โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
ในตอนที่แล้ว ผมได้เกริ่นถึง กองทุนดัชนี และประเภทของกองทุน ETF และประเภทสินทรัพย์ที่ ETF ลงทุนไปแล้ว คุณน่าจะพอเห็นภาพว่าทุกวันนี้ นักลงทุนอย่างเราไม่ได้ถูกจำกัดสินทรัพย์ลงทุนไว้เพียงหุ้นหรือตราสารหนี้เท่านั้น เราสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจต่างๆ ได้ผ่านกองทุน ETF ที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายทีเดียว
และทุกวันนี้ก็เกิดเทรนด์ใหม่ขึ้นมาที่คุณๆ อาจจะเคยได้ยินผ่านๆ หูมาบ้าง อย่าง การลงทุนในธีมธุรกิจ (Thematic Investment) ใน ETF เรียกว่า Thematic ETF ที่ถือได้ว่า เป็นเครื่องมือการลงทุนในธีมธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว โดยเป็นการเติบโตในรูปแบบ Structural Trend ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจในอนาคตข้างหน้า
ธีมของธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจปัจจุบันและส่อแววว่าจะเฉิดฉายต่อไปในอนาคตได้ ยกตัวอย่าง เช่น บทบาทของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แทรกซึมเข้ามา เพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อของ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า จึงทำให้เกิดธีมอีคอมเมิร์ซเพื่อลงทุนในรูปแบบ ETF หากจำกันได้ในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤติ Covid-19 ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ผู้คนออกไปไหนไม่ได้ การซื้อของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจึงเติบโตสูงมากในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทที่ให้บริการอีคอมเมิร์ซ หรือ ETF อย่าง ProShares Online Retail ETF (ONLN) เติบโตสูงถึง +111.37% ในปีเดียวกัน
ธุรกิจคลาวด์ (Cloud Computing) กลายเป็น Thematic ETF เช่นเดียวกัน และได้รับอานิสงส์จากวิกฤต Covid-19 ที่ทำให้ผู้คนและองค์กรทั่วโลกหันมาลงทุนกับระบบคลาวด์ เพื่อใช้ในการทำงานจากที่บ้าน เก็บไฟล์งานต่างๆ ที่ดึงออกมาใช้ได้ตลอดเวลา ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงความบันเทิงในบ้าน เช่น ดูภาพยนตร์ ดูซีรีส์ และฟังเพลง ในปี 2563 ETF อย่าง WisdomTree Cloud Computing Fund (WCLD) เติบโตสูงถึง +109.71%
แต่การเติบโตแบบ Structural Trend ไม่ได้วัดที่ผลตอบแทนปีใดปีหนึ่งเท่านั้น เป็นมุมมองและความเชื่อมั่นในธีมธุรกิจนั้น ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ที่ว่ากันเป็น 10-20 ปี คุณอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณยังจะใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่อไปหรือไม่ หรือแพลตฟอร์มคลาวด์มีความจำเป็นในชีวิตและการทำงานของคุณหรือเปล่า
รวมไปถึงธีมธุรกิจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ฟินเทค เกมและอีสปอร์ต หุ่นยนต์และ AI จีโนมิกส์ หรือพลังงานสะอาด ถ้ามองภาพระยะยาว…ธีมธุรกิจเหล่านี้จะมีศักยภาพเติบโตหรือเข้ามามีอิทธิพลกับผู้คนทั่วโลกหรือไม่
นี่คือความเป็น ‘เมกะเทรนด์’ ของธีมธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต บริษัทจัดทำดัชนีอ้างอิงต่างเล็งเห็นถึง เทรนด์การลงทุนใน Thematic ETF จึงรวบรวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับธีมนั้นๆ และจัดทำดัชนีอ้างอิงขึ้นมา โดยแต่ละบริษัทจัดการลงทุนสามารถออกแบบนโยบายได้ทั้ง Passive ETF หรือ Active ETF
คุณสามารถเลือกสร้างพอร์ตให้เติบโตไปตามอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจที่เลือก พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายสิบหลายร้อยบริษัทผ่าน ETF กองเดียว
อย่างไรก็ตามการลงทุนใน ETF รายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจ ราคาและผลตอบแทนจะมีความผันผวนมากกว่า ETF ตลาดหุ้นที่มีกรอบการลงทุนกว้างกว่าและลงทุนในหุ้นหลากหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นคุณควรศึกษาสินทรัพย์แต่ละอุตสาหกรรมก่อนจะลงทุน เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรมหรือธีมธุรกิจ และมั่นใจในศักยภาพเติบโต พร้อมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ และธีมธุรกิจ
ETF | นโยบาย |
iShares Global Healthcare ETF (IXJ) | มากกว่า 100 บริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม Healthcare |
Global X FinTech ETF (FINX) | มากกว่า 50 บริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี Fintech ทั่วโลก |
ETFMG Alternative Harvest ETF (MJ) | มากกว่า 40 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและแปรรูปกัญชา |
Global X Video Games & E-sports ETF (HERO) | มากกว่า 40 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับวงการเกมและจัดการแข่งขันอีสปอร์ต |
ETF อีกประเภทที่ออกแบบมา เพื่อคว้าโอกาสลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมันดิบ เงิน หรือสินค้าการเกษตรต่างๆ เรียกว่า Commodity ETF ซึ่งจะมีนโยบายการลงทุนที่แคบกว่า ETF ประเภทอื่นๆ เนื่องจากลงทุนเจาะจงไปที่สินค้าโภคภัณฑ์ตัวนั้นๆ ราคาและผลตอบแทนจึงมีความผันผวนสูงมาก เป็นไปตามวงรอบเศรษฐกิจ ตามอุปสงค์อุปทาน หากมีข่าวสารเชิงลบ ที่จะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง
ยกตัวอย่างการลงทุนในทองคำ ราคาจะมีความเคลื่อนไหวไปตามวงรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จนธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ราคาทองคำจะอยู่ไต่ระดับเป็นขาขึ้น ไปจนถึงช่วงเศรษฐกิจเริ่มถดถอย เงินเฟ้อไม่เร่งตัว ธนาคารกลางเริ่มลดดอกเบี้ย ราคาทองคำอาจจะทำนิวไฮได้ในช่วงนี้ เพราะนักลงทุนทั่วโลกจะหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงที่ตลาดการเงินการลงทุนผันผวน ที่เรียกว่า Safe Heaven
ดังนั้นคุณควรทำความเข้าใจและหาความรู้ในสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงรับมือกับความเสี่ยงด้านราคา การปรับพอร์ตใน Commodity ETF ตามรอบวงจรเศรษฐกิจมีความสำคัญมาก หากคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสเร่งตัวในอนาคต ค่อยปรับพอร์ตให้น้ำหนักการลงทุนใน Commodity ETF มากขึ้น แล้วลดสัดส่วนในพอร์ตเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับตัวลดลง
Commodity ETF จะรวบรวมและคัดสรรบริษัทชื่อดังที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ ETF นั้นลงทุน และเป็น Passive ETF ที่ให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด
ตัวอย่าง ETF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์
ETF | นโยบาย |
SPDR Gold Shares (GLD) | กองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีชื่อเสียงที่สุดในโลกด้วย |
United States Oil Fund LP (USO) | กองทุน ETF น้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือครองน้ำมันหลายชนิด ครอบคลุมน้ำมันทั่วโลก |
Invesco DB Agriculture Fund (DBA) | สินค้าการเกษตรแบบคลอบคลุม ซึ่งรวบรวมหลายประเภท เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และทุกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร |
จะเห็นได้ว่า การลงทุนใน Commodity ETF จะมีความแตกต่างกันในสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น ราคาและผลตอบแทน จะมีความผันผวนและความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน ในช่วงราคาน้ำมันขาลง ราคาทองอาจจะเป็นขาขึ้นได้ แต่ก็มีส่วนที่เหมือนกัน คือ เป็น Passive ETF สร้างผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิง ขึ้นอยู่กับคุณว่า จะเลือกลงทุนและเชื่อมั่นในสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทไหน
นอกจากนี้ยังมี ETF ที่ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป เช่น ETF เงินตราต่างประเทศ และ ETF คริปโทเคอร์เรนซี
อ่านมาจนถึงตอนนี้คุณอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ‘มีวิธีในการคัดเลือก ETF ต่างประเทศเพื่อลงทุนอย่างไร’ หรือ ‘ถ้าอยากจะลงทุนใน ETF ต่างประเทศโดยตรงสามารถทำยังไงได้บ้าง’ ซึ่งในตอนต่อไป ผมจะพาคุณไปลงลึกถึงวิธีการเลือก ETF และโอกาสลงทุนต่างประเทศ และเมื่ออ่านจนจบ คุณจะตัดสินใจได้ว่า เลือกลงทุน ETF ต่างประเทศอย่างไรให้ตรงจริตของคุณ