เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปี 2567 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่สร้างความตกใจไม่น้อยสำหรับการประกาศยุติการให้บริการของ “Robinhood” แอป Food Delivery ภายใต้การบริหารของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ที่จะหยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์
อีกทั้งตลาด Food Delivery ของไทยมีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่ชิงส่วนแบ่งกันอย่างดุเดือด รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ผู้เล่นรายเล็กอย่าง Robinhood ทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก และบริษัทฯแบกรับภาวะการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดย
- ปี 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท
- ปี 2564 ขาดทุน 1.3 พันล้านบาท
- ปี 2565 ขาดทุน 1.9 พันล้านบาท
- ปี 2566 ตัวเลขการขาดทุนพุ่งสูงกว่า 2.1 พันล้านบาท
รวม 4 ปีที่ดำเนินกิจการมาบริษัทฯขาดทุนไปแล้ว 5 พันกว่าล้านบาท
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 มีการรายงานว่า SCBX ออกมาการแจ้ง “เลื่อน” การยุติการให้บริการ Food Delivery บนแอปพลิเคชัน Robinhood แต่บริการอื่นๆ ในแอปอย่าง Travel, Ride, Mart และ Express ยังคงยุติการให้บริการตามกำหนดเดิมคือในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอเข้าซื้อกิจการทั้งหมดจากผู้ที่สนใจ ที่มีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้
ซึ่งบริษัทฯที่ขี่ม้าขาวมา คือ “กลุ่มยิบอินซอย” ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของไทย ผู้อยู่เบื้องหลังและทำงานร่วมกับวงการธุรกิจไทยมาเกือบ 100 ปีแล้ว โดยมีการเซ็นสัญญาปิดดีลซื้อขาย Robinhood ด้วยมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
ภาคต่อ “Robinhood” ภายใต้การบริหารของ “กลุ่มยิบอินซอย”
การที่ SCBX เปลี่ยนใจไม่ปิดบริการแล้ว หากมองดูแบบไม่ลงลึกอะไรมาก “การขายต่อ” ถือเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งเพราะอย่างน้อยยังได้เงินทุนกลับมาอยู่บ้าง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง คนที่ทำธุรกิจก็ไม่อยากให้สิ่งที่สร้างมากับมือต้องขาดทุนจนล้มหายตายจากไป แต่มุ่งหวังให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง SCBX ได้ใช้เกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่สนใจซื้อกิจการ คือ ผู้ซื้อฯ ต้องเป็นกลุ่มธุรกิจสัญชาติไทย ที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ Robinhood เป็นแพลตฟอร์มของคนไทยเพื่อคนไทยต่อไป ซึ่ง “กลุ่มยิบอินซอย” จึงปิดดีลนี้ไปได้
เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ “Robinhood” เข้ามาอยู่ใต้การบริหารงานของ “กลุ่มยิบอินซอย” โดย “มรกต ยิบอินซอย” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส (Robinhood) เผยว่า การเข้าซื้อ Robinhood มาบริหารต่อ ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักและมีการเติบโตมากขึ้น เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้ “เทคโนโลยี” และ “แพลตฟอร์มออนไลน์” มีบทบาทสำคัญที่ทำให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้น
การปิดดีลซื้อขาย Robinhood ในครั้งนี้ ยิบอินซอยเล็งเห็นถึงศักยภาพในการให้บริการส่งอาหารของ Robinhood ที่มีฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ ไรเดอร์มีความสุภาพและรวดเร็ว อีกทั้งร้านค้าที่เปิดให้บริการมีหลากหลายทั้งร้านชื่อดังชั้นนำและร้านเล็กๆที่มีความเฉพาะตัว ทำให้บริษัทฯ มองว่า Robinhood เป็นแพลตฟอร์มไทยที่มีรากฐานที่ดีและสามารถต่อยอดให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้ แม้จะมีการตั้งคำถามต่อการซื้อกิจการที่ขาดทุนเข้ามาบริหาร แต่ยิบอินซอยเชื่อว่า Robinhood ยังสามารถเติบโตต่อไปได้เพราะเป็นแอปที่มีจุดแข็งคือเป็นของคนไทยที่พัฒนามาเพื่อการใช้ชีวิตของคนไทย สามารถสร้างการแข่งขัน สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปูทางต่อยอดโปรเจ็กต์อื่นๆในอนาคตต่อไปได้ โดยปัจจุบันมีคำสั่งซื้อต่อวันเฉลี่ยเกือบ 40,000 คำสั่งซื้อ ส่งผลให้ตัวเลขผลประกอบการของ Robinhood มีการเติบโตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
เก็บ GP 28% น้อยกว่าตลาด
เจ้าของยิบอินซอย กล่าวอีกว่า Robinhood สามารถออกนอกกรอบกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ขยับตัวได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่นจากที่เมื่อก่อนอยู่ในกรอบของการดำเนินงานแบบ CSR เป็นหลักและไม่มีพันธมิตรไม่ยุ่งกับใคร แต่ปัจจุบัน สามารถเข้าไปเป็นพันธมิตรกับ KTC ที่ถือเป็นแบงก์ที่มีโปรโมชั่นในการสะสมคะแนนค่อนข้างเยอะได้ แต่หลักสำคัญอย่างเรื่องความปลอดถภัยเราก็ยังคงยึดเอาไ้ว้ พร้อมกับการก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ธุรกิจมีกำไรเกิดเป็น Good Business Ecosystem
ปัจจุบันทีมงาน Robinhood ที่เป็นทีมงานเดิมมีทั้งหมด 50 คน ซึ่งยิบอินซอยได้ให้ทีมงานของบริษัทฯ เข้าไปช่วยซัพพอร์ตการดำเนินงานในด้านคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีหลังบ้าน เพื่อผลักดันให้ธุรกิจกลับมาเติบโต โดยบริษัทฯ มีการวางแผนในการพัฒนา Robinhood ให้เป็นมากกว่าแอป Food Delivery ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในปัจจุบันไปแล้ว ให้พัฒนาต่อยอดไปยังกลุ่มบริการ Mart หรือ บริการเรียกรถ
แต่ขอเริ่มทำสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างการทำให้บริการ Food Delivery ให้มีรากฐานให้แข็งแกร่งขึ้น ผ่านการดำเนินการต่างๆ ทั้งพูดคุยกับพาร์ทเนอร์เพื่อขอการสนับสนุน หรือชักชวนให้ไรเดอร์ ร้านค้า รวมถึงยูสเซอร์ให้กลับเข้ามา Active ในแอป และได้ตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2567 จะสามารถทำยอดการสั่งซื้อให้ได้ 50,000 ออเดอร์ต่อวัน
และบริษัทฯตั้งเป้าทำออเดอร์คำสั่งซื้ออาหารรายวันให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการทำรายได้จากการเก็บค่า GP จากร้านค้า 28% (GP 25% และค่าการตลาด 3%) โดยเมื่อก่อนร้านค้าอาจไม่ต้องเสียค่า GP เพราะวิกฤตโควิดแต่การดำเนินในปัจจุบันเป็นรูปแบบของธุรกิจมากขึ้นซึ่งต้องมีรายได้และกำไรทำให้ต้องเก็บค่า GP และ Robinhood ก็ให้ตัวเลือกผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการจ่ายค่า GP แต่ต้องใช้วิธีการเก็บค่าส่งเต็มจำนวน ซึ่งอาจทำให้มีราคาที่แพงกว่าแอปอื่น
ซึ่งค่า GP ที่ Robinhood เก็บจากร้านค้า 28% นี้ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้เล่นอื่นในตลาด ที่มีการเรียกเก็บค่า GP ตั้งแต่ 30% (ไม่รวม VAT 7%) ไปจนถึง 32% (ไม่รวม VAT 7%) และ 32.1% (รวม VAT 7% แล้ว)
เข้าร่วม “Paypoint” ขยายฐานลูกค้า ตั้งเป้ากลับมาแข็งแกร่งใน 2 ปี
ล่าสุด ยิบอินซอย ได้นำเอา “Robinhood” เข้าไปจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ “Paypoint” แอปพลิเคชั่นรวบรวมรับฝากและแลกคะแนนสะสม ภายใต้การบริหารของบริษัท ศูนย์รับฝากคะแนน (ประเทศไทย) จำกัด ในการต่อยอดธุรกิจ ให้ Robinhood สามารถรวบรวมและแลกคะแนนสะสมในการชำระค่าสินค้าและบริการของร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ตัวแทนของพันธมิตรได้ทั้งในและต่างประเทศ
ผ่านการทำงานของ ควอนตัม เทคโนโลยี พัฒนาระบบร่วมกับ TPD โดยการสร้างกรอบการทำงานเชิงอัลกอริทึมสำหรับ Paypoint ภายใต้การพัฒนาของบริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น โดยจะคำนวณการรวมคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนคะแนนสะสมระหว่างพันธมิตรแบบเรียลไทม์ ป้องกันการทำ arbitrage (การซื้อของชนิดเดียวกันในราคาที่แตกต่างกัน แล้วนำไปขายทำกำไรต่อโดยปราศจากความเสี่ยง) เพราะผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนคะแนนไปยังกลุ่มพันธมิตรได้โดยตรง มั่นใจได้ว่าทุกคนจะได้รับความเป็นธรรมด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นกับกลไกตลาด
อาทิ ผู้ใช้ที่มีการสะสมคะแนนจากการใช้บริการของ Robinhood สามารถนำคะแนนสะสมไปแลกหรือใช้จ่ายในบริการที่ต้องการของพันธมิตรได้ เช่น ปั๊มน้ำมันบางจาง หรือ แอร์ เอเชีย ในขณะที่ผู้ใช้ของพาร์ทเนอร์อย่าง แอร์ เอเชีย หรือ บางจาก ก็สามารถรวบรวมคะแนนมาใช้จ่ายบริการของ Robinhood ได้เช่นกัน โดยจะมีการเริ่มใช้ Paypoint ได้ในต้นปี 2568 เป็นต้นไป
ซึ่งปัจจุบัน Paypoint มีพันธมิตรอยู่ 7 บริษัทด้วยกัน ประกอบด้วย
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท บิ๊กไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Air Asia)
- บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (แอพพลิเคชั่นโรบินฮู้ด)
- บริษัท เฮลท์อัพ จำกัด
- บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่นแมเนจเม้นท์ จำกัด
- บริษัท โกลด์เด้น99 จำกัด
- MAAI BY KTC โดยบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ จำกัด
และในอนาคตจะมีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมงานกันมากขึ้น รวมถึงการขยายแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมทั้งประเทศไทยและขยายออกไปยังต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคมีอิสระในการในจ่ายคะแนนมากขึ้น พร้อมพาให้ธุรกิจกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมให้ได้ภายใน 2 ปี