คู่มือลงทุน ETF เปิดประตูสู่หุ้นโลก (ตอนที่ 1)

บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ภาวะการลงทุนในประเทศที่ไม่ได้เอื้อต่อจิตใจของนักลงทุนยามนี้ ทำให้เชื่อว่าหลายต่อหลายคนกำลังมองหาการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนกำลังใจในการลงทุนให้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะการออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ก็อาจจะยังมีความลังเลและไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้ผมมีเครื่องมือการลงทุนที่จะมาช่วยเพิ่มทางเลือกให้คุณได้ลองเปิดใจ และอาจจะกลายเป็นติดใจได้ไม่ยาก

เครื่องมือทางการลงทุนยอดนิยม ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก คือ ‘กองทุนดัชนี’ ที่ผมจะพาไปทำความรู้จักบทเรียนแรกๆ หรือจะเรียกว่าเป็น ETF 101 ก็ว่าได้นะครับ

กองทุนดัชนี คือ สินทรัพย์ทางการเงินในรูปแบบกองทุน มีนโยบายบริหารกองทุนแบบ Passive ที่ให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิง เช่น S&P500 DJIA NASDAQ100 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือ CSI300 ของตลาดหุ้นจีน หรือ NIKKEI225 ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น หรือ SET50 ตลาดหุ้นไทย โดยมาในรูปแบบของกองทุนรวม (Mutual Fund) หรือ ETF (Exchange Traded Fund)

กองทุนดัชนีเป็นการลงทุนระยะยาว เนื่องจากเป็น Passive Fund ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อดัชนีปรับลดลง ผลตอบแทนก็จะลดลง เป็นเรื่องปกติของตลาดหุ้น มีทั้งขาขึ้นและขาลง

ถ้าคุณลงทุนอย่างมีวินัย หมั่นเพิ่มทุนสม่ำเสมอในกองทุนดัชนี พอร์ตระยะยาว…จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอย่างยั่งยืน เพราะเงินในพอร์ตทำงานได้อย่างเต็มที่ ผลตอบแทนสูงในช่วงขาขึ้น มักชดเชยการขาดทุนช่วงขาลงได้

Invesco บริษัทจัดการลงทุน ทำวิจัยออกมาว่า ในช่วงพฤศจิกายน 2511 ถึงธันวาคม 2563 ช่วงดัชนี S&P500 เป็นขาขึ้นต่อเนื่องนานที่สุดอยู่ที่ 1,764 วัน หรือประมาณ 58 เดือน ขณะที่ช่วงดัชนีขาลงนานที่สุดอยู่ที่ 349 วัน หรือประมาณ 11-12 เดือน ส่วนผลตอบแทนสูงสุดช่วงขาขึ้นอยู่ที่ +180.04% ช่วงขาลงอยู่ที่ -36.34%

หากลงทุนนานถึง 30 ปี ผลตอบแทนของดัชนี S&P500 จะอยู่ที่ 10.7% ต่อปี…นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการลงทุนแบบ Passive ในตลาดหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว

ทำไมการลงทุนใน ETF ถึงน่าสนใจ

ETF หรือ Exchange Traded Fund กองทุนรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้น โดยไม่ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือบริษัทจัดการลงทุน

ปัจจุบัน ETF ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะเป็นเครื่องมือการลงทุนที่เปิดทางให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์การลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตราสารหนี้และหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก

ETF

นอกจากนี้ยังมี ETF หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม หุ้นธีมธุรกิจ และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งยังขยายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี

จุดเริ่มต้นของ ETF มีนโยบายลงทุนแบบ Passive ตามดัชนีอ้างอิง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด เหมือนกับกองทุนรวมดัชนี แต่แทนที่จะประกาศราคาซื้อขายตอนสิ้นวันเหมือนกองทุนรวม นักลงทุนสามารถซื้อขาย ETF ได้ในตลาดหุ้น…เสมือนซื้อขายหุ้นนั่นเอง

ดังนั้นความน่าสนใจของ ETF คือ ซื้อง่ายขายคล่องบนกระดานหุ้น เพราะเป็นการผสมผสานคุณสมบัติของหุ้นและกองทุนรวมเข้าด้วยกัน

ปัจจุบัน ETF ขยายรูปแบบการลงทุนนอกเหนือจาก Passive ETF มาเป็น Active ETF รวมไปถึงหลักการลงทุนและนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น บทความนี้ ผมจะพาคุณได้ไปทำความรู้จักกับ ETF ในหลากหลายแง่มุม

ข้อแตกต่างระหว่าง Passive ETF และ Active ETF

อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว Passive ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิงที่ ETF กองนั้นระบุไว้ใน Fact Sheet (แผ่นข้อมูล) ปัจจุบันมีดัชนีอ้างอิงหลายร้อยหลายพัน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีผลตอบแทนตราสารหนี้และดัชนีตลาดหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก นอกจากนี้หลายๆ สถาบันการเงินยังออกดัชนีหุ้นรายอุตสาหกรรม ดัชนีหุ้นธีมการลงทุน และดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์

หากคุณเลือกลงทุนใน Passive ETF คุณต้องมั่นใจว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงมีประสิทธิภาพที่จะสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว และความเสี่ยง คือ ตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลง ผลตอบแทนจะน้อยลงตามกัน คุณทำเพียงเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) แล้วปล่อยให้เงินทำงาน สร้างมูลค่าให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามดัชนีอ้างอิง

Passive ETF จะมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย (Total Expense Ratio) ที่ต่ำมาก เพราะผู้จัดการกองทุนจะลงทุนตามดัชนีอ้างอิง ไม่ต้องติดตามดูกราฟราคาสินทรัพย์และปรับพอร์ตตลอดเวลา โดยคุณสามารถตรวจสอบได้ว่า Passive ETF ที่สนใจมี Total Expense Ratio เท่าไร ลงทุนอยู่ในสินทรัพย์อะไรบ้าง

ตัวอย่าง Passive ETF

  • Vanguard Total Stock Market ETF (VTI) อ้างอิงจากดัชนี CRSP US Total Market Index ที่รวมหุ้นทุกขนาดมาร์เก็ตแคปในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
  • ThaiDex SET50 Exchange Traded (TDEX) อ้างอิงจากดัชนี SET50 ที่รวมหุ้น 50 ตัวแรกตามขนาดมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทย
  • VanEck Vectors Vietnam ETF (VNM) อ้างอิงจากดัชนี MVIS Vietnam Index ที่ลงทุนประมาณ 30 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปอย่างน้อย 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหุ้นเวียดนาม และตลาดหุ้นอื่นๆ ที่มีรายได้หลักมาจากเวียดนาม

ในปี 2563 มูลค่า AUM (Assets Under Management) ของ ETF ทั่วโลกอยู่ที่ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างที่ได้เกริ่นมาแล้วว่า ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีวิวัฒนาการมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้เป็น Passive ETF เพียงอย่างเดียว แต่มี Active ETF เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทั่วโลก

ETF

สำหรับ Active ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจะจัดพอร์ตตามนโยบายที่ได้ระบุไว้ใน Fact Sheet หากคุณเลือก ETF ประเภทนี้ คุณต้องมีแนวคิดที่ว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องเลือกเครื่องมือการลงทุนที่จะทำผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง และความเสี่ยง คือ โอกาสที่ Active ETF จะมีผลตอบแทนแพ้ดัชนีอ้างอิง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active Fund (การบริหารจัดการเชิงรุก) ส่งผลให้ Active ETF จะมี Total Expense Ratio ที่สูงกว่า เพราะผู้จัดการกองทุนต้องติดตามสินทรัพย์ที่ลงทุนและปรับพอร์ต ETF ตลอดเวลา รวมไปถึงการซื้อขายสินทรัพย์ถี่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง

ตัวอย่าง Active ETF

  • ARK Innovation ETF (ARKK) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนบริษัทนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาดิสรัปรูปแบบธุรกิจเดิม และมีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในอนาคต เช่น เทคโนโลยี AI เทคโนโลยี DNA เทคโนโลยีคลาวด์ และฟินเทค
  • ARK Genomic Revolution ETF (ARKG) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ที่พัฒนาการรักษาให้ลึกลงไปในระดับพันธุกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงหรือโรคที่รักษายาก
  • First Trust Preferred Securities & Income ETF (FPE) เป็น ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นกู้แปลงสภาพกว่า 80% เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงในความผันผวนที่ต่ำ และรายได้ที่มั่นคงให้กับนักลงทุน

รูปแบบการลงทุนของ Passive ETF และ Active ETF จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องนโยบายการลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง การบริหารจัดการพอร์ต และค่าธรรมเนียม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกับ Active ETF เช่นเดียวกัน ด้วยมูลค่า AUM ทั่วโลกในสัดส่วน 2.9% อยู่ที่ 303,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปี 2563

ในความแตกต่างนี้ อยู่ที่ตัวคุณ ว่ามีเป้าหมายใช้เครื่องมือการลงทุนรูปแบบไหน ที่ตรงกับความต้องการและจริตการลงทุนของคุณ หากต้องการลงทุน Passive ETF เพื่อเติบโตในระยะยาวไปตามดัชนีอ้างอิงด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำ หากต้องการลงทุน Active ETF เพื่อผลตอบแทนชนะดัชนี ด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น

ประเภทสินทรัพย์ที่ ETF ลงทุน

ปัจจุบันมี ETF อยู่เกือบ 8,000 กองทั่วโลก กลายเป็นเครื่องมือการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเรื่อยๆ เพราะเปรียบเสมือนหุ้นบนกระดานซื้อขาย และได้กระจายความเสี่ยงเพียงลงทุนแค่ ETF กองเดียว ทำให้สินทรัพย์ที่ ETF มีมากมายหลายประเภท ที่เป็นทางเลือกให้กับคุณ

ผมได้รวบรวมสินทรัพย์ยอดนิยมที่ ETF เข้าไปลงทุนมากที่สุดได้แก่ หุ้นและตราสารหนี้ ทำให้มูลค่า AUM ของสินทรัพย์ทั้ง 2 ตัวมีขนาดใหญ่มาก ETF จึงมีความแข็งแกร่งในแง่ของโอกาสเข้าถึงสินทรัพย์ที่หลากหลาย และจัดพอร์ตลงทุนให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด จึงมีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะยาว

ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้น

ETF

นโยบาย

Vanguard Total Stock Market ETF (VTI)

หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

Vanguard FTSE Developed Markets ETF (VEA)

หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว

Vanguard FTSE Emerging Markets ETF (VWO)

หุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา

ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในตราสารหนี้

ETF

นโยบาย

iShares Core U.S. Aggregate Bond ETF (AGG)

พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดีของสหรัฐฯ

iShares iBoxx $ Investment Grade Corporate Bond ETF (LQD)

หุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดีของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมี ETF ที่ลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ที่เรียกว่า Sector ETF เพื่อเปิดโอกาสลงทุนในหุ้นรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ บางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นขาลงหรือเกิดวิกฤต จะมีบางอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่เจอผลกระทบเลย จึงยังมีผลตอบแทนที่ดีกว่า

ETF

Sector ETF มีนโยบายลงทุนได้ทั้ง Passive และ Active ขึ้นอยู่กับบริษัทจัดการลงทุน โดยจะใช้ดัชนีอ้างอิงและตะกร้าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจตามเกณฑ์ Global Industry Classification Standard (GICS) จัดทำโดยบริษัทจัดทำดัชนีตลาดอย่าง MSCI และ S&P แบ่งเป็น 4 ลำดับชั้นจากยอดสู่ฐานของสามเหลี่ยม ได้แก่

  • 11 Sectors (ภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
  • 24 Industry Groups (กลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
  • 68 Industries (อุตสาหกรรมหรือธุรกิจ)
  • 157 Sub-industries (อุตสาหกรรมหรือธุรกิจย่อย)

ยกตัวอย่างภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ เช่น พลังงาน (Energy) สินค้าจำเป็น (Consumer Staples) การเงิน (Financials) หรือบริการสุขภาพ (Healthcare)

จริงๆ แล้ว ทุกวันนี้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ที่คุณสามารถเข้าไปเลือกลงทุนได้ผ่าน ETF ซึ่งในครั้งหน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อถึงธุรกิจที่น่าสนใจ และเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ผมหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นทางเลือกสำหรับมือใหม่ที่ต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศ ได้ศึกษาและพิจารณาโอกาสใหม่ๆ ที่จะให้พอร์ตของคุณเติบโตได้ยั่งยืนไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม