ETF – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 30 Oct 2024 07:38:31 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คู่มือลงทุน ETF เปิดประตูสู่หุ้นโลก (ตอนที่ 3) https://positioningmag.com/1496388 Wed, 30 Oct 2024 07:38:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1496388

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ตอนที่ผ่านๆ มาผมได้ฉายภาพคุณสมบัติของ ETF (Exchange Traded Fund) หลักการลงทุนและประเภทของ ETF ที่มีหลากหลายและแตกต่างกันออกไป รวมไปถึงชี้เป้าวิธีการศึกษาหาข้อมูล ETF

เพราะ ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีจำนวนกองเปิดใหม่ที่มากขึ้นทุกๆ ปี และหลายๆ ETF มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน เช่น ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีนับร้อยนับพัน ใช้ดัชนีอ้างอิงที่แตกต่างกัน แต่ก็มี ETF หลายสิบหลายร้อยกองที่ใช้ดัชนีอ้างอิงเดียวกัน และมีนโยบายลงทุนเหมือนกัน แต่ผลตอบแทนและความผันผวนของ ETF ไม่เท่ากัน

แล้วคุณจะเลือก ETF ที่น่าลงทุนที่สุดได้อย่างไร หากคุณยังมีความรู้ความเข้าใจไม่มากพอ…

บทความนี้ ผมจะพาคุณไปส่องวิธีการเลือก ETF ที่น่าลงทุนที่สุด ซึ่งไม่มีเกณฑ์อะไรยากและซับซ้อน ขอเพียงคุณทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน

เมื่ออ่านบทความนี้จบ คุณจะสามารถใช้วิธีการเพื่อนำมาเปรียบเทียบและคัดเลือก ETF ที่อยู่กลุ่มหรือประเภทเดียวกัน เพื่อเฟ้นหา ETF ตรงใจคุณมากที่สุด

วิธีการคัดเลือก ETF ที่น่าลงทุน

แต่ละคนมีความต้องการ ระดับความเสี่ยง และเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน ก่อนจะคัดเลือก ETF เพื่อมาจัดพอร์ตลงทุน คุณควรรู้จักตัวเองก่อนว่า คุณสามารถและเต็มใจรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

หากคุณรับความเสี่ยงได้ต่ำ และไม่ต้องการขาดทุน หรือได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก คุณควรเลือก ETF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ รวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาล หรือ Bond ETF ที่สำคัญ คือ ตราสารหนี้และพันธบัตรควรมีความน่าเชื่อถือสูง อยู่ในกลุ่มระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ผ่านการจัดอันดับ Credit Rating จาก Fitch S&P และ Moody’s หมายถึง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำนั่นเอง โดยให้น้ำหนักการลงทุนตั้งแต่ 80-100% ในพอร์ต

หากคุณรับความเสี่ยงได้ปานกลาง และต้องการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เงินลงทุนบางส่วนลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นได้ คุณสามารถเลือก Bond ETF ผสมกับ ETF ที่ลงทุนในหุ้น (Equity ETF) สัดส่วนผสมกันระหว่าง 40-60% ในพอร์ต ถ้าไม่ต้องการความผันผวนสูง คุณเลือก ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้น (Stock Market ETF) เพื่อกระจายความเสี่ยงในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม

หากคุณรับความเสี่ยงได้สูง และต้องการได้รับผลตอบแทนที่สูง จากมูลค่าสินทรัพย์ที่เติบโต รวมทั้งยินดีรับความผันผวนขาลงระยะสั้น คุณสามารถเลือก Equity ETF ในสัดส่วนได้ตั้งแต่ 80-100% โดยจะเป็น Stock Market ETF หรือ ETF ที่ลงทุนในรายอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ (Sector ETF) หรือ ETF ที่ลงทุนในธีมธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตระยะยาว (Thematic ETF) รวมไปถึงเลือก ETF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity ETF) หากรับความเสี่ยงได้สูงมาก หรือกระจายความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยใน Bond ETF เพื่อบรรเทาความผันผวนในช่วงขาลงของตลาดหุ้นได้

เมื่อคุณรู้จักระดับความสามารถ (Ability) และความเต็มใจ (Willingness) ในการรับความเสี่ยงจากการลงทุน ต่อมาคือ วิธีการเฟ้นหา ETF เพื่อมาจัดพอร์ตลงทุน ตามความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวัง

ยิ่งคุณเจอ ETF หลายๆ กองที่ลงทุนในสินทรัพย์หรือมีนโยบายลงทุนเหมือนกัน จะเฟ้นหา ETF ไหนมาจัดพอร์ตดี คุณสามารถคัดเลือก ETF ที่น่าลงทุนที่สุด โดยพิจารณาจาก 4 เกณฑ์ ดังนี้

เกณฑ์ที่ 1 มูลค่า AUM ที่สูง

ETF ที่มีความแข็งแกร่งและมีความน่าเชื่อถือ นอกเหนือจากพิจารณาที่บริษัทจัดการลงทุนแล้ว มูลค่า AUM (Assets Under Management) หรือมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (หรือ Net Asset) มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ยิ่งมากยิ่งดี เพราะมูลค่า AUM ที่สูงมากพอ สะท้อนว่า โอกาสที่ ETF จะบริหารกองหรือสร้างผลตอบแทนเติบโตมีสูง เพราะมีกระแสเงินทุนมากพอที่จะลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดยคุณสามารถนำ ETF ประเภทเดียวกัน จัดอันดับมูลค่า AUM สูงที่สุด แล้วมาเปรียบเทียบกันได้

เกณฑ์ที่ 2 ค่า Total Expense Ratio ที่ต่ำ

ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของ ETF เป็นอีกเกณฑ์ที่มีสำคัญ ยิ่งถ้าคุณสนใจ Passive ETF เน้นให้ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง ผู้จัดการกองทุนทำเพียงแค่ลงทุนตามดัชนี ไม่ต้องปรับพอร์ตบ่อย ค่า Total Expense Ratio จะไม่สูงอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่ปรับขึ้นกัน เพราะต้องแข่งขันกับ ETF ประเภทเดียวกันด้วย

แต่ถ้าเป็น Active ETF เน้นให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง ผู้จัดการกองทุนต้องคอยติดตามภาวะตลาดและปรับพอร์ตตลอดเวลา ค่า Total Expense Ratio จะสูงกว่า

เหตุผลคือ ค่า Total Expense Ratio ที่สูงจะมีส่งผลต่อผลตอบแทนที่ ETF นั้นทำได้ ผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าดัชนีอ้างอิงหรือไม่สามารถชนะดัชนีอ้างอิงได้ โดยคุณสามารถนำ ETF ประเภทเดียวกัน จัดอันดับมูลค่า AUM สูงที่สุด เพิ่มส่วนค่า Total Expense Ratio เพิ่มเติม แล้วเลือก ETF ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด

เกณฑ์ที่ 3 ค่า Tracking Error ที่ต่ำ

ค่า Tracking Error สามารถบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของ ETF และผู้จัดการกองทุนได้ว่า ผลตอบแทนที่ทำได้ในแต่ละเดือน ไตรมาส และปี ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงหรือไม่ เหมือนเป็นค่าความคลาดเคลื่อน ETF ที่มีค่า Tracking Error ต่ำ ย่อมดีกว่า ETF ที่มีค่า Tracking Error สูงอย่างแน่นอน

ค่า Tracking Error นี้จะใช้วัด Passive ETF เพราะมีหลักการให้ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง แต่จะใช้วัด Active ETF ไม่ได้ ค่าความคลาดเคลื่อนจะสูงอยู่แล้ว เพราะมุ่งทำผลตอบแทนให้ชนะดัชนีอ้างอิง

หากคุณต้องการให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด นอกจาก 2 เกณฑ์แรกแล้ว ค่า Tracking Error ของ ETF ควรต่ำด้วยเช่นกัน

เกณฑ์ที่ 4 ค่าความเสี่ยงต่างๆ

ปกติแล้ว ETF จะทำ Fact Sheet (แผ่นข้อมูล) ที่จะระบุข้อมูลส่วนสรุปของ ETF นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลงทุน ดัชนีอ้างอิง ค่า Total Expense Ratio ผลตอบแทน และบริษัทที่ลงทุน รวมไปถึงแสดงค่าสถิติอื่นๆ ที่ระบุถึงความเสี่ยง ความผันผวน รวมไปถึงค่าผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่คุณสามารถพิจารณาได้

ค่าแรก คือ Standard Deviation (SD หรือ Volatility) เป็นค่าสถิติตัวแรกที่วัดความผันผวนของ ETF ค่ายิ่งสูง หมายถึงความผันผวนสูง ยิ่งต่ำ หมายถึงความผันผวนต่ำ มักจะเอามาคำนวณต่อในค่าสถิติอื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง (หรือความผันผวน)

นอกจากนี้ยังมีค่า Sharpe Ratio ใช้วัดความสามารถในการบริหาร ETF และดูผลตอบแทนต่อความเสี่ยง ควรมีค่ามากกว่า 1 หมายถึงทำผลตอบแทนได้มากกว่าความเสี่ยงนั่นเอง คุณจะได้รู้ว่า ความเสี่ยงนั้นคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่คาดหวังหรือไม่ โดยทั่วไป Passive ETF เปรียบเทียบค่า Sharpe Ratio ก็เพียงพอแล้ว

ส่วนค่า Sortino Ratio ที่ใช้เฉพาะความผันผวนขาลงมาคำนวณ วัดความสามารถในการบริหาร ETF เหมือนกัน โดยดูผลตอบแทนต่อความเสี่ยง ค่ายิ่งสูง ยิ่งดี แต่มักใช้วัดประสิทธิภาพของ Active ETF ที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง

โดยปกติคุณสามารถดูค่า SD ค่า Sharpe Ratio และค่า Sortino Ratio ครบในที่เดียวได้จาก Morningstar เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่เฟ้นหาข้อมูลพื้นฐานของ ETF โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

หากคุณต้องการรู้จัก ETF นั้นมากขึ้นไปอีก ลองเข้าไปอ่าน 10 หุ้นแรกที่ ETF นั้นลงทุน ว่าตรงตามเป้าหมายของคุณหรือไม่ โดยเฉพาะ Thematic ETF ที่ไม่มีกฎตายตัวในการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุน วัดแค่ว่า เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจตามธีมที่ ETF กำหนดนโยบายไว้

นี่คือ 4 เกณฑ์วิธีการคัดเลือก ETF อย่างง่ายๆ เพื่อคุณสามารถมั่นใจได้ว่า ETF ที่เฟ้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มาแล้วนั้น เป็น ETF ที่น่าลงทุนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพิจาณาจากมูลค่า AUM ค่า Total Expense Ratio ค่า Tracking Error และค่าความเสี่ยงต่างๆ และเริ่มต้นจัดพอร์ตลงทุนได้อย่างสบายใจ เพราะคุณรู้จัก ETF นั้นอย่างรอบด้าน

เมื่อคุณเข้าใจถึงวิธีการคัดเลือก ETF และเริ่มสนใจอยากหาโอกาส ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ด้วย ETF  ผมได้รวบรวมช่องทางลงทุนให้คุณแล้ว

โอกาส ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ด้วย ETF

เทรนด์การลงทุนปัจจุบัน นักลงทุนไทยหลายคนเริ่มสนใจจัดพอร์ตลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและเห็นโอกาสเติบโต เพราะ ETF ต่างประเทศมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย และบางกองลงทุนในธีมธุรกิจที่ไม่มีในไทย

ในสายตาหลายๆ คน พอพูดถึง ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เงินลงทุนเยอะ หากจะลงทุนด้วยตัวเอง ทำให้นักลงทุนหลายคนถอดใจที่จะเริ่มต้น

จริงๆ แล้ว โอกาสลงทุนต่างประเทศไม่ยากอย่างที่คิด และด้วยเทคโนโลยีช่วยให้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูงมาก โดยเฉพาะลงทุนผ่าน ETF อีกทั้งยังได้กระจายความเสี่ยงลงทุนในอุตสาหกรรมและธีมธุรกิจที่น่าสนใจ ด้วย ETF เพียงกองเดียว

นอกจากนี้ ETF เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก มีความหลากหลายในแง่ของสินทรัพย์ อุตสาหกรรม และธีมธุรกิจต่างๆ จึงดีงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาอย่างมหาศาลจากนักลงทุนทั่วโลก

ผมได้รวบรวมวิธีการ ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ด้วย ETF ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาให้คุณลองพิจารณาดู พร้อมทั้งจำแนกข้อดีและข้อด้อย เพื่อให้คุณเข้าใจและตัดสินใจเลือกช่องทางลงทุนที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด 3 วิธีด้วยกัน

วิธีที่ 1 ลงทุนผ่านกองทุนรวม

กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund – FIF) เป็นทางเลือกแรกของการลงทุน ETF ต่างประเทศ เพราะเข้าถึงง่ายที่สุด ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก และซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ

ปัจจุบัน FIF เปิดกองใหม่ๆ มีทางเลือกให้กับคุณเยอะมาก โดยเลือกลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ และ ETF หลากหลายประเภท โดยเป็นการลงทุนทางอ้อม มี 2 รูปแบบ คือ Feeder Fund (ลงทุนกองเดียว) และ Fund of Funds (ลงทุนหลายกอง)

อย่างไรก็ตาม FIF ไม่ได้จำกัดเฉพาะการลงทุนในรูปแบบกองทุน และ ETF เท่านั้น แต่สามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่างประเทศอื่นๆ ได้ เช่น จัดพอร์ตลงทุนตราสารหนี้และหุ้นโดยตรง ดังนั้นคุณควรอ่านศึกษานโยบายการลงทุนของ FIF นั้นๆ ให้เข้าใจก่อนที่จะลงทุน

จุดเด่น

  • ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก เพื่อซื้อหน่วยลงทุน
  • เปิดบัญชีลงทุนง่าย
  • ผู้จัดการกองทุนบริหารมูลค่าทรัพย์สินและผลตอบแทนตามนโยบายกองทุน

จุดด้อย

  • ค่าธรรมเนียมสูง ทั้งเก็บจากกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุน
  • ผู้จัดการกองทุนสามารถเปลี่ยนกองทุนหรือ ETF ต้นทางได้

วิธีที่ 2 ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์

ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ในไทยหลายแห่ง ให้บริการเปิดบัญชีเพื่อไปลงทุนในหุ้นและกองทุนต่างประเทศโดยตรงได้ และมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ และเป็นวิธีที่ง่ายสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนเริ่มต้นสูง เพราะบางบล. อาจจะมีเงื่อนไขค่าธรรมเนียมซื้อขายขั้นต่ำ คุณจะต้องมีเงินมากพอ เพื่อให้คุ้มกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย

นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น การโอนเงินไปและกลับจากต่างประเทศ หากคุณจะใช้บริการบล. ไทย ควรศึกษาอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศที่ไปลงทุนด้วย

ด้วยการพัฒนาระบบออนไลน์ต่างๆ คุณยังสามารถเปิดบัญชีผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วยตัวเอง แต่คุณควรจะทำความเข้าใจเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมด้วยเช่นเดียวกัน

จุดเด่น

  • เข้าถึงการลงทุนโดยตรงและเป็นเจ้าของสินทรัพย์
  • เปิดบัญชีลงทุนง่าย ทั้งบล. ไทยและโบรกเกอร์ต่างประเทศ
  • มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก

จุดด้อย

  • ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูง เพื่อให้คุ้มกับค่าธรรมเนียม
  • ค่าธรรมเนียมสูง มีขั้นต่ำ และมีต้นทุนการโอนเงินไปและกลับจากต่างประเทศ
  • ใช้เวลาในการโอนเงินและแปลงสกุลเงิน

วิธีที่ 3 ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล

กองทุนส่วนบุคคลเป็นอีกทางเลือกที่ให้คุณลงทุนต่างประเทศผ่านหุ้นและ ETF โดยตรง โดยเปิดบัญชีผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)

บริการกองทุนส่วนบุคคลมีหลากหลายขึ้นอยู่กับบลจ. โดยจัดพอร์ตลงทุนและเลือกสินทรัพย์ให้ตามระดับความเสี่ยงของคุณ หรือวางรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลไว้ให้คุณเลือก หลายๆ บลจ. อาจจะมีเงื่อนไขบริหารเงินลงทุนสูงมาก เช่น 5 ล้านขึ้นไป หรือ 10 ล้านขึ้นไป

แต่ด้วยเทคโนโลยีและการพัฒนาแพลตฟอร์มลงทุนทำให้บริการกองทุนส่วนบุคคลในปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากก็สามารถลงทุนใน ETF โดยตรง อย่างเช่น Jitta Wealth ที่นักลงทุนสามารถเริ่มต้นที่ 10,000 บาท และเพิ่มทุนครั้งละ 1,000 บาท

บริการกองทุนส่วนบุคคลจะมีค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมโอนเงินไปและกลับจากต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่คุณควรศึกษาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

จุดเด่น

  • เข้าถึงการลงทุนโดยตรงและเป็นเจ้าของสินทรัพย์
  • เปิดบัญชีลงทุนง่ายผ่านบลจ. ไทย
  • บลจ. บริการพอร์ตลงทุนให้ และมีผู้รับฝากทรัพย์สิน
  • มีค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อผลตอบแทน
  • บางบลจ. มีระบบดิจิทัลรองรับ เช่น AI คัดเลือกสินทรัพย์

จุดด้อย

  • บางบลจ. อาจจะมีเงื่อนไขด้านเงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงมาก
  • อาจจะมีสินทรัพย์ เช่น หุ้นและ ETF ให้เลือกไม่มาก
  • ใช้เวลาในการโอนเงินและแปลงสกุลเงิน
  • อาจจะมีเงื่อนไขค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สินขั้นต่ำ

นี่คือ 3 ทางเลือกที่คุณจะสามารถคว้าโอกาส ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ง่ายๆ ด้วย ETF ซึ่งไม่ยากอย่างที่คิดผมหวังว่า ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับ ETF ทั้ง 2 ตอน จะทำให้คุณรู้จักเครื่องมือการลงทุนอย่าง ETF มากยิ่งขึ้น และเห็นโอกาสสร้างพอร์ตลงทุนที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว

มูลค่าเงินลงทุนใน ETF ทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2563 เป็นเครื่องการันตีชั้นดีว่า ETF เป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วโลก…แล้วคุณล่ะ เริ่มต้นสร้างพอร์ตลงทุน ETF ทั่วโลกแล้วหรือยัง

]]>
1496388
คู่มือลงทุน ETF เปิดประตูสู่หุ้นโลก (ตอนที่ 2) https://positioningmag.com/1488911 Thu, 05 Sep 2024 08:52:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1488911

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ในตอนที่แล้ว ผมได้เกริ่นถึง กองทุนดัชนี และประเภทของกองทุน ETF และประเภทสินทรัพย์ที่ ETF ลงทุนไปแล้ว คุณน่าจะพอเห็นภาพว่าทุกวันนี้ นักลงทุนอย่างเราไม่ได้ถูกจำกัดสินทรัพย์ลงทุนไว้เพียงหุ้นหรือตราสารหนี้เท่านั้น  เราสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจต่างๆ ได้ผ่านกองทุน ETF ที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายทีเดียว

และทุกวันนี้ก็เกิดเทรนด์ใหม่ขึ้นมาที่คุณๆ อาจจะเคยได้ยินผ่านๆ หูมาบ้าง อย่าง การลงทุนในธีมธุรกิจ (Thematic Investment) ใน ETF เรียกว่า Thematic ETF ที่ถือได้ว่า เป็นเครื่องมือการลงทุนในธีมธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว โดยเป็นการเติบโตในรูปแบบ Structural Trend ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจในอนาคตข้างหน้า

ธีมของธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจปัจจุบันและส่อแววว่าจะเฉิดฉายต่อไปในอนาคตได้ ยกตัวอย่าง เช่น บทบาทของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แทรกซึมเข้ามา เพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อของ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า จึงทำให้เกิดธีมอีคอมเมิร์ซเพื่อลงทุนในรูปแบบ ETF หากจำกันได้ในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤติ Covid-19 ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ผู้คนออกไปไหนไม่ได้ การซื้อของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจึงเติบโตสูงมากในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทที่ให้บริการอีคอมเมิร์ซ หรือ ETF อย่าง ProShares Online Retail ETF (ONLN) เติบโตสูงถึง +111.37% ในปีเดียวกัน

ธุรกิจคลาวด์ (Cloud Computing) กลายเป็น Thematic ETF เช่นเดียวกัน และได้รับอานิสงส์จากวิกฤต Covid-19 ที่ทำให้ผู้คนและองค์กรทั่วโลกหันมาลงทุนกับระบบคลาวด์ เพื่อใช้ในการทำงานจากที่บ้าน เก็บไฟล์งานต่างๆ ที่ดึงออกมาใช้ได้ตลอดเวลา ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงความบันเทิงในบ้าน เช่น ดูภาพยนตร์ ดูซีรีส์ และฟังเพลง ในปี 2563 ETF อย่าง WisdomTree Cloud Computing Fund (WCLD) เติบโตสูงถึง +109.71%

แต่การเติบโตแบบ Structural Trend ไม่ได้วัดที่ผลตอบแทนปีใดปีหนึ่งเท่านั้น เป็นมุมมองและความเชื่อมั่นในธีมธุรกิจนั้น ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ที่ว่ากันเป็น 10-20 ปี คุณอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณยังจะใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่อไปหรือไม่ หรือแพลตฟอร์มคลาวด์มีความจำเป็นในชีวิตและการทำงานของคุณหรือเปล่า

รวมไปถึงธีมธุรกิจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ฟินเทค เกมและอีสปอร์ต หุ่นยนต์และ AI จีโนมิกส์ หรือพลังงานสะอาด ถ้ามองภาพระยะยาว…ธีมธุรกิจเหล่านี้จะมีศักยภาพเติบโตหรือเข้ามามีอิทธิพลกับผู้คนทั่วโลกหรือไม่

นี่คือความเป็น ‘เมกะเทรนด์’ ของธีมธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต  บริษัทจัดทำดัชนีอ้างอิงต่างเล็งเห็นถึง  เทรนด์การลงทุนใน Thematic ETF จึงรวบรวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับธีมนั้นๆ และจัดทำดัชนีอ้างอิงขึ้นมา โดยแต่ละบริษัทจัดการลงทุนสามารถออกแบบนโยบายได้ทั้ง Passive ETF หรือ Active ETF

คุณสามารถเลือกสร้างพอร์ตให้เติบโตไปตามอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจที่เลือก พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายสิบหลายร้อยบริษัทผ่าน ETF กองเดียว

อย่างไรก็ตามการลงทุนใน ETF รายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจ ราคาและผลตอบแทนจะมีความผันผวนมากกว่า ETF ตลาดหุ้นที่มีกรอบการลงทุนกว้างกว่าและลงทุนในหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นคุณควรศึกษาสินทรัพย์แต่ละอุตสาหกรรมก่อนจะลงทุน เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจ และมั่นใจในศักยภาพเติบโต พร้อมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ และธีมธุรกิจ

ETF นโยบาย
iShares Global Healthcare ETF (IXJ) มากกว่า 100 บริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม Healthcare
Global X FinTech ETF (FINX) มากกว่า 50 บริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี Fintech ทั่วโลก
ETFMG Alternative Harvest ETF (MJ) มากกว่า 40 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและแปรรูปกัญชา
Global X Video Games & E-sports ETF (HERO) มากกว่า 40 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับวงการเกมและจัดการแข่งขันอีสปอร์ต

 

ETF อีกประเภทที่ออกแบบมา เพื่อคว้าโอกาสลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมันดิบ เงิน หรือสินค้าการเกษตรต่างๆ เรียกว่า Commodity ETF ซึ่งจะมีนโยบายการลงทุนที่แคบกว่า ETF ประเภทอื่นๆ  เนื่องจากลงทุนเจาะจงไปที่สินค้าโภคภัณฑ์ตัวนั้นๆ ราคาและผลตอบแทนจึงมีความผันผวนสูงมาก เป็นไปตามวงรอบเศรษฐกิจ ตามอุปสงค์อุปทาน หากมีข่าวสารเชิงลบ ที่จะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง

ยกตัวอย่างการลงทุนในทองคำ ราคาจะมีความเคลื่อนไหวไปตามวงรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จนธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ราคาทองคำจะอยู่ไต่ระดับเป็นขาขึ้น ไปจนถึงช่วงเศรษฐกิจเริ่มถดถอย เงินเฟ้อไม่เร่งตัว ธนาคารกลางเริ่มลดดอกเบี้ย ราคาทองคำอาจจะทำนิวไฮได้ในช่วงนี้ เพราะนักลงทุนทั่วโลกจะหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงที่ตลาดการเงินการลงทุนผันผวน ที่เรียกว่า Safe Heaven

ดังนั้นคุณควรทำความเข้าใจและหาความรู้ในสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงรับมือกับความเสี่ยงด้านราคา การปรับพอร์ตใน Commodity ETF ตามรอบวงจรเศรษฐกิจมีความสำคัญมาก หากคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสเร่งตัวในอนาคต ค่อยปรับพอร์ตให้น้ำหนักการลงทุนใน Commodity ETF มากขึ้น แล้วลดสัดส่วนในพอร์ตเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับตัวลดลง

Commodity ETF จะรวบรวมและคัดสรรบริษัทชื่อดังที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ ETF นั้นลงทุน และเป็น Passive ETF ที่ให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด

ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์

ETF นโยบาย
SPDR Gold Shares (GLD) กองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีชื่อเสียงที่สุดในโลกด้วย
United States Oil Fund LP (USO) กองทุน ETF น้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือครองน้ำมันหลายชนิด ครอบคลุมน้ำมันทั่วโลก
Invesco DB Agriculture Fund (DBA) สินค้าการเกษตรแบบคลอบคลุม ซึ่งรวบรวมหลายประเภท เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และทุกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร

 

จะเห็นได้ว่า การลงทุนใน Commodity ETF จะมีความแตกต่างกันในสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น ราคาและผลตอบแทน จะมีความผันผวนและความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน ในช่วงราคาน้ำมันขาลง ราคาทองอาจจะเป็นขาขึ้นได้ แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกัน คือ เป็น Passive ETF สร้างผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิง ขึ้นอยู่กับคุณว่า จะเลือกลงทุนและเชื่อมั่นในสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทไหน

นอกจากนี้ยังมี ETF ที่ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป เช่น ETF เงินตราต่างประเทศ และ ETF คริปโทเคอร์เรนซี

อ่านมาจนถึงตอนนี้คุณอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘มีวิธีในการคัดเลือก ETF ต่างประเทศเพื่อลงทุนอย่างไร’ หรือ ‘ถ้าอยากจะลงทุนใน ETF ต่างประเทศโดยตรงสามารถทำยังไงได้บ้าง’ ซึ่งในตอนต่อไป ผมจะพาคุณไปลงลึกถึงวิธีการเลือก ETF และโอกาสลงทุนต่างประเทศ และเมื่ออ่านจนจบ คุณจะตัดสินใจได้ว่า เลือกลงทุน ETF ต่างประเทศอย่างไรให้ตรงจริตของคุณ

]]>
1488911
คู่มือลงทุน ETF เปิดประตูสู่หุ้นโลก (ตอนที่ 1) https://positioningmag.com/1484702 Thu, 01 Aug 2024 10:46:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1484702

บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ภาวะการลงทุนในประเทศที่ไม่ได้เอื้อต่อจิตใจของนักลงทุนยามนี้ ทำให้เชื่อว่าหลายต่อหลายคนกำลังมองหาการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนกำลังใจในการลงทุนให้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะการออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ก็อาจจะยังมีความลังเลและไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้ผมมีเครื่องมือการลงทุนที่จะมาช่วยเพิ่มทางเลือกให้คุณได้ลองเปิดใจ และอาจจะกลายเป็นติดใจได้ไม่ยาก

เครื่องมือทางการลงทุนยอดนิยม ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก คือ ‘กองทุนดัชนี’ ที่ผมจะพาไปทำความรู้จักบทเรียนแรกๆ หรือจะเรียกว่าเป็น ETF 101 ก็ว่าได้นะครับ

กองทุนดัชนี คือ สินทรัพย์ทางการเงินในรูปแบบกองทุน มีนโยบายบริหารกองทุนแบบ Passive ที่ให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิง เช่น S&P500 DJIA NASDAQ100 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือ CSI300 ของตลาดหุ้นจีน หรือ NIKKEI225 ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น หรือ SET50 ตลาดหุ้นไทย โดยมาในรูปแบบของกองทุนรวม (Mutual Fund) หรือ ETF (Exchange Traded Fund)

กองทุนดัชนีเป็นการลงทุนระยะยาว เนื่องจากเป็น Passive Fund ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อดัชนีปรับลดลง ผลตอบแทนก็จะลดลง เป็นเรื่องปกติของตลาดหุ้น มีทั้งขาขึ้นและขาลง

ถ้าคุณลงทุนอย่างมีวินัย หมั่นเพิ่มทุนสม่ำเสมอในกองทุนดัชนี พอร์ตระยะยาว…จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอย่างยั่งยืน เพราะเงินในพอร์ตทำงานได้อย่างเต็มที่ ผลตอบแทนสูงในช่วงขาขึ้น มักชดเชยการขาดทุนช่วงขาลงได้

Invesco บริษัทจัดการลงทุน ทำวิจัยออกมาว่า ในช่วงพฤศจิกายน 2511 ถึงธันวาคม 2563 ช่วงดัชนี S&P500 เป็นขาขึ้นต่อเนื่องนานที่สุดอยู่ที่ 1,764 วัน หรือประมาณ 58 เดือน ขณะที่ช่วงดัชนีขาลงนานที่สุดอยู่ที่ 349 วัน หรือประมาณ 11-12 เดือน ส่วนผลตอบแทนสูงสุดช่วงขาขึ้นอยู่ที่ +180.04% ช่วงขาลงอยู่ที่ -36.34%

หากลงทุนนานถึง 30 ปี ผลตอบแทนของดัชนี S&P500 จะอยู่ที่ 10.7% ต่อปี…นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการลงทุนแบบ Passive ในตลาดหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว

ทำไมการลงทุนใน ETF ถึงน่าสนใจ

ETF หรือ Exchange Traded Fund กองทุนรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้น โดยไม่ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือบริษัทจัดการลงทุน

ปัจจุบัน ETF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะเป็นเครื่องมือการลงทุนที่เปิดทางให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์การลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตราสารหนี้และหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก

ETF

นอกจากนี้ยังมี ETF หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม หุ้นธีมธุรกิจ และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งยังขยายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี

จุดเริ่มต้นของ ETF มีนโยบายลงทุนแบบ Passive ตามดัชนีอ้างอิง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด เหมือนกับกองทุนรวมดัชนี แต่แทนที่จะประกาศราคาซื้อขายตอนสิ้นวันเหมือนกองทุนรวม นักลงทุนสามารถซื้อขาย ETF ได้ในตลาดหุ้น…เสมือนซื้อขายหุ้นนั่นเอง

ดังนั้นความน่าสนใจของ ETF คือ ซื้อง่ายขายคล่องบนกระดานหุ้น เพราะเป็นการผสมผสานคุณสมบัติของหุ้นและกองทุนรวมเข้าด้วยกัน

ปัจจุบัน ETF ขยายรูปแบบการลงทุนนอกเหนือจาก Passive ETF มาเป็น Active ETF รวมไปถึงหลักการลงทุนและนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น บทความนี้ ผมจะพาคุณได้ไปทำความรู้จักกับ ETF ในหลากหลายแง่มุม

ข้อแตกต่างระหว่าง Passive ETF และ Active ETF

อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว Passive ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิงที่ ETF กองนั้นระบุไว้ใน Fact Sheet (แผ่นข้อมูล) ปัจจุบันมีดัชนีอ้างอิงหลายร้อยหลายพัน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีผลตอบแทนตราสารหนี้และดัชนีตลาดหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก นอกจากนี้หลายๆ สถาบันการเงินยังออกดัชนีหุ้นรายอุตสาหกรรม ดัชนีหุ้นธีมการลงทุน และดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์

หากคุณเลือกลงทุนใน Passive ETF คุณต้องมั่นใจว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงมีประสิทธิภาพที่จะสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว และความเสี่ยง คือ ตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลง ผลตอบแทนจะน้อยลงตามกัน คุณทำเพียงเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) แล้วปล่อยให้เงินทำงาน สร้างมูลค่าให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามดัชนีอ้างอิง

Passive ETF จะมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย (Total Expense Ratio) ที่ต่ำมาก เพราะผู้จัดการกองทุนจะลงทุนตามดัชนีอ้างอิง ไม่ต้องติดตามดูกราฟราคาสินทรัพย์และปรับพอร์ตตลอดเวลา โดยคุณสามารถตรวจสอบได้ว่า Passive ETF ที่สนใจมี Total Expense Ratio เท่าไร ลงทุนอยู่ในสินทรัพย์อะไรบ้าง

ตัวอย่าง Passive ETF

  • Vanguard Total Stock Market ETF (VTI) อ้างอิงจากดัชนี CRSP US Total Market Index ที่รวมหุ้นทุกขนาดมาร์เก็ตแคปในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
  • ThaiDex SET50 Exchange Traded (TDEX) อ้างอิงจากดัชนี SET50 ที่รวมหุ้น 50 ตัวแรกตามขนาดมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทย
  • VanEck Vectors Vietnam ETF (VNM) อ้างอิงจากดัชนี MVIS Vietnam Index ที่ลงทุนประมาณ 30 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปอย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหุ้นเวียดนาม และตลาดหุ้นอื่นๆ ที่มีรายได้หลักมาจากเวียดนาม

ในปี 2563 มูลค่า AUM (Assets Under Management) ของ ETF ทั่วโลกอยู่ที่ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างที่ได้เกริ่นมาแล้วว่า ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีวิวัฒนาการมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้เป็น Passive ETF เพียงอย่างเดียว แต่มี Active ETF เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทั่วโลก

ETF

สำหรับ Active ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจะจัดพอร์ตตามนโยบายที่ได้ระบุไว้ใน Fact Sheet หากคุณเลือก ETF ประเภทนี้ คุณต้องมีแนวคิดที่ว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องเลือกเครื่องมือการลงทุนที่จะทำผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง และความเสี่ยง คือ โอกาสที่ Active ETF จะมีผลตอบแทนแพ้ดัชนีอ้างอิง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active Fund (การบริหารจัดการเชิงรุก) ส่งผลให้ Active ETF จะมี Total Expense Ratio ที่สูงกว่า เพราะผู้จัดการกองทุนต้องติดตามสินทรัพย์ที่ลงทุนและปรับพอร์ต ETF ตลอดเวลา รวมไปถึงการซื้อขายสินทรัพย์ถี่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง

ตัวอย่าง Active ETF

  • ARK Innovation ETF (ARKK) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนบริษัทนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาดิสรัปรูปแบบธุรกิจเดิม และมีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในอนาคต เช่น เทคโนโลยี AI เทคโนโลยี DNA เทคโนโลยีคลาวด์ และฟินเทค
  • ARK Genomic Revolution ETF (ARKG) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ที่พัฒนาการรักษาให้ลึกลงไปในระดับพันธุกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงหรือโรคที่รักษายาก
  • First Trust Preferred Securities & Income ETF (FPE) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นกู้แปลงสภาพกว่า 80% เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงในความผันผวนที่ต่ำ และรายได้ที่มั่นคงให้กับนักลงทุน

รูปแบบการลงทุนของ Passive ETF และ Active ETF จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องนโยบายการลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง การบริหารจัดการพอร์ต และค่าธรรมเนียม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกับ Active ETF เช่นเดียวกัน ด้วยมูลค่า AUM ทั่วโลกในสัดส่วน 2.9% อยู่ที่ 303,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปี 2563

ในความแตกต่างนี้ อยู่ที่ตัวคุณ ว่ามีเป้าหมายใช้เครื่องมือการลงทุนรูปแบบไหน ที่ตรงกับความต้องการและจริตการลงทุนของคุณ หากต้องการลงทุน Passive ETF เพื่อเติบโตในระยะยาวไปตามดัชนีอ้างอิงด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำ หากต้องการลงทุน Active ETF เพื่อผลตอบแทนชนะดัชนี ด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น

ประเภทสินทรัพย์ที่ ETF ลงทุน

ปัจจุบันมี ETF อยู่เกือบ 8,000 กองทั่วโลก กลายเป็นเครื่องมือการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเรื่อยๆ เพราะเปรียบเสมือนหุ้นบนกระดานซื้อขาย และได้กระจายความเสี่ยงเพียงลงทุนแค่ ETF กองเดียว ทำให้สินทรัพย์ที่ ETF มีมากมายหลายประเภท ที่เป็นทางเลือกให้กับคุณ

ผมได้รวบรวมสินทรัพย์ยอดนิยมที่ ETF เข้าไปลงทุนมากที่สุดได้แก่ หุ้นและตราสารหนี้ ทำให้มูลค่า AUM ของสินทรัพย์ทั้ง 2 ตัวมีขนาดใหญ่มาก ETF จึงมีความแข็งแกร่งในแง่ของโอกาสเข้าถึงสินทรัพย์ที่หลากหลาย และจัดพอร์ตลงทุนให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด จึงมีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะยาว

ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้น

ETF

นโยบาย

Vanguard Total Stock Market ETF (VTI)

หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

Vanguard FTSE Developed Markets ETF (VEA)

หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

Vanguard FTSE Emerging Markets ETF (VWO)

หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา

ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในตราสารหนี้

ETF

นโยบาย

iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG)

พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดีของสหรัฐฯ

iShares iBoxx $ Investment Grade Corporate Bond ETF (LQD)

หุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดีของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมี ETF ที่ลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ที่เรียกว่า Sector ETF เพื่อเปิดโอกาสลงทุนในหุ้นรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ บางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นขาลงหรือเกิดวิกฤต จะมีบางอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่เจอผลกระทบเลย จึงยังมีผลตอบแทนที่ดีกว่า

ETF

Sector ETF มีนโยบายลงทุนได้ทั้ง Passive และ Active ขึ้นอยู่กับบริษัทจัดการลงทุน โดยจะใช้ดัชนีอ้างอิงและตะกร้าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจตามเกณฑ์ Global Industry Classification Standard (GICS) จัดทำโดยบริษัทจัดทำดัชนีตลาดอย่าง MSCI และ S&P แบ่งเป็น 4 ลำดับชั้นจากยอดสู่ฐานของสามเหลี่ยม ได้แก่

  • 11 Sectors (ภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
  • 24 Industry Groups (กลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
  • 68 Industries (อุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
  • 157 Sub-industries (อุตสาหกรรมหรือธุรกิจย่อย)

ยกตัวอย่างภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ เช่น พลังงาน (Energy) สินค้าจำเป็น (Consumer Staples) การเงิน (Financials) หรือบริการสุขภาพ (Healthcare)

จริงๆ แล้ว ทุกวันนี้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ที่คุณสามารถเข้าไปเลือกลงทุนได้ผ่าน ETF ซึ่งในครั้งหน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อถึงธุรกิจที่น่าสนใจ และเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ผมหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นทางเลือกสำหรับมือใหม่ที่ต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศ ได้ศึกษาและพิจารณาโอกาสใหม่ๆ ที่จะให้พอร์ตของคุณเติบโตได้ยั่งยืนไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม   

]]>
1484702
กองทุน S&P500 ETF ประตูบานแรกสู่การลงทุนระยะยาว https://positioningmag.com/1447078 Fri, 06 Oct 2023 06:10:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1447078

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงทุนอย่างไรให้ปลอดภัยและสร้างผลตอบแทนได้ระยะยาว ผมอยากแนะนำเครื่องมือการลงทุนหนึ่ง ที่สุดแสนจะคลาสสิกและเรียบง่าย ที่สำคัญไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ก็ยังเป็นที่นิยมอย่าง ‘การลงทุนเชิงรับ’ (Passive Investment) ที่คุณก็สามารถเริ่มลงทุนได้ เพียงเลือกสินทรัพย์ที่ลงทุนอิงดัชนีและมีค่าธรรมเนียมต่ำ เพราะจัดเป็นการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ ที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และมีการซื้อขายน้อยครั้งทำให้ค่าธรรมเนียมไม่สูงเกินไป

และนั่นก็ทำให้ก็การลงทุนเชิงรับยังคงอยู่คู่ตลาดและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งหนึ่งในกองทุนยอดนิยมที่ไม่เคยตกเทรนด์อย่าง S&P500 ETF ก็เป็นสินทรัพย์อ้างอิงที่ได้รับความนิยมและเป็นถูกพูดถึงเสมอเมื่อพูดถึงการลงทุนเชิงรับ

มาถึงตรงนี้ อาจจะมีใครเริ่มงง ว่าเจ้า S&P 500 คืออะไร และ ETF อีกล่ะ

มาครับ ผมอยากขอทบทวนความเข้าใจสักเล็กน้อย

S&P 500 หรือ Standard & Poor’s 500 เป็นดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นดังกล่าว ซึ่ง 500 บริษัทเหล่านี้ก็ครอบคลุมกว่า 80% ของมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมดไปแล้ว

ETF หรือ Exchange Traded Funds คือ กองทุนที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนีต่างๆ ที่ใช้อ้างอิง เพื่อทำผลตอบแทนให้ใกล้เคียงการเคลื่อนไหวของดัชนีนั้นๆ มากที่สุด โดยสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดได้เหมือนหุ้น จึงกลายเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในหมู่นักลงทุนเชิงรับ (Passive Investment)

Etf
Photo : Shutterstock

พอจะนึกออกแล้วใช่ไหมครับ เจ้า S&P 500 ETF ก็คือ กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง S&P500 นั่นเอง ความน่าสนใจคือ เจ้า S&P 500 ETF ถือว่าเป็น ETF ตัวชี้วัดเศรษฐกิจโลกเลยก็ว่าได้ และไม่แปลกใจที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และเป็นหนึ่งใน ETF ที่นักลงทุนหลายคนมีติดพอร์ตเอาไว้

ไม่เว้นแม้แต่ปรมาจารย์ด้านการลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) อย่าง Warren Buffett ก็ชื่นชอบการลงทุนในกองทุนดัชนี โดยเฉพาะในดัชนี S&P 500

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ในปัจจุบันมีกองทุน ETF มากถึงกว่า 800 กองที่มีนโยบายการลงทุนโดยอ้างอิงดัชนี S&P 500 โดยแต่ละ ETF มีความแตกต่างในด้านการบริหารจัดการและการคัดเลือกหุ้นที่จะเข้าไปลงทุน

เอาล่ะสิ แล้วถ้าจะลงทุน เราจะเลือกอย่างไร

อย่าเพิ่งเลิกลั่ก มาครับ ผมจะใหัเทคนิคกการเลือกลงทุน ว่าเราควรใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณาลงทุนใน ETF

1. ดัชนีที่ใช้อ้างอิง

ดัชนีคือส่วนหนึ่งของตลาดหุ้น ยกตัวอย่างเช่น ดัชนี S&P500 เป็นหนึ่งในดัชนีที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฉะนั้นก่อนที่คุณจะเลือกลงทุนใน ETF สักกอง คุณควรรู้ก่อนว่าคุณอยากลงทุนในดัชนีอะไร หรือมีความสนใจในอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษหรือไม่ เพื่อที่คุณจะสามารถตีกรอบหาดัชนีที่คุณต้องการได้ ก่อนที่คุณจะเลือก ETF ที่อ้างอิงมาจากดัชนีนั้นๆ ซึ่งจะแสดงให้เห็นอยู่ในชื่อของ ETF อยู่แล้ว

2. ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีที่อ้างอิง

เมื่อคุณเลือกได้แล้วว่าจะลงทุนใน ETF ที่อ้างอิงดัชนีอะไร ก็ต้องมาดูต่อว่า ควรจะลงทุนใน ETF กองไหน เพราะแต่ละดัชนีก็มี ETF ที่อ้างอิงอยู่หลายกองเช่นกัน ดังนั้นสิ่งต่อมาที่เราจะใช้พิจารณาคัดเลือก นั้นก็คือ ผลตอบแทน ไม่ใช่ว่าผลตอบแทนจะต้องทำกำไรได้มากมาย แต่จะต้องทำได้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิง เพราะแม้ว่าจะทำผลตอบแทนได้เยอะ แต่ไม่ใกล้เคียงดัชนี ก็ถือเป็นความเสี่ยงอย่างนึงเช่นเดียวกัน

3. สภาพคล่องสูง

สภาพคล่องสูง คือ ถ้าวันนึงคุณไม่ต้องการ ก็ยังคงมีคนอื่นที่สนใจ ทำให้บริหารจัดการพอร์ตได้สะดวก ซึ่งสามารถดูได้จากจำนวน AUM (Asset Under Management) ยิ่ง AUM สูงยิ่งแสดงให้เห็นว่า ETF ตัวนั้นมีคนเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากจำนวน AUM แล้ว การมีปริมาณการซื้อขายต่อวันที่สูง และช่องว่างระหว่างราคาเสนอซื้อกับเสนอขายที่ต่ำ ก็สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่า ETF ตัวนั้นเป็นที่ต้องการมากแค่ไหน

4. ค่าธรรมเนียม

โดยพื้นฐานของ กองทุน ETF จะเป็นการลงทุนแบบ Passive fund ที่เน้นทำผลตอบแทนล้อไปตามดัชนีตลาด ค่าธรรมก็จะต่ำกว่าการลงทุนแบบ Active fund ที่พยายามเอาชนะตลาดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ETF แต่ละกองก็จะมี อัตราค่าใช้จ่ายรวม (Expense Ratio) ที่แตกต่างกัน ยิ่งกองไหนมี Expense Ratio ต่ำ ก็จะยิ่งทำให้คุณได้ผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

5. ระยะเวลา

แม้ผลตอบแทนในอดีตจะไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้ แต่ก็สามารถดูได้ว่า ETF กองนั้นบริหารเป็นยังไง ยิ่งเปิดตัวมานาน ก็แสดงให้เห็นว่าผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาแบบไหน ผลตอบแทนในช่วงนั้นเป็นอย่างไร เราก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ละเอียดยิ่งขึ้นด้วย

เอาล่ะครับ น่าจะพอได้ไอเดียกันบ้างแล้วนะครับ แต่ยังไม่จบครับ วันนี้ผมมีของแถม ด้วยการสปอย 4 กองทุน S&P 500 ETF ที่มีพื้นฐานที่ดี อยู่เหนือกาลเวลาให้คุณๆ ได้เลือกสรรเข้าพอร์ตลงทุนของคุณได้โดยสะดวก บอกเลยว่า แต่ละกองเปิดมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี แต่ยังมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นทั้งนั้นครับ

Etf
Photo : Shutterstock

SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY)

ชื่อ ETF : SPY

วันที่เปิดตัว : 22 มกราคม 2536 (30ปี)

อัตราค่าใช้จ่ายรวม : 0.095%

มูลค่า AUM : 413,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลตอบแทน Year to date : 20.55%

(ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2556)

ETF ตัวแรกที่หยิบยกขึ้นมาจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก SPY ซึ่งเป็น ETF กองแรกที่เปิดตัวในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2536 เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ซึ่ง SPY ก็ยังคงทำผลงานได้ดีตลอดมา จนปัจจุบันก็ยังคงเป็น ETF ที่มี AUM มากที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด อยู่ที่ราว 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แค่นั้นยังไม่พอ SPY ยังเป็น ETF หนึ่งในสองกองที่ถูกเลือกเข้าพอร์ต Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett อีกด้วย

iShares Core S&P 500 ETF (IVV)

ชื่อ ETF : IVV

วันที่เปิดตัว : 15 พฤษภาคม 2543 (23ปี)

อัตราค่าใช้จ่ายรวม : 0.03%

มูลค่า AUM : 352,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลตอบแทน Year to date : 18.44%

(ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2556)

IVV ถือเป็นกองทุน ETF ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก SPY โดยจุดเด่นคือ อัตราค่าใช้จ่ายรวมที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับกองอื่นๆ ที่เราหยิบยกขึ้นมา โดย IVV เปิดมากว่า 23 ปี ผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมามากมายเช่นกัน แต่ปัจจุบันก็ยังคงสามารถทำผลงานได้ดี และด้วยข้อได้เปรียบเรื่องค่าธรรมเนียม จึงทำให้ IVV เป็นที่สนใจของใครหลายๆ คน

iShares S&P 500 Growth ETF (IVW)

ชื่อ ETF : IVW

วันที่เปิดตัว : 22 พฤษภาคม 2543 (23ปี)

อัตราค่าใช้จ่ายรวม : 0.18%

มูลค่า AUM : 35,895 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลตอบแทน Year to date : 24.15%

(ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2556)

IVW เปิดตัวตามหลัง IVW เพียงไม่กี่วัน โดยเป็นการลงทุนในสินทรัพย์คล้ายๆ กัน แตกต่างกันที่นโยบายการลงทุนและการบริหารจัดการ โดย IVW จะเน้นลงทุนไปที่หุ้นกลุ่มเติบโตมากขึ้น แม้ปลายทางจะเป็นการทำผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนี แต่การเคลื่อนไหวของผลตอบแทนจะมีการเปลี่ยนแปลงขยับขึ้นลงมากกว่า แต่ก็พ่วงมาด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า IVV อยากไรก็ตาม IVW ก็ยังคงมีข้อได้เปรียบในเรื่องของราคาที่ถูก ทำให้กลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนไม่น้อย

Etf
Photo : Shutterstock

Invesco S&P 500 Equal Weight ETF (RSP)

ชื่อ ETF : RSP

วันที่เปิดตัว : 24 เมษายน 2546 (20ปี)

อัตราค่าใช้จ่ายรวม : 0.20%

มูลค่า AUM : 41,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลตอบแทน Year to date : 5.36%

(ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2556)

RSP เป็นอีกหนึ่งกองทุน ETF ที่เปิดตัวมานานตั้งแต่ ปี 2546 โดยเน้นการเติบโตเป็นหลัก ความน่าสนใจของ RSP ก็คือ การคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุน จะมีการแบ่งสัดส่วนที่เท่าๆ กัน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.20% ของแต่ละสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ใน ETF ซึ่ง ETF กองอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีนโยบายที่ลงทุนในหุ้นแต่ละตัวโดยให้น้ำหนักไม่เท่ากัน โดยการถือหุ้นบางตัวในสัดส่วนที่สูง ทำให้การกระจ่ายความเสี่ยงและบริหารจัดการของ RSP ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็แลกมาด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น

เป็นอย่างไรบ้างครับ ETF ทั้ง 4 กองที่เราหยิบยกมาแนะนำให้คุณ ล้วนแล้วแต่เป็น ETF ท็อปฟอร์มตลอดกาล เพราะล้วนพิสูจน์ตัวเองด้วยระยะเวลากว่า 20 ปี ที่พอจะทำให้อุ่นใจได้ว่า มีความแข็งแกร่งมากพอที่จะเผชิญอุปสรรคหรือวิกฤตใดๆ ก็ตาม

ในโลกการเงินปัจจุบันยังมีสินทรัพย์ที่น่าลงทุนรวมถึง ETF ดีๆ ที่คุณสามารถนำมาบริหารพอร์ตลงทุน รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการนำพาคุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่คุณวาดหวังไว้ในอนาคต หากคุณสนใจแนวทางการลงทุนและแสวงหาโอกาสในโลกการเงินที่ผมและทีมงานได้เตรียมข้อมูลที่น่าสนใจให้คุณสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา https://blog.jittawealth.com/

]]>
1447078
หุ้น​ COVID-19 ตัวไหนปัง! พร้อมชี้เป้า ETF ลงทุนรับดีมานด์ทั่วโลก https://positioningmag.com/1347296 Sat, 21 Aug 2021 14:18:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1347296
ตอนนี้…เวลานี้ ใครๆ ก็เรียกหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพราะพวกเรารู้ว่า วัคซีนจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้โลกของเราเอาชนะโรคระบาดครั้งสำคัญนี้ได้ แต่การผลิตวัคซีน รวมไปถึงจัดสรรและกระจายตามความต้องการของแต่ละประเทศทั่วโลก ยังทำได้ไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างมาก

อัปเดตถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ประชากรในสัดส่วน 30.02% ทั่วโลกได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และสัดส่วน 15.7% คือประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ยังไม่ใช่สัดส่วนที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือทำให้แต่ละประเทศเปิดพรมแดนเพื่อออกเดินทางกันอีกครั้ง

กว่า 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงสิงหาคม 2564 ที่กระจายวัคซีนไปแล้วกว่า 4,480 ล้านโดสทั่วโลก ตราบใดที่เชื้อไวรัส COVID-19 ยังสามารถกลายพันธุ์ไปได้อีกหลายสายพันธุ์ ทำให้เกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็วและอาการมีความรุนแรงมากขึ้น การพัฒนาวัคซีนให้ดียิ่งขึ้นไปอีก…มีความจำเป็นอย่างมาก

ถ้าเชื้อไวรัสนี้ยังอยู่ ความต้องการวัคซีนก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็น Recurring Demand เหมือนกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่เราฉีดทุกปี

นั่นหมายว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 จะไม่ได้จบเพียงเท่านี้ กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น การลงทุนใหม่ๆ จะตามมา บริษัทไหนที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน…กำลังเป็นโอกาสลงทุนครั้งสำคัญ

หุ้นวัคซีน COVID-19 ราคาขึ้นแรง

รู้หรือไม่ว่า… โดยทั่วไปแล้วการพัฒนาวัคซีนในแต่ละชนิด ใช้เวลาตั้งแต่ 5-10 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น จนกว่าจะผลิตวัคซีนมีคุณภาพที่ดี ซึ่งไม่ง่ายนัก… ที่จะเอาชนะโรคระบาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

แต่สำหรับ COVID-19 นับเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ห้วงเวลาการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนใช้เวลาไม่ถึง 9 เดือน ตัดขั้นตอนการทดสอบหลายระดับ ให้เหลือเพียง 3 ระยะ เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอในระดับที่สามารถใช้ได้ในร่างกายมนุษย์

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้รัฐบาลแต่ละประเทศต่างเร่งรัดรับรองการใช้วัคซีน COVID-19 เป็นการฉุกเฉิน (Emergency Use) เพราะการแพร่ระบาดจนมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมๆ กว่า 4.328 ล้านคน (ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564) ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ

เมื่อเวลาไม่คอยท่า แต่ละบริษัทในกลุ่มบริการสุขภาพทั่วโลกต่างเร่งสปีดพัฒนาวัคซีน บางบริษัทได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาล จึงเป็นที่มาของวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อกระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน หรือกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน มีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

1.Genetic Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใช้ยีนของไวรัส หรือที่เรารู้จักกันว่า วัคซีน mRNA (Messenger RNA) ปัจจุบันมี 2 ผู้ผลิต ได้แก่ Pfizer (ร่วมกับ BioNTech ของเยอรมนี) และ Moderna จากสหรัฐฯ

โรคระบาด COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดวัคซีน mRNA แรกของโลก โดยมีรายงานว่า ให้ประสิทธิภาพป้องกัน และไม่ทำให้เจ็บป่วยรุนแรงได้สูงถึง 94-95% [4]

vaccine covid-19 pfizer
Photo : Shutterstock

นอกจากนี้วัคซีน mRNA ยังมีรายงานด้วยว่า ยังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ เช่น สายพันธุ์อินเดีย (เดลตา) เป็นต้น

ส่งผลให้ความต้องการวัคซีน mRNA พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศต่างเร่งรัดส่งคำสั่งซื้อหลายล้านโดส เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด จนมีข่าวว่าภูมิภาคอาเซียนมียอดคำสั่งซื้อเต็มโควตาปี 2564 แล้ว หากต้องการจะสั่ง ต้องรอปีต่อไป [6]

สำหรับ 3 บริษัทที่พัฒนาวัคซีน มีราคาหุ้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ Moderna (+534.3%) BioNTech (+463.22%) และ Pfizer (+32.43%) (ข้อมูล ณ วันที่  11 สิงหาคม 2564)

Photo : Shutterstock

ด้วยเหตุผลของประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA สูงพอที่จะป้องกันหลากหลายสายพันธุ์ของ COVID-19 ทำให้มีหลายบริษัทเตรียมที่จะพัฒนาวัคซีนประเภทนี้ด้วย เช่น

  • Sanofi จะลงทุน 400 ล้านยูโรเพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีน mRNA เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการต่อสู้กับ COVID-19
  • Fosun Pharma เซ็นร่วมมือกับ BioNTech เพื่อผลิตวัคซีน mRNA ในจีน กำลังการผลิต 1,000 ล้านโดส ลงทุนร่วมกัน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ก็มีรายงานว่า วัคซีน mRNA มีผลข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Heart Inflammation) โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้เพิ่มคำเตือนลงไปในฉลากวัคซีนด้วย

2. Viral Vector Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลง และไม่ก่อให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของ COVID-19 ปัจจุบันมี 4 แบรนด์ที่พัฒนาวัคซีนประเภทนี้ ได้แก่ AstraZeneca (ร่วมกับ University of Oxford) จากสหราชอาณาจักร, Johnson & Johnson จากสหรัฐฯ, CanSino Biologics จากจีน และ Sputnik V (Gamaleya Research Institute of Epidemiology and Microbiology) จากรัสเซีย

โดย AstraZeneca เป็นวัคซีนที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ทั่วโลก เพราะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่โดสแรก และมีงานวิจัยฉีดผสมกับวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ด้วย

Astrazeneca Vaccine
Photo : Shutterstock

สำหรับวัคซีน Johnson & Johnson ที่ฉีดเพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพสูงถึง 85% ส่วน AstraZeneca จำนวน 2 โดส มีประสิทธิภาพ 82% และ Sputnik V จำนวน 2 โดส มีประสิทธิภาพสูงถึง 92%

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าวัคซีน Viral Vector มีรายงานเรื่องผลข้างเคียงคือ เกิดลิ่มเลือดในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มาจากทั้ง AstraZeneca และ Johnson & Johnson แต่ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์การเกิดไม่สูงมาก

สำหรับราคาหุ้นที่ผลิตวัคซีน Viral Vector ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มี CanSino Biologics ราคาเพิ่มขึ้น 69.58% และ Johnson & Johnson ราคาเพิ่มขึ้น 17.39% ส่วน AstraZeneca เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.86% (ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564)

3. Protein-based Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใส่ชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส เรียกอีกอย่างว่า Subunit Vaccine โดยบริษัทพัฒนาวัคซีนนี้ คือ Novavax จากสหรัฐฯ มีรายงานว่า ประสิทธิภาพการป้องกันสูงถึง 90%

ขณะนี้วัคซีนของ Novavax ยังไม่ได้มีสถานะการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) FDA และสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ของไทย คาดว่า เร็วๆ นี้ อาจจะมีความคืบหน้า มีการรับรองและอนุมัติแบบ Emergency Use

Photo : Shutterstock

ความหลากหลายของวัคซีน จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีความซับซ้อน บางคนอาจจะแพ้วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งได้ ดังนั้น Subunit Vaccine ของ Novavax จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการต่อสู้กับ COVID-19

ราคาหุ้นของ Novavax ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น สะท้อนมุมมองเชิงบวก และผลสำเร็จของวัคซีนเช่นเดียวกัน 28.96% (ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564)

4. Whole-virus Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลง หรือไม่ทำงาน เรียกอีกอย่าง Inactivated Virus Vaccine หรือ วัคซีนเชื้อตาย ปัจจุบันจีนยังเป็นประเทศหลักที่ผลิตวัคซีนประเภทนี้ เช่น CoronaVac (Sinovac Biotech) และ Sinopharm จากจีน และยังมี Covaxin (Bharat Biotech พัฒนาร่วมกับ Indian Council of Medical Research) จากอินเดีย

เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ทำการทูตวัคซีน จึงส่งออกวัคซีนทั้ง 2 แบรนด์ไปยังประเทศด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาทั่วโลก ในรูปแบบทั้งขาย และบริจาค จึงทำให้วัคซีนเชื้อตาย ถูกฉีดให้กับประชาชนส่วนใหญ่ในเอเชีย แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้

Photo : Shutterstock

สำหรับ Covaxin ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก และยื่นขอการรับรองจาก WHO แต่กำลังประสบปัญหากับข้อตกลงส่งมอบวัคซีนกับประเทศในอเมริกาใต้ เช่น บราซิล ปารากวัย

ส่วนราคาหุ้น Sinopharm ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 9.67% (ข้อมูล ณ วันที่  11 สิงหาคม 2564)

ในกลุ่มวัคซีนทั้ง 4 ประเภทนี้ มีการพัฒนามาแล้ว 21 แบรนด์ทั่วโลก และได้รับรอง Emergency Use ในบางประเทศ ส่วนที่ WHO รับรองแล้วมี 6 บริษัท ได้แก่ Pfizer-BioNTech Moderna AstraZeneca Johnson & Johnson Sinopharm และ Sinovac 

นอกจากนี้โรคระบาด COVID-19 ยังเป็นแรงส่งให้กับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรทางการแพทย์ ในการพัฒนาวัคซีนให้มีความหลากหลายมากขึ้น ล่าสุดมีการพัฒนาวัคซีนชนิดพ่นจมูก (Intranasal) ของบริษัท Meissa ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองกับสัตว์ มีรายงานว่า สามารถป้องกันสายพันธุ์อังกฤษ (อัลฟา) และแอฟริกาใต้ (เบตา) ได้ โดยจะเป็นวัคซีนที่สามารถสร้างแอนติบอดีในระบบทางเดินหายใจ และหากจามออกมา จะไม่แพร่เชื้อ

หุ้นชุดตรวจ COVID-19 ที่น่าสนใจ

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนามาโดยตลอด ทำให้การตรวจ COVID-19 เบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน โดยคุณไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการออกไปข้างนอก

คุณสามารถใช้ชุดตรวจแบบ Rapid Test เป็นชุดตรวจที่ทราบผลเร็วภายใน 30 นาที ปัจจุบันมีผู้ผลิตจากหลายๆ ชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ รวมทั้งมีการขึ้นทะเบียนรับรองการใช้งานนับสิบแบรนด์ในทุกประเทศ ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.Rapid Antigen Test

ใช้ตรวจหาเชื้อ COVID-19 เพื่อประเมินการติดเชื้อเบื้องต้น โดยใช้การเก็บตัวอย่างด้วยการแยงไม้เข้าไปในโพรงจมูก ช่องคอ และน้ำลาย คล้ายคลึงกับการตรวจ RT-PCR (Real-time Polymerase Chain Reaction) ของโรงพยาบาล หากประเมินว่า ได้รับเชื้อมาแล้ว 5-14 วัน จะได้ผลตรวจที่แม่นยำ

สำหรับไทย อย. เพิ่งประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ ​​Rapid Antigen Test มาใช้เองได้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ไม่อนุญาตให้ซื้อขายตามร้านขายยา แต่ในหลายๆ ประเทศ ประชาชนสามารถหาซื้อได้เอง อย่างในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

Photo : Shutterstock

2. Rapid Antibody Test

ใช้ตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทาน COVID-19 โดยใช้วิธีเจาะเลือดที่ปลายนิ้วหรือท้องแขน สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ในวันที่ 10 เป็นต้นไป นับจากที่คาดว่า ได้รับเชื้อ

การใช้ชุดตรวจ Rapid Antibody Test ผลที่ได้จะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์คัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้น เพราะการตรวจภูมิคุ้มกัน COVID-19 ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว การฉีดวัคซีนป้องกัน และผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคนี้ สามารถตรวจพบภูมิต้านทานที่เพิ่มขึ้นได้

Photo : Shutterstock

ปัจจุบัน อย. ไทย ยังไม่รับรองให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงชุดตรวจ Rapid Antibody Test แต่จะอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ใช้ตรวจได้เท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจนี้ได้

ตัวอย่างหุ้นบริษัทที่ผลิตชุดตรวจที่น่าสนใจ บางรายเป็นผู้ผลิตทั้ง Rapid Antigen Test และ Rapid Antibody Test ได้แก่ Abbott Laboratories จากสหรัฐฯ ราคาหุ้นได้รับอานิสงส์จาก COVID-19 เพิ่มขึ้นเป็น 22.65% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่  11 สิงหาคม 2564) โดยได้ผลิตชุดตรวจ Rapid Antigen Test แบบการ์ด ด้วยราคาเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมแสดงผลภายใน 15 นาทีผ่านแอปพลิเคชัน ส่วน Roche จากสวิตเซอร์แลนด์ ราคาเพิ่มขึ้น 16.32% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ชี้เป้า ETF ลงทุนหุ้น COVID-19

เชื้อ COVID-19 ค้นพบครั้งแรกในจีนเมื่อปลายปี 2563 จนตอนนี้ระยะผ่านมานานกว่า 1 ปีครึ่ง ทั่วโลกยังเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดหลายระลอก

บางประเทศคุมได้เร็ว แต่ก็ยังกลับมาระบาดได้อีก บางประเทศเลือกที่จะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้สัดส่วนมากกว่า 70% ของประชากร มีเป้าหมายให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเปิดการท่องเที่ยว

ขณะที่หลายๆ ประเทศพยายามสั่งจองวัคซีนหลายล้านโดส จากหลายๆ แบรนด์ผู้ผลิต เพื่อมาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด เนื่องจากไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้ การสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับประชาชน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

มิฉะนั้น…จะเปิดประเทศไม่ได้ จะเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ เศรษฐกิจเสียหายหนักและใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนเกิด COVID-19

Photo : Shutterstock

แม้วัคซีนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่เรายังคาดการณ์ไม่ได้ว่า โลกจะเอาชนะ COVID-19 ได้หรือไม่ หรือจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาด รวมทั้งไวรัสกลายพันธุ์ไปจนถึงเมื่อไร

มันเป็นวิกฤตของโลกที่กำลังสะเทือนเศรษฐกิจทุกประเทศ ในทางกลับกัน…โอกาสการลงทุนก็อยู่กับบริษัทที่พัฒนาและผลิตวัคซีน ยาต้านไวรัส และชุดตรวจ Rapid Test รวมทั้งถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

อย่างที่เราได้รวบรวมข้อมูลหุ้นวัคซีนและชุดตรวจ COVID-19 วัดกันที่ราคาหุ้นระยะสั้น ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ดีจากการพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ มียอดสั่งซื้อจากทั่วโลก และการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ รวมไปถึงการคิดค้นชุดตรวจที่แสดงผลรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจบริการสุขภาพ และเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างจีโนมิกส์  จึงมีความน่าสนใจมากในยุค New Normal นี้ โดย Jitta Wealth ได้คัดเลือก ETF 2 กอง เข้ามาเป็นตัวแทนของธีมธุรกิจเมกะเทรนด์ในกองทุนส่วนบุคคล Thematic อย่างธีมสุขภาพ (Healthcare) และธีมจีโนมิกส์ (Genomics) ที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤต COVID-19 ด้วย

Photo : Shutterstock

ธีมสุขภาพ มี iShares Global Healthcare ETF (IXJ) ลงทุนในหุ้นธุรกิจบริการสุขภาพทั่วโลกประมาณ 110 บริษัท เป็น Passive Fund โดยมีดัชนีอ้างอิง S&P Global 1200 Healthcare Sector Index ลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสเติบโตจากวิกฤต COVID-19 เช่น บริษัท Johnson & Johnson บริษัท Pfizer บริษัท Moderna บริษัท AstraZeneca บริษัท Sanofi บริษัท Abbott Laboratories และ Roche

ผลตอบแทนของ IXJ

  • ย้อนหลัง 1 ปี (1 สิงหาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2564) อยู่ที่ +21.87%
  • ปี 2564 (1 มกราคม – 11 สิงหาคม 2564) อยู่ที่ +13.26%
  • นับตั้งแต่จัดตั้ง ETF (13 พฤศจิกายน 2544) อยู่ที่ +374.37%

ธีมจีโนมิกส์ มี iShares Genomics Immunology and Healthcare ETF (IDNA) ลงทุนในหุ้นที่พัฒนานวัตกรรมจากระบบพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต วินิจฉัยโรคในระดับยีน และลงลึกไปถึงระบบภูมิคุ้มกันวิทยา ซึ่งการพัฒนาวัคซีน mRNA คือ การใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ด้วย

IDNA เป็น Passive Fund โดยมีอ้างอิง 2 ดัชนี คือ NYSE FactSet Global Genomics และ Immuno Biopharma Index ลงทุนหุ้นที่พัฒนาวัคซีน mRNA เช่น บริษัท Moderna บริษัท BioNTech และบริษัท Sanofi

ผลตอบแทนของ IDNA

  • ย้อนหลัง 1 ปี (1 สิงหาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2564) อยู่ที่ +34.49%
  • ปี 2564 (1 มกราคม – 11 สิงหาคม 2564) อยู่ที่ +13.17%
  • นับตั้งแต่จัดตั้ง ETF (11 มิถุนายน 2562) อยู่ที่ +115.01%

สำหรับ การลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพในจีน ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และเป็นผู้พัฒนาวัคซีนจำนวนมหาศาลของโลกเช่นเดียวกับสหรัฐฯ กองทุนส่วนบุคคล Thematic ของ บลจ. จิตต เวลธ์ มีธีมตลาดหุ้นจีน iShares MSCI China ETF (MCHI) ที่ลงทุนในหุ้น Sinopharm และ CanSino Biologics ด้วย

]]>
1347296