โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
ตอนที่ผ่านๆ มาผมได้ฉายภาพคุณสมบัติของ ETF (Exchange Traded Fund) หลักการลงทุนและประเภทของ ETF ที่มีหลากหลายและแตกต่างกันออกไป รวมไปถึงชี้เป้าวิธีการศึกษาหาข้อมูล ETF
เพราะ ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีจำนวนกองเปิดใหม่ที่มากขึ้นทุกๆ ปี และหลายๆ ETF มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน เช่น ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีนับร้อยนับพัน ใช้ดัชนีอ้างอิงที่แตกต่างกัน แต่ก็มี ETF หลายสิบหลายร้อยกองที่ใช้ดัชนีอ้างอิงเดียวกัน และมีนโยบายลงทุนเหมือนกัน แต่ผลตอบแทนและความผันผวนของ ETF ไม่เท่ากัน
แล้วคุณจะเลือก ETF ที่น่าลงทุนที่สุดได้อย่างไร หากคุณยังมีความรู้ความเข้าใจไม่มากพอ…
บทความนี้ ผมจะพาคุณไปส่องวิธีการเลือก ETF ที่น่าลงทุนที่สุด ซึ่งไม่มีเกณฑ์อะไรยากและซับซ้อน ขอเพียงคุณทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน
เมื่ออ่านบทความนี้จบ คุณจะสามารถใช้วิธีการเพื่อนำมาเปรียบเทียบและคัดเลือก ETF ที่อยู่กลุ่มหรือประเภทเดียวกัน เพื่อเฟ้นหา ETF ตรงใจคุณมากที่สุด
วิธีการคัดเลือก ETF ที่น่าลงทุน
แต่ละคนมีความต้องการ ระดับความเสี่ยง และเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน ก่อนจะคัดเลือก ETF เพื่อมาจัดพอร์ตลงทุน คุณควรรู้จักตัวเองก่อนว่า คุณสามารถและเต็มใจรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
หากคุณรับความเสี่ยงได้ต่ำ และไม่ต้องการขาดทุน หรือได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก คุณควรเลือก ETF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ รวมไปถึงพันธบัตรรัฐบาล หรือ Bond ETF ที่สำคัญ คือ ตราสารหนี้และพันธบัตรควรมีความน่าเชื่อถือสูง อยู่ในกลุ่มระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ผ่านการจัดอันดับ Credit Rating จาก Fitch S&P และ Moody’s หมายถึง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำนั่นเอง โดยให้น้ำหนักการลงทุนตั้งแต่ 80-100% ในพอร์ต
หากคุณรับความเสี่ยงได้ปานกลาง และต้องการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เงินลงทุนบางส่วนลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นได้ คุณสามารถเลือก Bond ETF ผสมกับ ETF ที่ลงทุนในหุ้น (Equity ETF) สัดส่วนผสมกันระหว่าง 40-60% ในพอร์ต ถ้าไม่ต้องการความผันผวนสูง คุณเลือก ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้น (Stock Market ETF) เพื่อกระจายความเสี่ยงในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม
หากคุณรับความเสี่ยงได้สูง และต้องการได้รับผลตอบแทนที่สูง จากมูลค่าสินทรัพย์ที่เติบโต รวมทั้งยินดีรับความผันผวนขาลงระยะสั้น คุณสามารถเลือก Equity ETF ในสัดส่วนได้ตั้งแต่ 80-100% โดยจะเป็น Stock Market ETF หรือ ETF ที่ลงทุนในรายอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ (Sector ETF) หรือ ETF ที่ลงทุนในธีมธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตระยะยาว (Thematic ETF) รวมไปถึงเลือก ETF ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity ETF) หากรับความเสี่ยงได้สูงมาก หรือกระจายความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยใน Bond ETF เพื่อบรรเทาความผันผวนในช่วงขาลงของตลาดหุ้นได้
เมื่อคุณรู้จักระดับความสามารถ (Ability) และความเต็มใจ (Willingness) ในการรับความเสี่ยงจากการลงทุน ต่อมาคือ วิธีการเฟ้นหา ETF เพื่อมาจัดพอร์ตลงทุน ตามความเสี่ยงและผลตอบแทนคาดหวัง
ยิ่งคุณเจอ ETF หลายๆ กองที่ลงทุนในสินทรัพย์หรือมีนโยบายลงทุนเหมือนกัน จะเฟ้นหา ETF ไหนมาจัดพอร์ตดี คุณสามารถคัดเลือก ETF ที่น่าลงทุนที่สุด โดยพิจารณาจาก 4 เกณฑ์ ดังนี้
เกณฑ์ที่ 1 มูลค่า AUM ที่สูง
ETF ที่มีความแข็งแกร่งและมีความน่าเชื่อถือ นอกเหนือจากพิจารณาที่บริษัทจัดการลงทุนแล้ว มูลค่า AUM (Assets Under Management) หรือมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (หรือ Net Asset) มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ยิ่งมากยิ่งดี เพราะมูลค่า AUM ที่สูงมากพอ สะท้อนว่า โอกาสที่ ETF จะบริหารกองหรือสร้างผลตอบแทนเติบโตมีสูง เพราะมีกระแสเงินทุนมากพอที่จะลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดยคุณสามารถนำ ETF ประเภทเดียวกัน จัดอันดับมูลค่า AUM สูงที่สุด แล้วมาเปรียบเทียบกันได้
เกณฑ์ที่ 2 ค่า Total Expense Ratio ที่ต่ำ
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของ ETF เป็นอีกเกณฑ์ที่มีสำคัญ ยิ่งถ้าคุณสนใจ Passive ETF เน้นให้ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง ผู้จัดการกองทุนทำเพียงแค่ลงทุนตามดัชนี ไม่ต้องปรับพอร์ตบ่อย ค่า Total Expense Ratio จะไม่สูงอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ไม่ปรับขึ้นกัน เพราะต้องแข่งขันกับ ETF ประเภทเดียวกันด้วย
แต่ถ้าเป็น Active ETF เน้นให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง ผู้จัดการกองทุนต้องคอยติดตามภาวะตลาดและปรับพอร์ตตลอดเวลา ค่า Total Expense Ratio จะสูงกว่า
เหตุผลคือ ค่า Total Expense Ratio ที่สูงจะมีส่งผลต่อผลตอบแทนที่ ETF นั้นทำได้ ผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าดัชนีอ้างอิงหรือไม่สามารถชนะดัชนีอ้างอิงได้ โดยคุณสามารถนำ ETF ประเภทเดียวกัน จัดอันดับมูลค่า AUM สูงที่สุด เพิ่มส่วนค่า Total Expense Ratio เพิ่มเติม แล้วเลือก ETF ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด
เกณฑ์ที่ 3 ค่า Tracking Error ที่ต่ำ
ค่า Tracking Error สามารถบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของ ETF และผู้จัดการกองทุนได้ว่า ผลตอบแทนที่ทำได้ในแต่ละเดือน ไตรมาส และปี ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงหรือไม่ เหมือนเป็นค่าความคลาดเคลื่อน ETF ที่มีค่า Tracking Error ต่ำ ย่อมดีกว่า ETF ที่มีค่า Tracking Error สูงอย่างแน่นอน
ค่า Tracking Error นี้จะใช้วัด Passive ETF เพราะมีหลักการให้ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง แต่จะใช้วัด Active ETF ไม่ได้ ค่าความคลาดเคลื่อนจะสูงอยู่แล้ว เพราะมุ่งทำผลตอบแทนให้ชนะดัชนีอ้างอิง
หากคุณต้องการให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด นอกจาก 2 เกณฑ์แรกแล้ว ค่า Tracking Error ของ ETF ควรต่ำด้วยเช่นกัน
เกณฑ์ที่ 4 ค่าความเสี่ยงต่างๆ
ปกติแล้ว ETF จะทำ Fact Sheet (แผ่นข้อมูล) ที่จะระบุข้อมูลส่วนสรุปของ ETF นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลงทุน ดัชนีอ้างอิง ค่า Total Expense Ratio ผลตอบแทน และบริษัทที่ลงทุน รวมไปถึงแสดงค่าสถิติอื่นๆ ที่ระบุถึงความเสี่ยง ความผันผวน รวมไปถึงค่าผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่คุณสามารถพิจารณาได้
ค่าแรก คือ Standard Deviation (SD หรือ Volatility) เป็นค่าสถิติตัวแรกที่วัดความผันผวนของ ETF ค่ายิ่งสูง หมายถึงความผันผวนสูง ยิ่งต่ำ หมายถึงความผันผวนต่ำ มักจะเอามาคำนวณต่อในค่าสถิติอื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง (หรือความผันผวน)
นอกจากนี้ยังมีค่า Sharpe Ratio ใช้วัดความสามารถในการบริหาร ETF และดูผลตอบแทนต่อความเสี่ยง ควรมีค่ามากกว่า 1 หมายถึงทำผลตอบแทนได้มากกว่าความเสี่ยงนั่นเอง คุณจะได้รู้ว่า ความเสี่ยงนั้นคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่คาดหวังหรือไม่ โดยทั่วไป Passive ETF เปรียบเทียบค่า Sharpe Ratio ก็เพียงพอแล้ว
ส่วนค่า Sortino Ratio ที่ใช้เฉพาะความผันผวนขาลงมาคำนวณ วัดความสามารถในการบริหาร ETF เหมือนกัน โดยดูผลตอบแทนต่อความเสี่ยง ค่ายิ่งสูง ยิ่งดี แต่มักใช้วัดประสิทธิภาพของ Active ETF ที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง
โดยปกติคุณสามารถดูค่า SD ค่า Sharpe Ratio และค่า Sortino Ratio ครบในที่เดียวได้จาก Morningstar เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่เฟ้นหาข้อมูลพื้นฐานของ ETF โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
หากคุณต้องการรู้จัก ETF นั้นมากขึ้นไปอีก ลองเข้าไปอ่าน 10 หุ้นแรกที่ ETF นั้นลงทุน ว่าตรงตามเป้าหมายของคุณหรือไม่ โดยเฉพาะ Thematic ETF ที่ไม่มีกฎตายตัวในการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุน วัดแค่ว่า เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจตามธีมที่ ETF กำหนดนโยบายไว้
นี่คือ 4 เกณฑ์วิธีการคัดเลือก ETF อย่างง่ายๆ เพื่อคุณสามารถมั่นใจได้ว่า ETF ที่เฟ้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มาแล้วนั้น เป็น ETF ที่น่าลงทุนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพิจาณาจากมูลค่า AUM ค่า Total Expense Ratio ค่า Tracking Error และค่าความเสี่ยงต่างๆ และเริ่มต้นจัดพอร์ตลงทุนได้อย่างสบายใจ เพราะคุณรู้จัก ETF นั้นอย่างรอบด้าน
เมื่อคุณเข้าใจถึงวิธีการคัดเลือก ETF และเริ่มสนใจอยากหาโอกาส ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ด้วย ETF ผมได้รวบรวมช่องทางลงทุนให้คุณแล้ว
โอกาส ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ด้วย ETF
เทรนด์การลงทุนปัจจุบัน นักลงทุนไทยหลายคนเริ่มสนใจจัดพอร์ตลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและเห็นโอกาสเติบโต เพราะ ETF ต่างประเทศมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย และบางกองลงทุนในธีมธุรกิจที่ไม่มีในไทย
ในสายตาหลายๆ คน พอพูดถึง ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เงินลงทุนเยอะ หากจะลงทุนด้วยตัวเอง ทำให้นักลงทุนหลายคนถอดใจที่จะเริ่มต้น
จริงๆ แล้ว โอกาสลงทุนต่างประเทศไม่ยากอย่างที่คิด และด้วยเทคโนโลยีช่วยให้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูงมาก โดยเฉพาะลงทุนผ่าน ETF อีกทั้งยังได้กระจายความเสี่ยงลงทุนในอุตสาหกรรมและธีมธุรกิจที่น่าสนใจ ด้วย ETF เพียงกองเดียว
นอกจากนี้ ETF เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก มีความหลากหลายในแง่ของสินทรัพย์ อุตสาหกรรม และธีมธุรกิจต่างๆ จึงดีงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาอย่างมหาศาลจากนักลงทุนทั่วโลก
ผมได้รวบรวมวิธีการ ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ด้วย ETF ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาให้คุณลองพิจารณาดู พร้อมทั้งจำแนกข้อดีและข้อด้อย เพื่อให้คุณเข้าใจและตัดสินใจเลือกช่องทางลงทุนที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด 3 วิธีด้วยกัน
วิธีที่ 1 ลงทุนผ่านกองทุนรวม
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund – FIF) เป็นทางเลือกแรกของการลงทุน ETF ต่างประเทศ เพราะเข้าถึงง่ายที่สุด ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก และซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ
ปัจจุบัน FIF เปิดกองใหม่ๆ มีทางเลือกให้กับคุณเยอะมาก โดยเลือกลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ และ ETF หลากหลายประเภท โดยเป็นการลงทุนทางอ้อม มี 2 รูปแบบ คือ Feeder Fund (ลงทุนกองเดียว) และ Fund of Funds (ลงทุนหลายกอง)
อย่างไรก็ตาม FIF ไม่ได้จำกัดเฉพาะการลงทุนในรูปแบบกองทุน และ ETF เท่านั้น แต่สามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินต่างประเทศอื่นๆ ได้ เช่น จัดพอร์ตลงทุนตราสารหนี้และหุ้นโดยตรง ดังนั้นคุณควรอ่านศึกษานโยบายการลงทุนของ FIF นั้นๆ ให้เข้าใจก่อนที่จะลงทุน
จุดเด่น
- ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก เพื่อซื้อหน่วยลงทุน
- เปิดบัญชีลงทุนง่าย
- ผู้จัดการกองทุนบริหารมูลค่าทรัพย์สินและผลตอบแทนตามนโยบายกองทุน
จุดด้อย
- ค่าธรรมเนียมสูง ทั้งเก็บจากกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุน
- ผู้จัดการกองทุนสามารถเปลี่ยนกองทุนหรือ ETF ต้นทางได้
วิธีที่ 2 ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์
ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ในไทยหลายแห่ง ให้บริการเปิดบัญชีเพื่อไปลงทุนในหุ้นและกองทุนต่างประเทศโดยตรงได้ และมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ และเป็นวิธีที่ง่ายสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนเริ่มต้นสูง เพราะบางบล. อาจจะมีเงื่อนไขค่าธรรมเนียมซื้อขายขั้นต่ำ คุณจะต้องมีเงินมากพอ เพื่อให้คุ้มกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย
นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น การโอนเงินไปและกลับจากต่างประเทศ หากคุณจะใช้บริการบล. ไทย ควรศึกษาอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศที่ไปลงทุนด้วย
ด้วยการพัฒนาระบบออนไลน์ต่างๆ คุณยังสามารถเปิดบัญชีผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วยตัวเอง แต่คุณควรจะทำความเข้าใจเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมด้วยเช่นเดียวกัน
จุดเด่น
- เข้าถึงการลงทุนโดยตรงและเป็นเจ้าของสินทรัพย์
- เปิดบัญชีลงทุนง่าย ทั้งบล. ไทยและโบรกเกอร์ต่างประเทศ
- มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก
จุดด้อย
- ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูง เพื่อให้คุ้มกับค่าธรรมเนียม
- ค่าธรรมเนียมสูง มีขั้นต่ำ และมีต้นทุนการโอนเงินไปและกลับจากต่างประเทศ
- ใช้เวลาในการโอนเงินและแปลงสกุลเงิน
วิธีที่ 3 ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล
กองทุนส่วนบุคคลเป็นอีกทางเลือกที่ให้คุณลงทุนต่างประเทศผ่านหุ้นและ ETF โดยตรง โดยเปิดบัญชีผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)
บริการกองทุนส่วนบุคคลมีหลากหลายขึ้นอยู่กับบลจ. โดยจัดพอร์ตลงทุนและเลือกสินทรัพย์ให้ตามระดับความเสี่ยงของคุณ หรือวางรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลไว้ให้คุณเลือก หลายๆ บลจ. อาจจะมีเงื่อนไขบริหารเงินลงทุนสูงมาก เช่น 5 ล้านขึ้นไป หรือ 10 ล้านขึ้นไป
แต่ด้วยเทคโนโลยีและการพัฒนาแพลตฟอร์มลงทุนทำให้บริการกองทุนส่วนบุคคลในปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากก็สามารถลงทุนใน ETF โดยตรง อย่างเช่น Jitta Wealth ที่นักลงทุนสามารถเริ่มต้นที่ 10,000 บาท และเพิ่มทุนครั้งละ 1,000 บาท
บริการกองทุนส่วนบุคคลจะมีค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมโอนเงินไปและกลับจากต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่คุณควรศึกษาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน
จุดเด่น
- เข้าถึงการลงทุนโดยตรงและเป็นเจ้าของสินทรัพย์
- เปิดบัญชีลงทุนง่ายผ่านบลจ. ไทย
- บลจ. บริการพอร์ตลงทุนให้ และมีผู้รับฝากทรัพย์สิน
- มีค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อผลตอบแทน
- บางบลจ. มีระบบดิจิทัลรองรับ เช่น AI คัดเลือกสินทรัพย์
จุดด้อย
- บางบลจ. อาจจะมีเงื่อนไขด้านเงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงมาก
- อาจจะมีสินทรัพย์ เช่น หุ้นและ ETF ให้เลือกไม่มาก
- ใช้เวลาในการโอนเงินและแปลงสกุลเงิน
- อาจจะมีเงื่อนไขค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สินขั้นต่ำ
นี่คือ 3 ทางเลือกที่คุณจะสามารถคว้าโอกาส ‘ลงทุนต่างประเทศ’ ง่ายๆ ด้วย ETF ซึ่งไม่ยากอย่างที่คิดผมหวังว่า ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับ ETF ทั้ง 2 ตอน จะทำให้คุณรู้จักเครื่องมือการลงทุนอย่าง ETF มากยิ่งขึ้น และเห็นโอกาสสร้างพอร์ตลงทุนที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว
มูลค่าเงินลงทุนใน ETF ทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2563 เป็นเครื่องการันตีชั้นดีว่า ETF เป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วโลก…แล้วคุณล่ะ เริ่มต้นสร้างพอร์ตลงทุน ETF ทั่วโลกแล้วหรือยัง