AI อาจกำลังแย่ง “การคิด” ของเราไป

ผู้อำนวยการ – ฝ่ายวิศวกรข้อมูลและการวิเคราะห์ บริษัท CPAXTRA

บริบทที่สังคมมักพูดถึง AI คือ ความเสี่ยงที่เอไอกำลังจะเข้ามาแย่งหรือแทนที่งานของคนเรา หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มนุษย์เราอาจกำลังสูญเสียตำแหน่งงานให้กับเอไอซึ่งความเสี่ยงนั้นไม่ได้อยู่เพียงแค่ประเภทงานทักษะต่ำอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงงานที่ใช้ทักษะสูงอาทิเช่น นักกฎหมาย หรือกระทั่งสายงานแพทย์เองก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าอาจไม่ใช่การสูญเสียตำแหน่งงาน แต่คือความเสี่ยงที่เราอาจกำลังสูญเสียความสามารถในการคิดให้กับเอไอ ซึ่ง “การคิด” นั้นเป็นความความสามารถที่ทำให้มนุษย์สามารถก้าวขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เป็นความสามารถที่ทำให้เราพิเศษและแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหมดบนโลกนี้

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ จากประสบการณ์ที่มีโอกาสได้สอนนักศึกษาที่มหาลัย ผมเริ่มสังเกตได้ว่ามีนักศึกษาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ใช้เอไอในการทำ assignment โดยคัดลอกคำถามไปให้เอไอตอบ และนำคำตอบที่เอไอให้กลับมาเสนอ จะเห็นได้ว่าทั้งกระบวนเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบนั้น นักศึกษาไม่ได้มีการใช้ “การคิด” ของตัวเองเลย ซึ่งเชื่อได้ว่าการใช้งานเอไอในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักศึกษา แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานทำหลากหลายสายอาชีพที่อาจใช้ AI ให้ช่วย “คิด” โดยไม่ได้ผ่านการคิดของตัวเองเลย

ไม่เพียงแต่เราเริ่มที่จะ “outsource” “การคิด” ไปให้ AI คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยังเลือกที่จะ “เชื่อ” คำตอบที่เอไอให้มาโดยไม่มีการตั้งคำถามหรือกลั่นกรองใดๆ ว่าคำตอบที่ได้มานั้นถูกต้องจริงหรือไม่ หรือยังมีความเป็นไปได้ในมุมอื่นๆ อีกมั้ย แปลว่าเราไม่ได้เพียงเลือกให้เอไอ “คิด” แทนเรา แต่ยังเลือกที่จะ “เชื่อ” สิ่งที่เอไอตอบ และยังรวมไปถึงการ ”ทำ” ตามคำแนะนำนั้นๆ

ในความเป็นจริงแล้ว AI ไม่ใช่ผู้ร้าย เพราะหากใช้ให้ถูก มันสามารถช่วยเหลือมนุษย์ในทางความคิดได้อย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นการชวนให้คิดมุมใหม่ จำลองผลลัพธ์ ท้าทายแนวคิดของเรา หรือแม้แต่ช่วยตรวจตราเหตุผลให้รอบด้าน หากมนุษย์ใช้งานเอไอในลักษณะนี้ เอไอ ก็จะเปรียบเสมือนพาร์ทเนอร์ทางความคิดที่ทรงพลังสำหรับมนุษย์เรา

สิ่งที่น่ากังวลคือ เราเริ่มเห็นทรนว่าคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้ AI เพื่อเสริมหรือเป็นพาร์ทเนอร์ ทางการคิด แต่ใช้มันเพื่อคิดและตัดสินใจแทนเราโดยสิ้นเชิง ยิ่งมนุษย์เริ่ม “ขี้เกียจคิด” ยิ่งยอมให้ AI คิดแทนในทุกเรื่อง เราก็อาจค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการคิดไป วันนึงที่มนุษย์เรา “outsource” การคิดให้เอไอจนเคยชิน วันนั้นเราอาจจะขี้เกียจคิดและไม่สามารถ คิด ด้วยตัวเองไปเลยก็เป็นได้

เราอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราว่าถึงแม้ในความเป็นจริงเอไออาจจะสามารถ “คิด” แทนเราได้ แต่เราควรจะหรือยอมให้เอไอ “คิด” แทนเราจริงๆ ไหม เราอาจจะต้องกลับมาหวงแหนและปกป้องสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา มนุษย์เป็นมนุษย์ ซึ่งก็คือความสามารถใน “การคิด” ของเรานั่นเอง