บริการวิดีโอสตรีมมิ่งในปัจจุบันมีความดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการมาของค่ายหนังยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาทำตลาดเอง อย่างไรก็ตาม ตลาด ‘อาเซียน’ ถือเป็นอีกตลาดใหญ่ที่ผู้เล่นให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน ‘Viu’ (วิว) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจากฮ่องกงก็ผงาดขึ้นเบอร์ 2 แซง ‘Netflix’ เรียบร้อยแล้ว
Viu เป็นแพลตฟอร์มการสตรีมวิดีโอของ PCCW ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมของฮ่องกง นำโดย Richard Li ลูกชายของเศรษฐี Li Ka-shing โดยปัจจุบัน Viu ให้บริการในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้แล้ว อย่างไรก็ตาม Viu ระบุว่าจะเน้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเป็นพิเศษ เพื่อจะพยายามตาม Disney ให้ทัน
Janice Lee ซีอีโอของ Viu กล่าวว่า ในอาเซียน Viu มีผู้ใช้งานรายเดือนมากกว่า 49 ล้านคนภาย ในสิ้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 37% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตดังกล่าวทำให้ปัจจุบัน Viu ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 2 รองจาก Disney แซงหน้า Netflix ซึ่งตกลงมาอยู่อันดับ 3 ตามรายงานของ Media Partners Asia บริษัทวิจัยอุตสาหกรรม
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 Viu มีสมาชิกทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 29.6 ล้านคน โดยมีสมาชิกใหม่มากกว่า 10 ล้านคน โดยมีจำนวนสมาชิกแบบเสียค่าบริการรายเดือนเพิ่ม 1.9 ล้านคน รวมเป็น 5.2 ล้านคนทั่วภูมิภาค ตามรายงานของ Media Partners Asia
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ Viu สามารถขยายฐานสมาชิกได้เร็วมาจาก นำเสนอบริการภายใต้การผสมผสานระหว่างรูปแบบที่เรียกว่า freemium และรูปแบบการสมัครสมาชิก ซึ่งผู้ใช้สามารถรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีโฆษณาในช่วงแรก และหวังว่าจะแปลงเป็นผู้ติดตามแบบชำระเงินรายเดือนในภายหลัง
โดยตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดที่ราคามีผลต่อการตัดสินใจ ในขณะที่สมาชิกในฝั่งตะวันตกมักจะไม่มีโมเดลดูฟรี นอกจากนี้ Viu ยังเน้นที่ คอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งในสหรัฐฯ โดยบริษัทได้ลงทุนสร้างเนื้อหาท้องถิ่นที่เป็นต้นฉบับในตลาดต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและไทย โดยตามรายงานของ Media Partners Asia พบว่า 20% ของการบริโภคคอนเทนต์ในประเทศอินโดนีเซียและไทย เป็นคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศ
“ผู้คนในเอเชียต้องการบริโภคคอนเทนต์ทุกวัน และนอกเหนือจากภาพยนตร์ดังที่สร้างในสหรัฐอเมริกาแล้ว พวกเขายังต้องการเห็นใบหน้าและเรื่องราวที่คุ้นเคยที่สะท้อนถึงสิ่งต่าง ๆ ในภาษาของพวกเขาเอง”
ทั้งนี้ ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์มากขึ้น อันเนื่องมาจากคำสั่งให้อยู่บ้านซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ตลาดความบันเทิงออนไลน์เฟื่องฟู โดยมากกว่า 45% ของผู้ใช้ในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนามสมัครใช้บริการแบบออนดีมานด์เนื่องจากการล็อกดาวน์ โดยในปี 2019 มูลค่าสินค้ารวมของสื่อออนไลน์ของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเกม วิดีโอ และเพลงเติบโตมากกว่า 20% เป็น 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
“แน่นอนว่ามีผู้เล่นจำนวนมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำคัญของภูมิภาค แม้ตลาดเปลี่ยนไปมาก แต่เรายังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำได้ และเราเป็นบริการที่สร้างขึ้นในเอเชีย สำหรับเอเชีย”