อารมณ์-ค่าธรรมเนียม ต้นทุนลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

“The Greatest Enemies of Equity investors are Expenses and Emotions”
“ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ของนักลงทุนในหุ้น ก็คือค่าใช้จ่ายและอารมณ์”
วลีของปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไอดอลนักลงทุนสายเน้นคุณค่าหรือ VI ของใครหลายคนเคยว่าไว้

คุณเองอาจจะคิดว่าในการลงทุนมีแค่ ไม่ ‘กำไร’ ก็ ‘ขาดทุน’ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังกว่าจะทำให้คุณมีกำไรหรือขาดทุนมีอยู่มากมาย

“ค่าใช้จ่าย” และ “อารมณ์” คือ 2 สาเหตุหลัก มีส่วนสำคัญให้นักลงทุนทำผลตอบแทนได้แย่ลงกว่าเดิม บางคนอาจขาดทุนหนักจนหมดตัวจากตลาดหุ้นได้ด้วยซ้ำ

เรามาเริ่มกันที่เรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องอารมณ์กันก่อนนะครับ

อารมณ์ VS การลงทุน

หากคุณลงทุนด้วยตัวเอง ย่อมรู้ว่าการเป็นนักลงทุนคุณภาพต้องใช้ทักษะวิเคราะห์เชิงเหตุและผลสูงมาก ทั้งสภาพเศรษฐกิจ พื้นฐานธุรกิจ วิเคราะห์เชิงตัวเลข วิเคราะห์เชิงคุณภาพ การคาดการณ์ความน่าจะเป็นในอนาคต และอื่นๆ การจะเป็นนักลงทุนที่ดีจึงต้องติดตามข่าวสารและข้อมูลการลงทุนในหุ้นที่เราลงทุนอยู่อย่างใกล้ชิด

ยิ่งใกล้ชิดข้อมูลอาจจะยิ่งได้เปรียบ เมื่อก่อนอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ในโลกที่ข้อมูลกำลังล้นโลก ไม่ต่างจากขยะจากครัวเรือน เราจะแยกแยะอย่างไรว่า เรื่องไหนจริงหรือเรื่องไหน ‘ปั่น’

แม้ว่าคนที่มีทักษะในการวิเคราะห์หุ้นมากกว่า ก็จะสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่า แต่เรื่องทักษะ แค่มีความเพียรก็ไล่ตามกันทันได้ แต่สติเท่านั้นที่จะช่วยให้คุณมองทะลุตลาดที่ขมุกขมัวไปได้  ซึ่งเราก็ได้เห็นกันแล้วว่าการใช้อารมณ์ในการลงทุน ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อมีข่าวที่สร้าง Panic ให้นักลงทุนจนตลาดเหวี่ยงขึ้นลงจนยากจะทำใจว่าขาลงจะสิ้นสุดที่เท่าไร

มาดูกันครับนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นตาม “อารมณ์” อย่างเดียวโดยไม่มีการวิเคราะห์ใดๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ข้อผิดพลาดของการลงทุนโดยใช้ “อารมณ์”

  • ซื้อหุ้นตามข่าว ตามเพื่อนบอก โดยไม่เคยรู้จักธุรกิจจริงๆ
  • กระจายความเสี่ยงไม่เป็น ทำให้พอร์ตขาดทุนหนัก
  • หุ้นกำไรนิดหน่อยขาย หุ้นขาดทุนเยอะๆ ยังเก็บไว้
  • หุ้นที่กำไร กำไรนิดเดียว หุ้นที่ขาดทุน ขาดทุนหนักมาก
  • ไม่กล้าลงทุนตอนหุ้นดีๆ ราคาลดลงมา เพราะกลัวราคาจะลงมาอีก
  • รอซื้อหุ้นตอนราคาสูงๆ แล้ว เพราะกลัวจะขึ้นไปอีก
  • และอื่นๆ

ข้อผิดพลาดเหล่านี้เอง ที่ส่งผลให้ผลตอบแทนของนักลงทุนกลุ่มนี้ ได้ผลตอยแทนต่ำกว่าตลาด หรือบางคนอาจขาดทุนหมดตัวจากตลาดหุ้นได้เลยครับ

ถ้าลองประมาณตัวเลขแบบง่ายๆ ในมุมมองของผมเอง ก็จะขอแบ่งนักลงทุนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน หรือ 25% ตามทักษะการลงทุน โดยกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่มีทักษะการลงทุนสูงสุด และ กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่ใช้อารมณ์ในการลงทุนมากสุด ผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มจะเป็นดังต่อไปนี้

  • กลุ่มที่ 1 : ทำผลตอบแทนได้ 12% – 20% ต่อปี
  • กลุ่มที่ 2 : ทำผลตอบแทนได้ 6% – 12% ต่อปี
  • กลุ่มที่ 3 : ทำผลตอบแทนได้ 0% – 6% ต่อปี
  • กลุ่มที่ 4 : ขาดทุน

กลุ่มที่ 1 ที่ใช้ช่วงผลตอบแทนเป็น 12% – 20% เพราะคือ กลุ่มที่ชนะตลาดหุ้นไทยได้ เลยต้องมีผลตอบแทนมากกว่า 11.87% และให้สูงสุดที่ 20% ต่อปี เทียบเท่ากับสถิติที่ปู่ Warren Buffett ทำได้ครับ (ต้องเป็นคนที่ลงทุนเก่งมากๆ เลยทีเดียว ถึงจะทำได้เท่ากับคุณปู่ครับ)

ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าคุณไม่ได้มีทักษะการลงทุนที่ยอดเยี่ยมจริงๆ การพยายามเข้ามาซื้อขายหุ้นด้วยตนเอง มากๆ คือความเสี่ยงอย่างที่สุด เพราะจะมีคนที่ลงทุนได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดหุ้นอยู่แค่ 25% เท่านั้น อีก 75% ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าการนั่งอยู่เฉยๆ และลงทุนทั้งตลาดเสียอีกครับ

ถัดจากเรื่องอารมณ์ ผมจะพาไปดูเรื่องค่าใช้จ่ายกันบ้างครับ

ค่าใช้จ่าย VS การลงทุน

เพราะในการลงทุนต้องมี “ต้นทุน” แฝงอยู่ด้วยเสมอ นั้นก็คือ ค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ทุกครั้งที่ทำการซื้อขายหุ้น โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 0.25% ของมูลค่าการซื้อหรือขายแต่ละครั้ง

ดังนั้นถ้าในแต่ละปี มีการซื้อขายหุ้น 4 รอบ (8 ครั้ง) ก็จะต้องเสีย ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นราวๆ 2% แล้วครับ ถ้าคุณทำผลตอบแทนได้แค่ 12% ต่อปี พอหักค่าคอมมิชชั่นตรงนี้ไปแล้ว ผลตอบแทนก็จะเหลือแค่ 10% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งทำให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดหุ้นทันทีครับ

หลายๆ คนที่มีการเก็งกำไรกันมากๆ อาจจะซื้อขายหุ้นกันปีนึงอย่างต่ำเป็น 10 รอบ คิดเป็นค่าคอมมิชชั่นราวๆ 5% เลยทีเดียว เท่ากับว่าถ้าซื้อขายบ่อยขนาดนี้ ต้องทำผลตอบแทนได้ประมาณ 17% ต่อปี ก่อนหักค่าคอมมิชชั่นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสุทธิชนะตลาดหุ้น ที่ 12% ต่อปี

เมื่อรวมเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” เข้าไปด้วย นักลงทุนกลุ่มที่ 1 ที่ทำผลตอบแทนได้ 12% – 20% ต่อปี จำนวน 50 คนนั้น หักกับค่าคอมมิชชั่นเหล่านี้ไปแล้ว ก็จะเหลือแค่ประมาณ 20 คน ที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดหุ้นครับ

ทีนี้คุณลองนึกภาพตามผมนะครับ ในขณะที่เรากำลังเก็งกำไร เราต้องลงทุนอยู่บน  ‘อารมณ์’ และ ‘ค่าใช้จ่าย’ ยิ่งซื้อขายบ่อย ต้นทุนเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเสมอ

สุดท้ายแล้วนักลงทุนที่เลือกวิถีการเก็งกำไรก็จะยิ่งมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนในที่สุดก็ขาดทุน  เทียบกับ การถือครองหุ้นอยู่เฉยๆ ตามหลักการลงทุนที่ถูกต้อง ยังจะสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าคนที่พยายามจะซื้อขายหุ้นกันไปมา

ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้จัดการกองทุนมืออาชีพด้วยครับ เพราะผู้จัดการกองทุนเอง ก็ไม่สามารถหลีกหนีหลักการเรื่องอารมณ์ และค่าใช้จ่ายได้ครับ หากนักลงทุนสายเก็งกำไรมีผู้จัดการกองทุนที่พยายามแข่งขันกันทำผลตอบแทน จึงต้องซื้อๆ ขายๆ หุ้นกันเอง สุดท้ายแล้ว สถิติก็จะออกมาแบบเดียวกันครับ หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะกองทุนจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้นมาด้วยอีกส่วนนึงครับ

แล้วยิ่งกองทุนมีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ยิ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่แตกต่างกันด้วยครับ

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ

สมมติว่าคุณลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท ผ่านไปประมาณ 50 ปี เทียบกัน 2 พอร์ตที่มีค่าธรรมเนียมที่ต่างกัน พอร์ตแรกหากเอามูลค่าทรัพย์สินสุทธิหักค่าธรรมเนียม 0.5% ต่อปี มูลค่าของพอร์ตสุทธิจะอยู่ที่ 1,859,487.30 บาท แต่มูลค่าของพอร์ตที่ 2 ที่ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1.5% ต่อปีจะมีมูลค่าสุทธิของพอร์ตอยู่ที่ 1,165,333.93 บาท

และยิ่งระยะเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ค่าธรรมเนียมก็จะมีผลกับผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว​ เชื่อว่าคุณคงกำลังฝึกที่จะตัดอารมณ์ออกจากการลงทุน ผมแนะนำว่าให้ตั้งกฏเหล็กให้กับตัวเอง ที่นิยมใช้กันเช่นการตั้งตัวเลขไว้ที่ 10% หากราคาหุ้นขึ้นถึงระดับดังกล่าว ก็ให้ขายออกเสีย แล้วไม่ต้องไปสนใจราคาหลังจากนั้นครับ หรือหากยังทำไม่ได้ก็ให้ AI ลงทุนให้ครับ เพราะ AI ไร้อารมณ์​เสมอครับ ให้ AI คอยเลือกธุรกิจที่ดีและปล่อยให้เงินลงทุนเติบโตไปตามการเติบโตของธุรกิจและปันผล มีการกระจายความเสี่ยง และการปรับพอร์ตอย่างเป็นระบบตามหลักการให้เรียบร้อย สะดวกสบายกว่าเยอะครับ

ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมนั้น หากคุณเลือกที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว แทนการเก็งกำไร ก็อาจจะลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้ หรือหากเป็นกองทุนที่มีค่าบริหารจัดการ คุณควรเลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำไว้ก่อน เช่นกองทุนดัชนี หรือลงทุนกับ Jitta Wealth เองก็คิดค่าบริหารจัดการที่ต่ำมากเพียง 0.5% เท่านั้นครับ

การลงทุนในตลาดหุ้นสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ อยู่แล้ว ขอเพียงแค่อดทนกับความผันผวนระยะสั้นและถือครองการลงทุนไปได้เรื่อย ในทางกลับกันการเก็งกำไรในตลาดหุ้น เป็นเกมศูนย์ (Zero Sum Game) ​​ถ้ามีคนนึงขายหุ้น ก็ต้องมีคนนึงซื้อหุ้น และเมื่อมีคนนึงได้กำไร อีกคนก็ต้องขาดทุนเสมอครับ

ดังนั้นหากคุณสามารถตัด “ค่าใช้จ่าย” และ “อารมณ์” ออกไปได้จากการลงทุนได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะทำผล    ตอบแทนระยะยาวได้เหนือกว่านักลงทุนคนอื่นๆ ไปก็มีสูงมากขึ้นเท่านั้นครับ