เปิดเหตุผล ทำไม ‘อินโดนีเซีย’ เลือกฉีดวัคซีน COVID-19 ให้คนวัยทำงาน ก่อนผู้สูงอายุ?

ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอย่างอินโดนีเซียวางเเผนจะเริ่มเเจกจ่ายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับประชาชนกว่าร้อยล้านคนภายในเดือนมีนาคมนี้

ในขณะที่หลายชาติ ทั้งสหรัฐฯ เเละยุโรป เลือกฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ’ ก่อนเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจเเละโรคเเทรกซ้อนมากกว่า

เเต่อินโดนีเซียกลับมีเเนวทางที่เเตกต่างออกไป โดยมีแผนจะฉีดให้กับประชากรวัยทำงาน เป็นกลุ่มแรกๆ ถัดจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เเละเจ้าหน้าที่ทางการ โดยหวังว่าช่วยขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

เเละนี่คือมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อดีและความเสี่ยงที่อินโดนีเซียเลือกใช้แนวทางนี้ 

ทำไมต้องฉีดวัคซีนให้กลุ่มอายุ 18-59 ปี ก่อน?

อินโดนีเซีย เตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนในเฟสแรก ด้วยวัคซีนของบริษัท Sinovac Biotech ของจีน โดยรัฐบาลได้ทำข้อตกลงซื้อวัคซีน 125.5 ล้านโดส ซึ่งตอนนี้วัคซีนล็อตแรก 3 ล้านโดสได้มาถึงอินโดนีเซียแล้ว

ขณะที่วัคซีนของ Pfizer คาดว่าจะส่งถึงอินโดนีเซียในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่วนวัคซีนที่พัฒนาโดย AstraZeneca-Oxford จะเริ่มแจกจ่ายในช่วงไตรมาส 2

การฉีดวัคซีนของอินโดนีเซีย จะเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการก่อน จากนั้นจะแจกจ่ายให้คนวัยทำงาน ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ซึ่งเป็นลำดับการเข้าถึงวัคซีนที่เเตกต่างจากสหรัฐฯ เเละสหราชอาณาจักร ที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยก่อน ทำให้การเเจกจ่ายวัคซีนครั้งนี้ จึงถูกจับตามองจากนานาประเทศเป็นพิเศษ 

โดยวัคซีน Sinovac ของจีนนั้นได้ทำการทดลองทางคลินิกกับกลุ่มคนในช่วงวัย 18-59 ปี แตกต่างจากวัคซีนของประเทศตะวันตกอย่าง Pfizer และ Moderna ที่มีผลการทดลองออกมาแล้วว่า ใช้ได้ผลดีกับคนทุกช่วงอายุ

Peter Collignon ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า ไม่มีใครฟันธงได้ว่าวิธี (เเจกจ่ายวัคซีน) เเบบไหนเป็นวิธีที่ถูกต้อง เเละยังไม่เเน่ชัดว่ากลยุทธ์ของอินโดนีเซียอาจช่วยชะลอการเเพร่ระบาดของโรคได้จริง 

เเต่การที่รัฐบาลอินโดฯ ใช้วิธีที่เเตกต่างจากสหรัฐฯ และยุโรป ถือว่าเป็นประโยชน์เชิงข้อมูล เพราะเราจะได้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่าง ส่วนจะได้เป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องรอดูต่อไป

Photo : Shutterstock

ด้านศาสตราจารย์ Dale Fisher จาก Yong Loo Lin School of Medicine มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า เขาเข้าใจถึงเหตุผลที่อินโดนีเซียเลือกวิธีนี้ เพราะคนวัยทำงานมีกิจกรรมมากกว่า เข้าสังคมมากกว่า และเดินทางบ่อยกว่า ดังนั้นยุทธศาสตร์นี้ น่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดในชุมชนได้เร็วกว่าการมุ่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงวัย

แน่นอนว่าคนแก่ ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคและเสียชีวิตได้มากกว่า ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ซึ่งผมมองเห็นข้อดีของทั้งสองกลยุทธ์” Fisher ระบุ

 ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เป้าหมายหลักๆ ของอินโดนีเซียคือการทำให้เกิด ‘herd immunity’ หรือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยการทำให้สัดส่วนของประชากรผู้มีภูมิคุ้มกันแล้วมีจำนวนมากพอ จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายหรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นได้ ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเเละสังคมอย่างรวดเร็ว

Budi Gunadi Sadikin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชากร 181.5 ล้านคน หรือประมาณ 67% ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และต้องการวัคซีนเกือบ 427 ล้านโดส กรณีที่ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรคนละ 2 ครั้ง เพื่อลดอัตราการสูญเสีย 15%

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังสงสัยเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อค้นคว้าว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเเล้วจะยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้อีกหรือไม่

Photo : Getty Images

นักเศรษฐศาสตร์ มองอีกมุมว่า โครงการฉีดวัคซีนให้เกิด ‘herd immunity’ ที่จะประสบความสำเร็จนั้น จะต้องครอบคลุมประชากรประมาณ 100 ล้านคนจึงจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากทำให้ประชากรเหล่านี้จะกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นการใช้จ่ายและการผลิต

Faisal Rachman นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Mandiri บอกว่า ประชาชนวัยทำงาน อายุ 18-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีความต้องการบริโภคสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

พวกเขาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะการบริโภคในครัวเรือนมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่า 50% ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นในประเทศนั้น เป็นการลดความเชื่อมั่นของประชาชน

อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เเต่การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ปะทุขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวถึง 2.2%  

 

 

ที่มา : Reuters , Jakartapost