ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป ได้คร่าชีวิตผู้คนหลายเเสนคนต่อปี เเละยิ่งเลวร้ายลงไปอีกในช่วงโรคโควิด-19 โดยคนที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฝั่งแปซิฟิกตะวันตก ได้รับผลกระทบมากที่สุด
องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Environment International ระบุว่า การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องทำงานทางไกล และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก เพิ่มความเสี่ยงให้ลูกจ้างมีชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้นตามไปด้วย
โดยการทำงานมากกว่า ’55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’ เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 35% และเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น 17% เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานสัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมง
ในปี 2016 ประชาชนกว่า 745,000 คน เสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกและโรคหัวใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทำงานยาวนานหลายชั่วโมง สูงขึ้นเกือบ 30% จากปี 2000
ผลวิจัยของ ILO พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบ 3 ใน 4 เป็นผู้ชายในวัยกลางคนหรือสูงอายุ หลายกรณีเสียชีวิตในช่วงบั้นปลายชีวิต 10 ปีให้หลังจากที่ทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โดยแรงงานที่ใช้ชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก ตามนิยามของ WHO รวมจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้มากที่สุด
นักวิจัย ชี้ว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งด้านสรีรวิทยาโดยตรงเเละก่อให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังส่งผลให้เเรงงานมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพ เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับน้อยลง ไม่มีเวลาออกกำลังกายและทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
“การทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง ต้องยอมรับว่าการทำงานที่ยาวนาน อาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร” Maria Neira ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของ WHO กล่าว
การทำงานทางไกล ประชุมออนไลน์ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากพิษไวรัส เร่งให้พนักงานต้องเเบกภาระงานหนักมากขึ้น WHO ประเมินว่า ประชาชนอย่างน้อย 9% มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าเดิม
ในทางตรงกันข้าม การ ‘ลดชั่วโมงการทำงาน’ ลงจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างมากกว่า เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าจะช่วยให้ผลิตภาพของพนักงานเพิ่มขึ้น
“ไม่มีงานใดที่คุ้มค่าจะเสี่ยงกับการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุข้อตกลงเพื่อปกป้องสุขภาพของเเรงงาน“