“ฟู้ดแพชชั่น” ประเมิน COVID-19 รอบ 3 สาหัส เดือนเมษายนลูกค้าลด 50% ปรับเป้าทั้งปีขอแค่เสมอตัว-ไม่ขาดทุน ออกแคมเปญ “มาตรGON” เร่งยอดเดลิเวอรี่ แต่ยอมรับมู้ดผู้บริโภคนาทีนี้เน้น “ประหยัด” มากกว่าสนุกตื่นเต้นกับความแปลกใหม่ของการทานที่บ้าน
COVID-19 ระบาดรอบสาม ความท้าทายอีกครั้งของธุรกิจร้านอาหาร “บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดของร้านอาหารในเครือ พบทราฟฟิกเข้าร้านเดือนเมษายน 2564 ลดลง 50% โดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์สุดเงียบเชียบ
แม้ว่าสถานการณ์ยังไม่ย่ำแย่เท่ากับการระบาดครั้งแรกเมื่อปีก่อน เพราะไม่มีคำสั่งล็อกดาวน์ร้านอาหาร แต่ความรู้สึกของผู้บริโภคกังวลสูงมากจากตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,000 คนต่อวัน และผู้เสียชีวิตรายวันเป็นตัวเลขสองหลัก ทำให้คนไม่ต้องการทานอาหารในร้าน
โดยคาดว่าการระบาดน่าจะยังส่งผลไปตลอดไตรมาส 2 ทำให้เชื่อว่าไตรมาสนี้ ยอดขายของฟู้ดแพชชั่นจะลดลง 30-40%
“รวมทั้งปีจะเป็นเท่าไหร่คงตอบยาก เราต้องดูเดือนต่อเดือนเลย” บุณย์ญานุชกล่าว “แต่คิดว่าเป้าเดิมที่จะโต 3-5% อาจจะไม่ได้ ตอนนี้ขอแค่เสมอตัว ไม่ขาดทุนก็พอ”
ทั้งนี้ เธอกล่าวว่าปี 2563 ฟู้ดแพชชั่นรอดตัว ประคองปิดรายได้ไปที่ 2,900 ล้านบาท ตกเป้าไป 20% แต่ยังมีกำไร ส่วนไตรมาส 1 ปี 2564 ถือว่าทำได้ตามเป้า เนื่องจากมีการออกโปรฯ บุฟเฟ่ต์ของบาร์บีคิว พลาซ่า ได้รับความนิยมสูง
เข็นแคมเปญ “มาตรGON” ดึงรายได้ด่วน
จากสถานการณ์ระลอกสาม ทำให้ฟู้ดแพชชั่นงัดแคมเปญตอบรับทันทีในชื่อ “มาตรGON” แคมเปญนี้จะเน้นสร้างยอดขายเดลิเวอรี่ ต้องการการเติบโต 30% รันแคมเปญยาวถึง 21 พฤษภาคมนี้
มาตรGON แตกออกเป็น แคมเปญย่อย 5 แคมเปญ ประกาศทุกวันพุธของสัปดาห์ ใช้ชื่อแคมเปญแบบล้อไปกับมาตรการรัฐบาล ได้แก่ GONช่วยครึ่ง, ไทยฌาณา, หม้อชนะ, ก.333 เรารักกัน และ GON ไม่ทิ้งกัน แต่ละแคมเปญจัดโปรฯ กับแบรนด์ต่างๆ ในเครือ ลดราคาเมนูต่างๆ แจกโค้ดลดราคา หรือสมาชิกแลกคะแนนเป็นคูปองส่วนลด เป็นต้น
แม้จะมีแคมเปญโปรโมชัน แต่บุณย์ญานุชยอมรับว่า อาจจะได้เพียงแค่ประคองตัวให้ผ่านระลอกสามไป เพราะสินค้าของฟู้ดแพชชั่นส่วนใหญ่เป็นแบบ DIY คือต้องมาทำทานเองที่ร้าน เช่น บาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌาณา, Red Sun ทำให้การขายเดลิเวอรี่ไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด
รอบสามผู้บริโภค “ประหยัด” มากขึ้น
ด้านภาพรวมการระบาดระลอกสาม บุณย์ญานุชกล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับสองรอบที่ผ่านมา ในแง่คำสั่งภาครัฐไม่มีอะไรหนักเท่ากับรอบแรกแล้ว เพราะครั้งนั้นมีการปิดล็อกดาวน์ร้านอาหาร แต่รอบสามหนักกว่ารอบสองอย่างชัดเจน เพราะครั้งนั้นคลัสเตอร์จำกัดวงอยู่ใน จ.สมุทรสาครเสียส่วนใหญ่ คำสั่งรัฐและความรู้สึกผู้บริโภคจึงมีผลกับบริษัทค่อนข้างน้อย
แต่ถ้าวัดมู้ดผู้บริโภคในการใช้จ่าย ค่อนข้างกังวลเพราะวัดจากยอดขายเดือนเมษายน สัดส่วนผู้บริโภคซื้อกลับบ้านมีเพียง 5% เทียบกับช่วงระบาดรอบแรกยังมีถึง 10%
และสังเกตว่าผู้บริโภคเริ่มตื่นเต้นน้อยลงกับการสั่งเดลิเวอรี่ เทียบกับรอบแรกนั้นโปรดักต์ต่างๆ ยังใหม่ในสายตาผู้บริโภค มีความสนุก ตื่นเต้น เหมือนรอเปิดกล่องของขวัญที่บ้าน แต่รอบนี้ผู้บริโภคต้องการ “ประหยัด” เป็นหลัก เชื่อว่าเกิดจากการคาดการณ์ว่าระบาดรอบนี้จะยาวนาน และต้องเก็บเงินไว้ในกระเป๋า
“รอบสามนี่โหดมาก เราต้องจำกัดค่าใช้จ่ายบริษัทให้มากที่สุดในส่วนที่จำกัดได้” บุณย์ญานุชกล่าว “แต่ในแง่จิตใจของบริษัทเรายังแข็งแกร่งกว่ารอบแรก”