ตอนนี้บริษัทต่างๆ ในอินโดนีเซีย กำลังเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับพนักงานเเละครอบครัวของพวกเขา…
รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้เปิดตัวโครงการกระจายวัคซีน ‘ช่องทางใหม่’ เปิดโอกาสให้ธุรกิจภาคเอกชน สามารถจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้กับพนักงานและสมาชิกในครอบครัวได้ เพื่อเป็น ‘กำลังเสริม’ ช่วยกระจายวัคซีนไปทั่วประเทศ เร่งให้เกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ให้เร็วที่สุด
อินโดนีเซีย เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 270 ล้านคน มียอดมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาไปเเล้วมากกว่า 1.7 ล้านคน มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เเรงงานในบริษัทที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก อย่างอุตสาหกรรมอาหารและปิโตรเคมี จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนของภาคเอกชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศว่า “เราหวังว่าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด จะได้รับการปกป้องจากโควิด -19 เพราะพวกเขามีบทบาทสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจ”
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์เเละผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม เเละตั้งเป้าว่าประชาชนราว 70 ล้านคน จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนภายในเดือนสิงหาคม หรือเดือนกันยายนเป็นอย่างช้า
ล่าสุดบริษัทกว่า 22,000 แห่ง ซึ่งมีพนักงานและสมาชิกในครอบครัวรวมกันหลายล้านคน ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจัดซื้อวัคซีนภาคเอกชนแล้ว และคาดว่าจะมีบริษัทจำนวนมากที่จะทยอยเข้ามา
โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ เช่น Unilever Indonesia ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ฝั่งธุรกิจปิโตรเคมีอย่าง Chandra Asri และ Sinar Mas Agribusiness and Food ซึ่งเเต่ละบริษัทจะมีการจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้พนักงานของตัวเองประมาณ 2,000- 4,000 โดส
ทั้งนี้ พนักงานในบริษัทผู้ผลิตกระดาษที่ตั้งอยู่นอกกรุงจาการ์ตา ประมาณ 4,000 คนได้รับการฉีดวัคซีนเเล้ว
โครงการฉีดวัคซีนภาคเอกชนนั้น จะช่วยเสริมโครงการ ‘วัคซีนฟรีของภาครัฐ’ ที่กำลังจะขยายสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวิโดโด ยอมรับว่าอินโดนีเซียก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการ ‘หาวัคซีนเพิ่ม’
โดยอินโดนีเซียใช้วัคซีนทั้งหมด 3 ยี่ห้อ ได้แก่ แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ซึ่งได้ทำการกระจายวัคซีนไปแล้ว 23 ล้านโดส จากเป้าหมาย 380 ล้านโดส เเละคาดว่าจะฉีดวัคซีนรวม 181 ล้านคนหรือราว 67% จากประชากร 270 ล้านคนภายในปี 2022
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซีย มีคำสั่งระงับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 448,480 โดสเป็นการชั่วคราว เพื่อเร่งสืบสวนหาสาเหตุ หลังเกิดกรณีชายวัย 22 ปี เสียชีวิต เมื่อฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาไปเพียง 1 วัน
ตามข้อมูลของ ourworldindata.org และ SDG-Tracker ระบุว่า สัดส่วนของประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซียที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2021 อยู่ที่ 4.64% ทำให้ตอนนี้ อินโดนีเซียมีอัตราการฉีดวัคซีน ‘สูงที่สุดในอาเซียน’
สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาสแรกของปีนี้ ติดลบที่ 0.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าไตรมาสที่ 2 จะพลิกกลับมาโตเป็นบวกได้เนื่องจากภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มจะดำเนินไปตามปกติหลังกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง
ที่มา : Straitstimes , NHK