ระบาดรอบ 3 จะจบเมื่อไหร่? คือคำถามที่ทุกคนเฝ้ารอคำตอบ ล่าสุด “วิจัยกรุงศรี” พล็อตกราฟใหม่หลังการระบาดมีแนวโน้มรุนแรง คาดจุดพีคของยอดผู้ติดเชื้ออาจเป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และทำให้การคุมระบาดสำเร็จล่วงเลยไปถึงเดือนสิงหาคม จึงพิจารณาปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 2% โดยไตรมาส 1/64 ยังติดลบอยู่ -2.6% YoY
วิจัยกรุงศรีประเมินใหม่ หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รอบสามรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อเดือนเมษายน คาดว่าระยะที่การระบาดจะกลับมาเป็นปกติ (มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 100 คนต่อวัน) จะเลื่อนจากต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ไปเป็นเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ประเมินแยกเป็น 3 กรณี ดังนี้
- กรณีแรก (เส้นสีเหลือง) สามารถคุมการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดยังอยู่ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติภายในปลายเดือนกรกฎาคม
- กรณีที่สอง (เส้นสีส้ม) ยังไม่สามารถคุมการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และทำให้การระบาดกลับเป็นปกติราวปลายเดือนสิงหาคม
- กรณีที่เลวร้ายที่สุด (เส้นสีแดง) มีการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปอีก 2-3 เดือน และผู้ติดเชื้อสะสมจะขึ้นไปแตะ 3 แสนรายได้ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม (จากปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่า 1 แสนราย) โดยวิจัยกรุงศรียังไม่ระบุช่วงที่การระบาดจะคลี่คลาย หากเกิดกรณีนี้ขึ้น
อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีเชื่อว่า สถานการณ์จริงน่าจะอยู่ในช่วงระหว่างเส้นสีเหลืองและเส้นสีส้ม นั่นหมายความว่าการระบาดอาจคลี่คลายช่วงต้นถึงกลางเดือนสิงหาคม
การระบาดที่คลี่คลายช้าลงไปอีกประมาณ 1 เดือน จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาคเอกชนถูกจำกัด รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้น่าจะหดตัวลงเหลือ 3.3 แสนคนเท่านั้น วิจัยกรุงศรีจึงปรับคาดการณ์จีดีพีไทยเหลือ 2% (จากเดิม 2.2%)
ขณะที่ สภาพัฒน์ ก็ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยเช่นกัน โดยลดเหลือกรอบ 1.5-2.5% จากเดิม 2.5-3.5%
สำหรับไตรมาสแรกปี 2564 เศรษฐกิจไทยติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ห้า โดยติดลบ -2.6% YoY แต่ถือว่าฟื้นตัวขึ้นมาแล้วจากไตรมาสที่สี่ปี 2563 เพราะเมื่อไตรมาสก่อนหน้าเศรษฐกิจติดลบ -4.2%
ส่วนเซ็กเตอร์ที่จะยังช่วยประคองเศรษฐกิจในปีนี้ได้ เป็นภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ และเงินอัดฉีด 2 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
การควบคุมการระบาดยังขึ้นอยู่กับนโยบายการกระจายวัคซีนด้วย โดยล่าสุดคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจัดประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม มีมติที่สำคัญ ดังนี้ 1.ปรับเพิ่มจำนวนจัดหาวัคซีนเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565 2. ปรับแนวทางเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด 3.เร่งจัดหาวัคซีนให้มากที่สุดและหลากหลายมากขึ้น