หลังจากที่มีข่าวเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ออกมาว่าสามารถพัฒนาได้สำเร็จ ถือเป็นอีกข่าวที่จุดประกายความหวังของคนทั้งโลกที่ต้องอยู่กับความหวาดระแวงและข้อจำกัดต่าง ๆ นานนับปี ดังนั้น ลองไปดูความเคลื่อนไหวของภูมิภาค ‘อาเซียน’ กันบ้าง ว่าแต่ละประเทศมีความต้องการใช้วัคซีนมากน้อยแค่ไหน จะได้ใช้เมื่อไหร่ และวางแผนการใช้อย่างไรกันบ้าง
สิงคโปร์
ถือเป็นชาติแรกในอาเซียนและในทวีปเอเชียที่จะได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัท Pfizer ในสหรัฐฯ และ Biontech ในเยอรมนีไปเมื่อคืนวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้ว่าทางการสิงคโปร์จะยังไม่ได้เปิดเผยว่าวัคซีน COVID-19 ของ Pfizer ลอตแรกนี้มีจำนวนเท่าใด
แต่รัฐบาลสิงคโปร์จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนที่สมัครใจจะได้รับวัคซีน รวมทั้งจะฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่สุดก่อน อาทิ บุคลากรการแพทย์ และคนสูงอายุ รวมถึงคนกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันยอดสะสมผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์อยู่ที่ 58,422 ราย และเสียชีวิต 29 ราย ทั้งนี้ มีการประมาณการว่าจะมีวัคซีนจำนวนเพียงพอกับประชากรทั้งประเทศของสิงคโปร์ภายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านคน
มาเลเซีย
สำหรับประเทศมาเลเซียได้บรรลุข้อตกลงกับ Pfizer ในการจัดหาวัคซีน COVID-19 จำนวน 12.8 ล้านโดสไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา และล่าสุดได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีน COVID-19 จาก AstraZeneca จำนวน 6.4 ล้านโดส นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเจรจาขั้นสุดท้ายกับ Sinovac และ CanSino ผู้ผลิตในจีนรวมถึงสถาบัน Gamaleya ของรัสเซียเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่ม โดยมาเลเซียตั้งเป้าจะจัดซื้อวัคซีนได้เพียงพอที่จะครอบคลุมประชากรมากกว่า 80%
ไทย
ประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 50% ของประชากรทั้งประเทศภายในปีหน้า โดยรัฐบาลมีแผนการที่จะจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส จากโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันภายใต้การสนับสนุนของ WHO นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการเจรจาจองซื้อวัคซีนของ AstraZeneca และ Oxford University ที่ชื่อ AZD1222 ไว้อีก 26 ล้านโดส นอกจากนี้จะจัดหาจากผู้ผลิตอื่น ๆ อีก 13 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่วัคซีนของแอสตราเซเนกา-อ็อกซฟอร์ดเป็นงานวิจัยจากต่างประเทศและประเทศไทยร่วมกัน โดยกลุ่มซีเมนต์ไทยก็ได้เข้าร่วมโครงการด้วย ทำให้บริษัท ‘สยามไบโอไซน์’ ของไทยจะได้สิทธิมาผลิต และประเทศไทยจะเป็นฐานผลิตวัคซีนนี้ภายในกลางปีหน้า และคาดว่าจะพร้อมใช้ช่วงปลายปีเพื่อป้อนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในราคาที่เหมาะสม
เวียดนาม
ล่าสุด เวียดนามพึ่งทดสอบวัคซีนที่พัฒนาเองในชื่อ Nanocovax กับมนุษย์กับอาสาสมัคร 3 คน และเตรียมหาอาสาสมัครอีก 60 คน โดยถ้า Nanocovax ประสบความสำเร็จจะมีการเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนได้ในช่วงปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทางสาธารณะสุขเวียดนามกำลังจัดหาวัคซีนจากประเทศอื่นประกอบกัน โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท Pfizer และบริษัทยาอื่น ๆ ในประเทศสหรัฐฯ ประเทศอังกฤษ ประเทศจีน และประเทศรัสเซีย
ฟิลิปปินส์
ประเทศฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 459,789 คน และผู้เสียชีวิต 8,947 คน จากประชากรทั้งหมดกว่า 107 ล้านคน โดยฟิลิปปินส์วางแผนซื้อวัคซีน COVID-19 จำนวน 25 ล้านโดสจาก Sinovac ซึ่งคาดว่าจะได้วัคซีนภายในเดือนมีนาคมปีหน้า นอกจากนี้ทางการฟิลิปปินส์ได้วางแผนจัดหาวัคซีนจาก moderna และ arcturus therapeutics อีกประมาณ 4-25 ล้านโดส
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ต้องการวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 50 ล้านโดสภายในปี 2564 โดยวางแผนฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ คนงานในอุตสาหกรรมที่อยู่นสภาวะวิกฤต รวมไปถึงกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำและประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยนายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ออกคำสั่งให้องค์การอาหารและยาของประเทศฟิลิปปินส์ อนุมัติการใช้งานวัคซีนแบบฉุกเฉินทันที ทำให้ช่วยร่นระยะเวลาการอนุมัติวัคซีนจากขั้นตอนปกติที่ต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน ให้เหลือแค่ 3 สัปดาห์
อินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากถึง 270 ล้านคน สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีผู้ติดเชื้อรวม 650,197 คน เสียชีวิต 19,514 คน รักษาหาย 531,995 คน ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 7,354 คน ทำให้ประเทศอินโดนีเซียมีความต้องการวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 246 ล้านโดส
ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้สั่งวัคซีนไปแล้ว 125.5 ล้านโดสจาก Sinovac ซึ่งได้รับวัคซีนไปแล้ว 1.2 ล้านโดสในเดือนธันวาคม และจะได้อีก 1.2 ล้านโดสในเดือนมกราคมปีหน้า โดยอินโดนีเซียได้สั่งวัคซีนอีกกว่า 30 ล้านโดสจากบริษัท Novovax อีกทั้งกำลังหารือกับ Pfizer, AstraZeneca และ Covax เพิ่มเติม นอกจากนี้ อินโดนีเซียกำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเองซึ่งชื่อว่า Merah Putih อีกจำนวนกว่า 57.6 ล้านโดสอีกด้วย