-
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงตัวเลขจีดีพีไทย +1.8% สำหรับปี 2564 จับตาการฉีดวัคซีนอีก 1-2 เดือน หากทำได้ตามเป้าหมาย มีลุ้นจีดีพีไทยผงกหัวขึ้นช่วงไตรมาสสุดท้าย
-
ชี้โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย 4 ด้าน คือ สถานะทางการคลัง, เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น, หนี้สินภาคครัวเรือน และ ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น
-
กังวล “กลุ่มเปราะบางทางการเงิน” พุ่งขึ้นจาก 10.8% เป็น 22.1% หนี้ครัวเรือนอาจแตะ 90% ในปีนี้ ต้องเร่ง “แก้หนี้” ในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยประจำเดือนมิถุนายน 2564 ยังคงยืนยันคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนเมษายน ว่า ปีนี้จีดีพีไทยน่าจะเติบโต +1.8% (เป็นการปรับลดจากเมื่อต้นปีที่เคยคาดการณ์ไว้ +2.6% เนื่องจากมีการระบาดรอบ 3)
สำหรับแนวโน้มหลังจากประเทศไทยเริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 “ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าต้องจับตาอัตราความเร็วการฉีดวัคซีนไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หากอัตราการฉีดวัคซีนยังทำได้เท่ากับวันที่ 7-8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสตามเป้า
และหากประเทศไทยไม่มีการระบาดซ้ำ จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลงดังที่ผ่านมา คาดว่าการระบาดรอบนี้น่าจะคลี่คลายภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากคนไทยจะกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศสูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์กรณีฐาน ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5.5 แสนคน
4 โจทย์เศรษฐกิจที่ต้องจับตาต่อจากวัคซีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ต่อเนื่องถึงโจทย์เศรษฐกิจที่ต้องจับตา หลังจากไทยสามารถคลี่คลายเรื่องการกระจายวัคซีนแล้ว โดยมี 4 ข้อใหญ่ ดังนี้
1.สถานะทางการคลัง จากการผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท น่าจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยเร่งตัวขึ้นเกิน 60% ของจีดีพีภายในปี 2565 ภาวะขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นในระยะสั้นอาจยังไม่เป็นประเด็น แต่ในระยะกลางและระยะยาวจะมีผลต่อการพิจารณาลงทุนของต่างชาติ
2.เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นทุกรายการ ทำให้เกิดเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เร่งตัวขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน ต้องจับตาดูเฟดว่าจะส่งสัญญาณถอยจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือไม่ ซึ่งอาจมีผลในปีหน้า
3.หนี้สินภาคครัวเรือน สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลงตามคาด โดยคนไทยมีอัตราภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) สูงขึ้นเฉลี่ย 46.9% มีกลุ่มเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 22.1% และคาดว่าหนี้ครัวเรือนจะไปแตะ 90% ในปีนี้
4.ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งจะกระทบ SMEs เป็นเม็ดเงินประมาณ 23,600-23,800 ล้านบาท ในสถานการณ์ปกติผู้ค้ามักส่งผ่านต้นทุนนี้ไปสู่ราคาปลายทางทั้งหมด แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปกติ ผู้ค้าจึงต้องยอมรับต้นทุนไว้เองบางส่วนและลดกำไรลง
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีมาตรการภาครัฐช่วยเหลือ จึงช่วยแบ่งเบาภาระของทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ โดยคาดว่าจาก 100 ส่วน ผู้ค้าจะต้องแบกรับต้นทุน 10 ส่วน และอีก 90 ส่วนจะอยู่ที่ภาครัฐ 96% อยู่ที่ผู้บริโภคปลายทาง 4%
“กลุ่มเปราะบางทางการเงิน” พุ่งพรวด
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงประเด็นสถานะทางการเงินรายย่อยที่ถดถอยลง โดยเปรียบเทียบเดือนมีนาคมกับเดือนมิถุนายน รายย่อยมีภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เพิ่มขึ้นจาก 42.8% เป็น 46.9% และสัดส่วนผู้ตอบที่มีรายได้ลดลง จากเดิมมี 56.2% เพิ่มเป็น 59.6% แล้ว
เมื่อรายได้ลดลงแต่ค่าครองชีพไม่ลดลง จากเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้สัดส่วนคนไทยที่ไถลตัวไปสู่กลุ่มเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัดส่วน 10.8% เป็น 22.1% (กลุ่มเปราะบางทางการเงิน หมายถึง ผู้ที่มี DSR มากกว่า 50%)
ในแง่ความช่วยเหลือที่ต้องการ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามต้องการความช่วยเหลือจากรัฐหลักๆ คือ 1.ให้เงินช่วยเหลือ (46.6%) และ 2.ต้องการรายได้เพิ่ม (31.7%)
ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งทำให้การควบคุมสถานการณ์ระบาด และกลับมาใช้ชีวิตปกติ ท่องเที่ยว และมีแหล่งงาน เป็นเรื่องสำคัญมากในระยะสั้น
ส่วนในระยะยาวเมื่อ COVID-19 คลี่คลาย ธัญญลักษณ์มองว่าจะมีโจทย์เศรษฐกิจรออยู่ในระยะถัดไปคือการ “แก้หนี้” โดยพบว่ามีคนไทยจำนวนมากที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่ขณะนี้