ผู้บริโภคจะเห็นอะไรใหม่หลัง Rabbit LINE Pay กลายเป็นของ LINE MAN Wongnai และ LINE เต็มตัว

ถือเป็นดีลที่สองของปี หลังจากที่ LINE MAN Wongnai เข้าซื้อกิจการ FoodStory สตาร์ทอัพไทยผู้พัฒนาระบบ POS (Point of sale) ล่าสุด LINE MAN Wongnai และ LINE ได้เข้าซื้อ Rabbit LINE Pay จากผู้ถือหุ้นเดิม สำหรับผู้ที่ใช้งานอยู่แล้วจะได้เห็นอะไรจากนี้บ้าง ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai และ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ได้ออกมาอธิบายให้ฟัง

LINE MAN Wongnai ถือหุ้นสูงสุดใน RLP

ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS บ่อย ๆ เชื่อว่าก็คงจะใช้บริการ Rabbit LINE Pay (RLP) แน่นอน ซึ่ง Rabbit LINE Pay นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจาก LINE Thailand ร่วมมือกับทาง Rabbit Card และ mPay แพลตฟอร์มบริการทางการเงินของ AIS เข้ามาลงทุนร่วมกันเมื่อปี 2018 โดยทั้ง 3 พาร์ทเนอร์นั้นถือหุ้นเท่า ๆ กัน

โดยจุดเด่นของ Rabbit LINE Pay ก็คือ การใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม LINE ได้เลยโดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋ว BTS, ซื้อสินค้าใน LINE เช่น สติกเกอร์ รวมไปถึงร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ ทั้งนี้ ตัวเลข ณ ปี 2022 Rabbit LINE Pay มีจำนวนผู้ใช้กว่า 10 ล้านราย

แม้จะไม่มีการเปิดเผยถึงมูลค่าการเข้าซื้อหุ้น RLP ต่อจาก แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด และ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด แต่ ยอด ชินสุภัคกุล เปิดเผยว่า LINE MAN Wongnai เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเชื่อว่า RLP นั้นเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจของ LINE MAN Wongnai โดยเปรียบเสมือน น้ำมันหล่อลื่น ให้กับธุรกิจ เพราะในทุกบริการต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ นอกจากนี้ ยอด ยังมองว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

“ทุกบริการของ LINE MAN Wongnai ไม่ว่าจะเป็น Food, Taxi Messengers หรือ LINE เองก็มีบริการอีคอมเมิร์ซอย่าง LINE Shopping และทุกอย่างต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ทั้งหมด ดังนั้น RLP จะมาช่วยให้บริการต่าง ๆ มันไร้รอยต่อ (Seamless) มากขึ้น” ดร.พิเชษฐ กล่าวเสริม

จะได้เห็นอะไรใหม่?

ในแง่ขององค์กร RLP ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งออฟฟิศและพนักงาน ในส่วนของผู้ใช้ก็เช่นเดียวกัน บริการไหนที่เคยใช้ได้ก็ยังใช้ได้ตามเดิม ไม่ว่าจะเติมเงินขึ้นรถไฟฟ้า BTS หรือการใช้จ่ายผ่านร้านค้าพันธมิตร ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคอยากรู้คือ บริการใหม่ที่จะได้เห็น

ซึ่ง ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ได้เปิดเผยว่าจะมีบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นแน่นอน อย่างน้อยที่จะได้เห็นก็คือ สิทธิพิเศษที่มากขึ้น หากใช้งาน RLP ผ่าน LINE หรือ LINE MAN รวมถึงความเป็นไปได้ของบริการ กู้เงินออนไลน์ เพราะทาง LINE เองก็มี LINE BK บริการทางการเงินแบบ Social Banking ของบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (บริษัทในเครือของธนาคารกสิกรไทย) และบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย (LINE Financial Asia) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะเห็นบริการใหม่ ๆ เร็วสุดเมื่อไหร่

“อาจยังไม่ชัดเจนว่าจะมีบริการอะไรใหม่ ๆ แต่เราจะพยายามดันทรานแซคชั่นของทั้ง LINE MAN Wongnai และ LINE เข้าไปใช้ใน RLP ให้ได้มากที่สุด แต่เราอยากให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มของเราแล้วทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สั่งอาหารจนถึงกู้เงิน” ดร.พิเชษฐ กล่าว

ไม่ได้แข่งแค่กับ e-Wallet ด้วยกัน

แม้ว่าตลาดอี-วอลเล็ตปีนี้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ดอลฟิน วอลเล็ต จะหายไป แต่การแข่งขันก็ไม่ได้ลดน้อยลง โดย ยอด อธิบายว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีความท้าทายจาก พร้อมเพย์ ที่ทำให้ทุกอย่างใช้งานได้อย่างเปิดกว้าง นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม เป๋าตัง ของรัฐบาล ดังนั้น การแข่งขันจึงกว้างมากเพราะมีทั้งธนาคารและแพลตฟอร์มอีวอลเล็ต ซึ่ง RLP ก็อยากจะเป็นผู้เล่นหลักของตลาดไทย ดังนั้น การมีบริการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยังใช้งานเป็นโจทย์ที่สำคัญ

“อย่างเป๋าตังเขาก็มีบริการซื้อสลากออนไลน์เพื่อดึงดูดให้ใช้งาน นี่ก็เป็นโจทย์ของเราว่านอกจากบริการที่มีที่ผู้บริโภคใช้อยู่แล้ว เราจะเพิ่มอะไรเข้าไปได้อีก”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของตลาดอีเพย์เมนต์ มีแต่ขาขึ้นไม่มีทางลง ตลาดจะใหญ่ขึ้นอีกเพราะผู้บริโภคใช้งานชินตั้งแต่เกิดโควิดระบาด คนใช้เงินสดน้อยลง เพียงแต่ตลาดยังไม่มาชัวร์ เพราะยังมีผู้เล่นที่ออกจากตลาดไปและยังมีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามา

ปัจจุบัน แม้บริการ RLP จะยังไม่ทำกำไร โดยในปี 2565 รายได้รวม 319.63 ล้านบาท ขาดทุน 156.65 ล้านบาท แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังคงเติบโต โดย ยอด กล่าวว่า ยังไงต้องทำให้ RLP มี กำไร และเติบโตในฐานะ STAND ALONE COMPANY ที่แข็งแกร่ง