GoTo – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 06 Sep 2024 10:57:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ไปต่อไม่ไหว ‘Gojek’ ประกาศยุติบริการใน ‘เวียดนาม’ ขอกลับไปโฟกัสที่ตลาดบ้านเกิด https://positioningmag.com/1489043 Fri, 06 Sep 2024 09:07:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489043 หากพูดถึงชื่อ Gojek เชื่อว่าลูกค้าบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยน่าจะยังพอจำกันได้ เพราะเพิ่งถอนตัวออกจากไทยไปได้ไม่นาน และล่าสุด บริษัทก็ถอนตัวออกจากประเทศ เวียดนาม หลังจากไม่สามารถฟาดฟันกับตลาดที่แข่งขันดุเดือดได้

Gojek สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายแรกของอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะไปไม่ค่อยรุ่งกับการรุกต่างประเทศสักเท่าไหร่ เพราะล่าสุด บริษัทแม่ได้ตัดสินใจที่จะ ยุติการให้บริการทั้งหมดในตลาดเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นบริการเรียกรถ  หรือส่งอาหาร ภายในวันที่ 16 ก.ย. นี้ เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ปิดฉากการให้บริการนาน 6 ปี 

ที่ผ่านมา Gojek มีส่วนแบ่งในตลาดเวียดนามเพียง 3% เท่านั้น ขณะที่คู่แข่งอย่าง Grab สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 47% ตามด้วย Shopee Food ที่มีส่วนแบ่งตลาด 45% ดังนั้น การถอนตัวออกจากเวียดนามนี้ จะช่วยให้ GoTo Group เจ้าของแพลตฟอร์ม Gojek ไปโฟกัสในประเทศหลักที่ยังสามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งก็คือ ตลาดอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ 2 ประเทศที่บริษัทยังทำตลาดอยู่

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากไตรมาส 2 รายได้ของ Gojek ในเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน ไม่ถึง 1% ของผลประกอบการ ดังนั้น การถอนตัวออกจากตลาดเวียดนามจึง ไม่ส่งผลกับภาพรวมบริษัท ซึ่งหลักจากที่ Gojek ประกาศถอนตัว หุ้นของ GoTo Group เจ้าของแพลตฟอร์ม Gojek พุ่งขึ้น +1.92% แตะ 53 รูเปียห์ แม้ว่าหุ้นของ GoTo จะพุ่งขึ้น แต่ก็ถือว่ายังคงต่ำกว่าราคา IPO ที่ระดับ 338 รูเปียห์ เป็นอย่างมาก ปัจจุบัน GoTo มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 62.47 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

สำหรับแพลตฟอร์ม Gojek ได้เข้าไปเปิดตลาดเวียดนามภายในชื่อ Go-Viet ในปี 2018 ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อ Gojek ในปี 2020 และการถอนตัวออกจากตลาดเวียดนาม ถือเป็น ประเทศที่ 2 ที่ Gojek ถอนตัว โดยประเทศแรกที่ Gojek ยุติการให้บริการก็คือ ประเทศไทย ในปี 2021 โดยขายให้กับ AirAsia Super Apps ซึ่งปัจจุบัน ได้ยุติบริการไปแล้วเช่นกัน

ปัจจุบัน ตลาดบริการเรียกรถโดยสารของเวียดนามคาดว่าจะมีมูลค่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 และคาดว่าจะสามารถเติบโตเป็น 2,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2029

Source

]]>
1489043
มองอนาคตธุรกิจ Food Delivery ทั้งไทยและต่างประเทศ บนการแข่งขันที่ยังดุเดือด แม้จะเหลือผู้เล่นน้อยราย https://positioningmag.com/1480493 Thu, 04 Jul 2024 05:42:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480493 ธุรกิจ Food Delivery ทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แม้ว่าจะเหลือผู้เล่นน้อยรายแล้วก็ตาม ซึ่งต่างกับอดีต แต่ผู้เล่นที่เหลืออยู่ต่างต้องแข่งขันเพื่อกินส่วนแบ่งตลาด หรือหารายได้ใหม่ๆ เนื่องจากแรงกดดันทั้งจากนักลงทุนหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งก็ตาม

อุตสาหกรรมส่งอาหาร (Food Delivery) ทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดกิจการของผู้เล่นบางราย การควบรวมกิจการ การเพิ่มรายได้ด้วยธุรกิจส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่การขยายไปยังประเทศอื่นๆ

Positioning พาไปวิเคราะห์ถึงทิศทางของอุตสาหกรรม Food Delivery ในประเทศไทยหรือเทรนด์อุตสาหกรรมทั่วโลกว่าจะเป็นยังไงต่อไป

ดูภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อน

ก่อนอื่นต้องยกข้อมูลของ Statista ที่มองว่าตลาด Food Delivery ทั่วโลกในปี 2024 นั้นมีขนาดของรายได้ใหญ่ถึง 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ารายได้จากปี 2024 ถึง 2029 จะเติบโตราวๆ 9.49% ต่อปี โดยตลาดที่ใหญ่สุดในโลกยังเป็นประเทศจีน

ทางด้าน Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น ก่อนที่จะปิดตัวลง

นอกจากนี้ขนาดตลาดของธุรกิจ Food Delivery ในไทยของ Momentum Works เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าหากมองออกมาในหลายๆ ประเทศในอาเซียนแล้วนั้น ตลาดของธุรกิจ Food Delivery กลับกลายเป็นว่าเวียดนามนั้นมีอัตราการเติบโตมากที่สุด แต่สำหรับ ไทย สิงคโปร์ นั้นธุรกิจดังกล่าวเติบโตช้าลงเรื่อยๆ

Robinhood เป็นอีกผู้เล่นที่ต้องปิดตัวลงไปในอุตสาหกรรม Food Delivery ที่แข่งขันรุนแรง – ภาพจากบริษัท

ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สร้างความได้เปรียบ

ผู้ให้บริการ Food Delivery หลายรายเริ่มมองลู่ทางหารายได้ใหม่ๆ นอกจากธุรกิจส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือต่างประเทศ

ถ้าหากมองกรณีของผู้ให้บริการ Food Delivery ในทวีปยุโรปหลายรายเองก็ขยายธุรกิจออกไปไม่ว่าจะเป็นการรับส่งอาหารสด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้เคียงกัน ใช้พนักงานส่งสินค้าเหมือนกัน และต้นทุนในการบริหารงานแทบจะไม่แตกต่างกันนัก

การโฆษณาภายในตัวแอปฯ หรือแม้แต่บนพาหนะที่ไว้ขนส่งอาหาร ซึ่งผู้เล่นทั้งในไทย อาเซียน หรือแม้แต่ผู้เล่นในธุรกิจนี้ทั่วโลกต่างงัดการหารายได้ในส่วนนี้แทบทั้งสิ้น

หรือแม้แต่การเข้าสู่โลก FinTech ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินแบบง่ายๆ อย่าง Wallet ไว้จ่ายเงิน การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกัน การให้บริการด้านสินเชื่อ จนถึงด้านการลงทุน หรือแม้แต่การเข้าสู่ธุรกิจ Buy Now Pay Later อย่างเช่นในกรณีของ GoTo (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเดิมอย่าง Gojek) ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เหมือนกัน

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่น Food Delivery บางรายอย่าง Deliveroo ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในทวีปยุโรป ที่เริ่มรุกเข้ามาในตลาด E-commerce มากขึ้น โดยบริษัทมองถึงขนาดตลาดดังกลล่าวใหญ่มากถึง 700,000 ล้านปอนด์ และเริ่มนำสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ ดอกไม้ เครื่องสำอาง ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

การหารายได้ทางใหม่ๆ ยังถือเป็นการสร้างป้อมปราการให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำธุรกิจ Food Delivery ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคฯ อย่าง TikTok หรือแม้แต่ Shopee รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่อาจรุกเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ส่งผลต่อบริษัทได้ในระยะยาว

บริการส่งอาหารทั่วโลก ในแต่ละประเทศนั้นแต่ละบริษัทต่างมีคู่แข่งรายสำคัญอยู่ – ข้อมูลจาก Presentation ของ Delivery Hero

เมื่อแอปฯ ล้มหายตายจาก หรือขายกิจการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มส่ง Food Delivery ลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากผู้เล่นหน้าเก่าสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดได้ และตัวเลขสัดส่วนในการครองตลาดนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีในบางประเทศในอาเซียนที่มีผู้เล่นหลายราย เช่น เวียดนาม ที่ตลาดดังกล่าวยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ที่ไทยเองนั้นตลาด Food Delivery เริ่มทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นทั้ง Grab และ LINE MAN เองครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ Foodpanda และ Grab นั้นบริษัทตั้งเป้าที่จะทำกำไรให้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดีในบางตลาดนั้นกลับมีการซื้อและขายกิจการ อย่างเช่นกรณีของ ไต้หวัน ที่ Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda ประกาศขายธุรกิจให้กับ Uber ทำให้ผู้เล่นจากสหรัฐอเมริกาแทบจะครองตลาด Food Delivery แทบทั้งหมดในไต้หวัน

เทรนด์ในการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการธุรกิจ Food Delivery นั้นยังคงไม่หมดไป แต่เทรนด์ดังกล่าวนั้นจะไปอยู่ในประเทศที่ตลาดดังกล่าวยังคงเติบโต และมีผู้เล่นจำนวนมาก เช่น อินเดีย หลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น หรือแม้แต่ Foodpanda พิจารณาการขายกิจการธุรกิจในอาเซียน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศสิงคโปร์ด้วย

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือผู้เล่นในประเทศจีนอย่าง Meituan ที่มีข่าวลือว่าอาจมีการขยายกิจการออกมานอกประเทศจีนนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีข่าวลือว่าเป็นผู้เล่นอีกรายที่สนใจซื้อกิจการของ Foodpanda

นอกจากธุรกิจ Food Delivery นั้นจะมีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการคู่แข่งแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังสนใจที่จะซื้อการควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) เช่น กรณีในไทย LINE MAN ลงทุนในกิจการของ FoodStory และ Rabbit Line Pay เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในอนาคต

ต้องมาลุ้นกันว่าธุรกิจส่งอาหารจากประเทศจีนอย่าง Meituan เองนั้นจะมีการรุกตลาดนอกประเทศจีนหรือไม่ – ภาพจาก Shutterstock

เส้นทางสู่กำไรที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง (หรือตั้งคำถาม)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้เล่น Food Delivery หลายรายเองทั่วโลกยังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของเหล่า Rider ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบไอทีต่างๆ ซึ่งจุดคุ้มทุนของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกันไป

บทความของ Financial Times ได้คำนวณตัวเลขของผู้เล่น Food Delivery ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เข้า IPO บริษัทเหล่านี้ขาดทุนรวมกันแล้วมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจนี้

ขณะเดียวกันหลายบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างเช่น Sea​ บริษัทแม่ของ Shopee Food รวมถึงผู้เล่นในตลาด Food Delivery อย่าง Uber Grab Deliveroo Doordash รวมถึง Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda เป็นต้น ต่างโดนเหล่านักลงทุนบีบให้บริษัทต่างทำกำไรให้ได้ไวที่สุด ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่เน้นการขยายธุรกิจกินส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช่แค่กำไรเท่านั้น แต่ยังต้องเลิกเผาเงินสด หรือเลิกยึดครองตลาดที่นักลงทุนมองว่าไม่สามารถทำกำไรต่อไป

การบีบของนักลงทุนนั้นยังทำให้แผนธุรกิจของผู้เล่น Food Delivery หลายรายเริ่มเปลี่ยนจากการหารายได้ที่เน้นการส่งอาหาร การรับส่งลูกค้า ซึ่งรายได้ 2 ส่วนนี้นั้นมากกว่า 50% ของรายได้รวม เริ่มทำให้หลายผู้เล่นต้องปรับตัวให้คล้ายกับซุปเปอร์แอปฯ (Super App) มากขึ้น

คำถามคือในระยะยาวแล้ว การที่แอปเหล่านี้ปรับตัวคล้ายกับ Super App จะสามารถแข่งกับผู้เล่นดั้งเดิม เช่น  การเข้าไปยังธุรกิจ E-commerce หรือแม้แต่ FinTech นั้นแต่ละบริษัทสามารถสร้างจุดแข็งหรือแม้แต่ความได้เปรียบจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทเหล่านี้ยังโดนจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแลถึงเรื่องของการแข่งขันด้านธุรกิจ เนื่องจากหลายประเทศ ผู้เล่นในธุรกิจเหล่านี้กำลังเหลือน้อยราย และยังรวมถึงเรื่องของการดูแลสวัสดิภาพของเหล่า Rider รับส่งอาหาร (หรือแม้แต่ Rider คนขับ) โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่

ในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม Food Delivery ต่างเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ ซึ่งในบางประเทศการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นในธุรกิจนี้เหลือไม่เกิน 3-4 รายแล้ว ภายใต้การแข่งขันที่ยังคงดุเดือดทั้งคู่แข่งทางตรง หรือแม้แต่คู่แข่งทางอ้อม

]]>
1480493
สยบข่าวลือ! ‘GoTo’ ออกมาปฏิเสธว่ากำลังเจราจากับ ‘Grab’ เรื่องควบรวมกิจการ ย้ำ บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแรง https://positioningmag.com/1462624 Wed, 14 Feb 2024 04:55:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462624 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีหลายสำนักข่าวรายงานว่า Grab แพลตฟอร์ม ride-hailing สัญชาติสิงคโปร์ได้กลับมาเจรจา ควบรวมกิจการ กับ GoTo อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง แต่ล่าสุด GoTo ก็ออกมายืนยันเองว่าไม่ได้มีการเจรจาดังกล่าว

GoTo บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้ออกมาปฏิเสธว่ากําลังหารือเรื่องการควบรวมกิจการกับคู่แข่งอย่าง Grab หลังจากมีข่าว Grab ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ GoTo โดยมีแผนทั้งการจ่ายเงินสด, จ่ายเป็นหุ้น หรือรวมสองบริษัทเข้าด้วยกัน รวมถึงการทำข้อตกลงแยกแบรนด์ทำตลาดแต่ละแบรนด์เอง

“บริษัทยังต้องการเน้นย้ำว่าขณะนี้ บริษัทไม่มีการเจรจาในเรื่องดังกล่าว บริษัทขอเน้นย้ำว่า บริษัทมีพื้นฐานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ GoTo กล่าว

โดยในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา GoTo สามารถบรรลุเป้าหมาย EBITDA ในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกําหนดจะเปิดเผยผลประกอบการปี 2023 ในเดือนมีนาคมนี้

สำหรับ GoTo Group ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการระหว่างสองบริษัทสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ได้แก่ Gojek และ Tokopedia และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม GoTo และ TikTok ประกาศว่า Tokopedia และ TikTok Shop Indonesia จะควบรวมกิจการ ซึ่ง TikTok จะถือหุ้นควบคุม 75.01%

โดยข้อตกลงของ TikTok และ Tokopedia เกิดขึ้นหลังจากอินโดนีเซียสั่งห้ามธุรกรรมอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok Shop และ Facebook ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซของ TikTok ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้

Source

]]>
1462624
ไม่ยอมง่าย ๆ ! ‘TikTok’ ทุ่ม 5.3 หมื่นล้านซื้อ ‘Tokopedia’ เพื่อบุกตลาดอีคอมเมิร์ซหลังจากถูก ‘อินโดนีเซีย’ แบน https://positioningmag.com/1455083 Mon, 11 Dec 2023 06:57:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1455083 หลังจากที่ รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้แบนไม่ให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ขายสินค้า เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบกับผู้ค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้บริษัทเทคโนโลยีหลายรายอย่าง Meta และ Alphabet รวมถึง ByteDance จากจีน เตรียมที่จะขอใบอนุญาตทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

แต่ดูเหมือน TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นของ ByteDance ที่มีฟีเจอร์ TikTok Shop จะไม่อยากเสียเวลา ล่าสุด แพลตฟอร์มได้ทุ่มเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 5.3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 75.01% ใน Tokopidia แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ GoTo บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของอินโดนีเซีย เพื่อผนวกฟีเจอร์ของ Tokopedia เข้าไปในแพลตฟอร์มของ TikTok ในอินโดนีเซีย 

Facebook YouTube และ TikTok เตรียมขอใบอนุญาตทำ E-Commerce หลังรัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง

สำหรับดีลดังกล่าวคาดว่าจะจบลงภายในไตรมาส 1 ของปี 2024 โดย Tokopedia จะได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์จาก TikTok ซึ่งสามารถใช้เพื่อระดมทุนสําหรับความต้องการเงินทุนหมุนเวียนได้ โดย TikTok ย้ำว่า บริษัทจะร่วมกับ Tokopedia และ GoTo เพื่อพลิกโฉมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย และจะสร้างงานเพิ่มอีกหลายล้านตำแหน่งภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า

แม้ตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียจะมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่หลายเจ้าด้วยกัน เช่น Tokopedia, Shopee และ Lazada แต่ TikTok Shop ที่เปิดตัวในปี 2021 กลับได้รับความนิยมและชิงส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะถูกปิดไปเมื่อ 2 เดือนก่อนเนื่องจากกฎหมายใหม่ที่ไม่ให้แพลตฟอร์มโซเชียลฯ ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการค้า เพื่อปกป้องร้านค้ารายย่อย

ขณะที่ TikTok เองก็พยายามหาการเติบโตใหม่ ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้รวม 124 ล้านคน ซึ่งตลาดอินโดนีเซียถือเป็นประเทศสำคัญด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 270 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียจะมีมูลประมาณ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีมูลค่า 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ Google, Temasek Holdings และ Bain & Co.

Source

]]>
1455083