ปัจจุบัน “เกาหลีใต้” ยังอยู่ระหว่างหาทางควบคุมการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สาม ทำไมประเทศที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดีในระดับโลก จึงรับมือกับระลอกที่สามได้ยากเย็นกว่าที่เคย สถานการณ์เหล่านี้อาจเป็นข้อเปรียบเทียบให้เราคาดคะเนอนาคตของประเทศไทย และคำนึงถึงคำถามว่า “เราควรยกระดับความเข้มงวดมากกว่านี้หรือไม่”
เกาหลีใต้ยังอยู่ระหว่างการระบาดของ COVID-19 รอบที่สาม โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มทะลุ 200 คนต่อวันเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2020 และมาเข้าสู่ช่วงวิกฤตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อใหม่ 583 รายภายในวันเดียว ก่อนที่กราฟจะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ไปทะลุสูงสุด 1,237 คนในวันที่ 25 ธันวาคม 2020 จากนั้นลดลงตามลำดับ
จนวันที่ 4 มกราคม 2021 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,020 คน และวันที่ 5 มกราคม 2021 ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 715 คน แม้ว่าจะลดลงจากช่วงคริสต์มาส แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่น่ากังวล
วิธีติดตามกลุ่มเสี่ยงได้เร็ว…เอาไม่อยู่ในรอบนี้
ประเทศเกาหลีใต้มีวิธีรับมือการระบาดของ COVID-19 โดยไม่ได้ล็อกดาวน์อย่างสมบูรณ์เหมือนประเทศแถบยุโรป แต่ใช้วิธีติดตามหากลุ่มเสี่ยงและปูพรมตรวจหาเชื้อในหมู่ประชากร ในช่วงการระบาดรอบสอง (เดือนกันยายน 2020) เกาหลีใต้ตรวจหาเชื้อวันละ 16,000 คน ขณะที่ปัจจุบันเพิ่มกำลังตรวจหาเชื้อขึ้นอีกเป็นวันละ 22,000 คน
การติดตามหากลุ่มเสี่ยงได้เร็วและกว้าง ทำให้การระบาดรอบแรกของเกาหลีใต้ควบคุมได้ในเวลา 1 เดือน จากนั้นเกิดการระบาดรอบสองเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 เกาหลีใต้ใช้เวลา 2 เดือนในการกดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลงมาให้ต่ำกว่า 100 คนต่อวัน ส่วนรอบที่สามนั้น ผ่านมาแล้ว 5 สัปดาห์ กว่าที่การระบาดจะมีแนวโน้มลดลง
ดร.ลี จาค็อบ วิทยากรบนเวทีสัมมนาจัดโดยสโมสรยาแห่งชาติเกาหลีใต้ กล่าวถึงสาเหตุของการควบคุมที่ยากเย็นขึ้นว่า วิธีการระดมติดตามหากลุ่มเสี่ยงได้ผลในรอบแรก เนื่องจากคลัสเตอร์ของการระบาดรอบแรกมาจากกลุ่มสมาชิกโบสถ์ในเมืองแทกูและเมืองคย็องซังเหนือ ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชน ทำให้หาตัวผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ง่าย
ส่วนรอบที่สองนั้นมีลักษณะคล้ายกันคือ 70% เป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มชุมชนเดียวกัน แม้จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เดือนแต่ก็ถือว่าวิธีการระดมตรวจยังได้ผล
“แต่การระบาดรอบล่าสุด (รอบสาม) คาดว่าจะใช้เวลานานกว่านั้นกว่าที่จะควบคุมได้ เพราะไม่สามารถเจาะจงคลัสเตอร์ที่เป็นต้นเหตุได้อย่างชัดเจน เทรนด์นี้แสดงให้เห็นว่า COVID-19 แพร่กระจายได้เร็วขึ้น” ดร.จาค็อบกล่าว
การระบาดรอบสามของเกาหลีใต้มีข่าวต้นตอของคลัสเตอร์หลากหลายมาก เริ่มแรกในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2020 มีการรายงานว่าติดเชื้อจากคลาสเรียนเต้นในกรุงโซล คลัสเตอร์จากร้านไวน์บาร์ คลัสเตอร์บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง คลัสเตอร์บริษัทประกันแห่งหนึ่ง ไปจนถึงค่ายทหาร ห้องซาวน่า โรงเรียนมัธยม และโบสถ์
จนถึงปลายเดือนธันวาคม 2020 คลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นในเรือนจำและบ้านพักผู้สูงอายุ เห็นได้ว่าเมื่อมีคลัสเตอร์หลากหลายจุดทำให้การติดตามนำตัวบุคคลเสี่ยงทำได้ไม่ทันการ
ปิดสารพัดสถานที่แต่ยังระบาดต่อ
ในแง่การควบคุมทางสังคม เริ่มจากภายใน 3 วันแรกที่การระบาดพุ่งขึ้น เกาหลีใต้ออกนโยบายเฉพาะกรุงโซลและพื้นที่โดยรอบก่อน งดจัดเลี้ยง-ปาร์ตี้ทุกชนิดในที่สาธารณะ (เนื่องจากเป็นช่วงใกล้คริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้จะมีงานฉลองมาก) และงดบริการห้องซาวน่า อบไอน้ำ ผับบาร์ คาราโอเกะ ฟิตเนส งดการเรียนการสอนเครื่องดนตรีประเภทเป่าและเรียนร้องเพลง
รวมถึง งดทานอาหารในร้านหลัง 21.00 น. ตามด้วย ห้ามร้านกาแฟเปิดบริการนั่งทานในร้าน อนุญาตซื้อกลับเท่านั้น เพราะปกติพนักงานออฟฟิศเกาหลีมักจะมานั่งสังสรรค์ในร้านกาแฟหลังมื้อเที่ยง และมีการสั่งปิดโรงเรียน ให้เรียนออนไลน์แทน
อย่างไรก็ตาม ผ่านไปเกือบเดือนหลังการระบาด สถานการณ์กลับยังไม่ดีขึ้น ทำให้วันที่ 23 ธันวาคม 2020 มีการสั่งยกระดับเฉพาะในกรุงโซลและปริมณฑล ห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 4 คน เนื่องจากเป็นแหล่งการระบาดหลัก ตามด้วยวันที่ 24 ธันวาคม 2020 สั่งปิดลานสกีรีสอร์ต และให้โรงแรมรับแขกได้ไม่เกิน 50% ของจำนวนห้องพัก เพื่อสกัดไม่ให้มีการท่องเที่ยวและปาร์ตี้คริสต์มาส-ปีใหม่ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มปาร์ตี้เล็กๆ
ในที่สุด วันที่ 4 มกราคม 2021 เกาหลีใต้ต้องยกระดับอีกครั้งเพราะมีผู้ติดเชื้อเกินพันคนต่อวัน โดยห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 4 คนทั่วประเทศ แม้ว่า 60% ของผู้ติดเชื้อจะอยู่ในเขตโซลและจังหวัดโดยรอบก็ตาม โดยจะมีผลไปถึงวันที่ 17 มกราคมนี้
เกาหลีใต้กำลังพยายามยื้อไม่ให้ต้องยกระดับไปสู่การควบคุมระดับ 3 ทั่วประเทศ (แม้จะใกล้เคียงแล้ว) เพราะนั่นหมายความว่าจะเป็นการ “ล็อกดาวน์แบบอ่อนๆ” เพราะจะอนุญาตเฉพาะพนักงานที่ทำงานจำเป็นเท่านั้นให้ออกจากบ้านได้ และจะลดปริมาณคนบนรถไฟฟ้าเหลือ 50% โดยเกาหลีใต้จะไปถึงระดับ 3 เมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มเกิน 1,000 คนต่อวัน ติดต่อกัน 3 วัน
เคสจากเกาหลีใต้เห็นได้ว่า มีความพยายามควบคุมกิจกรรมทางสังคมมาตลอด แต่ก็ยังเห็นผลลัพธ์ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก จนต้องใช้ไม้แข็งห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 4 คนทั้งประเทศ
ไทยใช้ไม้แข็งช้ากว่า
ย้อนมองประเทศไทยที่เกิดการระบาดรอบใหม่ เป็นการระบาดรอบที่สอง การระบาดหลักใน จ.สมุทรสาคร เริ่มขึ้นวันที่ 19 ธันวาคม 2020 จนถึงปัจจุบันผ่านมาแล้ว 18 วัน แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศยังมีแนวโน้มขาขึ้น เพราะแม้ว่าคลัสเตอร์หลักอย่างแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ถูกกักตัวไว้ได้ทัน แต่คนไทยที่ยังเดินทางข้ามจังหวัดทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้น เช่น บ่อนพนัน จ.ระยอง ร้านคาราโอเกะย่านปิ่นเกล้า บ่อนไก่ จ.อ่างทอง ซึ่งคล้ายกับในเกาหลีใต้ที่เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในแง่การกำกับควบคุม มีมาตรการช่วงแรกที่คล้ายกันคือ ภายใน 5 วันแรก โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศปิดการเรียนการสอน ย้ายไปสอนออนไลน์แทน และพื้นที่ระบาดหนักห้ามการจัดกิจกรรมสาธารณะ แต่มีนโยบายที่ไทยยังไม่ออกกฎควบคุมทันทีภายในวันแรกๆ คือการปิดฟิตเนส ซาวน่า ผับบาร์ (แต่มีกฎพิเศษ เช่น ห้ามร้องเพลง ห้ามเต้น) กำหนดเวลาปิดร้านอาหาร และห้ามนั่งทานในร้านกาแฟ
ผ่านไป 16 วันหลังเริ่มระบาด พื้นที่ควบคุมสูงสุดในไทยจึงได้เริ่มงดนั่งทานในร้านอาหารหลัง 21.00 น. งดการจำหน่ายสุราในร้านอาหารตลอด 24 ชั่วโมง (จุดนี้เป็นเสมือนการปิดผับบาร์ไปโดยปริยาย) และ 18 วันหลังการระบาด เริ่มควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดสำหรับจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
เทียบกับเกาหลีใต้ แดนโสมต้องใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์นับจากเริ่มระบาด กว่าที่ตัวเลขจะเลยจุดสูงสุดและเริ่มแผ่วลง ทั้งที่เริ่มบังคับควบคุมปิดสถานที่หลายแห่งและงดจัดกิจกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่สุดท้ายประเทศไทยอาจต้องงัดไม้แข็ง ห้ามรวมกลุ่มเกิน 4 คน มิฉะนั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 5 สัปดาห์กว่าจะดีขึ้นเช่นกัน
Source: The Strait Times, Independent, Asia Times, Sky News, The Guardian