หากพูดถึงตลาด Food Delivery ในไทยปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ ๆ โดยเฉพาะการเกือบปิดตัวของ Robinhood โดย ยอด ชินสุภัคกุล แม่ทัพใหญ่ LINE MAN Wongnai จะมาฉายภาพของตลาดปีนี้ และมองไปถึงปีหน้า
2567 ปีแห่งความจริงของ Food Delivery
ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai เล่าว่า อ้างอิงจาก Google Sea eConomy 2024 ประเมินว่า ตลาด Food Delivery ไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท เติบโต +7% ซึ่งถือว่า เติบโตกว่ามูลค่าตลาดร้านอาหาร ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ +5% มีมูลค่า 7 แสนล้านบาท
ดังนั้น ปี 2567 ถือเป็น ปีแห่งความจริง เพราะแสดงการเติบโตของตลาดอย่างแท้จริงโดยที่ไม่มี ปัจจัยภายนอก ต่างจากที่ผ่านมาที่มีการระบาดของ COVID-19 ซึ่งปัจจัยในการเติบโตหลัก ๆ มาจาก จำนวนผู้ใช้ใหม่จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี
“ตลาดร้านอาหารไทยแข่งขันสูง แต่ละปีมีร้านปิดประมาณ 30% แต่ก็เปิดใหม่มาทดแทน ดังนั้น การเติบโตจะไม่สูง แต่ที่ตลาด Food Delivery โตกว่าเพราะยังมีโอกาสเติบโตจากผู้ใช้ใหม่ เช่น เด็กจบใหม่ ที่ 80-90% ต้องเคยใช้ Food Delivery หรือกลุ่มหลักที่ใช้อย่าง 30-40 ปี ก็ยังใช้ต่อเนื่อง ดังนั้น ตลาดจึงยังมีโอกาสโตจากคนรุ่นใหม่”
ภาพปีหน้าจะชัดว่าใครรอดในระยะยาว
แม้ว่าในปีนี้ SCBX จะยกธงขาวประกาศ ปิดตัวแพลตฟอร์ม Robinhood หลังจากขาดทุนสะสม 3 ปีกว่า 5,500 ล้านบาท แต่สุดท้ายแพลตฟอร์มก็ถูก ขาย ให้กับกลุ่มผู้ลงทุนที่นำโดย ยิบอินซอย (YIP IN TSOI) มาซื้อไปในมูลค่า 2,000 ล้านบาท
“Robinhood” บทใหม่ภายใต้ “ยิบอินซอย” ขอเก็บ GP 28%
ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยอด มองว่า ในปีหน้าภาพจะยิ่งชัดเจนว่า ผู้เล่นรายไหนจะยังอยู่ เพราะด้วยลักษณะของตลาดที่มีความเป็นวอลลุ่มค่อนข้างสูง ธุรกิจต้องการ Economy of scale เพื่อทำให้ธุรกิจดำเนินการต่อได้ ดังนั้น ผู้เล่นรายเล็ก จะยิ่งอยู่ยาก เพราะต้องการไซส์เพื่อสเกล และภาพของตลาดไทยจะเหมือนกับต่างประเทศที่จะมีผู้เล่น อยู่รอด 2-3 ราย ซึ่งปีหน้าจะเห็นว่าผู้เล่นรายไหนจะอยู่รอดจากนี้ สำหรับตลาดไทยในปัจจุบันมีผู้เล่นหลัก ๆ อยู่ 4 ราย ได้แก่ LINE MAN Wongnai, Grab, Food Panda, Robinhood และ Shopee Food
ยืนยันเป็นเบอร์ 1
สำหรับภาพรวม 10 เดือนที่ผ่านมาของ LINE MAN Wongnai มีการเติบโต +35% โดยมั่นใจว่าเป็น เบอร์ 1 เมื่อวัดจากจำนวนธุรกรรมต่อวัน โดยปัจจุบันแพลตฟอร์มมีผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ให้บริการครบ 77 จังหวัด ครอบคลุม 328 อำเภอ มีร้านค้าในระบบกว่า 5 แสนร้าน และมี ไรเดอร์กว่า 1 แสนคน
“เรายืนยันว่าเป็นเบอร์ 1 เมื่อเทียบวัดจากจำนวนธุรกรรมต่อวัน แต่บอกไม่ได้ว่าทิ้งห่างเบอร์ 2 แค่ไหน ถือว่ามีระยะห่างประมาณหนึ่ง แต่เราไม่เคยสบายใจ เพราะผมให้เกียรติคู่แข่งเสมอ เขาก็แข็งแรง เราเองก็ต้องสู้ทุกหยด ทุกเม็ด แม้ผู้เล่นเหลือน้อยก็วางใจไม่ได้”
ไรเดอร์ไม่โต เน้นเพิ่มรอบ
ในส่วนของจำนวนไรเดอร์ ยอด ระบุว่า ไม่เพิ่มขึ้น แต่เน้นเพิ่ม efficiency ให้ดีขึ้น ทำรอบได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้แต่ละวัน โดยสามารถเพิ่ม productivity ของไรเดอร์ได้ถึง 50% ต่อวัน เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน และปัจจุบันจำนวนไรเดอร์ที่ ทำประจำ มีมากกว่าพาร์ตไทม์ ซึ่งแพลตฟอร์มพยายามจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อเพื่อแก้ pain-point ให้กับลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพให้ไรเดอร์
ในปีนี้ฟีเจอร์ใหม่ที่ออกมาก็ได้รับผลตอบรับที่ดี เช่น การเพิ่ม ตัวเลือกจัดส่ง โดยพบว่า 25% เลือกจัดทันใจ และส่งถูก หรืออย่างฟีเจอร์ Multiple Pick-Up ที่ทำให้สั่งร้านที่ 2 ระหว่างทางได้ ซึ่ง 50% ของยูสเซอร์เคยใช้ฟีเจอร์นี้ เป็นต้น
“ฟีเจอร์ใหม่ ๆ 70% เป็นสิ่งที่อยู่ภายในที่ผู้ใช้ไม่ได้เห็น อาทิ Cooking time prediction ที่จะช่วยให้ไรเดอร์ไม่ต้องรอนาน ซึ่งสิ่งนี้ยูสเซอร์อาจไม่ได้เห็น แต่มาเพื่อแก้ปัญหาให้ทั้งไรเดอร์และลูกค้า”
มองโอกาสควบรวมกิจการ Food Delivery ด้วยกันยาก
สำหรับเป้าหมายการ IPO ภายในปีหน้า ยอดยังคงย้ำถึงเป้าหมายเดิมส่วนโอกาสการ ควบรวมกิจการในธุรกิจเดียวกัน ของ LINE MAN Wongnai ค่อนข้าง เป็นไปได้ยาก โดย ยอด ให้ความเห็นว่า เพราะเหลืออยู่ไม่กี่ราย และแข่งขันกันมานาน แต่ถ้าเป็นการ M&A ข้ามอุตสาหกรรมเพื่อสร้างการเติบโตยังเป็นไปได้ เช่นการ M&A กับ Rabbit LINE Pay เป็นต้น
ในส่วนของการ ลงทุนในสตาร์ทอัพไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอด มองว่า มีความ ท้าทายมาก เพราะต้องยอมรับว่า นักลงทุนไม่อยากเสี่ยง ที่จะลงทุนกับสตาร์ทอัพระยะแรก ทำให้ช่วงสองปีที่ผ่านมานักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดที่มีโอกาสเติบโตและให้ผลตอบแทนได้มากกว่า อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา