“ทีพลัส” (TEA+) คัมแบ็กตลาดชาพร้อมดื่มอีกครั้ง หลังจากหายจากเชลฟ์ไปกว่า 5 ปี งานนี้ “ซันโทรี่” ได้คู่หูใหม่ “เป๊ปซี่โค” จับแบรนด์ปัดฝุ่นใหม่ สร้างโอกาสการเติบโตจากกลุ่มชาอู่หลง
จาก “ทิปโก้” สู่ “เป๊ปซี่โค”
จริงๆ แล้วทีพลัสไม่ใช่แบรนด์ใหม่ในตลาดแต่อย่างใด แต่เคยทำตลาดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2556 ในตอนนั้น “ซันโทรี่” แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นได้เป็นพันธมิตรกับ บริษัท ทิปโก้ เอฟ แอนด์ บี จำกัด หรือทิปโก้นั่นเอง ใช้ชื่อแบรนด์ “ซันโทรี่ ทีพลัส ชาอู่หลง” มีทั้งหมด 3 รสชาติ รสต้นตำรับ ผสมมะนาว และไม่มีน้ำตาล ขนาด 500 มล. ในราคา 20 บาท แถมยังเลือก “บอม ธนิน” หนึ่งในคุณชายจุฑาเทพเป็นพรีเซ็นเตอร์อีกด้วย
ในยุคนั้นเองเป็นยุคที่ตลาดชาพร้อมดื่มเฟื้องฟูอย่างมาก แบรนด์ใหญ่ก็โหมตลาด แบรนด์อื่นๆ ในตลาดเครื่องดื่มก็ขอเอี่ยวด้วย จริงๆ แล้วซันโทรี่เคยพยายามที่จะบุกตลาดชาพร้อมดื่มในไทยมาแล้วในแบรนด์ “มิเรอิ” แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก จนได้นำแบรนด์ทีพลัสเข้ามา
แต่แล้วความพยามในครั้งนั้นก็ต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อมีปัญหาบางประการในเรื่องสัญญากับทางพาร์ตเนอร์หลักอย่างทิปโก้ ทีพลัสจึงหายจากการทำตลาดไปในที่สุด
เลือดซามูไรนักสู้ของซันโทรี่ก็ไม่หยุดแค่นั้น ซันโทรี่ที่ได้พาร์ตเนอร์ใหม่อย่าง “เป๊ปซี่โค” มีการประกาศร่วมทุนในเดือนพฤศจิกายน 2560 ได้เปิดตัว บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเครื่องดื่มไทย
เปิดศักราช 2564 ซันโทรี่ได้นำแบรนด์ทีพลัสมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อบุกตลาดชาพร้อมอีกครั้ง ทีพลัสถือว่าเป็นแบรนด์แฟลกชิปของซันโทรี่ในประเทศญี่ปุ่น มีการทำตลาดมา 40 ปี เป็นเบอร์ 1 ในตลาดมาตลอด นอกจากจะทำตลาดในประเทศไทยแล้ว ยังมีที่เวียดนาม และอินโดนีเซียด้วย
อชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
“ซันโทรี่กับเป๊ปซี่โคมีความสัมพันธ์กันมากว่า 40 ปี ทั้งสองแบรนด์มีจุดแข็งที่ต่างกัน มีพอร์ตสินค้าที่หลากหลาย มีการพัฒนาสินค้าในระดับอาเซียน ชาอู่หลงจากซันโทรี่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี เป็นเบอร์ 1 ในตลาด เป็นสินค้าแฟลกชิป จึงนำแบรนด์นี้กลับมาทำตลาดใหม่ในเมืองไทย”
ชาอู่หลงตลาดเล็ก แต่โอกาสเพียบ!
เมื่อดูภาพรวมของตลาดชาพร้อมดื่มในไทยปี 2563 มูลค่า 11,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.6% ในตลาดเครื่องดื่ม 145,515 ล้านบาท แต่ในตลาดชาพร้อมดื่มนั้นสัดส่วนใหญ่ยังเป็นชาเขียว ชาอู่หลงมีสัดส่วนน้อยมากราวๆ 1-2% เท่านั้น
ตลาดชาอู่หลงในไทยมีผู้เล่นหลักแค่ 3 ราย Pokka (พอกกา), Kukurin (คุคุริน) และ ITOEN (อิโตเอ็น จำหน่ายแค่ที่เซเว่นฯ) ทีพลัสได้เข้ามาเป็นรายที่ 4 นั่นเอง ซึ่ง 3 รายที่ว่านี้ไม่ได้มีการทำการตลาดมากนัก มีแค่สินค้าบนเชลฟ์วางเท่านั้น
จริงๆ แล้วจากที่ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคได้ทำการสำรวจ พบว่าคนไทย 99% รู้จักชาอู่หลง 56% มองว่าดีต่อสุขภาพ แน่นอนว่าในส่วนนี้จึงกลายเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของทีพลัสที่จะเข้าไปจับจอง สร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคให้ได้
สมชัย เกตุชัยโกศล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า
“ที่ผ่านมาตลาดชาพร้อมดื่มในไทยส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนด้วยโปรโมชัน ไม่ได้มาจากผู้บริโภคจริงๆ ซื้อเพราะอยากได้รางวัล แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทรนด์รักสุขภาพเริ่มมามากขึ้น ผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาล ทำให้เครื่องดื่มกลุ่มมมีน้ำตาลโตขึ้น 2 เท่า ต่อไปเทรนด์ผู้บริโภคจะมองหาชาเพื่อสุขภาพจริงๆ มากขึ้น”
เล่นโมเดล 2 ราคา
การกลับมาครั้งนี้ทีพลัสได้ส่ง 2 สูตรลงตลาด ได้แก่ สูตรกลมกล่อม และสูตรไม่มีน้ำตาล มีการชูว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพ เพราะสูตรกลมกล่อมมีน้ำตาล 3 กรัม/100 มิลลิกรัม และมีสาร OTPP (Oolong Tea Polymerized Polyphenol) สารตามธรรมชาติที่มีในชาอู่หลง 70 มิลลิกรัมต่อขวด สารนี้มีจุดเด่นในการช่วยลดการดูดซึมไขมันได้ ทางแบรนด์จึงเลือกสื่อสารว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้
อีกทั้งยังออก 2 ไซส์ 2 ราคา เกาะเทรนด์ในตลาด โดยราคา 18 บาท ขนาด 490 มิลลิลิตร และราคา 25 บาท ขนาด 500 มิลลิลิตร
ถ้าถามว่าทำไมต้องออก 2 ราคา… เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการวางจำหน่ายคนละช่องทาง ราคา 18 บาทจำหน่ายทางโชห่วย ร้านอาหาร จะมีราคาย่อมเยากว่า ราคาไม่ถึง 20 บาท ผู้บริโภคยินดีจ่ายได้ ส่วนราคา 25 บาท จำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อต่างๆ กลุ่มนี้ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อมากกว่า
“การกลับมาครั้งนี้ต้องสร้างการรับรู้ว่าทีพลัสได้กลับมาอีกครั้ง ต้องกระจายสินค้าไปอยู่ในจุดที่ผู้บริโภคซื้อได้ สร้างแบรนด์ ให้เกิดการทดลองชิม ที่ผ่านมาได้ทดลองแจกไปแล้ว 1.6 ล้านขวด ใช้งบการตลาดถึง 200 ล้านบาท”
ลุยเสริมพอร์ตสุขภาพ
การนำแบรนด์ทีพลัสกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง เป็นหนึ่งในเส้นทางของซันโทรี่ เป๊ปซี่โคในการเสริมพอร์ตสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงยังมองถึงตลาดที่ยังไม่มีสินค้าอย่างกาแฟพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มชูกำลัง ตั้งเป้าอยากมีครบทุกเซ็กเมนต์
อชิต เสริมว่า “เราต้องการสร้างพอร์ตสินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะรายได้ส่วนใหญ่เป็นน้ำอัดลม 80% พยายามเอาพอร์ตของทั้ง 2 ฝ่ายมาทำตลาดใหม่ๆ กลุ่มสินค้าสปอร์ตดริ้งก์มีแบรนด์เกเตอเรต น้ำดื่มมีอควาฟิน่า ส่วนกลุ่มชามีลิปตัน และทีพลัส น้ำอัดลมมีแบรนด์เป๊ปซี่ ตอนนี้ขาดกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟพร้อมดื่ม มีความสนใจอยู่ แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะต้องมี แต่ก็อยากมีครบทุกเซ็กเมนต์”
สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มในปี 2563 ติดลบ 6.4% แต่เป๊ปซี่โคเติบโต 0.1% โดยที่กลุ่มน้ำอัดลมกระทบน้อยสุด ติดลบแค่ 1%
อ่านเพิ่มเติม
- 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับก้าวใหม่ของ “เป๊ปซี่” ภายใต้ปีก “ซันโทรี่–เป๊ปซี่โค”
-
เป๊ปซี่โค ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หันจับมือ “ซันโทรี่” ตั้ง บ.ร่วมทุนลุยธุรกิจเครื่องดื่มในไทย