ด้วยข้อได้เปรียบจากแร่ นิกเกิล ทำให้ อินโดนีเซีย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอินโดฯ เชื่อว่าโรงงานผลิตแบตฯ จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการเป็น EV HUB ของภูมิภาค แต่ก็อาจไม่ง่ายขนาดนั้น
หลังจากได้รับเลือกจากบริษัทร่วมทุนระหว่าง ฮุนได (Hyundai) และ แอลจี (LG) ของเกาหลีใต้ให้สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถอีวีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีโรงงานผลิตแบตฯ โดยปัจจุบัน แบตเตอรี่จากโรงงานในอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังบริษัทในเครือ ฮุนได Hyundai ในเกาหลีใต้และอินเดีย
แน่นอนว่าอินโดนีเซียไม่คิดจะหยุดแค่นี้ โดยกำลังมองหาวิธีเพิ่มการลงทุนเพื่อให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยเริ่มออกมาตรการจูงใจเพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษี โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามายังอินโดนีเซียจนถึงปี 2568 หากบริษัทต่าง ๆ มีการสร้างโรงงานผลิตและผลิตรถยนต์ในประเทศให้ได้จำนวนเท่ากับที่นำเข้าภายในสิ้นปี 2570
ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ก็ดึงให้แบรนด์รถอีวีหลายแบรนด์ตบเท้ากันเข้ามาในตลาดอินโดนีเซีย อาทิ BYD, VinFast และ Wuling ที่ประกาศแผนว่าจะผลิตแบตเตอรี่ ที่โรงงานในอินโดนีเซียภายในสิ้นปี 2024 และจากมาตรการทั้งหลาย ทำให้ยอดขายรถอีวีในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมปีนี้พุ่งเป็นกว่า 23,000 คัน จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 17,000 คัน ตามข้อมูลจากสมาคมยานยนต์อินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโรงงานผลิตแบตฯ แห่งแรกของภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองนิกเกิลมากที่สุดในโลก แต่บรรดานักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า ประเทศยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอันเนื่องมาจาก ศักยภาพในการแปรรูปและการกลั่นที่ไม่ดี เนื่องจากขาดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้นิกเกิลต้องผ่านการแปรรูปจากเกาหลีใต้และจีนก่อน
อีกทั้งยังมีความกังวลด้าน สิ่งแวดล้อม โดยนักสิ่งแวดล้อมเตือนว่า การทำเหมืองนิกเกิลเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการ ตัดไม้ทำลายป่า ในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของแบตเตอรี่ประเภทอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ลิเธียมไออนฟอสเฟต (LFP) ที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในจีน ก็อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการแบตฯ ที่อินโดนีเซียกำลังผลิตอยู่ด้วย
อีกสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การแข่งขัน โดยเฉพาะจาก ประเทศไทย ซึ่งไทยเองก็พยายามจะเป็น EV HUB โดยไทยเองก็สามารถดึงดูดให้หลายแบรนด์ตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดได้เปรียบ เพราะหากแบรนด์นั้น ๆ มีโรงงานในบางประเทศแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย
โดยข้อมูลของ ธนาคารกรุงศรีอยุทธยา พบว่า ในช่วงต้นปี 2566 ไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ 8%
ก็ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียมีความได้เปรียบทั้งในแง่ประชากร และทรัพยากรที่หลายประเทศไม่มี แต่ประเทศอื่น ๆ ก็มีจุดแข็งของตัวเอง อาทิ ไทยเองก็มี Know how จากรถยนต์สันดาป และเข้าสู่ตลาดอีวีค่อนข้างเร็วกว่าหลายประเทศ ก็คงต้องรอดูกันว่าใครจะชิงความได้เปรียบจนขึ้นเป็น EV HUB ของภูมิภาคได้