Debt – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 14 Jul 2023 16:00:29 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 UN เตือนหนี้สาธารณะทั่วโลกรวมกันเพิ่มขึ้น 5 เท่าใน 22 ปีที่ผ่านมา ห่วงประเทศกำลังพัฒนาอาจจ่ายหนี้ไม่ไหว https://positioningmag.com/1437790 Fri, 14 Jul 2023 08:30:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1437790 รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ชี้ถึงปัญหาหนี้สาธารณะทั่วโลกรวมกันล่าสุดนั้นสูงถึง 92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มมากขึ้น 5 เท่าในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้ในประเทศกำลังพัฒนานั้นได้เพิ่มสูงขึ้น จนสร้างความเป็นห่วงในความสามารถในการชำระหนี้

รายงานล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ ที่ได้ออกมาเตือนถึงปริมาณหนี้สาธารณะในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยล่าสุดอยู่ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินเกือบ 3,000 ล้านล้านบาท ซึ่งปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นนั้นมาจากหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่

ในรายงานดังกล่าวชี้ว่า 30% ของปริมาณหนี้สาธารณะมาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยมีมากถึง 59 ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่า 60% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 22 ประเทศจากในช่วงปี 2011

โดยประเทศที่มีจำนวนหนี้สาธารณะมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี อินเดีย เยอรมัน

นอกจากนี้ UN ยังชี้ว่าหลายประเทศในแอฟริกาได้จ่ายดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะมากกว่างบประมาณสำหรับการศึกษาหรือแม้แต่งบสำหรับการสาธารณสุขด้วยซ้ำ และหลายประเทศกำลังพบกับสภาวะที่ต้องเลือกระหว่างหนี้ของประเทศหรือใช้งบประมาณในการดูแลประชาชน

แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนามีระดับหนี้สาธารณะน้อยกว่าประเทศพัฒนา แต่หลายประเทศนั้นกลับมีต้นทุนทางการเงินที่มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ในรายงานชี้ว่าหลายประเทศในแอฟริกาต้องชำระหนี้มากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า และมากกว่าประเทศในยุโรปถึง 8 เท่าด้วยซ้ำในจำนวนเงินกู้ที่เท่ากัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นในรายงานของ UN ก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศไม่สามารถหารายได้ จึงต้องใช้มาตรการในการกู้เงินทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อที่จะดูแลประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว

คำนิยามของคำว่าหนี้สาธารณะคือ การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งจำนวนหนี้ที่มากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการหนี้ นอกจากนี้จำนวนหนี้สาธารณะเป็นตัวชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานั้นด้วย

UN ยังชี้ว่าประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ควรจะสร้างเครื่องมือบริหารหนี้ให้กับประเทศที่มีหนี้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ การยืดอายุหนี้ออกไป รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในปัจจุบัน

โดยประเด็นหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ถูกหยิบยกมาในการประชุมกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเงินและเศรษฐกิจ หรือ G20 และมีความพยายามที่ชักชวนให้จีนเข้าร่วมในการบรรเทาวิกฤตหนี้ที่จีนเป็นเจ้าหนี้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหรือแม้แต่แอฟริกา

ข้อมูลจาก UN
]]>
1437790
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก แม้จะค่อยๆ ลดลง 2 ปีติดก็ตาม https://positioningmag.com/1420462 Thu, 23 Feb 2023 06:18:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1420462 หนี้ครัวเรือนในไทยนั้นถือว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลายาวนาน และปัญหาดังกล่าวนี้ยังกระทบกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย โดยบทวิเคราะห์ล่าสุดจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยยังสูงมากกว่า 80% ของ GDP แม้ว่าจะค่อยๆ ลดลงมาแล้วก็ตาม

บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ชี้ถึงหนี้ในครัวเรือนไทยหลังจากที่ทำสถิติสูงสุดในปลายปี 2020 ที่ผ่านมาโดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 90.1% ของ GDP ไทยนั้นได้ค่อยๆ ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในรายงานคาดว่าในปี 2023 หนี้ครัวเรือนของไทยจะอยู่ในช่วง 84-86.5% ของ GDP ไทย

นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ยังชี้ถึงสัญญาณหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% ของ GDP ในช่วงปี 2011 เป็นต้นมา ซึ่งตัวเลขที่หนี้ในครัวเรือนในระดับที่ยั่งยืนไม่ควรจะเกิน 80% ของ GDP แม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะลดลงมาแล้วจากระดับสูงสุดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าระดับที่ยั่งยืน ผลที่เกิดขึ้นคือการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนไทยเติบโตลดลง

ปัจจัยที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตลดลง โดยบทวิเคราะห์ได้ชี้แจงสาเหตุสำคัญก็คือดอกเบี้ยยังเป็นทิศทางขาขึ้นส่งผลทำให้ครัวเรือนไทยระมัดระวังในการก่อหนี้ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อรายย่อยที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังรวมถึงสถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาตรการช่วยเหลือหนี้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ ไปจนถึงการปรับโครงสร้างหนี้ หรือแม้แต่ดูแลการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนไทย ทำให้หนี้ดังกล่าวไม่เพิ่มสูงมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังชี้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลง แต่ในระยะยาวแล้วปัญหาหนี้ในครัวเรือนที่ลดลงจะส่งผลดีในเรื่องเสถียรภาพการเงิน รวมถึงการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัวในระยะยาว

นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าการแก้หนี้ครัวเรือนจะไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ หากไม่สามารถทำให้ครัวเรือนมีรายได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งอาจหมายถึงการสร้างอาชีพเสริมรองรับในระดับท้องถิ่นที่มีความต่อเนื่องและเหมาะสมกับข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ คงต้องอาศัยแรงผลักดันจากภาครัฐ ธปท. สถาบันการเงิน และตัวครัวเรือนเอง เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้หนี้ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

]]>
1420462
ไทยเสี่ยงภาวะ ‘Debt Overhang’ ครัวเรือนสูญเสียรายได้ ดิ้นหา ‘เงินกู้-เงินด่วน’ มาใช้จ่ายประจำวัน https://positioningmag.com/1341610 Fri, 09 Jul 2021 12:41:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1341610 จากเเนวโน้มหนี้ครัวเรือน’ เพิ่มต่อเนื่อง ทำนิวไฮเเตะ 90.5% ไทยเสี่ยงเผชิญภาวะ ‘Debt Overhang’ เมื่อคนตกงาน-สูญเสียรายได้ ดิ้นรนหา ‘เงินกู้-เงินด่วน’ มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางส่วนหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น สวนทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ล่าสุดถึง หนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 1 ปี 2021 แตะระดับ 90.5% ต่อ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโดยเฉพาะรายได้ภาคครัวเรือนที่เผชิญกับผลกระทบโรคระบาด ยัง ฟื้นตัวช้า

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนไทยยังมีความต้องการสินเชื่อสูง เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในภาวะวิกฤต บางส่วนอาจต้องพึ่งพา ‘หนี้นอกระบบ’ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ปัญหาหนี้มีมากขึ้นในอนาคต

“ไทยมีแนวโน้มประสบภาวะ Debt Overhang หรือ การมีหนี้สูงในภาคครัวเรือน จนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”

หนี้ครัวเรือนพุ่ง เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ? 

สำหรับหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจาก 2 ผู้ให้กู้หลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI) ที่เติบโตที่ 4.9% และ 5.5% ตามลำดับ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตจาก SFI ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือบริษัทบัตรเครดิต-ลิสซิ่ง-และสินเชื่อส่วนบุคคล มีการเติบโตแบบชะลอตัวลง ส่วนหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมจากโรงรับจำนำยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

EIC วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทย เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

ปัจจัยที่หนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อย ทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยลดภาระการชำระหนี้ในระยะสั้น และช่วยป้องกันการเกิดหนี้เสียในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การชำระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ

ปัจจัยที่สอง วิกฤตโควิดส่งผลทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ นำไปสู่การลดลงของสภาพคล่องของคนจำนวนมาก จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปของภาคครัวเรือน ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2020 และมีอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 5.9% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.8% แม้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

“แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการเติบโตที่เกิดขึ้นของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนว่าครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสินเชื่ออาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาวังวนของกับดักหนี้ได้ในอนาคต” 

ปัจจัยที่สาม ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคา ออกโปรโมชันจูงใจเป็นจำนวนมาก เพื่อลดอุปทานคงค้าง ประกอบกับมาตรการ LTV มีการผ่อนคลายลง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในหมวดที่อยู่อาศัยที่เติบโตได้ค่อนข้างดีที่ 5.9% ณ สิ้นปี 2020 และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 6.8%

หนี้ครัวเรือนไทย ‘สูงสุด’ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในเวลานี้อยู่ในระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยข้อมูลจาก Bank of International Settlement (BIS) พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 12.0% ต่อ GDP ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงเป็นอันดับ 7 จากทั้งหมด 43 ประเทศ

โดยเป็นผลมาจาก GDP ที่ลดลงมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยยังคงสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของการพึ่งพาสินเชื่อในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยในช่วงที่ผ่านมา

EIC มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2021 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ในช่วง 88-90% ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจากในไตรมาสที่ 1 ตามการทยอยฟื้นตัวของ GDP

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภายในปี 2021 อาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากผลของการแพร่ระบาดของโควิดมีความรุนแรงและต่อเนื่อง จนทำให้ GDP ลดต่ำลงกว่าที่คาด ขณะที่หนี้ยังสามารถขยายตัวได้ด้วยอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปัจจุบัน

Debt Overhang อยู่ไม่ไกล 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ Debt Overhang คือ ภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในด้านต่างๆ ของภาคครัวเรือน เช่น การลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือการลงทุนในด้านการศึกษา เเละภาวะ Debt Overhang จะยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้อีกด้วย

โดยจากการศึกษาของ BIS พบว่า หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงกว่าระดับ 80% จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“สถานการณ์หนี้ของภาคครัวเรือนไทยที่เกิดขึ้นจริงอาจแย่กว่าที่สัดส่วนหนี้ต่อ GDP บ่งชี้จากการที่รายได้ภาคครัวเรือนโตช้ากว่า GDP โดยเฉลี่ย และในช่วงโควิดแนวโน้มดังกล่าวนี้ก็น่าจะยังมีต่อเนื่อง จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรง สะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์” 

โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ลดลงถึง -8.8% ขณะที่ Nominal GDP ลดลงเพียง -2.1% ในช่วงเดียวกัน

แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม มีการใช้แรงงานไม่มากนักเมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคบริการ อีกทั้งรายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก

ด้วยเหตุนี้การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ภาคครัวเรือน ทั้งในรูปแบบของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้โดยการปรับและเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจภาคครัวเรือนยังคงมีความเปราะบางสูง

 

]]>
1341610