รอบสามซ้ำ “แผลเศรษฐกิจ” EIC ปรับลดจีดีพีไทยเหลือ 2% คาดใช้เวลาคุมระบาด 3 เดือน

  • COVID-19 ระบาดรอบสามส่อยาว ซ้ำเติมแผลเศรษฐกิจ SCB EIC ปรับลดจีดีพีไทยเหลือโต 2% (เดิมคาดโต 6%)
  • ระลอกสามมีผลกระทบกับการบริโภคภาคเอกชน จำนวนนักท่องเที่ยวคาดการณ์ลดเหลือ 5 ล้านคน แต่ภาคการส่งออกคาดว่าจะโต 8.6% สูงกว่าที่เคยคาดไว้ เพราะเศรษฐกิจการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว
  • กรณีฐาน (Base case) คาดจะใช้เวลาคุมการระบาด 3 เดือน กลับมาเป็นปกติช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ใช้เวลามากกว่าปีก่อนเพราะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม
  • ส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงาน การรับสมัครงานลดลงตั้งแต่เดือนเมษายน และมีผู้ว่างงานสูงสุดในรอบ 5 เดือน
  • ชี้ภาครัฐควรเร่งอัดฉีดเงินในระบบตั้งแต่ไตรมาส 2 ก่อนที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจซ้ำสอง

SCB EIC ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยหลังเผชิญการระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหลือ 2.0% (จากเดิมคาดโต 2.6%) เฉพาะไตรมาสที่ 2/2564 การระบาดมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของจีดีพี

EIC มองว่า การระบาดรอบที่สามจะส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อเศรษฐกิจ ดังนี้

  • พฤติกรรมการบริโภค – ทั้งจากความตื่นตัวของประชาชนเองและจากนโยบายรัฐ การบริโภคสินค้าและบริการจะลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร, การเดินทาง และกิจกรรมสันทนาการ
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะลดลงเหลือ 1.5 ล้านคนในปีนี้ (เดิมคาดการณ์ 3.7 ล้านคน) เนื่องจากการระบาดระลอกสามอาจส่งผลต่อกำหนดการเปิด “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่จะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ รวมถึงมีผลต่อการพิจารณาของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวในการรับคนขากลับเข้าประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร อาจกำหนดให้ไทยเป็นประเทศ ‘สีเหลือง’ ผู้ที่เดินทางจากไทยเข้าสู่อังกฤษต้องกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 10 วัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์หนึ่งที่ยังพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ได้ คือ “ภาคการส่งออก” ซึ่ง EIC คาดว่าจะโตได้ถึง 8.6% ในปีนี้ (ไม่รวมทองคำ) ปรับขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะโต 6.4% เนื่องจากเศรษฐกิจการค้าโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดได้ และฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วจำนวนมาก เช่น จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แต่มีปัจจัยลบที่ต้องระวังคือปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และชิปที่ใช้ในการผลิตสินค้า

 

ระลอกสามจะจบเมื่อไหร่ ? : EIC คาดการณ์ “3 เดือน”

EIC ประเมินจากจำนวนผู้ติดเชื้อและการกระจายตัวของโรคที่มากกว่าสองรอบแรก รวมถึงไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ค่าอัตราการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสูงขึ้น จากการประเมินคาดว่าจะทำให้ กรณีฐาน (Base Case) ต้องใช้เวลาในการควบคุมระบาด 3 เดือน โดยผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลงเหลือประมาณ 500 รายต่อวันในเดือนมิถุนายน และกลับเป็นปกติ (มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 รายต่อวัน) ราวเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมเฉพาะระลอกที่สามแตะ 93,000 ราย

แต่ถ้าหากมาตรการรัฐควบคุมได้น้อยเกินไปหรือประชาชนไม่ตื่นตัว อาจทำให้การระบาดยาวนานไปสู่ กรณีที่แย่ (Worse Case) คือใช้เวลาถึง 4 เดือนในการควบคุม นั่นหมายความว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังไต่ระดับขึ้น หรือมีการติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ และขึ้นไปสูงสุดที่เดือนมิถุนายน แล้วค่อยไต่ระดับลงจนเป็นปกติราวเดือนสิงหาคม

 

ผู้ว่างงานสูงขึ้น บริษัทเปิดรับสมัครน้อยลง

EIC มองว่าการระบาดรอบนี้เป็นการซ้ำเติมแผลเป็นสำคัญที่มีมาตั้งแต่ปีก่อนคือ “ตลาดแรงงาน” เนื่องจากเห็นสัดส่วนผู้ใช้สิทธิว่างงานของสำนักงานประกันสังคมเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดที่เคยมีสัดส่วนเพียง 1.4%

ขณะที่ดาต้าการประกาศรับสมัครงานใหม่จาก JobsDB.com เมื่อเดือนเมษายน พบว่า มีการรับสมัครงานน้อยลงและกินวงกว้างหลายประเภทงานยิ่งกว่าการระบาดรอบสอง มีกลุ่มงานที่รับสมัครลดลงเทียบกับรอบสองที่ยังไม่มีผลกระทบ เช่น ไอที บริการทางการแพทย์ บริการความงาม จัดซื้อ การเงิน ประกัน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ

 

ชี้ภาครัฐควรอัดฉีดด่วนตั้งแต่ไตรมาส 2/64

ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ ล่าสุด ครม. มีมติออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจวงเงิน 2.4 แสนล้านบาท เป็นการใช้เม็ดเงินในพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจนเต็มวงเงินแล้ว

อย่างไรก็ตาม EIC พบว่าตามแผนของรัฐ เม็ดเงินจะอัดฉีดในไตรมาส 2 นี้เพียง 8.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจของไตรมาสนี้ที่ EIC ประเมินไว้ 2.4 แสนล้านบาท เม็ดเงินจากภาครัฐสำหรับไตรมาสนี้จึงอาจจะไม่เพียงพอและไม่ทันต่อความต้องการ

มาตรการภาครัฐ รับมือระบาดรอบสาม

หากภาครัฐไม่ปรับมาเร่งอัดฉีดงบประมาณโดยเร็ว อาจทำให้ครึ่งปีแรก 2564 เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Technical Recession) อีกครั้ง ซ้ำรอยเดิมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไตรมาส 2 ปี 2563

EIC ยังคาดการณ์ถึงสิ่งที่ต้องจับตาในระยะถัดไปคือ “วัคซีน” ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการคุมการระบาดรอบนี้ และป้องกันการระบาดรอบใหม่ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเร็วในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน โดยเฉพาะการควบคุมไวรัสสายพันธุ์ใหม่