เปิดสาเหตุ ‘เมเจอร์’ ขอเกาะกระแสคริปโตฯ ให้ใช้ ‘Bitcoin’ แลกตั๋วหนัง

หากพูดถึง ‘Bitcoin’ (บิตคอยน์) หลายคนคงรู้จักในนามของ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ที่เน้นเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรมากกว่าจะเอาไปใช้จ่ายในชีวิตจริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว Bitcoin สามารถนำไปใช้จ่ายได้ อย่างในญี่ปุ่นก็มี Rakuten Pay’ ระบบอีเพย์เมนต์เจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น อนุมัติให้ลูกค้าชำระเงินด้วยเงินคริปโตฯ ได้ ส่วนในไทยเองก็มีร้านที่รับ Bitcoin ถึงหลักร้อยร้านค้าเลยทีเดียว และล่าสุดก็คือ ‘เมเจอร์ ซินีเพล็กซ์’

จับเทรนด์ Bitcoin

ถือเป็นเรื่องฮือฮาอยู่เหมือนกันที่เมเจอร์เปิดโครงการ ‘ทดลองรับแลกตั๋วหนังด้วยสกุลเงินดิจิทัล’ แต่กว่าจะให้บริการก็ต้องใช้เวลาศึกษาถึง 1 ปีเลยทีเดียว โดยทางเมเจอร์ได้จับมือกับพาร์ตเนอร์ 2 ราย ได้แก่ ‘ซิปเม็กซ์’ (Zipmex) แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล และ ‘แรพิดซ์’ (Rapidz) ผู้ให้บริการระบบบริหารการรับแลกสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

หลักการคือ แรพิดซ์จะเป็นเหมือน E-Wallet ให้ฝาก Bitcoin ไว้ที่แอปฯ RapidzPay’ โดยลูกค้าสามารถแลกรับตั๋วหนังได้ที่ตู้จำหน่ายตั๋วหนังอัตโนมัติ โดยเลือกภาพยนตร์และตำแหน่งที่นั่งที่ต้องการ แล้วเลือกใช้ E-Wallet ของแรพิดซ์ในการชำระ โดยจะมี QR Code ขึ้นเพื่อให้สแกนใช้ Bitcoin แลกตั๋วหนัง

ระบบคำนวณอัตราแลกเปลี่ยน Bitcoin ในเวลาปัจจุบันว่าต้องใช้เท่าไหร่ในการแลกตั๋ว เช่น ตั๋วหนังราคา 250 บาท ก็จะใช้ 0.00016667 เหรียญ (ขึ้นอยู่กับมูลค่า Bitcoin ในแต่ละวัน) โดย ‘ซิปเม็กซ์’ จะทำหน้าที่เป็นผู้เปลี่ยน Bitcoin ให้เป็นเงินบาทโอนให้กับเมเจอร์ ดังนั้น มเจอร์จะไม่ได้เป็นผู้รับ Bitcoin จึงไม่มีความเสี่ยงต่อความผันผวน แต่เป็นแรพิดซ์ที่รับความเสี่ยงแทน

เมเจอร์ยังเปิดรับแค่ Bitcoin เพียงสกุลเดียวเท่านั้น ยังไม่เปิดรับสกุลเงินดิจิทัลอื่น เนื่องจาก Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสุด และปัจจุบันเพิ่งเปิดให้บริการแค่ที่สาขา ‘รัชโยธิน’ เพียงสาขาเดียว เนื่องจากเป็น Top 3 ของสาขาที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด แต่เมเจอร์ตั้งเป้าจะขยายให้รับครบทุกสาขาภายในสิ้นปีนี้

ดันฐานใช้แอปฯ ขยายฐานลูกค้า

สำหรับเป้าหมายของการนำเอา Bitcoin มาใช้แลกตั๋วหนังในครั้งนี้ นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ได้ให้เหตุผลว่า จะช่วยให้เมเจอร์ ขยายฐานลูกค้า เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้คริปโตฯ จะเป็นคนรุ่นใหม่และนักลงทุน ขณะที่ปัจจุบัน ซิปเม็กซ์มีลูกค้าราว 1 แสนราย ส่วนแรพิดซ์มีผู้ดาวน์โหลดแอปฯ Rapidzpay ราว 4,000-5,000 ราย ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานคริปโตในไทยคาดว่าอยู่ที่ 5 แสนถึง 1 ล้านราย

“เราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีผู้ใช้มาก แค่เดือนละหลักพันถึงหลักหมื่นก็ดีแล้ว และอีกจุดประสงค์ของเราก็คือ ทำให้ลูกค้าสะดวกที่สุด และกระตุ้นสังคมไร้เงินสด”

จุดประสงค์จริง ๆ ของเมเจอร์น่าจะเป็นการผลักดันการใช้ ‘แอป Major Cineplex’ ที่ทางเมเจอร์ปลุกปั้นมาเป็น 10 ปี และที่ผ่านมาเมเจอร์ยกเครื่องระบบจ่ายเงินมาโดยตลอด เพราะนุตม์ยอมรับว่า การชำระเงิน เป็นอีกอุปสรรคที่ทำให้ลูกค้ายังไม่ซื้อตั๋วผ่านแอปฯ แม้ว่าจะพยายามทำให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น อนาคตมีโอกาสที่เมเจอร์จะสกุลเงินดิจิทัลโดยตรงได้ รวมถึงขยายไปสู่บริการอย่างอื่น เช่น ป๊อปคอร์น และโบว์ลิ่ง

“คนไทยไม่ได้มีบัตรเครดิตทุกคน และเขาก็ไม่อยากคอยเติมเงินเพื่อซื้อตั๋วผ่านแอปฯ ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้มากที่สุด รวมถึงโปรโมชันต่าง ๆ ที่แอปฯ ยังไม่ครอบคลุม 100% ซึ่งทางเมเจอร์ก็จะทำให้ได้ 100% เพื่อลดช่องว่าง”

ปัจจุบัน มีการซื้อตั๋วผ่านตู้คีออส 80% ผ่านแอปฯ 10% และหน้าเคาน์เตอร์ 10% โดยเมเจอร์ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนให้ซื้อตั๋วผ่านแอปฯ ให้ถึง 20% ภายในปีนี้ และเป็น 70% ให้เร็วที่สุด ซึ่งหากทำได้ นอกจากจะกระตุ้นให้ลูกค้าอยากมาดูหนังบ่อยขึ้นเนื่องจากซื้อตั๋วได้ง่ายแล้ว ยังช่วยให้เมเจอร์ลดต้นทุนได้ด้วย

เพราะที่ผ่านมาเคยใช้พนักงานประจำเคาน์เตอร์ขายตั๋วประมาณ 10 คน ปัจจุบันลดเหลือ 1-2 คน ขณะที่สาขาใหม่ ๆ ของเมเจอร์จะไม่มีเคาน์เตอร์ขายตั๋วแล้ว มีแต่ตู้ E-Ticket

“อย่างในจีนมีการซื้อตั๋วหนังผ่านแอปฯ ประมาณ 70-80% ซึ่งเราต้องการไปให้ถึงระดับนั้นให้เร็วที่สุด”

ทั้งนี้ แรพิดซ์นั้นจะไม่คิดค่าธรรมเนียมเป็นเวลา 1 ปี และปัจจุบันกำลังพูดคุยกับ วอริกซ์ สำหรับการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้จ่าย