อินโดนีเซีย กำลังวางเเผนเก็บภาษีจากการซื้อ–ขายสกุลเงินดิจิทัล หรือ ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ หลังได้รับความนิยมอย่างมากจากนักลงทุนในประเทศ เป็นอีกหนึ่งความพยายาม ‘หาเงินเข้ารัฐ’ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังลุกลามต่อเนื่อง
Neilmaldrin Noor โฆษกของสำนักงานสรรพากรอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการหารือในเรื่องการเรียกเก็บภาษีจากนักลงทุนที่ทำกำไร จากการซื้อและขายคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency)
“โดยส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นจากการทำธุรกรรมดังกล่าว ต้องคิดเป็นภาษีเงินได้”
อินโดนีเซียเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สั่งห้ามใช้คริปโตเคอร์เรนซี สำหรับการชำระเงินแทนเงินสด แต่ยังเปิดให้ทำการซื้อ–ขายสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ได้
Indodax แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ที่อ้างว่าใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ระบุว่า จำนวนสมาชิกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นแตะ ’สามล้านคน’ หลังตลาดเติบโตขึ้นอย่างมาก เเละมูลค่าของเหรียญดิจิทัลชื่อดังอย่าง Bitcoin , Ethereum เเละสินทรัพย์คริปโตฯ อื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อเดือนที่เเล้ว Dogecoin ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 700%
ช่วงที่ผ่านมา ทางการอินโดนีเซียเเละอีกหลายประเทศ ได้เเจ้งเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับ ’ความเสี่ยง’ ของการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากไม่มีมูลค่าพื้นฐานและราคามีความผันผวนสูง
สำหรับการจัดเก็บภาษีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย ภายใต้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2561 ระบุว่า กรณีมีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล โดยนักลงทุนผู้ถือหรือผู้ครอบครองมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน เงินได้ดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากผลประโยชน์นั้นก่อนที่จะมีการจ่ายให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหรือผู้ครอบครอง กรณีเป็นการซื้อขายในประเทศไทย
คือ หากขายเหรียญดิจิทัลแล้ว ‘ได้กำไร’ ราคาขายมากกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ก่อนที่นักลงทุนจะได้รับเงิน ผู้ขายจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไร ก่อนจะจ่ายเงินให้ลูกค้าที่เป็นนักลงทุน จากนั้นแม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% แต่ยังต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีด้วย
ที่มา : Reuters , Yahoo Finance