‘Burnout’ เป็นเหมือน ‘โรคติดต่อ’ ในออฟฟิศ อ่าน 5 ข้อแนะนำหยุดความคิด ‘หมดไฟ’

Burnout! คำนี้วนเวียนอยู่ในสังคมชาวออฟฟิศมาพักใหญ่ แต่ภาวะดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง งานวิจัยพบว่าภาวะ ‘หมดไฟ’ เปรียบเสมือนโรคติดต่อ เมื่อใครสักคนเกิดภาวะนี้ขึ้นมักจะส่งต่ออารมณ์แบบเดียวกันในหมู่เพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดกัน

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักภาวะ Burnout หรืออาการ “หมดไฟ” ภาวะนี้คืออาการทางจิตใจซึ่งมักจะเกิดจากความเครียดในสถานที่ทำงาน ผลคือทำให้คนคนนั้นเหนื่อยล้า หมดพลังทั้งกายใจ ขาดความเชื่อมั่นในการทำงาน และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง

อาการ Burnout ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในฐานะโรคใหม่เรียบร้อยแล้ว และเป็นอาการทางใจที่ส่งผลทางกาย มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคนอนไม่หลับ

ล่าสุดภาวะหมดไฟจนไม่อยากจะลุกขึ้นไปทำงาน มีข้อมูลงานวิจัยใหม่ พบว่า อาจจะไม่ได้เกิดจากตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะเปรียบได้กับ ‘โรคติดต่อ’ ส่งต่อพลังงานลบกันในหมู่พนักงาน หรืออยู่ในออฟฟิศที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเกิดภาวะ Burnout

งานวิจัยของ Michigan State University พบว่าภาวะหมดไฟมักจะติดต่อกันในหมู่พนักงานที่ทำงานใกล้ชิดกัน หรือเป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรเอื้อให้เกิดการ Burnout

เหตุผลเพราะเมื่อมีใครบางคนเริ่มหมดไฟ คนคนนั้นจะไม่สามารถสนับสนุนทีมได้เต็มที่ ทั้งประสิทธิภาพการทำงาน เวลา และอารมณ์ ซึ่งจะมีผลกระทบกับคนรอบตัวที่ทำงานด้วย และกลายเป็นลูกโซ่ทำให้คนอื่นๆ ห่อเหี่ยวตามกันไป

 

หยุดภาวะ Burnout ในสังคมออฟฟิศ

แม้ว่าภาวะหมดไฟเมื่อเกิดแล้วมักจะทำให้คนรอบตัวเป็นไปด้วย แต่ทางแก้ต้องเจาะลึกเป็นรายบุคคล เพราะแต่ละคนมีสาเหตุของอาการหมดไฟไม่เหมือนกัน จากความต้องการหรือความคาดหวังต่อการทำงานต่างกัน

งานวิจัยของ University of Zurich และ University of Leipzig ให้นิยามกระชับๆ ว่า ภาวะ Burnout จะเกิดขึ้นเมื่อคนคนนั้นไม่ได้สิ่งที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจงจากการทำงาน

กุญแจสำคัญคือ แต่ละคนมีสิ่งที่ “ต้องการจริงๆ” ต่างกัน และไม่ใช่ว่าการได้อะไรมากขึ้นจากที่ทำงานจะทำให้ทุกคนพอใจเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น “การได้เลื่อนขั้น” ขึ้นไปเป็นหัวหน้างาน โดยทั่วไปแล้วคนเราน่าจะต้องการเติบโตในหน้าที่การงาน แต่บางคนก็ไม่ใช่ บางคนต้องการทำหน้าที่ที่ไม่ถูกจับจ้องและไม่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ

ดังนั้น การจะต่อสู้กับภาวะหมดไฟสำเร็จ คุณต้องทำความเข้าใจตัวเองให้ได้ก่อนว่าตัวเองมีบุคลิกแบบไหน ต้องการอะไรจากการงาน

คำแนะนำจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Current Psychology มี ข้อแนะนำ 5 ข้อ เพื่อให้คุณแก้ไขปัญหา Burnout ดังนี้

1.ตั้งใจแก้ปัญหามากกว่าวิ่งหนีปัญหา หาทางเข้าใจและแก้ไขให้ได้ เช่น ถ้าคุณมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ลองเปิดใจคุยกันดู ถ้าคุณทำงานไม่ไหวเพราะงานเยอะเกินไป ลองปรึกษาหัวหน้าให้ช่วยเหลือ รวมๆ ก็คือหาทางทำอะไรสักอย่าง มากกว่าจะเลี่ยงๆ ไป

2.เชื่อมั่นในทักษะของตนเอง แน่นอนว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่ภาวะหมดไฟมักเกิดจากความรู้สึกลบ กล่าวโทษ หรือตั้งคำถามต่อความสามารถของตน ถ้าเริ่มสงสัยในตัวเอง ลองลิสต์ถึงความสำเร็จที่ผ่านมา ทักษะและความเชี่ยวชาญของคุณมีอะไรบ้าง ต่อด้วยการมองหาว่าคุณอยากพัฒนาอะไรเพิ่มอีก

3.มองภาพให้ใหญ่ขึ้น อีกหนึ่งความรู้สึกของคน Burnout คือคนคนนั้นจะเริ่มมองตัวเองเล็กลง โลกแคบลง มองไปทางไหนก็ไร้ทางออก เรื่องนี้ต้องเปลี่ยนมุมมองตัวเองให้เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นสำคัญ เช่น คุณไม่ได้แค่ทำงานบัญชีไปวันๆ แต่งานของคุณคือการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินให้บริษัท

4.หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์กับคนในบริษัท สาเหตุหนึ่งที่มักทำให้เกิดอาการหมดไฟ คือความรู้สึกถูกตัดขาด ไม่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่ทำงาน อย่าปล่อยให้เป็นแบบนั้น ลองสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับเพื่อนร่วมงานสัก 1-2 คน จะทำให้คุณมีคนรับฟังหรือช่วยเหลือ มีคนแลกเปลี่ยนสถานะในออฟฟิศ ทำให้คุณเห็นว่าคุณไม่ได้เผชิญความท้าทายอยู่คนเดียว

5.มองบวก อย่าโหดกับตัวเองเกินไป เตือนตัวเองเสมอว่าคุณกำลังเรียนรู้ และคุณไม่มีทางทำถูกไปทุกอย่างได้ วันนี้คุณอาจจะพลาด แต่พรุ่งนี้คุณจะลุกขึ้นใหม่และก้าวต่อไปด้วยพลังบวก

City College of New York พบว่า 86% ของคนที่พวกเขาทำการสำรวจ มีภาวะร่วมระหว่าง Burnout กับ “โรคซึมเศร้า” ดังนั้น ไม่ควรปล่อยให้ภาวะหมดไฟกัดกินหัวใจของคุณนานเกินไป…

Source