ชม แน่นอนว่าดูฟรีเฉพาะบางคู่ และสามารถเช่าหนังพรีเมียมได้ในราคา 149 บาท หรือจะใช้ True Point เพื่อเเลกชมก็ได้ โดยหนังใหม่ใน True ID นั้นมาเร็วมาก แต่หนังฟรีก็มี รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์ด้วย

Doonee (ดูนี่)

แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ให้ดูฟรี 30 วันเมื่อสมัคร แถมราคาเเพ็กเกจก็หลากหลาย ทั้งรายวัน 9 บาท รายเดือน 150 บาท และรายปี 1,500 บาท โดยคอนเทนต์ที่โดดเด่นจะเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา อย่าง hell kitchen, Master Chef และด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มคนไทย แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

MONOMAX (โมโนแมกซ์)

คงไม่ต้องบอกสรรพคุณ ใครที่เป็นแฟนหนังและซีรีส์ในช่อง Mono29 ก็ตามไปดูต่อกันผ่านแพลตฟอร์มได้ ล่าสุดก็มีภาพยนตร์เรื่อง ‘007’ มาลงให้ชมครบทุกภาคด้วย แฟน ๆ ก็ตามรอได้เลย ใครสนใจก็สมัครดูได้ ให้ดูฟรี 30 วันเช่นกัน ใครติดใจก็สมัครต่อได้ในแพ็กเกจ 250 บาท/เดือน และ 2,500 บาท/ปี

Bilibil (บิลิบิลิ)

ในปีที่ผ่านมา กระแสของ ‘อนิเมะ’ หรือการ์ตูนญี่ปุ่นมาแรงมากในฝั่งบ้านเรา โดยเฉพาะ ‘Demon Slayer’ หรือ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ นอกจากนี้ก็มี My Hero Academia, Attack on Titan หรือ Jujutsu Kaisen ที่กำลังโด่งดังไม่แพ้กัน ทำให้หลายแพลตฟอร์มก็จะมีการ์ตูนเรื่องเหล่านี้อยู่เกือบทุกแพลตฟอร์ม และสำหรับ ‘Bilibili’ ก็จะเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติจีนที่เน้นไปทางอนิเมะแบบเต็มตัว ใครที่เป็นแฟนมังงะการ์ตูนญี่ปุ่นก็โหลดมาดูได้เลย

สำหรับ Bilibili เปิดให้ดูฟรีหรือสมัคร VIP ที่จะสามารถเนื้อหาพิเศษและดูตอนใหม่ ๆ ได้ก่อนในความละเอียด 1080P โดย 1 เดือนราคา 125 บาท 3 เดือน 350 บาท และ 1 ปี 1,200 บาท

Flixer (ฟลิกเซอร์)

แพลตฟอร์มที่เน้นไปที่ ‘การ์ตูน’ เช่นกัน แต่จะไม่ได้เน้นที่อนิเมะ แต่จะเป็นการ์ตูนไลฟ์แอคชั่น อาทิ มาส์กไรเดอร์ ขบวนการเซ็นไท อุลตร้าแมน กันดั้ม โดยบริษัท ฟลิกเซอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เป็น บริษัทดรีม เอกซ์เพรส หรือ DEX ที่เป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากญี่ปุ่นในไทยมานานกว่า 18 ปี โดย Flixer สามารถดูฟรีและแบบพรีเมียมในราคา 79 บาท

POPS (พ็อพส์)

แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก POPS Worldwide (ประเทศไทย) ที่เปิดตัวในเวียดนามปีที่ผ่านมา และเตรียมขยายให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย POPS จะคล้าย ๆ Flixer ที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูน รวมไปถึงซีรีส์เกาหลี และมีออริจินัลคอนเทนต์ที่มีพันธมิตรเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง บี้-เดอะสกา, ต่อ-ตอปิโด หรือทีมอีสปอร์ตระดับท็อปของไทยอย่าง เบคอน ไทม์ โดยสามารถดูฟรี

ทั้งนี้ มีอีกเเพลตฟอร์มที่หลายคนตั้งตารออย่าง Disney + ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเข้าไทยเมื่อไหร่ แม้ว่าจะมีหน้าเว็บไซต์ภาษาไทยรองรับแล้ว รวมถึงมีราคาค่าสมาชิกที่หลุดมาคือ 219 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าระหว่าง COVID-19 ระลอก 3 กับ Disney + อะไรจะได้เห็นก่อนกัน

]]>
1331833
Update ตั้งแต่ ‘HOOQ’ ไป แพลตฟอร์มไหนยังอยู่ และอีกกี่รายที่กำลังจะมา https://positioningmag.com/1276822 Tue, 05 May 2020 06:36:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276822 ถือว่าใจหายอยู่สำหรับ ‘HOOQ’ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่ทำตลาดมากว่า 5 ปีได้เลิกกิจการไปด้วยเหตุ ‘สู้ต้นทุนไม่ไหว’ ดังนั้นเราจะมา Update กันว่ายังมีผู้ให้บริการที่ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ และมีผู้เล่นอีกกี่รายที่เตรียมบุกตลาดไทย บอกได้คำเดียวเลยว่าตลาดนี้ไม่ใช่ Blue Ocean อีกต่อไปแล้ว

Netflix (เน็ตฟลิกซ์)

แพลตฟอร์มยอดฮิตของไทยและของผู้ใช้ทั่วโลก ที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจให้เช่า DVD ผ่านทางเว็บไซต์ และแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวด้วยระบบ Movie Recommendation ช่วยแนะนำภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า และพัฒนามาเป็น Online Streaming ในปี 2007 และต่อยอดจนมี Original Content ของตัวเองและเติบโตจนให้บริการกว่า 190 ประเทศ มีผู้ใช้กว่า 160 ล้านราย และคาดว่าปีนี้อาจทะลุ 190 ล้านราย

Viu (วิว)

หนึ่งในบริการดูหนังและซีรีส์ที่เติบโตเร็วสุดของเอเชีย ที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2017 โดยกลุ่มบริษัท PCCW Media (พีซีซีดับเบิลยู มีเดีย) พร้อมได้พันธมิตรเป็น 3 ช่องทีวีจากเกาหลี ได้แก่ SBS, KBS และ MBC ทำให้มีจุดเด่นด้านคอนเทนต์เกาหลีและเอเชีย ทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์และรายการวาไรตี้ แถมมาพร้อมกับโมเดล ‘ฟรีเมียม’ ให้ ดูฟรี ไม่เสียเงิน แต่มีโฆษณาและได้แค่ความคมชัดภาพแบบ SD แต่ถ้าอยากดูแบบ Full HD ไม่มีโฆษณา สามารถสมาชิกได้ในราคา 119 บาท/เดือน โดยปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการกว่า 41.4 ล้านคน มียอดเข้าชมกว่า 5.7 พันล้านครั้ง จากการให้บริการใน 6 ประเทศ

WETV (วีทีวี)

หลังจากที่ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เทนเซ็นต์’ ได้ให้บริการแพลตฟอร์ม Tencent Video ในประเทศจีน จนปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 200 ล้านคน/วัน มีออริจินอลคอนเทนต์กว่า 80 เรื่อง ก็มาถึงช่วงขยายการเติบโต โดยเปิดตัว แพลตฟอร์ม ‘WeTV’ ในไทยประเทศแรกต่อจากจีน โดย WeTV มีจุดเด่นด้านซีรีส์จากจีนและเอเชีย ที่น่าจะถูกใจคอภาพยนตร์กำลังภายใน และสาว (วาย) อย่าง ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ซึ่งรูปแบบการใช้บริการมีทั้งดูฟรีและพรีเมียม ถ้าอยากดูชัด ดูเร็ว และไม่มีโฆษณาคั่นก็จัดเลย เดือนละ 59 บาท

iFlix (ไอฟลิกซ์)

ไอฟลิกซ์เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดยเน้นเจาะตลาดเกิดใหม่เป็นหลักหรือประเทศที่กำลังพัฒนา โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 28 ประเทศ นอกจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังมี ประเทศอื่น ๆ อาทิ เนปาล, บังกลาเทศ, ซิมบับเว, แทนซาเนีย  โมร็อกโก และยูกันดา มีสมาชิกรวมกว่า 15 ล้านคน ในส่วนของคอนเทนต์จะเน้นความหลากหลายทั้งฝรั่ง จีน เกาหลี การ์ตูน มีหมด แถมบางคอนเทนต์ยังอัพเดตเร็วมาก ฉายจาก US ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีซับไทยแล้ว ขณะที่รูปแบบการให้บริการก็มีทั้งฟรี iflixFREE และรูปแบบบริการแบบจ่ายค่าบริการสมาชิก ดูได้ไม่อั้นบน iflixVIP ในราคา 100 บาท/เดือน

LINE TV (ไลน์ทีวี)

แอปซีรีส์, ละครย้อนหลังและรายการวาไรตี้ยอดฮิตของคนไทย แถมมีออริจินอลซีรีส์ของตัวเองด้วย และที่ดีงามที่สุดคือ ดูฟรี แต่มีโฆษณานะ

ออริจินอล คอนเทนต์ ของ LINE TV ในปี 2563

AIS Play (เอไอเอส เพลย์)

แพลตฟอร์มคอนเทนต์จากโอเปอเรเตอร์ของไทยที่ให้ดูฟรีไม่จำกัดค่าย โดย AIS มี Netflix และ Viu เป็นพันธมิตร และมีคอนเทนต์ครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ ‘คลับสะพานฟาย’ ที่พึ่งเปิดตัวปีนี้ แต่สำหรับใครที่อยากจะดู 10 ช่องพรีเมียม มีค่าบริการที่ 119 บาท/เดือน

True ID (ทรู ไอดี)

เป็นแพลตฟอร์มจากโอเปอเรเตอร์และสามารถดูได้ไม่จำกัดค่ายเช่นกัน แต่ True ID จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจาก AIS Play ตรงที่ มีกีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ ให้ชม แน่นอนว่าดูฟรีเฉพาะบางคู่ และสามารถเช่าหนังพรีเมียมได้ในราคา 149 บาท โดยหนังใหม่ใน True ID นั้นมาเร็วมาก แต่หนังฟรีก็มี รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์ด้วย เช่น ‘Voice สัมผัสเสียงมรณะ’

Doonee (ดูนี่)

แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ให้ดูฟรี 30 วันเมื่อสมัคร แถมราคาเเพ็กเกจก็หลากหลาย ทั้งรายวัน 9 บาท รายเดือน 150 บาท และรายปี 1,500 บาท โดยคอนเทนต์ที่โดดเด่นจะเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา อย่าง hell kitchen, Master Chef และด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มคนไทย แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

MONOMAX (โมโนแมกซ์)

คงไม่ต้องบอกสรรพคุณ ใครที่เป็นแฟนหนังและซีรีส์ในช่อง Mono29 ก็ตามไปดูต่อกันผ่านแพลตฟอร์มได้ ล่าสุดเตรียมเอาซีรีส์ “WESTWORLD Season 3” (เวสต์เวิลด์ ซีซั่น 3) มาลงด้วย แฟน ๆ ก็ตามรอได้เลย ใครสนใจก็สมัครดูได้ ให้ดูฟรี 30 วันเช่นกัน ใครติดใจก็สมัครต่อได้ในแพ็กเกจ 250 บาท/เดือน และ 2,500 บาท/ปี

Flixer (ฟลิกเซอร์)

แพลตฟอร์มที่มีจุดยืนชัดเจน ว่ารวบรวมคอนเทนต์จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ‘การ์ตูน’ ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ มาส์กไรเดอร์ ขบวนการเซ็นไท อุลตร้าแมน กันดั้ม อีกทั้งยังมีรายการแนวพาเที่ยว พาชิม บันเทิงวาไรตี้สนุก ๆ มากมาย โดยบริษัท ฟลิกเซอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เป็น บริษัทดรีม เอกซ์เพรส หรือ DEX ที่เป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากญี่ปุ่นในไทยมานานกว่า 18 ปี โดย Flixer สามารถดูฟรีและแบบพรีเมียมในราคา 89 บาท

POPS (พ็อพส์)

แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก POPS Worldwide (ประเทศไทย) ที่เปิดตัวในเวียดนามปีที่ผ่านมา และเตรียมขยายให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย POPS จะคล้าย ๆ Flixer ที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูน แต่เป็นฝั่งซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน อาทิ ไอรอนแมน (Ironman) วูล์ฟเวอรีน (Wolverine) เอ็กซ์เมน (X-MEN) เบลด (BLADE) และออริจินัลคอนเทนต์ที่มีพันธมิตรเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง บี้-เดอะสกา, ต่อ-ตอปิโด หรือทีมอีสปอร์ตระดับท็อปของไทยอย่าง เบคอน ไทม์ โดยสามารถดูฟรี

รายนามยักษ์ใหญ่ที่กำลังเข้ามา

จากลิสต์รายชื่อ ดูเหมือนจะมีแค่ ‘Netflix’ รายเดียวที่เป็นรายใหญ่ระดับโลก ที่เหลือเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคและผู้ให้บริการในไทย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นรายใหญ่ที่ยังไม่มาไทยก็กำลังเดินหน้าทำตลาดอื่น ๆ ในโลก อาทิ Disney + ของ Disney เจ้าของแฟรนไชส์พันล้านอย่าง Marvel และ Star wars, Amazon Prime Video โดย Amazon,  Apple TV+ จาก Apple,  HBO Max เจ้าของซีรีส์สุดฮิตอย่าง Game of throne และ Hulu นอกจากนี้ยังมีรายที่ยังไม่เปิดตัวอย่าง Peacock โดย NBCUniversal และไม่ใช่แค่ฝั่งยุโรป แต่เอเชียก็ยังมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆ อีกนอกจาก ‘เทนเซ็นต์’ ที่เปิดตัว WeTV ในไทย อาทิ iQiyi (อ้ายฉีอี้) ฉายา Netflix ของจีน โดยมีเจ้าของคือ Baidu และ YouKu โดย Alibaba

ขนาดยังมาไม่ครบ ก็ทำเอาผู้เล่นระดับภูมิภาคไปแล้ว ถ้าวันที่ผู้เล่นเหล่านี้ทำตลาดครบทุกประเทศ ผู้เล่นที่เล็กกว่าจะใช้แผนไหนเพื่อสร้างรายได้ให้อยู่รอด คงต้องรอดูกันยาว ๆ

#Netflix #Viu #HOOQ #WETV #LINETV #iFlix #Doonee #MONOMAX #Flixer #Pops #TrueID #AISPlay #Disney+ #AmazonPrimeVideo #AppleTV+ #HBOMax #Hulu  #Peacock #iQiyi #YouKu #Positioningmag

]]>
1276822
ดูให้ตาแฉะ! รวม 8 แพลตฟอร์มดูหนัง-ซีรีส์ พร้อมอัพเดตโปรดูฟรีในช่วงกักตัว https://positioningmag.com/1269594 Tue, 24 Mar 2020 07:23:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1269594 ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดแบบนี้ หลายคนต้องทำงานที่บ้านและแน่นอน ต้องเบื่อกันเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจะมารวบรวม 8 แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการคอนเทนท์ในไทย พร้อมอัพเดตโปรโมชั่นและราคาแพ็กเกจต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงวิกฤตนี้ สำหรับใครที่สนใจหาซีรีส์ชมก็เตรียมตัวเลยจ้า แต่อย่าดูจนเสียการเสียงานนะ

Netflix (เน็ตฟลิกซ์)

แพลตฟอร์มยอดฮิตของไทย อย่างซีรีส์ ‘crash landing on you’ ก็เกิดกระแส ‘สหายผู้กอง’ ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองมาแล้ว ล่าสุดมีแพ็กเกจใหม่ในราคา ‘99 บาท’ สำหรับดูผ่านมือถือหรือแท็บเลต ส่วนแพ็กเกจที่สามารถดูได้ทุกดีไวซ์จะอยู่ที่ 279 – 349 และ 419 บาท/เดือน นอกจากจ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแล้ว ยังสามารถซื้อ เน็ตฟลิกซ์ การ์ด บัตรเติมเงินที่สามารถหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อกว่า 14,000 สาขาทั่วไทยได้ด้วย ส่วนใครสมัครตอนนี้ ได้ดูฟรี 30 วันนะ

Viu (วิว)

แพลตฟอร์มที่มีจุดเด่นด้านคอนเทนต์เกาหลี ทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์และรายการวาไรตี้ และเอเชียที่ให้ ดูฟรี ไม่เสียเงิน แต่จะต้องดูโฆษณาและได้แค่ความคมชัดภาพแบบ SD แต่ถ้าอยากดูแบบ Full HD ไม่มีโฆษณาก็มีค่าสมาชิกที่ 119 บาท/เดือน แต่ในช่วง Covid-19 นี้ ทาง VIU มีแคมเปญ “ฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาติด Viu (วิว) ดูซีรีส์ฟรีชิว ๆ 14 วัน” โดยการแจกโค้ดฟรีให้แฟนซีรีส์ได้รับชมคอนเทนต์บันเทิงทั่วเอเชียฟรีตลอด 14 วัน ซึ่งสามารถรับโค้ดดูฟรีที่ลิงก์ https://bit.ly/2vBVbXw และมองหาโค้ดลับดูฟรีได้เลย ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 11 เมษายน 2563 จำนวนจำกัดวันละ 500 โค้ดเท่านั้น

HOOQ (ฮุค)

บริษัทร่วมทุนระหว่าง Singtel, Sony Pictures Television และ Warner Bros ที่มีทั้งคอนเทนต์ซีรีส์และภาพยนตร์ ฮอลลีวูดรวมถึงคอนเทนท์ไทยด้วย (หนังไทยมีเพียบ) และด้วยสถานการณ์ที่คนต้องอยู่กับบ้านเพราะโควิด-19 ทาง HOOQ ก็เปิดให้ดูโคนันฟรี ทั้งหมด 929 ตอน, เดอะมูฟวี่ และตอนพิเศษ ดูออนไลน์ที่บ้านได้เลยแบบไม่ต้องล็อกอิน หรือใครอยากดูคอนเทนต์อื่น ๆ ก็ดูฟรี 30 วัน ค่าสมัครอยู่ที่เดือนละ 119 บาท นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจ 3 เดือน 6 เดือน และเช่าดูเป็นเรื่องด้วย

WETV (วีทีวี)

แพลตฟอร์มของบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีจุดเด่นด้านซีรีส์จากจีนและเอเชีย ที่น่าจะถูกใจสาว (วาย) อย่าง ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ซึ่งใครอยากหาซีรีส์ที่เต็มไปด้วยหนุ่มหล่อสาวสวย หรือสาวกหนังจีนกำลังภายในก็เข้าไปดูเถอะจ้ะ ถ้าใครไม่อยากเสียเงินเดือนละ 59 บาท เพื่อแพ็กเกจ VIP ก็สามารถดูฟรีได้แต่มีโฆษณาและดูได้ช้ากว่าเพื่อน ๆ นะ

LINE TV (ไลน์ทีวี)

แอปซีรีส์, ละครย้อนหลังและรายการวาไรตี้ยอดฮิตของคนไทย แถมมีออริจินอลซีรีส์ของตัวเองด้วย และที่ดีงามที่สุดคือ ดูฟรี (แต่มีโฆษณานะจ้ะ)

iFlix (ไอฟลิกซ์)

ไอฟลิกซ์เน้นความหลากหลาย มีคอนเทนต์รวมกว่า 40,0000 ชั่วโมง ทั้งฝรั่ง จีน เกาหลี การ์ตูน มีหมด แถมบางคอนเทนต์ยังอัพเดตเร็วมาก ฉายจาก US ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีซับไทยแล้ว ขณะที่ราคาแค่ 100 บาท/เดือน และดูฟรีเดือนแรกด้วยนะ น่าคบสุด ๆ

Doonee (ดูนี่)

แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ให้ดูฟรี 30 วันเมื่อสมัคร แถมราคาเเพ็กเกจก็หลากหลาย ทั้งรายวัน 9 บาท รายเดือน 150 บาท และรายปี 1,500 บาท โดยคอนเทนต์ที่โดดเด่นจะเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา อย่าง hell kitchen, Master Chef และด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มคนไทย แน่นอนว่าคอนเทนท์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

ล่าสุด ดูนี่ออกเเคมเปญ #ดูนี่กู้ชาติ #ดูฟรี19วัน โดยเข้าไปคอมเมนต์ว่า #ดูนี่กู้ชาติ ใต้ภาพเเคมเปญในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘DOONEE ดูนี่ ดูซีรีส์ออนไลน์’ เมื่อได้โค๊ดก็นำไปกรอกที่ลิงก์นี้ได้เลย https://bit.ly/2wBvAyi (อย่าลืม Log-in ด้วยนะ) ตั้งแต่วันนี้ – 12 เมษายน 2563

MONOMAX (โมโนแมกซ์)

คงไม่ต้องบอกสรรพคุณ ใครที่เป็นแฟนหนังและซีรีส์ในช่อง Mono29 ก็ตามไปดูต่อกันผ่านแพลตฟอร์มได้ ล่าสุดเตรียมเอาซีรีส์ “WESTWORLD Season 3” (เวสต์เวิลด์ ซีซั่น 3) มาลงด้วย แฟน ๆ ก็ตามรอได้เลย ใครสนใจก็สมัครดูได้ ให้ดูฟรี 30 วันเช่นกัน ใครติดใจก็สมัครต่อได้ในแพ็กเกจ 250 บาท/เดือน และ 2,500 บาท/ปี

#Netflix #Viu #HOOQ #WETV #LINE TV #iFlix #Doonee #MONOMAX #Positioningmag

]]>
1269594
ศึกชิงเวลาคนดู! “Workpoint” จับมือ “Viu” ปั้นออริจินัลคอนเทนต์ หวังลด “ต้นทุน” เพิ่ม “กำไร” https://positioningmag.com/1210809 Mon, 28 Jan 2019 13:27:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1210809  การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ได้เริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง จากเดิมจุดตัดระหว่างผู้เข้าแข่งขัน คือ การมีคอนเทนต์เยอะๆ เข้ามาสร้างความหลากหลายให้กับผู้ชม ช่วงปีที่ผ่านมาจึงเห็นการจับมือกับทีวีช่องต่างๆ และคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ ในการนำละครหรือรายการวาไรตี้ มาเซ็นสัญญาในลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ รีรัน 

แต่การทำเอ็กซ์คลูซีฟ รีรัน ก็ใช่ว่าจะทำให้แพลตฟอร์มเป็นเพียงผู้เดียว ที่มีคอนเทนต์นั้นอยู่ในมือ เพราะหลังจากหมดระยะเวลา 30 วัน หรือตามที่ดีลไว้ เจ้าของคอนเทนต์ก็สามารถนำไปลงที่แพลตฟอร์มไหนก็ได้ เป็นวิธีหารายได้อีกต่อหนึ่ง ดังนั้นการจะสร้างความแตกต่างที่แท้จริง จึงใช้วิธีปั้น ออริจินัลคอนเทนต์ เพื่อเสิร์ฟให้กับฐานผู้ชมของตัวเองโดยเฉพาะ

เหมือนอย่างที่ “Viu” (วิว) แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ของกลุ่ม PCCW Media ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อของฮ่องกง ที่เข้าสู่เมืองไทยได้เกือบ 2 ปีแล้ว ก็เลือกจะใช้วิธีทำออริจินัลคอนเทนต์ สร้างแรงดึงดูดให้กับฐานผู้ชมโดยการจับมือกับ “Workpoint”

คนดูชอบโรแมนติก คอมเมดี้

ทำไมถึงเลือกให้ Workpoint ทำ? เพราะก่อนหน้านี้ Viu เข้ามาเปิดตลาดด้วยการชูโรงคอนเทนต์ เกาหลีใต้ ทั้งละครและรายการวาไรตี้ จากทีวีทุกช่องกว่า หมื่นชั่วโมงจนสามารถสร้างฐานผู้ชมหลักเป็นผู้หญิงอายุ 18-34 ปี ก่อนที่จะเติมคอนเทนต์อื่นๆ ที่มาจากจีนและญี่ปุ่น

วิธีการเติมคอนเทนต์ของ Viu มี 4 รูปแบบ คือ

  1. ซื้อสิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่เคยออกอากาศไปแล้ว 1-2 ปี เข้าสะสมในแพลตฟอร์ม
  2. เอ็กซ์คลูซีฟ รีรันในระยะเวลา 30 วัน
  3. ซื้อสิขสิทธิ์แล้วฉายพร้อมกับแพลตฟอร์มอื่น และ
  4. ออริจินัลคอนเทนต์

ดังนั้น เมื่อมีคอนเทนต์ในระบบแน่นแล้ว ก็ได้เวลาของการเติมคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ รีรัน โดยเจ้าแรกที่ Viu เลือกจับมือคือ “GMM25” ราวต้นปีที่แล้ว นำคอนเทนต์ละครและรายการวาไรตี้มารีรันประมาณ 200 ชั่วโมง และเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งเซ็นสัญญากับ Workpoint ในการนำคอนเทนต์อีก 1,500 ชั่วโมงเข้ามาเสริม

แม้จำนวนพาร์ตเนอร์ที่ Viu มีอยู่ในมือตอนนี้เมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยตรงอย่าง “LINE TV” จะมีจำนวนที่ห่างกันอยู่มาก แต่ Viu บอกว่า ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ คอนเทนต์ที่จะเข้ามาต้องถูก จริตกับฐานคอนดูหลักที่ชื่นชอบแนวโรแมนติก คอมเมดี้

ฉายในทีวีก่อน ได้ทั้ง “Reach” และรายได้

ซึ่งเหตุผลที่ว่านี้ก็คือเหตุผลที่เดียวกับที่ Viu ตัดสินใจให้ “Workpoint” ผลิตออริจินัลคอนเทนต์ เนื่องจาก Workpoint มีชื่อเสียงจากการผลิตรายการคอมเมดี้อยู่แล้ว เรื่องแรกที่ทำเป็นซีรีส์ ชื่อ โฮะ แฟมิลี่ ใช้ เก้า จิรายุ และ ปันปัน นำแสดง ซึ่งมาจากพฤติกรรมคนดูที่ชอบตัวละครพระเอกหล่อ และนางเอกน่ารัก

มีทั้งหมด 15 ตอน โดยรูปแบบการออกกาศจะฉายที่ช่อง Workpoint ก่อน ทุกวันอังคาร เวลา 21.15 . ซึ่ง Workpoint ให้ พัน พลุแตกเข้าร่วมแสดงเป็นตัวเอกด้วย เพื่อคงลายเซ็นของช่องไว้ ซึ่งตัวของ พัน พลุแตกก็มีภาพจำของคนดูอยู่แล้ว คือเห็นหน้าปุ๊บรู้เลย ยี่ห้อ Workpoint ก่อนที่จะนำไปรีรันทันทีใน Viu

ดีลนี้ Viu จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพราะเป็นฝ่ายลงทุน ส่วน Workpoint มีรายได้จากการรับจ้างผลิต และโฆษณาตอนที่ฉายในช่อง ซึ่งรายได้ในส่วนนี้จะต้องแบ่งกับ Viu

ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) กล่าวว่า

คนไทยชอบดูคอนเทนต์ฟรี จึงเป็นเหตุผลที่ต้องไปออกทีวีก่อน เพื่อสร้าง Reach แล้วค่อยมาดูย้อนหลังใน Viu แต่มากกว่านั้นคือรายได้จากโฆษณาที่จะเข้ามา เพราะเมื่อไปดูเม็ดเงินในภาพรวม มากกว่า 50% ยังถูกถือครองด้วยทีวี ซึ่งใน Viu เองผู้ชมที่จ่ายเงินก็ยังมีไม่มากนัก จากแพ็กเกจเดือนละ 119 บาท

อย่างไรก็ตาม Viu ยังสามารถนำออริจินัลคอนเทนต์ไปหารายได้อีก โดยการขายสิขสิทธิ์ให้กับทั้งทีวีและช่องทางออนไลน์ ในประเทศที่พฤติกรรมและความชอบของผู้ชมคล้ายกับเมืองไทย เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

ต้องแย่ง เวลาถึงจะชนะ” 

ความท้าทายของ Viu คือการทำคอนเทนต์ที่ต้องไปแย่งเวลา กับคอนเทนต์อื่นๆ จึงต้องทำมาให้ตอบโจทย์ และให้คนดู Enjoy ถึงจะ ชนะ ซึ่งตอนนี้มีคนดู Viu เฉลี่ยรายวันถึง 108 นาทีต่อคน ในขณะที่ชาวเอเชียทั่วไปใช้เวลา 186 นาทีต่อวันในการดูวิดีโอในทุกแพลตฟอร์ม

สิ่งที่ Viu ต้องการต่อไปคือ แม้เวลาการรับชมจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องทำยังไงไม่ให้ลด ซึ่งวิธีการที่ทำจึงต้องเพิ่มคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ อย่างเช่นออริจินัลคอนเทนต์ ซึ่งปีที่แล้ว Viu มีในรูปแบบนี้ทั้งหมด 70 รายการ 900 ตอน

ในภาพรวมของ Viu ได้ให้บริการไปแล้ว 16 ประเทศ มี Active Users 20 ล้านราย โดยประเทศที่ Viu ให้ความสำคัญมากที่สุดคืออินโนนีเซียและไทย เพราะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สูง เฉพาะเมืองไทยปีที่ผ่านมายอดดาวน์โหลดโตจาก 2.3 ล้านครั้งเป็น 4.5 ล้านครั้ง

Workpoint ต้อง กำไร

ในขณะที่ฝั่ง “Workpoint” การจับมือกับ “Viu” เรียกได้ว่าตอบโจทย์ธุรกิจที่วางไว้ในปี 2019 ทั้ง 2 ข้อคือ 

  1. ขยายคอนเทนต์สู่แพลตฟอร์มอื่นให้เร็ว จากทีวีไปสู่ออนไลน์ ผ่านการจับมือกับพันธมิตร เป็นตัวกลางนำคอนเทนต์ในมือไปเสิร์ฟผู้ชมในแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมไปถึงการนำคอนเทนต์ออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นรายได้ โดยปีที่แล้วมีรายได้จากการขายคอนเทนต์ต่างประเทศ 30 ล้านบาท ปีนี้ต้องการ 40 ล้านบาท
  2. การลดต้นทุนเพื่อรักษาระดับของกำไรโดยปีนี้ Workpoint วางแผนใช้เงินลงทุนคอนเทนต์ 600 ล้านบาท จากปีก่อนที่ใช้ไป 800 ล้านบาท ซึ่ง 200 ล้านบาทที่หายไปคือการที่มีพันธมิตรมาช่วยจ่ายนั้นเอง

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ความท้าทายของ Workpointในปีนี้คือ การทำกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเรตติ้งที่ขึ้นอันดับ 2 ได้ เราไม่คิด กำไรเป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะสุดท้ายเรื่องใหญ่ในการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัล คือมุ่งโกยยอดการเข้าถึงกลุ่มคนดู ซึ่งสถานการณ์ตลาดที่เกิดขึ้นคือเราเริ่มเห็นธุรกิจออนไลน์ดาวรุ่ง ขาดทุนล้มหายตายจากกัน เมื่อธุรกิจไม่ทำกำไรเราจึงต้องเลือกว่าจะมุ่งเรตติ้ง หรือกำไร” 

ชลากรณ์ ขยายความเรื่องกำไรว่า ปี 2019 คาดหวังกำไรต้องไม่น้อยกว่าปี 2018 ซึ่งยังไม่ปิดงบ ตัวเลข 9 เดือนอยู่ที่กว่า 420 ล้านบาท แต่ก็คงไม่คาดหวังกำไรเหมือนปี 2017 ที่ทำได้ 900 กว่าล้านบาท เติบโตหวือหวาจากปีก่อนหน้าที่ทำได้เพียง 100 ล้านบาท

หารายได้จากวิธีอื่นๆ

ดังนั้นนอกเหนือจากการมีคนเข้ามาช่วยจ่ายต้นทุนแล้ว Workpoint จึงวางแผนหารายได้ทางใหม่ๆ ทั้งการลุยธุรกิจทีวีช้อปปิ้งโดยนำเวลาช่วงเวลากลางวันและหลังเที่ยงคืน ประมาณ 100-120 นาทีต่อวัน ที่เคยให้แบรนด์ขนาดใหญ่ และรายเล็กๆ อื่นเช่า กลับมาทำเอง

โดยการจับมือกับบริษัทอื่นไม่ได้ลงทุนเองทั้งหมด Workpoint รับหน้าที่เป็นช่องทางขายสินค้า ส่วนบริษัทร่วมทุนรับหน้าที่จัดการคลังและส่งสินค้า ซึ่งการทำทีวีช้อปปิ้ง Workpoint ไม่ได้คาดหวังกำไรมากนัก เพราะต้นทุนสูง

แต่หวังรายได้ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 400-600 ล้านบาท เบียดขึ้นมาเป็นที่สองของตารางรายได้แทนออนไลน์ ส่วนหัวตารางยังเป็นค่าโฆษณา เฉลี่ยทั้งวันอยู่ที่ 70,000 บาทต่อนาที ช่วงไพรม์ไทม์ 250,000 ต่อนาที

นอกจากนั้นยังได้จับมือตำมั่วของกลุ่มเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ทำตลาดสินค้าต่างๆ ผ่านทางสื่อในมือทั้งทีวีและออนไลน์

ขณะเดียวกันด้านผังรายการ ได้เตรียมรายการใหม่อีก 10 รายการ มีทั้งรายการใหม่แกะกล่อง และนำรายการเดิมมาปัดฝุ่นใหม่ เช่น “Earth Quake เกมแผ่นดินไหว ที่มีปัญญา นิรันดร์กุล เป็นพิธีกรเอง ซึ่งได้ปรับมาจากรายการปริศนาฟ้าแลบ เนื่องจากคนดูอยากได้ความตื่นเต้นใหม่ๆ

หรือรายการวิคตอรี่ BNK48” ที่หลุดผังไปก่อนหน้านี้ เหตุที่หยุดเพราะสมาชิกใน BNK48 ไม่มีเวลาที่จะถ่ายทำ จึงวางแผนปรับรายการใหม่ นอกจากนั้นยังมีรายการของ BNK48 อยู่ในแผนอีก 1-2 รายการที่เตรียมทำ รวมไปถึงรายการออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งต้องรอดูทิศทางก่อน

ปัจจุบันฐานคนดูหลักของ Workpoint อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ส่วนในออนไลน์อายุ 13-45 ปี เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 ปีนี้ตั้งเป้ารักษาให้อยู่ในระดับ 1.1-1.2 ส่วนรายได้ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท โดย 9 เดือนแรกของปี 2018 มีรายได้ 2,700 ล้านบาท.

]]>
1210809
OTT มาอีกราย วิว-Viu บุกไทย เน้นซีรีย์เกาหลี เอาใจสาวก “โอปป้า” https://positioningmag.com/1125973 Wed, 17 May 2017 11:42:07 +0000 http://positioningmag.com/?p=1125973 ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของตลาด OTT มีแอปพลิเคชั่นดูหนัง ดูซีรีส์แบบ VDO on demand ตบเท้าเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง “Viu (วิว)” แอปพลิเคชั่นดูซีรีส์สัญชาติฮ่องกงเป็นรายล่าสุดที่เข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ท่ามกลางผู้เล่นหน้าเดิมในตลาดที่มีอยู่ในไทยรวม 5-6 ราย

วิวอยู่ภายใต้การบริหารของ PCCW สื่อมัลติมีเดียในฮ่องกง มีบริการ Pay TV และได้แตกบริการมาสู่บริการวิดีโอแบบ OTT วิวได้เริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ได้ทำตลาดไปแล้ว 14 ประเทศได้แก่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โอมาน ยูเออี ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์จอร์แดน คูเวต อียิปต์ และบาห์เรน

ไทยเป็นประเทศที่ 15 ได้เริ่มเข้ามาสำรวจตลาดเมื่อปลายปี 2559 ได้เปิดเพจในเฟซบุ๊กพร้อมกับทำกิจกรรมกับแฟนคลับเกาหลีโดยตรง จนมั่นใจว่ามีความพร้อมและเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

วิวได้วางจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์ทางด้านเอเชียน โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลี รายการวาไรตี้เกาหลี ไม่มีคอนเทนต์ทางฮอลลีวู้ด เพราะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยคอนเทนต์เกาหลีมีการเติบโตมาก คนไทยได้รับอิทธิพลจากเกาหลีเยอะ ชอบดูซีรีส์เกาหลี ชอบศิลปินเคป๊อป และในข่วงปีที่ผ่านมามีเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ในการดูซีรีส์เกาหลีปิดตัวไปเยอะ เลยเป็นช่องว่างที่ทำให้วิวเร่งบุกตลาด

ใช้จุดแข็งตรงที่อัพเดตซีรีส์ขึ้นแอปได้เร็วภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ฉายในประเทศเกาหลี เพื่ออุดช่องว่างที่เจ้าอื่นที่มีซีรีส์เกาหลีเช่นเดียวกันแต่อัพคอนเทนต์ขึ้นช้ากว่าและมีซับไทยประกอบ

โมเดลการหารายได้ของวิวจะมีทั้ง 2 โมเดล คือ ดูฟรี และแบบพรีเมียมเป็นสมาชิกเสียค่าบริการรายเดือน ถ้าดูฟรีจะมีโฆษณาคั่น และได้ดูคอนเทนต์ช้ากว่าแบบพรีเมียมที่เสียค่าบริการเดือนละ 119 บาท

เจนิส ลี กรรมการผู้จัดการ PCCW Media Group กล่าวว่าโอกาสการเติบโตของตลาด OTT ในไทยสูงมาก พฤติกรรมการเข้าถึงของผู้ใช้ที่ชื่นชอบดูวิดีโอออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 93% คนไทยก็ชอบคอนเทนต์เกาหลีอยู่แล้ว ยังมีช่องว่างให้เข้าไปทำตลาดอีกเยอะ

เจนิส เสริมอีกว่า ที่เลือกรูปแบบการหารายได้ทั้ง 2 โมเดลนี้ เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคที่ใช้บริการ OTT มีทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งดูฟรี และเสียเงิน มีการเติบโตเฉลี่ย 20% ทั้ง 2 แบบ และเพื่อสร้างความแตกต่างให้ตลาดด้วย ส่วนใหญ่จะมีการเสียค่าบริการรายเดือน โฆษณาของวิวจะมี 4 รูปแบบด้วยกัน คือ Pre roll, Mid roll, Banner และ Pop up มีทั้งรูปแบบกด Skip ได้ และกด Skip ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตัวโฆษณา

การทำตลาดในไทย วิวประเดิมจับมือพาร์ตเนอร์กับเอไอเอสเป็นรายแรก พร้อมจัดโปรโมชั่นลูกค้าเอไอเอสดูได้ในราคา 99 บาท/เดือน และได้ดูฟรี 2 เดือน

การมีพาร์ตเนอร์เป็นโทรคมนาคมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบริการนี้คนดูผ่านมือถือเยอะมากกว่า 60% ต้องอาศัยแบรนด์วิธอินเทอร์เน็ตของโอเปอเรเตอร์ และยังสามารถเป็น Payment gatewayได้ด้วย สมาชิกสามารถจ่ายเงินผ่านรอบบิลได้เลย ในอนาคตอาจจะมีออกแพ็กเกจดาต้าด้วยกันเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน

ปัจจุบันวิวมีคอนเทนต์รวมในระบบกว่า 10,000 ชั่วโมง มีสมาชิกรวมทั่วโลก 6 ล้านราย ที่เป็นแอคมีฟยูสเซอร์ มีการใช้เวลาในการดูเฉลี่ย 1.2-1.6 ชั่วโมง/วัน ในไทยยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผู้ใช้เพราะเพิ่งเริ่มทำตลาดไม่นาน แต่ตั้งเป้าว่าจะมึการเติบโตเหมือนประเทศอื่นๆ

]]>
1125973